เมื่อการเมืองเริ่มขยับ นโยบาย 'การศึกษา' แบบไหน? สร้างคนคุณภาพ ลดเหลื่อมล้ำ

เมื่อการเมืองเริ่มขยับ นโยบาย 'การศึกษา' แบบไหน? สร้างคนคุณภาพ ลดเหลื่อมล้ำ

ผ่านมาแล้วกว่า 2 สัปดาห์ของผลคะแนนการเลือกตั้งที่มาจากเสียงข้างมากของประชาชน ได้เลือก ‘พรรคก้าวไกล’ จัดตั้งรัฐบาล แม้จะยังไม่ได้โหวตการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ได้มีการลงนามMOU 23 ข้อ+5 แนวทาง เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันทั้งหมด 8 พรรคการเมือง

Keypoint:

  • 'นโยบายการศึกษา'รัฐบาลผสมแม้จะไม่ได้อยู่ในการลงนาม MOU 8 พรรค แต่เชื่อว่าทุกพรรคให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา พัฒนาคน
  • การศึกษายุคใหม่ต้องสร้างความเท่าเทียม เป็นประชาธิปไตย ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ตกเป็นทาสของ AI ต้องทำให้คนเก่งเข้าสู่ระบบการศึกษา ไม่ใช่เสียดุลคนเก่งไปต่างชาติ
  • รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ อาจไม่จำเป็นต้องจบครุศาสตร์ แต่ต้องพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกคน และต้องมีทีมงานที่เข้าใจการศึกษาจริงๆ 

การลงนาม 23 ข้อ บวก 5 แนวทางของ 8 พรรคการเมืองรัฐบาลผสม ระหว่างพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคเพื่อไทยรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ มีเนื้อหาสาระดังนี้ 

1. ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

2.ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ

3.ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยยึดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน

4.เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับเป็นระบบสมัครใจ แต่ยังคงไว้ซึ่งการเกณฑ์ทหารยามศึกสงคราม

5.ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

นโยบายการศึกษารัฐบาลผสม เปลี่ยนการศึกษาไทยเป็นจริงหรือมโน?

จะเทใจให้พรรคไหน ให้ดูนโยบายการศึกษา | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

 

ทำความเข้าใจ 23 ข้อ ลงนามMOU รัฐบาลผสมก้าวไกล

6.ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต

7.แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน

8.ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม

9.ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราว ซึ่งการอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

10.ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพรรคประชาชาติสงวนสิทธิ์ไม่เห็นด้วยเครื่องดื่มแอลกออฮอล์ด้วยเหตุผลด้านศาสนา

เมื่อการเมืองเริ่มขยับ นโยบาย \'การศึกษา\' แบบไหน? สร้างคนคุณภาพ ลดเหลื่อมล้ำ

11.ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการผลักดันกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

12.ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

13.จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (zero-based budgeting)

14.สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว

15.แก้ไขปัญหายาเสพติดโดยเร่งด่วน

 

ลงนามพรรครัฐบาลผสม เป็นสัญญาประชาคม

16.นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ผ่านการออกประกาศกระทรวง สธ.โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา

17.ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิตส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี และแหล่งน้ำ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์เกษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ

18.แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน

19.ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

20.ยกระดับระบบสาธารณสุข

21.ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

22.สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์(Net Zero)โดยเร็วที่สุด

23.ดำเนินการนโยบายต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเซียน และเวทีระหว่างประเทศตามกรอบความร่วมมือพหุภาคีและรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ

เมื่อการเมืองเริ่มขยับ นโยบาย \'การศึกษา\' แบบไหน? สร้างคนคุณภาพ ลดเหลื่อมล้ำ

การลงนามใน MOU บันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลทั้งหมด 8 พรรคการเมืองข้างต้น อาจจะไม่มีข้อใดที่ตรงกับนโยบายด้านการศึกษา ซึ่งถือเป็นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนให้มีคุณภาพ มีทักษะ มีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น ซึ่งการพัฒนาคนต้องอาศัยแนวทางและหลากหลายกระทรวงทำงานร่วมกัน

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ด้วยการนำเสนอการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ของประเทศไทยที่การตั้งรัฐบาลผสม มีการพูดคุยเรื่องเป้าหมายร่วมกันของพรรคที่มาร่วมรัฐบาล เพราะที่ผ่านมาจะเป็นการเจรจาต่อรองเก้าอี้ในกระทรวงต่างๆ

