ฝ่ามรสุมทุนจีนฮุบ 'ม.เอกชน' วิกฤต-โอกาส อุดมศึกษาฯไทย

การพูดถึง “การศึกษา หรือธุรกิจการศึกษา” ในปัจจุบัน มักจะไม่ได้มองเพียงตัวเด็กและเยาวชนอย่างเดียว แต่ต้องมองไปถึงระบบนิเวศของการศึกษาทั้งหมด
KEY
POINTS
- การเข้ามาของทุนจีนในธุรกิจการศึกษา เป็นการเข้ามาซื้อหุ้นในบริษัท อาจจะซื้อมากกว่ากึ่งหนึ่งหรือเทกโอเวอร์แบบ 100% แล้วหาผู้บริหารที่มีสัญชาติไทยเข้ามาร่วมเป็นกรรมการบริษัทหรือใช้ผู้บริหาร
- ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนจีนต้องการเทกโอเวอร์มหาวิทยาลัยในไทย ได้แก่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง เน้นเจาะกลุ่มนักศึกษาจีนให้เข้ามาเรียนในไทย และค่าเรียนในจีนแพง
- มหาวิทยาลัยที่มีทุนจีนถือหุ้นยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนดโดย อว. เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยไทยทั่วไป ซึ่งไม่มีการสนับสนุนพิเศษเพิ่มเติม
การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ย่อมส่งผลต่อระบบการศึกษาของไทย เพราะด้วยจำนวนเด็กไทยที่ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง จากสถิติพบว่า ปี 2567 มีเด็กไทยเกิดใหม่เพียง 461,421 คน ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดไม่ถึง 5 แสนคนต่อปี และมีการคาดว่าอีก 50 ปี ข้างหน้าจะเหลือคนทำงาน 22 ล้านคน
สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภาพรวมจำนวนนักเรียนในไทยลดลง 1.1% แต่นักเรียนนานาชาติกลับเพิ่ม 8.3% (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย) เนื่องจากแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องตามสถิติการเกิด ทำให้รายได้ธุรกิจปี 2568
รายได้ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติโต 9.7% ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 13.1% ส่งผลให้นักศึกษาต่างชาติ กลายเป็นความหวังให้หลายสถาบันอุดมศึกษาสามารถเปิดดำเนินการต่อไปได้ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนที่เสี่ยงจะต้องยุบกิจการจากการขาดแคลนนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทุนจีนมาแรง! ธุรกิจจะอยู่ร่วมกับทุนจีนอย่างไรให้ 'ยั่งยืน' ?
นักศึกษาจีนในอุดมศึกษาไทย
กลุ่มนักศึกษาหลากหลายเชื้อชาติที่มาเรียนไทย “นักศึกษาจีน”เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดและมีการกระจายตัวไปศึกษาตามสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ เกือบทุกมหาวิทยาลัยปรับตัวด้วยการยุบคณะที่คนเรียนน้อย แล้วหันมาเปิดหลักสูตรสำหรับนักศึกษาจีนที่สอนด้วยภาษาจีน หวังดึงดูดนักศึกษาจีนให้เข้ามาเรียนมากขึ้น มีการแย้งชิงนักศึกษาจีนมาเรียนมากขึ้น
เมื่อพิจารณาจากจำนวนนักศึกษาจีนในประเทศไทย (ข้อมูลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.)) เปิดเผยถึงจำนวนของนักศึกษาจีนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 พบว่ามหาวิทยาลัยที่ถูกเทกโอเวอร์โดยทุนจีนเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีสัดส่วนนักศึกษาจีนมากเมื่อเทียบกับจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ได้แก่
- มหาวิทยาลัยเกริก มีจำนวน 4,670 คน และเป็นจำนวนมากถึง 71% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
- มหาวิทยาลัยชินวัตร 863 คน คิดเป็น 79% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
- มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดมีนักศึกษาจีน 1,101 คน คิดเป็น 27% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
ขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่มีสัดส่วนของนักศึกษาจีนมาก ได้แก่
- มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 2,389 คน คิดเป็น 16% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 2,160 คน คิดเป็น 10.68% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
- มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 1,736 คน คิดเป็น 20% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 1,165 คน คิดเป็น 2.97% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
- มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา 1,127 คน คิดเป็น 2.02% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
เช็กมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาจีนจำนวนมาก
- มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 1,101 คน คิดเป็น 2.04% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
- มหาวิทยาลัยมหิดล 761 คน คิดเป็น 2.35% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
- มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต 643 คน คิดเป็น 9.25%ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ 635คน คิดเป็น 5.64%ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
- มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 578 คน คิดเป็น 1.89%ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 468 คน คิดเป็น 1.13%ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
- มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 466 คน คิดเป็น 6.83%ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 434คน คิดเป็น 2.37%ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
- มหาวิทยาลัยบูรพา 406 คน คิดเป็น 1.43%ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
- มหาวิทยาลัยพายัพ 400 คน คิดเป็น 15.05 %ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด,
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น 372 คน คิดเป็น 0.98%ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
- มหาวิทยาลัยสยาม 353 คน คิดเป็น 3.49%ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
- อื่นๆ 6,379 คน คิดเป็น 0.42%ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยที่มีจำนวนนักศึกษาจีนส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนมหาวิทยาลัยที่อยู่ในจังหวัดอื่นๆ ก็มีนักศึกษาจีนบ้าง แต่เป็นเพียงมหาวิทยาลัยในจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากชายแดนประเทศไทย เช่นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเกือบทั้งหมดอยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งนั้น เป็นต้น
การเข้ามาของทุนจีนในธุรกิจการศึกษา
สุรเชษฐ กองชีพ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษาบริษัท คุชแมน แอนด์ เวคฟิลด์ เซอร์วิสเซส ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่าทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทยพยายามเข้าถึงกลุ่มชาวต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ต้องการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศของตนเอง ทำให้จำนวนนักศึกษาต่างชาติในประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้น มาจากหลายประเทศด้วยกันทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ในอาเซียน รวมไปถึงนักศึกษาต่างชาติจากประเทศอื่นๆ โดยมีนักศึกษาต่างชาติที่มาจากประเทศจีนมากที่สุด
“ข้อมูลจาก อว.พบว่า มีจำนวนนักศึกษาจีนมากถึง 28,052 คนหรือประมาณ 53% ของนักศึกษาต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาเรียนระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย มากกว่าตอนปีพ.ศ.2563 ซึ่งมีนักศึกษาจีนจำนวน 14,423 คนช่วงตั้งแต่ปีพ.ศ.2563 – 2567 มีจำนวนของนักศึกษาจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นประมาณ 24%”สุรเชษฐ กล่าว
ทั้งนี้ นักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนในไทยนั้น ได้แก่
- จีน 28,052 คน
- เมียนมาร์ 12,292 คน
- กัมพูชา 1,871 คน
- ลาว 1,097 คน
- เวียดนาม 868 คน
- อินโดนีเซีย 717 คน
