ความขี้เกียจในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ "เบเวอร์ริจ"

ความขี้เกียจในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ "เบเวอร์ริจ"

เดือน พ.ย.2566 ครบรอบ 81 ปีการจากไปของ “วิลเลียม เบเวอร์ริจ” นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ ผู้เสนอรายงาน Beveridge Report ต่อรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

จึงเป็นโอกาสดีที่จะเขียนถึงแนวคิดของเขาสักครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องความขี้เกียจของผู้คนที่ไม่ใช่แค่เรื่องอุปนิสัยส่วนตัว แต่เชื่อมโยงกับการจัดสวัสดิการอย่างสำคัญ

เบเวอร์ริจ มองว่า รัฐมีความจำเป็นต้องสร้างระบบสวัสดิการสังคม เพื่อต่อกรกับยักษ์ 5 ตน ที่คอยขัดขวางความก้าวหน้าของสังคม ได้แก่ ความต้องการ (Want) โรคภัยไข้เจ็บ (Disease) ความเขลา (Ignorance) ความโสโครก (Squalor) และความขี้เกียจ (Idleness) 

ในบรรดาทั้งหมด “Want” ถูกมองเป็นศูนย์ของปัญหา เพราะความต้องการส่วนหนึ่งมาจากความยากจนและขาดแคลน และสาเหตุยากจนหลักคือการไม่มีงานทำ 

ก่อนหน้าที่เขาได้เสนอรายงาน รัฐบาลอังกฤษใช้การประกันรายได้จากการว่างงานเพื่อแก้ไขปัญหานี้ แต่เบเวอร์ริจ ชี้ว่ามันไม่เพียงพอ เพราะประชาชนผู้รับนโยบายก็ยังมีรายได้ต่ำกว่าพื้นฐานดำรงชีพ

เขาจึงเสนอว่านอกจากการประกันรายได้แล้ว ต้องมีนโยบายกระจายรายได้ที่พิจารณาตามความจำเป็นของครอบครัวที่แตกต่างกัน รัฐสวัสดิการจึงต้องเป็นการทำงานร่วมกันของรัฐและครอบครัว/ประชาสังคม มีการประกันภาคบังคับแล้วก็ต้องมีภาคเอกชนเป็นตัวเสริม

ความยากจนยังเชื่อมโยงกับยักษ์อีก 4 ตนที่เหลือ ความยากจนทำให้ผู้คนต้องอยู่อาศัยอย่างสกปรกแร้นแค้น (โสโครก) และยากที่จะให้ครัวเรือนได้รับการศึกษา

คนตกงานมาพร้อมกับการติดเหล้าและอาชญากรรม (โรคภัยและความเขลา) วังวนปัญหาย่อมทำให้บุคคลหมดแรงใจทำงาน กลายเป็นขี้เกียจ ซึ่งเบเวอร์ริจนิยามว่า “มันคือการสูญเสียความสามารถของมนุษย์อย่างไร้ประโยชน์” 

 

ความขี้เกียจชั่วคราวสามารถพัฒนาต่อเนื่องจนเป็นนิสัย จนแรงงานที่ตกงานจะถูกด้อยค่าลงไป เห็นได้ว่า ความขี้เกียจเชื่อมโยงกับการว่างงาน อัตราการว่างงานทั้งแบบชั่วคราวหรือถาวรส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

การตกงานจำนวนมากทำให้การผลิตขัดข้อง ไม่มีการพัฒนานวัตกรรม ความสามารถการแข่งขันของประเทศถูกทิ้งห่างจากประเทศอื่น อีกทั้งการบริโภคของครัวเรือนก็ลดน้อยถอยลง

ความขี้เกียจในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ \"เบเวอร์ริจ\"

