สกร.ตั้งเป้าเปิดสอบเทียบวัดระดับความรู้ครั้งแรก เม.ย.นี้

“ธนากร” เปิดไทม์ไลน์การเทียบระดับการศึกษา ด้วยวิธีการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งเป้ารับสมัครขึ้นทะเบียนได้ในเดือนเมษายน 2568 นี้
นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยอิงมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดเดียวกันกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560 เสร็จแล้ว และได้นำเสนอหลักสูตรดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้การรับรองและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน
ทาง สอศ.ตอบกลับมาว่าไม่ติดใจเรื่องของการเทียบระดับ แต่ถ้าเป็นการสอบรายวิชาแล้วนำมาเทียบมีระเบียบของ สอศ.รองรับอยู่แล้ว แต่เป็นอำนาจของสถานศึกษาที่มีข้อพิจารณาแตกต่างกัน จึงมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่าเพื่อให้การดำเนินงานราบรื่น ควรออกเป็นประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องเทียบหลักสูตรมารองรับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
วิธีสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน
สำหรับ สพฐ.ได้มีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงเนื้อหา เพื่อให้มีความรอบคอบรัดกุม ซึ่ง สกร.ก็ได้มีการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะเรียบร้อยแล้ว และได้หารือกับ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ให้ข้อเสนอแนะมา 2 ข้อ คือ 1.ให้ สกร.จัดทำประกาศ ศธ.เรื่องการเทียบหลักสูตร เพื่อให้ พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาลงนามประกาศใช้ และ 2.ให้ สกร.มาวางแผนไทม์ไลน์ระยะเวลาการดำเนินงาน
อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าวต่อไปว่า ทาง สกร.ได้ดำเนินการตามข้อแสนอแนะแบบคู่ขนานไปพร้อมๆกับการเตรียมเริ่มต้น (kick-off ) ดำเนินการเทียบระดับการศึกษา ด้วยวิธีการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน 2568 นี้
โดยมีขอบข่ายเนื้อหาจัดสอบใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ดังนี้ 1. ภาษาไทย 2. คณิตศาสตร์ 3. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 4. สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 5. สุขศึกษาและพลศึกษา 6. ศิลปะ 7. การงานอาชีพ และ 8. ภาษาต่างประเทศ ทั้งนี้ สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถเลือกแผนการสอบได้ทั้งแผนทั่วไป และแผนวิทย์ – คณิต
เช็กคุณสมบัติของผู้สมัคร
อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าวต่อไปว่าสำหรับคุณสมบัติของผู้สมัคร ต้องเป็นนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่มีสัญชาติไทย ไม่จำกัดอายุ แต่ในกรณีอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง , เป็นผู้มีคุณวุฒิในระดับการศึกษาที่ต่ำกว่าระดับที่ประสงค์จะขอสอบเทียบหนึ่งระดับ ยกเว้นขอสอบเทียบวัดระดับอยู่ในระดับประถมศึกษา การสมัครสามารถสมัครด้วยรูปแบบออนไลน์ได้ที่ http://ekas.dole.go.th หรือ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอเมืองทุกจังหวัด และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับเขตคลองเตย กรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น 77 แห่งทั่วประเทศ
เงื่อนไขในการรับวุฒิการศึกษาด้วยวิธีการสอบเทียบ คือ
1.ต้องสอบผ่านทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้
2.เข้าร่วมสัมมนาวิชาการ เพื่อประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนการประเมินคุณลักษณะ อันพึงประสงค์ และผ่านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
ทั้งนี้ มั่นใจได้ว่าผู้ได้รับวุฒิการศึกษาด้วยวิธีการสอบเทียบ มีคุณภาพเช่นเดียวกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นที่ยอมรับ และสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้
นายธนากร กล่าวด้วยว่า การเทียบระดับการศึกษา ด้วยวิธีการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน มีเป้าหมายสำคัญเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ ได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องเรียนแต่ในห้องเรียนเท่านั้น โดยเชื่อว่าทุกคนสามารถมีวุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ และเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในเรื่องการพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน และสอดคล้องกับนโยบายการจัดการศึกษาของ พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในด้านการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงนโยบายการจัดการศึกษาที่เท่าเทียม พัฒนาคนไทยทุกคนในทุกช่วงวัย ให้ผู้เรียน “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” พัฒนา ส่งเสริม และสร้างความเสมอภาคเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพการศึกษา