คนรุ่นใหม่ GenZ มีปัญหาจริงไหม | วิทยากร เชียงกูล

คนรุ่นใหม่ GenZ มีปัญหาจริงไหม | วิทยากร เชียงกูล

GenZ เป็นแนวคิดมาจากโลกตะวันตกที่แบ่งคนในยุคปัจจุบันที่เกิดในยุคสมัยต่างกันออกเป็นรุ่น (Generation) ต่างๆ ราว 4-5 รุ่น พิจารณาจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองของโลกตะวันตก

คำว่า GenZ หมายถึงคนที่เกิดในยุคเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารพัฒนาเต็มที่ คือเกิดในช่วงปี 2539-2558 ถ้านับถึงปีที่ผ่านมา (2566) ก็คือคนที่ขณะนี้มีอายุระหว่าง 9-27 ปี ในต่างประเทศมีบทความที่กล่าวถึงบุคลิกนิสัย ความคิด ความคาดหมาย ลักษณะปัญหาของคนรุ่น Z นี้อยู่มากพอสมควร

คน GenZ มักถูกคนรุ่นผู้ใหญ่กว่าวิจารณ์มาก แต่ก็มีคนพูดถึงทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งควบคู่กันไป ประเด็นที่ถูกวิจารณ์คือ คนรุ่นนี้ติดการใช้โทรศัพท์มือถือ การสื่อสารทางออนไลน์เป็นหลัก มีความสามารถทักษะการสื่อแบบเผชิญหน้ากันจริงๆ ลดลง พวกเขาสื่อสารกับผู้ใหญ่กว่าราวกับเป็นเพื่อน เป็นคนใจร้อน ไม่อดทน อยากได้อะไรเร็วๆ ชอบการเปลี่ยนแปลง

คนรุ่น Z ถูกวิจารณ์ว่าไม่จงรักภักดีต่อที่ทำงาน พร้อมจะย้ายงานบ่อย เชื่อมั่นตัวเองสูง ติดตัวเอง ขณะเดียวกันมีปัญหาความเครียด กังวล รู้สึกโดดเดี่ยว ซึมเศร้า ฯลฯ มากกว่าคนรุ่นก่อนที่เป็นผู้ใหญ่กว่า

ส่วนจุดแข็งคือ เป็นคนที่เรียนรู้เทคโนโลยีได้เร็ว ชอบก้าวหน้า มีใจกว้างแบบเสรีนิยมในเรื่องทางสังคม เช่น เป็นประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม 

ประเด็นเหล่านี้มาจากการสำรวจวิจัยในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น สหรัฐเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่การวิจัยของฝ่ายการตลาดสำหรับตัวอย่างในกลุ่มประเทศอาเซียนก็ให้ผลคล้ายคลึงกัน

การสำรวจวิจัยส่วนใหญ่ทำทางออนไลน์ ตัวอย่างของคนตอบจึงน่าจะเป็นคนชั้นกลางที่มีการศึกษาและรายได้ค่อนข้างสูงหรืออย่างน้อยปานกลาง มากกว่าจะเป็นตัวแทนของคนทั่วไปทั้งรุ่น

เมืองไทยยังไม่เห็นการสำรวจวิจัยที่จริงจัง คนไทย GenZ ที่เติบโต/ใช้ชีวิตอยู่ในต่างจังหวัด รอบนอกเมืองใหญ่ น่าจะแตกต่างไปจากคนชั้นกลางในเมือง ปัญหาสถานการณ์ทางชนชั้นที่แตกต่างกันมากในประเทศไทยก็เป็นปัจจัยที่ทำให้คนรุ่น Z ต่างกันได้

การมองว่าคนรุ่น GenZ ทั่วโลก มีลักษณะคล้ายๆ กัน อาจจะมองแบบคร่าวๆ ไปหน่อย คนรุ่น Z ในประเทศที่ยากจนอย่างอินเดีย คงแตกต่างไปจากคนรุ่นเดียวกันในสหรัฐอย่างมาก

คนรุ่นใหม่ GenZ มีปัญหาจริงไหม | วิทยากร เชียงกูล

สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสภาพวัฒนธรรมการเลี้ยงดูของครอบครัว การศึกษา วัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ละเมือง คงมีอิทธิพลต่อคนรุ่น Z แต่ละกลุ่มแตกต่างกันไป รวมทั้งสภาพแต่ละครอบครัวที่ต่างกัน ทำให้คน GenZ แต่ละคนมีส่วนต่างกันด้วย

การมองภาพใหญ่แบบเหมารวมอาจจะไม่ได้ให้ภาพที่แท้จริง ของไทยเราเท่าที่อ่านและฟังจากนักบริหารบุคคล นักการตลาด ครูบาอาจารย์ หลายคนมองเห็นว่า GenZ ไทยซึ่งคงหมายถึงคนชั้นกลางที่มีการศึกษาในเมืองมีส่วนคล้ายกับ GenZ ที่สหรัฐและประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ

สภาพเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะไทยก็พัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตามแบบตะวันตก และวิถีชีวิต การศึกษา การทำงานในเมืองเป็นเรื่องการมุ่งหาเงิน มุ่งบริโภค แบบทุนนิยมเน้นการบริโภคเหมือนตะวันตก

