แก้ปัญหาแบบ Education 4.0 | บวร ปภัสราทร

แก้ปัญหาแบบ Education 4.0 | บวร ปภัสราทร

บ้านเมืองที่มีนวัตกรรมสูงๆ ล้วนแต่มีผลการทดสอบทางการศึกษาอยู่ในระดับสูง สวีเดนที่เป็นประเทศที่สัดส่วนมหาเศรษฐีต่อประชากรสูงติดอันดับนำของโลกก็จริงจังกับการปรับเปลี่ยนการศึกษาให้ทันยุคทันสมัยอยู่เสมอ 

หากโรงเรียนยังเป็นเหมือนเดิมที่รุ่นพ่อรุ่นแม่เคยเล่าเรียนมา พ่อแม่คงไม่อาจพึ่งพาเฉพาะระบบโรงเรียนให้ช่วยผลักดันลูกหลานให้มีความพร้อมสำหรับโลกที่แข่งขันกันด้วยนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ได้ จะมีสักกี่ร้อยใบงาน หรือโครงการก็ไม่ทำให้ลูกหลานเรามีความพร้อมในเรื่องนี้ได้

World Economic Forum กำหนดให้มีแนวคิดเรื่องการศึกษายุคที่สี่ เพื่อสร้างคนสำหรับโลกที่กำลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยุคที่สี่กันอย่างจริงจัง เอไอและสารพัดเทคนิคทางดิจิทัลที่คิดกันขึ้นมาใหม่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงมากมายในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง 

ถ้าจะให้อุตสาหกรรมเหล่านั้นเดินหน้าไปได้ด้วยดี ไม่ได้ต้องการแรงงานราคาถูกเหมือนแต่ก่อน ไม่ต้องย้ายฐานการผลิตมาที่มีแรงงานราคาถูก แต่กลับไปขึ้นกับการมีคนเก่งที่คิดได้เท่าทันและคิดได้ล้ำหน้าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ World Economic Forum สรุปว่า อุตสาหกรรม 4.0 จะไปได้ดีด้วยคนที่มีการศึกษา 4.0 เช่นกัน

Education 4.0 ตามแนวคิดของ World Economic Forum เน้นเรื่องสำคัญอยู่สามเรื่อง Problem-Solving Collaboration และ Adaptability ซึ่งสามเรื่องนี้ World Economic Forum เชื่อว่าพ่อแม่ช่วยสร้างให้ลูกได้ ถ้าตั้งใจและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

 อนาคตของคนคนหนึ่งจะไปได้ไกลแค่ไหน อาจไม่ได้ขึ้นกับการทุ่มเททำมาหากินให้ได้เงินทองมาส่งลูกไปเล่าเรียนในโรงเรียนที่เชื่อว่าดีวิเศษในสมัยพ่อแม่ แต่อาจจะขึ้นกับความพยายามของพ่อแม่ในการปลูกฝังทักษะสามเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นในตัวลูก โดยเฉพาะทักษะที่น่าจะต้องใช้มากที่สุดในการงานและในชีวิตคือ Problem-Solving

Problem-Solving หรือทักษะการแก้ปัญหาที่ World Economic Forum มุ่งเน้นนั้น ไม่ใช่การฝึกหัดให้แก้โจทย์คณิตศาสตร์เก่งๆ ไม่ใช่ทำใบงานวิทยาศาสตร์ได้อย่างน่าตื่นเต้น ไม่เน้นการให้โจทย์มาแล้วแก้ปัญหาตามหนทางที่ครูกำหนด แต่เน้นการมองเห็นปัญหาอย่างมีตรรกะ 

ไม่ใช่มนุษย์เจ้าปัญหาที่อะไรต่ออะไรที่ไม่ได้ดั่งใจล้วนแต่เป็นปัญหาทั้งสิ้น ฝึกให้มองสรรพสิ่งรอบตัวด้วยความใฝ่รู้ มองอย่างมีตรรกะ ไม่ใช่หลงไปตามความเชื่อที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น ไม่ใช่มองตามความอยากได้อยากเป็นของตนเอง เมื่อมองอย่างมีสติและใช้ปัญญาวิเคราะห์อย่างรอบคอบแล้วโอกาสในการพัฒนาย่อมปรากฏให้เห็นได้อย่างแท้จริง 

ฝึกให้มองเห็นจุดเด่น และจุดที่ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น โดยปราศจากความลำเอียง การแก้ปัญหาที่ประสบผลสำเร็จนั้น Education 4.0 เชื่อว่าต้องเริ่มต้นจากการเห็นปัญหาที่แท้จริงก่อนเท่านั้น

เมื่อพบเจอประเด็นปัญหาแล้ว ก็ฝึกให้รู้จักคิดหาสาเหตุพื้นฐานของปัญหานั้น รู้จักวิเคราะห์จนพบ Root Cause ไม่เร่งรีบสรุปไปตามความเชื่อของตนเอง เด็กสอบ PISA ได้ไม่ดี ก็โทษโรคระบาดไว้ก่อน 

ปัญหาที่ซับซ้อนนั้น Education 4.0 เชื่อว่าต้องใช้หลายสมองระดมมากแก้ปัญหานั้น เก่งคนเดียว แก้ปัญหาใหญ่วันนี้ไม่มีทางสำเร็จไปได้ จึงต้องฝึกให้รู้วิธีค้นหาคำตอบในเรื่องที่เป็นปัญหานั้นร่วมกันเป็นทีม

รู้จักวิธีที่จะตกลงกันว่าหนทางใดเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการจัดการกับปัญหาที่พบเจอนั้น ไม่ต้องมาทะเลาะกันเป็นปีๆ เพียงเพราะต่างคนต่างเชื่อว่าหนทางของตนเองดีที่สุดสำหรับบ้านเมือง

ฝึกให้รู้ด้วยว่าทำแล้วแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ประเมินผลเป็น ไม่ใช่แค่ทำตามวิธีที่เลือกไปโดยไม่รู้ว่าทำแล้วได้ผลแค่ไหน รู้แค่ได้ทำ แต่ไม่รู้ว่าได้ผลหรือไม่ ถ้าแก้ผิดทางก็รู้จักที่จะรีบปรับเปลี่ยนได้โดยเร็ว ไม่ติดอยู่กับอัตตา ทำแล้วผิดไม่ได้แต่ประการใด

ถ้าหนทางที่เลือกใช้นั้นแก้ปัญหาได้ผล ก็รู้จักวิธีในการขยายผลจากหนทางนั้นให้ประสบผลสำเร็จในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น โดยรู้ขีดจำกัดว่าสามารถขยายผลไปได้ไกลแค่ไหน

Education 4.0 เชื่อว่าพ่อแม่ช่วยสร้างให้ลูกได้ เหลือแต่ว่าพ่อแม่วันนี้เชื่อเหมือน Education 4.0 หรือไม่?