๐ ขจัดความต้องการและความขี้เกียจไปด้วยกัน

ความขี้เกียจจึงไม่ใช่ปัญหาปัจเจกบุคคลหรือพฤติกรรมส่วนบุคคล เพราะมันสามารถส่งผลกระทบภายนอกต่อสังคมได้ ยิ่งมวลชนมีความขี้เกียจจำนวนมากยิ่งส่งปัญหาต่อโครงสร้างทั้งระบบตามมา มันจึงเป็นปัญาสังคมที่ต้องอาศัยรัฐเข้าช่วยพร้อมกับความร่วมมือของประชาชน

เงินประกันการว่างงานสามารถขจัดความต้องการได้ แต่ก็สามารถกระตุ้นความขี้เกียจได้เช่นกัน แรงงานบางคนเลือกที่จะตกงานและรับเงินช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ดังนั้น รัฐจำเป็นต้องใช้เครื่องมืออื่นควบคู่ ได้แก่ นโยบายตลาดแรงงานเชิงรุก (Active Labor Market Policies)

เบเวอร์ริจเสนอว่า รัฐให้สิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานแก่ทุกคน ไม่จำเพาะแค่แรงงานเท่านั้น และสิทธิประโยชน์ที่ให้นั้นต้องไม่มากพอให้แรงงานเลือกที่จะตกงาน หรือไปกระตุ้นการว่างงานในระบบให้มากขึ้น 

เขาเสนอนโยบายว่า 1. รัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือเฉพาะแค่ช่วงเวลาหนึ่ง (ไม่ใช่ตลอดไป) เพื่อให้แรงงานตั้งตัวกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกครั้ง 2. รัฐต้องมีมาตรการอบรมฝึกฝนให้แรงงาน เพื่อจะลดความขี้เกียจลง และมีความชำนาญพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน

ความขี้เกียจในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ \"เบเวอร์ริจ\"

ความขี้เกียจในมุมมองนักคิดสังคมนิยม

ความขี้เกียจถูกมองเป็นปัญหาของนักคิดฝ่ายสังคมนิยมเช่นกัน แซงต์ซิมง สังเกตระบบนิเวศธรรมชาติ พบว่าสิ่งมีชีวิตจำพวกหนึ่งที่มิได้ผลิตหรือเอื้อระบบนิเวศ ไม่สามารถอยู่ได้อิสระด้วยตนเอง แต่อาศัยการเกาะกินสารอาหารจากสิ่งมีชีวิตอื่นที่มันอาศัย หรือพวกนี้คือ “ตัวขี้เกียจ” นั่นเอง

เขาประยุกต์ข้อค้นพบในธรรมชาตินี้ไปวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจ และเรียกผู้ที่ไม่ทำงานว่า “ชนชั้นปรสิตสังคม” ได้แก่ พวกเจ้าที่ดิน ชนชั้นขุนนาง นักบวช ที่ไม่ได้ผลิตมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ รัฐมีหน้าที่ลดจำนวนชนชั้นดังกล่าวให้น้อยลง

ดังนั้น รัฐสังคมนิยมจึงต่อต้านความขี้เกียจ รัฐต้องพยายามสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อให้แรงงานอยากทำงาน เพื่อผลิตมูลค่าเพิ่มให้ระบบ และนำมูลค่าเพิ่มนั้นมาแบ่งสรรปันส่วนแก่ทุกคนอย่างยุติธรรม 

แนวคิดดังกล่าวยังปรากฏในหมวดที่ 4 เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ด้วยเช่นกัน “...แรงงานที่สูญเสียไปและพวกหนักโลก น่าเสียใจซึ่งที่ดินของเราอันอุดมอยู่แล้วนี้ ยังมิได้ใช้ให้เป็นประโยชน์

ทั้งนี้เพราะการประกอบเศรษฐกิจตามทำนองที่เอกชนต่างคนต่างทำดังที่เป็นมาแล้ว ทำให้แรงงานสูญสิ้นเสียไปโดยเปล่าประโยชน์บ้าง แรงงานต้องใช้เปลืองไปโดยใช่เหตุบ้าง และขาดเครื่องจักรกลที่จะช่วยแรงงานให้ได้ผลดียิ่งขึ้นบ้าง มีพวกหนักโลก (Social Parasite) บ้าง...” 

