ต่อกรกับ "ความเขลา" ตามแบบฉบับนักเศรษฐศาสตร์ "เบเวอร์ริจ"

ต่อกรกับ "ความเขลา" ตามแบบฉบับนักเศรษฐศาสตร์ "เบเวอร์ริจ"

เราได้เห็นการต่อกรกับความขี้เกียจ (Idleness) ตามทรรศนะของ “เบเวอร์ริจ” นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ ผู้เสนอรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าของอังกฤษไปแล้ว ในตอนนี้เราจะมาดูการต่อกรกับความเขลา (Ignorance)

เดือน พ.ย.2566 ครบรอบ 81 ปีการจากไปของ “วิลเลียม เบเวอร์ริจ” นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ ผู้เสนอรายงาน Beveridge Report ต่อรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จึงเป็นโอกาสดีที่จะเขียนถึงแนวคิดของเขาสักครั้ง 

ในเรื่อง ความเขลา (Ignorance) สำหรับเบเวอร์ริจ ความเขลาไม่ใช่ระดับสติปัญญาแต่มันคือ เมล็ดพันธุ์ของความชั่วร้ายที่พวกเผด็จการเพาะปลูกไว้ให้กับผู้ใต้ปกครอง เพื่อให้ผู้ใต้ปกครองเชื่อง ว่าง่ายและไม่ตั้งคำถามสงสัยกับอำนาจนิยม

ต่อกรความเขลาด้วยการศึกษาถ้วนหน้า

การต่อกรกับความเขลาให้สำเร็จต้องอาศัยรัฐบาลประชาธิปไตยขยายความรู้ให้กับมวลประชาชนจำนวนมาก คำถามที่ตามมาคือ แล้วอะไรคือความรู้ที่ประชาชนต้องได้รับ?

สำหรับเบเวอร์ริจแล้ว การต่อสู้กับความเขลามันไม่ใช่เรื่องการขยายจำนวนชั้นปี หรือการขยายสิทธิการเรียนไปยังระดับมหาวิทยาลัย แต่เป็นความรู้ที่ต้องช่วยประชาชนมีเวลาว่างมากขึ้น และแนะนำการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ 

การต่อสู้ความเขลาอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องประสานกันระหว่างประสิทธิภาพของเผด็จการและเสรีภาพของประชาชน ประเด็นนี้เมื่อถูกยกขึ้นมาจะไม่เป็นประเด็นทางการเมือง เพราะเป็นฉันทามติแก่ทุกฝ่ายว่าควรจัดการศึกษาให้ประชาชน

เมื่อตีความตามทัศนะของเบเวอร์ริจแล้ว การต่อสู้ความเขลาจึงต้องอาศัยอำนาจบังคับจากรัฐบาลกำหนดให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานถ้วนหน้าเกิดขึ้น

เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเข้าไม่ถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน และไม่เห็นความสำคัญของการนำบุตรหลานเข้าเรียนการศึกษาพื้นฐาน 

หน้าที่ของรัฐบาลจึงต้องเพิ่มจำนวนสถานการศึกษา และบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อตอบสนองต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศ ชาติกำเนิด รายได้ครอบครัว สถานที่พำนัก ต้องไม่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาพื้นฐาน รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการศึกษาพื้นฐาน 

ส่วนเนื้อหาการศึกษาภาคบังคับก็มีจุดประสงค์เพื่อสร้างคนให้กลายเป็นพลเมืองรู้บทบาทหน้าที่ทั้งของตนเอง และหน้าที่ต่อผู้อื่นและสังคม เป็นพลเมืองตื่นรู้ที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลประชาธิปไตยได้

อีกทั้งการศึกษาที่เพิ่มขึ้นต้องบ่มเพาะความสามารถการผลิตให้เพียงพอ เพื่อแรงงานมีผลิตภาพการผลิตมากขึ้น จนสามารถทำงานแล้วเสร็จและมีเวลาพักผ่อนหลังเลิกงาน

ต่อกรกับ \"ความเขลา\" ตามแบบฉบับนักเศรษฐศาสตร์ \"เบเวอร์ริจ\"

การศึกษาถ้วนหน้าของอังกฤษและฝรั่งเศส

รายงานของเบเวอร์ริจเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของอังกฤษ รัฐบาลกำหนดให้เด็กอายุ 5-15 ปีทุกคน ต้องเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และขยายเป็นอายุ 18 ปีในปี 2556 เด็กผู้หญิงได้รับการศึกษาเช่นเดียวกับเด็กผู้ชาย และเติบโตมีบทบาทในสังคมมากขึ้น นอกจากนี้มีโรงเรียนเฉพาะสำหรับเด็กพิการและมีการปรับปรุงเนื้อหาการเรียนการสอนให้เหมาะสม 

แน่นอนว่าระบบการศึกษาของอังกฤษผ่านเหตุการณ์และความท้าทายต่างๆ มาเป็นระยะ เช่น รัฐบาลตัดงบประมาณการศึกษาลง ความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนรัฐและเอกชน ความแตกต่างระหว่างเขตเมืองและชนบท 

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจด้านสังคมก็ยังพบว่า คนอังกฤษให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ร้อยละ 51 ของประชากรวัยทำงานจบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ร้อยละ 26 ของประชากรวัยทำงานจบปริญญาตรี มีเพียงร้อยละ 1.7 ของวัยทำงานที่จบปริญญาเอก

ส่วนระบบการศึกษาฝรั่งเศสที่มีประวัติศาสตร์การขยายการศึกษาถ้วนหน้า เพื่อจุดประสงค์เพิ่มจำนวนข้าราชการในระบบ รัฐบาลกำหนดให้เด็กอายุ 3-17 ปีอยู่ในการศึกษาภาคบังคับ มีโรงเรียนเฉพาะสำหรับผู้มีความสามารถ พร้อมๆ กับมีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยให้คนทั่วไปรับการศึกษา

มีสถาบันฝึกวิชาสายอาชีพที่เข้มแข็ง พร้อมรัฐบาลสนับสนุนการศึกษาสูงถึงร้อยละ 5.2 GDP รัฐบาลอุดหนุนร้อยละ 40 ของค่าเทอมของนักศึกษาปริญญาตรี 

อย่างไรก็ตาม มีเพียงร้อยละ 12 ของประชากรวัยทำงานที่สำเร็จระดับปริญญาตรี การจบการศึกษาระดับมัธยมนับเป็นมาตรฐานสำคัญในการได้งานทำ แต่ถ้าสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะช่วยเพิ่มโอกาสการทำงานมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันร้อยละ 50 ของประชากรอายุ 25-34 ปีจบการศึกษาระดับอุดมศึกษา

ต่อกรกับ \"ความเขลา\" ตามแบบฉบับนักเศรษฐศาสตร์ \"เบเวอร์ริจ\"

การขยายสิทธิการศึกษาและความเป็นธรรมสังคม

การศึกษาของอังกฤษและฝรั่งเศสต่างให้ความสำคัญกับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก ต้องขยายให้ครอบคลุมประชากรถ้วนหน้า และเนื้อหาต้องส่งเสริมให้ประชาชนเป็นพลเมืองที่ดีในสังคมประชาธิปไตย และมีวิชาความรู้ความสามารถพื้นฐานพอหาเลี้ยงชีพในระบบทุนนิยม 

ส่วนการศึกษาขั้นสูงเป็นเรื่องเสรีภาพการตัดสินใจของผู้เรียน เนื่องจากจุดประสงค์ของมันมีเพื่อเพิ่มพูนทักษะความสามารถให้แก่ผู้เรียนเพื่อได้รับค่าจ้างค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงทั่วโลกรวมถึงไทยด้วยก็เกิดการตั้งคำถามว่า ความรู้ภาคบังคับพื้นฐานนั้นเพียงพอต่อการหาเลี้ยงชีพในปัจจุบันหรือไม่ เมื่อรายได้ของผู้จบระดับมัธยมไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตปัจจุบัน และจำเป็นต้องเข้ารับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย? 

การเรียกร้องในสังคมไทยมีถึงว่ารัฐต้องขยายการศึกษาฟรีไปจนถึงระดับปริญญาเอก อุดหนุนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และยกเลิกหนี้ กยศ.ทั้งหมด

ข้อเสนอดังกล่าวเกินเลยกว่าสิ่งที่เบเวอร์ริจเสนอ หรือแม้แต่ระบบการศึกษาฝรั่งเศสก็ไม่เคยงดเว้นค่าเล่าเรียนระดับอุดมศึกษาและปริญญาเอก รัฐทำหน้าที่อุดหนุนค่าเทอมบางส่วนเพื่อให้ค่าเทอมถูกลง และไม่เคยอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายวันให้นักศึกษาแบบไม่มีเงื่อนไข

ทุกคนมีสิทธิเสนอความคิดด้านการศึกษา แต่ต้องคำนึงว่าสิ่งที่เสนอจะสร้างความเป็นธรรมสังคมได้หรือไม่ การขยายสิทธิฟรีถ้วนหน้าจนถึงปริญญาเอกนั้น

อีกด้านหนึ่งคือการนำเงินภาษีของคนทั้งประเทศ (ไม่ใช่เฉพาะของคนรุ่นปัจจุบันแต่รวมถึงแรงานรุ่นพ่อแม่เรา) ให้กับคนไม่กี่คนสามารถศึกษาถึงระดับปริญญาเอก และเมื่อเขาเรียนจบแล้ว รายได้ที่เพิ่มขึ้นก็กลายเป็นของเขาคนเดียว 

ต่อกรกับ \"ความเขลา\" ตามแบบฉบับนักเศรษฐศาสตร์ \"เบเวอร์ริจ\"

ดังนั้น การขยายสิทธิการศึกษาระดับสูงจึงต้องควบคู่กับนโยบายการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมด้วยเสมอ เพื่อบังคับให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายการศึกษาตอบแทนสังคมด้วยภาษีที่มากขึ้นจากรายได้ที่มากขึ้น

ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับความมานะอดทนของคนจบปริญญาเอกด้วย อัตราภาษีเงินได้ก็ไม่ควรสูงจนไปบั่นทอนกำลังใจและไม่มีใครอยากเรียนหนังสือสูงๆ เช่นกัน

ท้ายสุดเราอาจต้องกลับมาตั้งคำถามกับระบบการศึกษาภาคบังคับขั้นพื้นฐานของไทยอีกครั้งว่า ลดความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่? และสามารถผลิตพลเมืองที่รู้หน้าที่ของตนเองและรับผิดชอบต่อผู้อื่นในสังคมประชาธิปไตย?.