กฎหมายใหม่ให้ลูกจ้างทำงานที่บ้านได้ | สกล  หาญสุทธิวารินทร์

กฎหมายใหม่ให้ลูกจ้างทำงานที่บ้านได้ | สกล  หาญสุทธิวารินทร์

ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ระยะที่โควิด-19 ระบาดรุนแรง รัฐบาลมีแนวทางให้ข้าราชการและลูกจ้างเอกชน ทำงานที่บ้าน โดยการทำงานทางระบบออนไลน์ เพื่อยังยั้งการระบาดแพร่กระจาย

ในส่วนของข้าราชการรัฐบาล กำหนดเป็นนโยบายให้ส่วนราชการพิจารณาว่างานส่วนใดสามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้ ก็ให้ข้าราชการที่รับผิดชอบงานนั้นทำงานที่บ้านได้ สำหรับภาคเอกชน ให้เป็นความร่วมมือของเอกชนที่เป็นนายจ้าง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี

เมื่อปี 2563ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่.. ) พ.ศ. ....แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะหนึ่ง มีเหตุผลเพื่อยกระดับการคุ้มครองลูกจ้างให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เพื่อความมั่นคงในการทำงานและให้คุณภาพชีวิตของลูกจ้างดีขึ้น ให้เป็นทางเลือกของนายจ้างและลูกจ้างในการจ้างงาน เพื่อช่วยลดภาระและเวลาในการเดินทางไปทำงานของลูกจ้าง

ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และบัดนี้ได้ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาแล้วในการประชุมเมื่อวันจันทร์ที่12 กันยายน 2565

ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลใช้บังคับ เมื่อพ้นสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

บทบัญญัติที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมคือ ให้เพิ่มความเป็นมาตรา23/1 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 ดังนี้

    "มาตรา23/1 เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการของนายจ้าง และเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการทำงานของลูกจ้าง หรือในกรณีมีความจำเป็น นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงให้ลูกจ้างทำงานในทางการที่จ้าง หรือที่ตกลงไว้กับนายจ้าง

ซึ่งมีลักษณะหรือสภาพของงานที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติงานนอกสถานประกอบกิจการ หรือนอกสำนักงานของนายจ้างได้โดยสะดวก ให้ลูกจ้างนำงานดังกล่าวไปทำที่บ้านหรือที่พักอาศัยของลูกจ้างหรือตกลงให้ลูกจ้างทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสาระสนเทศในสถานที่ใดฯก็ได้

กฎหมายใหม่ให้ลูกจ้างทำงานที่บ้านได้ | สกล  หาญสุทธิวารินทร์
                     การตกลงตามวรรคหนึ่งถ้าตกลงตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจัดทำเป็นหนังสือหรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง โดยอาจตกลงให้มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
                     (1) ช่วงระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการตกลง
                     (2) วัน เวลาทำงานปกติ เวลาพัก และการทำงานล่วงเวลา
                     (3) หลักเกณฑ์การทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุด รวมทั้งการลาประเภทต่างๆ
                     (4) ขอบเขตหน้าที่การทำงานของลูกจ้างและการควบคุมหรือกำกับการทำงานของนายจ้าง
                      (5) ภาระหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์การทำงาน  รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆที่จำเป็นอันเนื่องจากการทำงาน
                     เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือสิ้นสุดการทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย   ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธในการติดต่อสื่อสารไม่ว่าทางใดฯ กับนายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงานหรือพูดตรวจงาน เว้นแต่ลูกจ้างได้ให้ความยินยอมโดยทำเป็นหนังสือไว้ล่วงหน้าก่อน
                 ลูกจ้างซึ่งทำงานที่บ้านหรือที่พักอาศัย หรือทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใดฯ มีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้าง"