“เป็นเรื่องปกติของระบบรัฐสภา เมื่อพรรคการเมืองใดที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เกินครึ่ง ต้องมาร่วมกัน และระบบรัฐสภาประชาชนไม่ได้เลือกนายกรัฐมนตรี หรือฝ่ายบริหารโดยตรง แต่เป็นการเลือกผ่านส.ส. ถ้ามีพรรคใดคะแนนเกินครึ่งก็สามารถจัดตั้งได้โดยไม่มีปัญหา”ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

เรื่องนโยบายเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งแต่ละพรรคมีนโยบายเหมือนและต่างกัน ข้อที่ต้องคุยกัน ตกลงเรื่องนายกฯได้ ใครรับผิดชอบกระทรวงไหน ต้องมากำหนดเป้าหมายร่วมกันก่อน เขาใช้เวลาขั้นตอนนี้นานเป็นเดือน หาเสียงไว้ ข้อไหนเหมือนกันก็ทำได้เลย แต่ข้อไหนต่างกัน ต้องหาเสียง หารือกันในสภาก่อน 

การศึกษายุคใหม่ ต้องไม่เป็นทาสAI

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่าขณะนี้แม้พรรคก้าวไกลจะมีสิทธิในการตั้งรัฐบาล เนื่องจากมีเสียงข้างมากจากประชาชน แต่ยังเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ต้องรอให้เป็นไปตามกระบวนการ ส่วนการลงนามร่วมกัน 8 พรรคการเมือง เพราะเป็นรัฐบาลผสมนั้น ในหลายๆประเทศ อย่าง ประเทศเยอรมนี จะเรียกว่าสัญญาพรรคร่วมรัฐบาล แต่ของไทยเป็นการลงนาม MOU ซึ่งไม่มีผลทางกฎหมายแต่การแถลงให้ประชาชนได้รับทราบถือเป็นสัญญาประชาคม และมีผลทางการเมือง และการลงนาม 23 ข้อ เป็นสิ่งที่ 8 พรรคการเมืองต้องพัฒนาต่อให้เป็นนโยบายรัฐบาล

“นโยบายการศึกษา อาจจะไม่ได้อยู่ใน 23 ข้อ แต่เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองต่างให้ความสำคัญกับด้านการศึกษา และคาดว่า พรรคก้าวไกล อาจจะเป็นพรรคการเมืองที่มาดูในเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งการศึกษาถือเป็นทุกเรื่อง เพราะทุกคนต่างอยู่ในการศึกษา โดยเฉพาะการปฎิรูปต่างๆ สิ่งที่ต้องการจากการศึกษาเป็นเรื่องของการสร้างคน ไม่ใช่การท่องจำหรือเน้นการฟังบรรยาย แต่ต้องเป็นการศึกษาโลกสมัยใหม่ การมาถึงของ Open  AI ที่สามารถให้ทุกคนใช้ได้ และการเปลี่ยนแปลงการศึกษา ไม่ใช่เพียงเท่าทัน แต่ไม่ต้องเป็นทาสของAI” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

ทุกคนเท่าเทียม การศึกษาเพื่อประชาธิปไตย

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวต่อไปว่าการศึกษา ต้องเป็นเรื่องที่ทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียม  เป็นการศึกษาเพื่อประชาธิปไตย ลดความเหลื่อมล้ำ เห็นคนเท่าเทียมกัน ยอมรับความแตกต่างกันด้วยกัน รัฐบาลมีความเข้าใจบริการสาธารณะ งบประมาณแผ่นดินมาจากประชาชน เพื่อประชาชน ต้องพัฒนาการศึกษาให้เกิดขึ้นแก่ทุกคนทุกวัน เพราะตอนนี้สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ มีคนตายมากกว่าคนเกิดถึง 90,000 คน ต้องมาว่าสังคมข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ต้องการการศึกษาในรูปแบบไหน