- ฟิลิปปินส์ 598 คน
- อินเดีย 516 คน
- ไนจีเรีย 468 คน
- เนปาล 452 คน
- อื่น ๆ 6,075 คน การร่วมทุนจีนในอุดมศึกษาไทย
สุรเชษฐ กล่าวต่อว่าจากการที่นักเรียน นักศึกษาจากประเทศจีนเข้ามาเรียนในทุกระดับการศึกษาในประเทศไทยมากขึ้นเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ การเข้ามาของกลุ่มนักลงทุน หรือนักธุรกิจจากประเทศจีนที่ต้องการเข้ามาลงทุนหรือซื้อกิจการโรงเรียน และมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จากนั้นทำกิจการทางการตลาดหรือการประชาสัมพันธ์ในประเทศจีนเพื่อดึงคนจีนเข้ามาเรียนหนังสือในประเทศไทยให้มากขึ้นเท่าที่เป็นข่าว
“การเข้ามาของนักลงทุนจีนในธุรกิจการศึกษา เป็นการเข้ามาซื้อหุ้นในบริษัท อาจจะซื้อมากกว่ากึ่งหนึ่งหรือเทกโอเวอร์แบบ 100% แล้วหาผู้บริหารที่มีสัญชาติไทยเข้ามาร่วมเป็นกรรมการบริษัทหรือใช้ผู้บริหารและกรรมการชุดเดิมมาร่วมเป็นคณะกรรมการ แต่เพิ่มเติมคนจีนเข้าไปในคณะกรรมการบริษัทเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศไทย หรือมีส่วนของบริษัทที่มีคนจีนเป็นกรรมการเข้ามาเป็น 1 ในผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทที่มีชื่อเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย”สุรเชษฐ กล่าว
ปัจจัยนักธุรกิจจีนเลือกลงทุนการศึกษา
ดร.กัญจน์นิตา สุเชาว์อินทร์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติจีนและรองผู้อำนวยการสถาบันจีน-ไทย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่านักธุรกิจจีน นิยมลงทุนด้านการศึกษา หันมาเทกโอเวอร์ มหาวิทยาลัยในไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมหาวิทยาลัยที่นายทุนจีนมาเทกโอเวอร์ มีลักษณะของการเข้ามาจัดการด้วยตนเอง ทำให้ทิศทางในการจัดการศึกษาเปลี่ยนไป เช่น ให้ทุนนักเรียนไทยเรียนภาษาจีนมากขึ้น แต่บางมหาวิทยาลัย นายทุนจีนเข้าไปถือหุ้น แต่ทีมผู้บริหารยังเป็นคนไทย
ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนจีนต้องการเทกโอเวอร์มหาวิทยาลัยในไทย ได้แก่
1.ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล นักลงทุนจีนเน้นพื้นที่ภูมิศาสตร์ ในการที่เดินทางสะดวก นักศึกษาจีนสามารถใช้ชีวิตได้สบาย และถ้าในพื้นที่นั้นมีชุมชนชาวจีนอยู่ จะได้รับความสนใจจากนายทุนเป็นพิเศษ
2.นักลงทุนจีน เน้นเจาะกลุ่มนักศึกษาจีนให้เข้ามาเรียนในไทย เพราะชาวจีนให้ความสำคัญกับการศึกษา แต่ด้วยการแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัยในจีนที่สูง ทำให้มีนักศึกษาบางส่วนสอบไม่ติด ซึ่งกลุ่มนักศึกษาจีนส่วนนี้ เริ่มมองหาที่เรียนในต่างประเทศ
3.ค่าเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน หรือภาคพิเศษในจีน มีค่าใช้จ่ายสูงเทียบเท่ากับมาเรียนในไทย ขณะเดียวกันค่านิยมของผู้ประกอบการชาวจีน รับพนักงานที่จบจากต่างประเทศมากกว่าคนที่จบมหาวิทยาลัยในภาคพิเศษโดยบางเมืองของจีน มีการออกกฎว่า ถ้านักศึกษาจบในต่างประเทศ กลับมาทำงานในเมือง มีโอกาสได้รับการลดหย่อนภาษีซื้อบ้านและรถยนต์
คุมเข้มทุนจีนเทกโอเวอร์ม.เอกชน
ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ให้สัมภาษณ์สื่อในเครือเนชั่นเมื่อเร็วๆ นี้ว่าภาพรวมการลงทุนของต่างชาติในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไทย โดยเฉพาะกรณีนักลงทุนจีนที่เข้ามาถือหุ้นในหลายสถาบัน ขณะนี้มี 3 มหาวิทยาลัยเอกชนของไทยที่มีนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุน คือ มหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด และมหาวิทยาลัยชินวัตร ซึ่งกระทรวงได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเข้มงวดในการกำกับดูแลผ่านพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ทั้งในด้านหลักสูตร การเงิน และการบริหารจัดการ