กฎหมายใหม่ให้ลูกจ้างทำงานที่บ้านได้ | สกล  หาญสุทธิวารินทร์

หลักเกณฑ์ในการทำงานที่บ้านของลูกจ้าง ตามบทบัญญัติของมาตรา 23/1 โดยสรุป
              - ต้องเป็นงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติงานที่บ้านได้สะดวก
               - มีการทำข้อตกลงสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเป็นหนังสือหรือข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจตกลงรายละเอียด ดังนี้
                       ระยะเวลาเริ่มต้น และสิ้นสุดการตกลง
                       กำหนดวันเวลาทำงานปกติ เวลาพัก การทำงานล่วงเวลา
                      หลักเกณฑ์การทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด การลา
                       ขอบเขตการำงานของลูกจ้าง การควบคุมการกำกับการทำงานของนายจ้าง
                       ผู้จัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำงาน และผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการทำงาน
                      ทั้งนี้ลูกจ้างที่ทำงานที่บ้าน หรือทำงานทางออนไลน์ มีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการ

หมายเหตุ  ก่อนหน้าที่จะมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติให้ลูกจ้างทำงานที่บ้านได้ดังกล่าว   เมื่อปี2553 มีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ออกใช้บังคับ เพื่อให้มีกฎหมายคุ้มครองแก่ผู้รับงานไปทำที่บ้าน  

เนื่องจากกฎหมายที่มีอยู่ไม่อาจคุ้มครองแก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านให้ได้รับความเป็นธรรมและมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงาน

กฎหมายใหม่ให้ลูกจ้างทำงานที่บ้านได้ | สกล  หาญสุทธิวารินทร์

 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากลักษณะของงานที่รับไปทำที่บ้าน  ตามที่กำหนดคำนิยามไว้ คือ งานที่ผู้ว่าจ้างในกิจการอุตสาหกรรมให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อนำไปไปผลิตหรือประกอบนอกสถานที่ประกอบกิจการของผู้จ้างงาน ฯ  

ตลอดจนการจ่ายค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของงานที่ได้รับมอบหมาย และไม่ปรากฏว่ามีข้อกำหนดเกี่ยวกับกรอบเวลาการทำงาน การควบคุมกำกับดูแลการทำงาน   อาจกล่าวได้ว่าลักษณะเป็นการจ้างทำของ  โดยการผลิตหรือประกอบสินค้าอุตสาหกรรมที่นำไปทำที่บ้านได้

เห็นได้ว่า การรับงานไปทำที่บ้านตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 ที่มีเจตนา เพื่อคุ้มครองผู้รับจ้างทำของ ที่เป็นผู้รับงานไปทำที่บ้านให้ได้รับความเป็นธรรมและมีมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน  

มีความแตกต่างจากการทำงานที่บ้านตามมาตรา 23/1 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่กำลังจะประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายดังกล่าวที่ชัดเจน  คือ 

งานที่ลูกจ้างนำไปทำที่บ้านหรือที่พักอาศัยหรือสถานที่อื่นใด ตามมาตรา 23/1 มิได้จำกัดเฉพาะงานการผลิตหรือการประกอบอุตสาหกรรม เช่นที่กำหนดไว้ตามกฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน แต่อาจเป็นงานทุกชนิดที่ปฏิบัติอยู่ตามปกติในสถานประกอบการของนายจ้าง ที่มีลักษณะหรือสภาพที่สามารถนำไปทำนอกสถานประกอบการของนายจ้างได้สะดวก

ไม่ว่าจะเป็นงานการผลิตหรือประกอบสินค้า  การซ่อมผลิตภัณฑ์ การออกแบบ  งานบัญชี  การให้คำปรึกษา รวมทั้งงานสนับสนุนด้านต่างฯ (back office) เป็นต้น  

โดยลูกจ้างที่นำงานไปทำที่บ้าน ยังคงมีฐานะเป็นลูกจ้างตามสัญญาการจ้างงานเดิม และอยู่ใต้ข้อบังคับการทำงานของนายจ้าง ยกเว้นที่กำหนดไว้ในข้อตกลงให้ลูกจ้างนำงานไปทำที่บ้าน.