“ขณะนี้แม้จะยังไม่มีหน่วยงานใดพูดเรื่องการศึกษาอย่างชัดเจน ทั้งที่กำลังคนในประเทศกำลังวิกฤต ประเทศที่พัฒนาแล้วได้มีการนำเข้าประชากรจำนวนมาก ตั้งแต่การให้ทุนการศึกษาและคัดเลือกคนเก่งให้อยู่ในประเทศของเขา แต่ประเทศไทยไม่มีนโยบายตรงนี้ แถมมีบางพรรคการเมืองบอกให้เด็กไทยถ้าไม่อยากอยู่ในประเทศก็ไปอยู่ที่อื่นๆ ซึ่งตรงนี้ไม่ควรทำ ไม่เช่นนั้นประเทศจะขาดกำลังคน ขาดคนรุ่นใหม่ ยุคนี้ต้องเน้นเรื่องคุณภาพของคน และการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กไทย และเด็กจากต่างประเทศ เราไม่ควรเสียดุลคนเก่งให้แก่ประเทศอื่นๆ” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

อย่างไรก็ตาม การศึกษาต้องออกแบบ รองรับเรื่องการขาดแคลนกำลังคน และต้องเป็นการศึกษาเพื่อคนสูงวัย คนอายุยืนมากขึ้น  ที่ผ่านมาไม่ได้เห็นการทำงานจากกระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอย่างชัดเจนว่าจะออกแบบการศึกษาให้แก่คนทุกวัยได้อย่างไร และการตั้งเป้าตามประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างบอกว่าจะส่งคนไปดวงจันทร์ ไทยไม่ควรส่งแล้ว เพราะประเทศอื่นทำได้ตั้งแต่ 54 ปีที่แล้ว ควรมองข้ามช็อตไปดักข้างหน้า ไม่ใช่ไปตามประเทศอื่นๆ

เมื่อการเมืองเริ่มขยับ นโยบาย \'การศึกษา\' แบบไหน? สร้างคนคุณภาพ ลดเหลื่อมล้ำ

ยุคแย้งชิงทรัพยากรมนุษย์ ต้องดึงคนเก่งมาไทย

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า AI ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีต่างๆ ได้มีการสร้างความได้เปรียบในหลายๆประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่ มี Soft Power  มากมาย หลายคนอยากอยู่ในประเทศ หรือคนต่างชาติหลายคนอยากมาอยู่ไทย แต่เมื่อเราไม่มีนโยบายชัดเจนทั้งที่ ทิศทางของโลก คือการแย้งชิงทรัพยากรมนุษย์

“การศึกษาไทยต้องตอบโจทย์ สร้างคุณภาพคนยุคใหม่ ต้องเอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง ที่ผ่านมาเป็นการทำแบบปรับนิดปรับหน่อย แต่ตอนนี้ทำแบบนั้นไม่ได้ ต้องเปลี่ยนใหม่ โดยเริ่มต้นจากจุดที่ทำน้อยได้มาก  เช่น เรื่องการแบ่งชนชั้นปกครองระหว่างครูกับผู้บริหาร ควรให้ผู้บริหารกลับมาสอนหนังสือเหมือนเดิม ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่การบริหารเพียงอย่างเดียว ผอ.สอนหนังสือไม่ได้ แล้วการศึกษาจะดีได้อย่างไร เป็นต้น”ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

พัฒนาโรงเรียนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน คนทุกวัย

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่าการลงนามของพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรค เป็นกรอบที่กว้าง และมีเพียงบางข้อที่มีความชัดเจน โดยส่วนตัวกังวลเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ เพราะถ้าพิจารณาจากโผคณะรัฐมนตรี  พรรคก้าวไกลจะดูในเรื่องของการปรับกระทรวง ดูเรื่องเชิงปฎิรูปโครงการ ส่วนเศรษฐกิจจะเป็นพรรคเพื่อไทยดู ซึ่งในระยะสั้นเชื่อว่าช่วยชีวิตคนได้จริงๆ แต่ในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในระยะยาว อาจจะไม่ชัดเจน

“เรื่องนโยบายการศึกษานั้น ถ้าดูจากโผครม. ก้าวไกลอาจจะได้มาดูกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งนโยบายเร่งด่วน นโยบายด้านการศึกษาของก้าวไกลทั้ง 20 ข้อ ถือว่าทำได้ดี และพัฒนากำลังคนตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 แต่อยากให้เพิ่มเรื่องของคูปองเปิดโลก 2,000 บาทต่อปีที่ไม่ได้ให้เฉพาะครู แต่ควรเป็นคูปองของคนวัยทำงาน หรือผู้สูงอายุร่วมด้วย”ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว

ส่วนการพัฒนาการศึกษาโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) 30,000 กว่าแห่ง มีความพร้อมด้านทรัพยากร แต่ด้านการกระจายงบประมาณให้เพียงพออาจไม่พอจริง เพราะงบประมาณเพียงพอเป็นคำที่กว้าง อยากให้มีการใช้ทรัพยากร และใช้ประโยชน์จากโรงเรียน ให้โรงเรียนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน การเปลี่ยนโรงเรียนเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนให้คนทุกช่วงวัย

สำหรับการเรียนรู้ ถ้าเรามองจริงๆ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน มี MOU ร่วมกัน ซึ่งไม่ได้หมายถึงครูสอนเด็กทั้งหมด แต่ต้องเป็นครูช่วยพัฒนาตามความต้องการ ของชุมชนให้มากขึ้น การพัฒนาห้องสมุดของโรงเรียน สามารถอัพเกรดโรงเรียน จากโรงเรียนของนักเรียนเป็นของทุกวัย

"ทุกอย่างจะเปลี่ยนได้ ต้องมองกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นกระทรวงอนาคต เพราะคนที่เข้ามาเรียนในระบบการศึกษาเปลี่ยนไป จะต้องมีหลักสูตรที่เกิดจากการคาดการณ์เรื่องอนาคต ครูอาจารย์ต้องมองอนาคต  จัดการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กมองไปข้างหน้า ซึ่งพ.ร.บ.การศึกษา หรือกฎหมายต้องเปิดช่องให้มาก อย่าจำกัดกรอบความคิดในการทำงาน"ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว

การปรับเปลี่ยนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงต่างๆ เรื่องของโครงสร้าง มันไม่เท่ากับความเคยชิน ต้องมีการฟอร์มทีมกำหนดทิศทางการเดินหน้าของประเทศที่แตกต่างไปจากเดิม การบริหารการเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้เหมาะสม ไม่ช้าเกินไป และไม่เร็วเกินไป กระทรวงศึกษาธิการต้องเอาทำให้ได้ทั้งความรู้ และพัฒนาคน รวมถึงสร้างความร่วมมือจากคนในกระทรวงให้เกิดขึ้นด้วย 

นโยบายการศึกษาพรรคการเมืองแบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่

ขณะที่ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า นโยบายด้านการศึกษาของพรรคการเมืองต่างๆ นั้น แบ่งได้ออกเป็น3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 

 1.นโยบายที่มีการรับฟังเสียงครูผู้สอน เช่น การลดงานครู การสั่งการของผู้อำนวยการโรงเรียน การประเมินผล ซึ่งเห็นจากนโยบายของพรรคก้าวไกล แต่ก็ยังคงเป็นประเด็นปลีกย่อยที่เป็นปัญหาปลายทาง

2. นโยบายแผ่นเสียงตกร่อง มีท่าทีในการมองครูและโรงเรียนว่าเป็นสิ่งที่ซ่อมได้ ยังไม่มีท่าทีในการทำให้เข้มแข็ง (empowerment) ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เช่น การพัฒนาครูทั้งระบบ ใช้ไอทีเข้ามาช่วยในการสอน re-skill/up-skill ครู ตัวอย่างคือนโยบายของพรรคเพื่อไทย

3. นโยบายปลีกย่อยในพรรคที่ไม่ให้น้ำหนักกับนโยบายการศึกษานัก อย่างพรรคฝั่งรัฐบาลปัจจุบัน

“ตอนนี้ยังไม่เห็นพรรคไหนมองการศึกษาในเชิงระบบ ส่วนใหญ่จะมองเฉพาะโจทย์เร่งด่วนที่มีความจำเป็นต้องแก้ไข ไม่ได้มองการแก้ปัญหาระยะยาว อย่าง กฎหมายการศึกษาและนโยบายที่เกี่ยวกับโครงสร้าง ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญมากและต้องการเวลา”ผศ.อรรถพล กล่าว

ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ถูกแขวนไว้ด้วยเหตุผลทางการเมือง เพราะมีการยื้ออำนาจกันของผู้มีส่วนได้เสียหลายกลุ่ม จนมีร่างกฎหมายออกมาหลายเวอร์ชันแล้วถูกนำมารวมกัน เมื่อกรรมาธิการแก้ไขแล้วก็ยื้อไว้จนไม่ทันรอบการพิจารณาของสภา กลายเป็นระเบิดเวลาที่รออยู่ เพราะหลายเรื่องยังคุยกันไม่ตกผลึก

ผศ.อรรถพล กล่าวต่อว่า หลายเรื่องใน พ.ร.บ.การศึกษา เป็นประเด็นเปราะบาง เช่น จะให้มีซูเปอร์บอร์ดแล้วมาจากการสรรหาจริงไหม จะกลายเป็นว่ามีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและคนภายนอกที่ใครก็ไม่รู้สรรหามาแล้วมีบทบาทยิ่งกว่ารัฐมนตรีหรือเปล่า หากเป็นเช่นนั้นจะเป็นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่น่าห่วงมาก เรื่องให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลก็ยังคุยกันไม่ตกผลึก

ส่วนการจัดทำหลักสูตรการศึกษา เป็นอีกเรื่องที่ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาสานต่อ แม้ว่าที่ผ่านมาจะเคยเห็นพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลพูดถึงการทำหลักสูตรให้ทันสมัยขึ้น แต่ยังไม่เห็นรายละเอียด

รมว.ศธ.ต้องรับฟัง มีทีมงานที่รู้จักการศึกษาจริงๆ 

โจทย์สำคัญของรัฐบาลนอกจากเรื่องร่าง พ.ร.บ.การศึกษา เรื่องโครงสร้างอำนาจในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เรื่องระบบพัฒนาครู เรื่องระบบหลักสูตร ยังมี ‘ปัญหาโลกแตก’ ที่กลับมาเป็นหัวข้อถกเถียงหลายครั้ง เช่น การจะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก

“สองทศวรรษ นักปฏิรูปการศึกษายังคงเป็นหน้าเดิมๆ เปลี่ยนรัฐบาลกี่ปีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงก็เป็นคนเดิม ถ้าพรรคการเมืองเข้ามาโดยไม่เข้าใจก็จะถูกลากไปกับชุดความคิดเดิมๆ ที่เขาพยายามรักษากันไว้ เปลี่ยนรัฐมนตรีกี่รอบก็มีปัญหาเรื่องเดิม เพราะชุดความคิดฝังอยู่กับระบบราชการ เป็นแนวความคิดแบบเสรีนิยมใหม่ในการศึกษา ”ผศ.อรรถพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนต่อไป ควรเลือกทีมที่ปรึกษาที่รู้จักหน้างานจริงๆ อาจจำเป็นต้องหักดิบไม่ใช้ทีมกุนซือชุดเดิมที่ให้คำปรึกษารัฐบาลมาตลอด 20 ปี เพราะกุนซือบางคนมาจากโรงเรียนทางเลือก-โรงเรียนนวัตกรรม อยู่ห่างไกลจากโรงเรียนรัฐ เวลาให้คำปรึกษาก็จะมีช่องว่างทำให้โรงเรียนของรัฐถูกทิ้งขว้างมานาน นโยบายที่ออกมาจึงมีเส้นทางที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้ยากมาก เพราะมีคนละความเชื่อกัน

“รัฐมนตรีไม่ต้องเป็นคนที่จบครุศาสตร์ แต่ต้องเป็นคนที่พร้อมฟังคนที่ทำงานการศึกษาจริงๆ ซึ่งรัฐมนตรีที่ผ่านมาไม่ฟังและมีท่าทีใช้อำนาจเป็นหลัก ทำให้เสียงจากคนทำงานเบาลงเรื่อยๆ ถูกเมินเฉยไป รัฐมนตรีควรเป็นคนที่เคยทำงานการศึกษามาบ้าง แต่ถ้าไม่เคยอย่างน้อยต้องมีทีมงานที่รู้จักการศึกษาจริงๆ ไม่ใช่ว่ามีคนกลุ่มเดิมรายล้อมให้คำแนะนำแล้วใช้แนวปฏิบัติแบบที่ทำกันตลอดมาในการแก้ปัญหา" ผศ.อรรถพล กล่าว