ปรีดีแบ่งกลุ่มการสูญเสียแรงงานเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. ชาวนาที่ว่างงานตามฤดูกาล 2. ชาวนาที่แยกกันทำงาน ไม่มีการวางแผนการผลิตร่วมกัน ไม่มีการใช้ปัจจัยการผลิตส่วนรวม 3. แรงงานที่ไม่ใช้เครื่องจักรทำงาน 4. พวกหนักโลกถ่วงความเจริญ ผู้ไม่ประกอบการเศรษฐกิจหรือกิจการใดให้เหมาะสมแรงงานตน ดังนั้นรัฐจึงมีบทบาทหน้าที่ขจัดแรงงานที่สูญเสียให้น้อยลงไป และกระตุ้นให้คนทำงาน

ความขี้เกียจในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ \"เบเวอร์ริจ\"

NEET ความท้าทายใหม่ที่ไม่ใช่แค่ขี้เกียจ

ในปัจจุบัน โครงสร้างแรงงานทุกประเทศมีความซับซ้อนกว่าสมัยเบเวอร์ริจและปรีดีมาก มาตรการรัฐแบบเดิมๆ เริ่มพบข้อจำกัด และเกิดปัญหาการว่างงานขึ้นเป็นระยะ

ยิ่งกว่านั้นอาจต้องคิดใหม่ทำใหม่เพื่อจัดการกับปรากฏการณ์ “NEET” (Not in employment, education or training) หรือประชากรอายุ 15-24 ปี ซึ่งจะเป็นแรงงานสำคัญในอนาคตในยุคประชากรสูงวัย แต่กลับเลือกที่จะไม่เข้าเรียน ไม่เข้าอบรม หรือเข้าสู่ตลาดแรงงาน 

จำนวน NEET ที่เพิ่มขึ้นเป็นความท้าทายในรัฐสวัสดิการทุกประเทศ เนื่องจากจะขาดแคลนแรงงานทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณจนไม่สามารถแบกรับภาระดูแลประชากรวัยชราและวัยเด็กได้

ความขี้เกียจหรือพฤติกรรมส่วนบุคคลไม่ใช่สาเหตุเดียวของการเกิด NEET แต่สาเหตุเชิงโครงสร้างอื่น ได้แก่ วัฒนธรรมปัจเจกนิยมที่ขาดการยึดโยงตนเองกับครอบครัวและผู้อื่นในสังคม ความเหลื่อมล้ำด้านผลตอบแทนระหว่างฝ่ายทุนและแรงงาน สถาบันการศึกษาไม่เชื่อมโยงตลาดแรงงาน ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบท ต่างเป็นปัจจัยสนุบสนุนเช่นกัน

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐสวัสดิการจึงต้องต่อยอดจากคุณค่าเก่าที่มุ่งขจัดปัญหาการตกงาน ไปสู่คุณค่าอื่นที่ช่วยกระตุ้นแรงงานอยากทำงาน สร้างสภาพแวดล้อมให้แรงงานทุกคนมีความหวังว่าจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ช่วยให้แรงงานพัฒนาตนเองเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และเพื่อคนที่สำคัญต่อชีวิตพวกเขา 

ไปพร้อมๆ กับให้ความสำคัญว่า แรงงานทุกคนต่างเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจที่สำคัญ ระบบจะดำเนินต่อไปได้ต้องอาศัยทุกคนร่วมการทำงานกัน อีกทั้งต้องลดระบบอุปถัมภ์ที่สนับสนุนให้เกิดอภิสิทธิ์โดยไม่ต้องทำงาน หรือสร้างประโยชน์ให้ส่วนรวม.