ปัจจัยที่ควรนำพิจารณาด้วยคือ เรื่องวัยที่ต่างกัน มีส่วนทำให้คนแต่ละวัยมีจิตวิทยาที่แตกต่างกันออกไป วัยรุ่นและคนหนุ่มสาวทุกรุ่นต่างมีจิตวิทยาหรือความคิดจิตใจที่แตกต่างไปจากคนวัยผู้ใหญ่ในยุคสมัยเดียวกัน

คนรุ่นใหม่ GenZ มีปัญหาจริงไหม | วิทยากร เชียงกูล

คนวัยผู้ใหญ่ในวันนี้อาจจะลืมไปแล้วว่าสมัยวัยรุ่นพวกตนก็มีลักษณะ มีปัญหาแบบวัยรุ่นบางอย่างด้วยเช่นกัน ในสมัยเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว คนรุ่นผู้ใหญ่ก็มักจะมองพวกวัยรุ่นสมัยนั้นอย่างขวางๆ เหมือนกัน

ปัญหาของวัยรุ่นคนหนุ่มสาวของไทยในปัจจุบันคงมีอยู่จริง และแต่ละกลุ่มต่างมีปัญหาที่แตกต่างกันไป อย่างเรื่องเด็กวัยรุ่นตีกัน ยิงกัน ก่ออาชญากรรมและความรำคาญต่างๆ เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ มาก เด็กวัยรุ่นที่เกะกะเกเร ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้ทำงาน ชอบกินเหล้าเมายา เล่นการพนัน ติดยา ขายยา ค้าของเถื่อน ฯลฯ คงมีอยู่มากพอสมควร

ส่วนวัยรุ่นหัวรุนแรงทางการเมืองก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งแตกต่างจากวัยรุ่นกลุ่มอื่นๆ

เราไม่อาจมองวัยรุ่นหรือคนรุ่น GenZ คือรวมคนหนุ่มสาวด้วย แบบที่กล่าวมาตอนต้นแบบเหมารวมได้ ปัญหาของคนรุ่นนี้เป็นปัญหาของสังคมไทยโดยรวม ที่เราควรสำรวจวิจัย อภิปรายสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขกันแบบแยกแยะให้ชัดเจนเป็นกลุ่มๆ ให้มากกว่านี้ เพราะพวกเขาจะเติบโตไปเป็นพลเมืองผู้ใหญ่พัฒนาบ้านเมืองเรารุ่นต่อไป

ปัญหาแบบ GenZ แบบที่กล่าวมา ในสถาบันการศึกษาและที่ทำงานของไทยก็คงมีเหมือนกัน ครูบาอาจารย์ ผู้บริหาร หัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงานที่อายุมากกว่าควรต้องทำความเข้าใจ สนใจศึกษาลักษณะของพวกเขาและพยายามช่วยเหลือพวกเขาให้พัฒนาจุดแข็งมากขึ้น ลดจุดอ่อนลง พยายามลดช่องว่างทางความคิดระหว่างคนรุ่นผู้ใหญ่กับคนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่ GenZ มีปัญหาจริงไหม | วิทยากร เชียงกูล

โดยเฉพาะพวกคนรุ่นใหม่ที่หัวรุนแรงมองโลกแบบขาวดำ 2 ขั้วสุดโต่ง เชื่อมั่นตนเองสูง วิจารณ์คนอื่นแรง พวกเขามีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนด้วยเช่นกัน ประเด็นคือ ทำอย่างไรเราจึงจะช่วยแก้ปัญหาคนรุ่น Z กลุ่มต่างๆ และช่วยกันพัฒนาพลเมืองที่มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมให้มากที่สุดได้

ปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือ การที่คนรุ่นใหม่ในยุคนี้หางานได้ยากขึ้น มีรายได้จากการทำงานต่ำกว่าค่าครองชีพ จนคนรุ่น GenZ รุ่นนี้ไม่มีเงินออมมากพอที่จะมีบ้านของตนเองได้เหมือนคนรุ่นก่อน (คล้ายกันในทุกประเภท) ปัญหาเศรษฐกิจทำให้พวกคนรุ่น Z มีความรู้สึกวิตกกังวลกับเรื่องเศรษฐกิจมาก ความวิตกกังวลเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ได้

จึงเป็นเรื่องที่ทางรัฐบาล พรรคการเมืองทั้งหลายต้องคิดหาแนวทางแก้ไขอย่างเอาจริง นี่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมโดยรวมที่กว้างกว่าการที่จะไปโทษว่า พวก GenZ เป็นแบบนั้นแบบนี้ ประเด็นคือ ผู้ใหญ่ทุกคนควรหาทางเสนอแนะชี้ทางให้พวกเขารู้จักลดจุดอ่อนและเพิ่มจุดแข็งของพวกเขาใด้มากขึ้น

โสกราตีส เคยให้คำแนะนำว่า “การเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้คนเห็นด้วยนั้น มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากกว่าแค่การวิพากษ์สิ่งเก่าๆ” นี่คือคำแนะนำที่คนรุ่น Z ที่หัวรุนแรงทางการเมืองของไทยควรรับฟังไปพิจารณาอย่างยิ่ง 

อย่างหลังคือการเสนอสิ่งใหม่ๆ นั้นทำได้ยากกว่าการวิจารณ์สิ่งเก่าๆ คนที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นอย่างได้ผลจริง ต้องอ่าน ฟัง คิด วิเคราะห์ ปฏิรูปตนเองก่อน ให้เป็นคนที่ฉลาด ใจกว้าง อดกลั้น และทำงานหนักยาวนานมากกว่าดีแต่จะโจมตีคนอื่นด้วยอารมณ์อย่างง่ายๆ.