"เรามีการติดตามอย่างต่อเนื่องในทุกมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะประเด็นที่น่ากังวลคือจำนวนนักศึกษาจีนที่เข้ามาเรียนค่อนข้างมาก ต้องตรวจสอบว่ามีการเรียนจริงหรือไม่ หรือเป็นการแอบแฝงเข้ามาทำงาน รวมถึงการตรวจสอบเรื่องคุณภาพการศึกษา การใช้เงินกองทุน และความผิดปกติต่างๆ" ปลัด อว. กล่าว
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกล่าสุดของมหาวิทยาลัยเอกชน 3 แห่ง ผ่านระบบการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ Creden Data จากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงสร้างบริษัทที่บริหารงานมหาวิทยาลัยเอกชนทั้ง 3 แห่ง ทั้ง บริษัท เกริก สุวรรณี และบุตร จำกัด, บริษัท ฟาร์อีสต์ แสตมฟอร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บริษัท เฟธ สตาร์ (ประเทศไทย) จำกัด
เปิดโอกาสทุนจีนลงทุนการศึกษา
ดร.ศุภชัย กล่าวต่อว่าแม้กฎหมายจะให้ความยืดหยุ่นเพื่อให้สถาบันสามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่จำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมในการกำกับดูแล โดยเฉพาะสถาบันที่มีต่างชาติถือหุ้น ซึ่งต้องมีการตรวจสอบที่มาของเงินลงทุนอย่างละเอียด เช่นเดียวกับมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย
"เราอาจต้องพิจารณาใช้มาตรการคล้ายกับการขออนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือการขอใบอนุญาตธนาคาร ที่ต้องมีการตรวจสอบที่มาของเงินทุนอย่างละเอียด และผู้ถือหุ้นต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด เพื่อป้องกันการใช้ตัวแทน (nominee) มาถือหุ้นแทน" ปลัด อว. ระบุ
ความท้าทายธุรกิจการศึกษา
ดร.ศุภชัย กล่าวอีกว่าการลงทุนจากต่างชาติยังเป็นโอกาสที่จะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการศึกษา โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีความตึงเครียด ทำให้ไทยมีโอกาสในการดึงดูดนักศึกษาคุณภาพจากจีนให้เข้ามาเรียนและทำงานในไทยมากขึ้น
"เรากำลังผลักดันนโยบาย Study in Thailand เพื่อดึงดูดนักศึกษาต่างชาติที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐมนตรี โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับสถาบันการศึกษาชั้นนำจากต่างประเทศ เราต้องการให้ไทยเป็น Regional Education Hub แต่ต้องเป็นการร่วมมือกับสถาบันที่มีคุณภาพ และต้องมีการควบคุมมาตรฐานอย่างเข้มงวด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศ" ปลัด อว. กล่าว
ทุนจีนเป็นโอกาสมหาวิทยาลัยไทย
ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าการลงทุนของกลุ่มทุนจีนในมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทย ถือว่าเป็นโอกาสที่สำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาในประเทศ การเข้ามาของทุนจีนอาจช่วยยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน และดึงดูดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ให้เข้ามาสร้างชื่อเสียงและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของมหาวิทยาลัยไทย
“มหาวิทยาลัยที่มีทุนจีนถือหุ้นยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนดโดย อว. เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยไทยทั่วไป ซึ่งหมายความว่าไม่มีการสนับสนุนพิเศษเพิ่มเติม เช่น งบประมาณจากรัฐหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นต้น ยิ่งมหาวิทยาลัยเอกชน ไม่ได้มีแต้มต่อในการอุดหนุนเป็นพิเศษ แต่อาจจะได้โอกาสในการได้รับการดูแลคุณภาพวิชาการจากภาครัฐ”ดร.ธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การที่ทุนจีนเข้ามาเทกโอเวอร์ม.เอกชนที่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวทางธุรกิจ เช่นเดียวกับโรงเรียนอินเตอร์ที่เป็นของชาวต่างชาติในไทย ซึ่งในอนาคตอว. มีแนวโน้มสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกเข้ามาตั้งสาขาในประเทศไทยมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของนักศึกษาต่างชาติและเพิ่มโอกาสให้นักเรียนไทยได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสูง