ถอดบทเรียนอุบัติเหตุ'เผายา' กรรมวิธีไม่ผิด ผิดที่คนทำ

ถอดบทเรียนอุบัติเหตุ'เผายา' กรรมวิธีไม่ผิด  ผิดที่คนทำ

หลังจากที่เกิดกรณีอุบัติเหตุการ ‘เผายา’ หรือ ‘เผายาหน้าท้อง’ จนลุกไหม้ วันนี้ (13 ธันวาคม 2566) วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ออกแถลงการณ์ ‘ถอดบทเรียนกรณีอุบัติเหตุการเผายากับภูมิปัญญาการแพทย์แผนตะวันออก'

Keypoint:

  • ถอดบทเรียนแถลงการณ์ 5 ข้อ กรณีอุบัติเหตุ 'เผายา' ไม่ได้ผิดที่หัตถการ แต่ผิดที่แพทย์แผนไทยไม่มีความรู้ ความชำนาญ 
  • ต้องมีการจัดการเรียนการสอน การฝึกปฎิบัติหัตถการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์แผนตะวันออกที่ถูกต้องแก่ผู้ปฎิบัติ มีใบรับรองชัดเจน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
  • หัถตการแพทย์แผนไทยมีเป็น 100 วิธี แพทย์แผนไทยต้องเลือกวิธีที่เหมาะสมกับคนไข้ และคนไข้ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ไม่มั่นใจว่าปลอดภัยต้องปฎิเสธ

ตามประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่องเกณฑ์มาตรฐานและกรรมวิธีการแพทย์แผนไทยผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 ระบุว่า  การเผายาเป็นกรรมวิธีทางการแพทย์แผนไทย เป็นหัตถการที่ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟู รักษาสุขภาพ ให้ผลเร็วกว่าการใช้ยาแผนไทยรักษา หรือ การนวด เหมาะสำหรับผู้ไข้ ที่มีอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเปรี้ยว กรดไหลย้อน ตะคริว ช่วยจุดไฟธาตุในการย่อย โดยเป็นการนำเอาเครื่องสมุนไพรวางไว้บริเวณที่ต้องการรักษา แล้วจุดไฟเผาเครื่องยา เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ

ทั้งนี้ ศาสตร์การเผาเครื่องยาร้อนมี สืบกันมา ในกลุ่มหมอเมืองพื้นบ้านทางภาคเหนือของประเทศไทย เช่น เชียงใหม่ เชียงราย เป็นต้น ใช้หลักความร้อนจากการเผายา เพื่อกระจายกองลมที่อัดอั้นอยู่ตรงบริเวณที่มีอาการ ทำให้โลหิตเข้าไปหล่อเลี้ยงได้ดียิ่งขึ้นตลอดถึงทำให้ธาตุดินในบริเวณนั้นอ่อนตัวลงที่

ผู้ทำหัตถการนี้ ต้องผ่านการอบรมและและจบการศึกษา แพทย์แผนไทย และต้องมีใบประกอบวิชาชีพ การทำหัตถการ ต้องทำให้ในคลินิกแพทย์แผนไทย มีใบอนุญาตอย่างถูกต้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'วัยเก๋า' ดูแลเข่าด้วยศาสตร์ 'แพทย์แผนไทย'

'Smart Healthcare TTM' แหล่งความรู้ บริการแพทย์แผนไทย-สมุนไพรครบวงจร

 

'เผายา' หัตถการแพทย์แผนไทยในการรักษาโรค

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นต้องขอแสดงความเสียใจ และให้กำลังใจแก่ผู้เสียหายให้ได้รับการเยียวยา ซึ่งในฐานะสถาบันการศึกษาที่ได้เปิดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎี และปฎิบัติ มากว่า 20  ปี และมีการเรียนการสอนหัตถการทางการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน และนวัตกรรมสมุนไพร อย่าง การเผายามากว่า 10 ปี จึงได้ออกแถลงการณ์ แสดงจุดยืนเพื่อทำความเข้าใจต่อประชาชน ผู้บริโภค และผู้ประกอบวิชาชีพทุกท่าน

นายปานเทพ กล่าวแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2566 ถอดบทเรียนอุบัติเหตุการเผายาว่า กรณีที่เกิดขึ้น แพทย์แผนไทยที่อยู่ในเหตุการณ์เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งกรรมวิธีเผายา เป็นหัตถการการแพทย์แผนไทยที่มีมาอย่างยาวนาน สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวกับหัตถการ  แต่อยู่ที่แพทย์แผนไทยที่ทำ สถานพยาบาลที่ทำไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ขาดสติ และมีความประมาท ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียใจหายทั้งร่างกายและจิตใจ

ถอดบทเรียนอุบัติเหตุ\'เผายา\' กรรมวิธีไม่ผิด  ผิดที่คนทำ

"ไม่ใช่มีเฉพาะแพทย์แผนไทยเท่านั้นที่ใช้การรักษาด้วยการใช้ไฟและความร้อน การแพทย์แผนจีน การแพทย์ตะวันออก ก็มีการใช้เช่นเดียวกัน  แต่การใช้ไฟและความร้อนในการรักษา ป้องกันโรคนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ แพทย์ และผู้ประกอบวิชาชีพที่ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ดำเนินกรรมวิธี หัตถการต่างๆ ในการรักษาผู้ป่วยโดยคำนึงถึงความปลอดภัยรอบด้าน"นายปานเทพ กล่าว

 

ถอดบทเรียน แถลงการณ์ทำความเข้าใจ 'การเผายา'

ทั้งนี้ เนื้อหาสาระของแถลงการณ์มีดังต่อไปนี้ 

ประการที่ 1 ความผิดพลาดส่วนตนสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกอาชีพ รวมถึงแพทย์ทุกสาขา ถ้าผู้นั้นขาดสติ และขาดประสบการณ์ ดังนั้นแพทย์แผนไทยคนดังกล่าวรวมถึงสถานพยาบาลแห่งนั้น จะต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันสภาการแพทย์แผนไทย และกระทรวงสาธารณสุข ควรเร่งรัดการสืบสวน สอบสวนข้อเท็จจริงและหาทางออกในกรณีนี้อย่างเป็นรูปธรรม  และเรียกร้องต่อผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยให้ตระหนักและมีความระมัดระวังในการใช้ไฟและความร้อนต่อผู้ป่วยด้วยความระมัดระวังรอบคอบมากขึ้น

ประการที่2  การเผายา เป็นกรรมวิธีหนึ่งที่เป็นหัตถการตามแนวทางวิชาชีพการแพทยืแผนไทย ลำดับที่ 6 ในการประกาศเกณฑ์มาตรฐานและกรรมวิธีการแพทย์แผนไทยผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2556 ลงนามวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 โดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.วิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556  ดังนั้น การเผายาจึงเป็นกรรมวิธีการแพทย์แผนไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีการใช้กันทางภาคเหนือที่ได้รับการรับรองโดยสภาการแพทย์แผนไทย โดยมีกรรมวิธีหัตถการที่ใช้การจุดไฟให้ความร้อนบนเครื่องยาสมุนไพรรสร้อนที่วางลงผิวหนังเฉพาะจุดของผู้ป่วย

ประการที่ 3 การเผายาเป็นหัตถการในการแพทย์แผนไทยที่มีหลักการ คือ การเพิ่มธาตุไฟเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งผ่านทางผิวหนังของร่างกาย โดยใช้ความร้อนจากการจุดไฟด้านบนเครื่องยาสมุนไพรรสร้อนที่วางลงบนผิวหนัง โดยโรคหรืออาการที่สามารถใช้การเผายา ได้แก่ ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ภูมิแพ้อากาศ ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต  อาการหนาวใน และอ่อนเพลีย ใช้เพื่อไล่ลมจากท้อง ไล่ลมในเส้น ลมที่ติด คลายเส้นที่ติด ลดการปวดกล้ามเนื้อ โรคลมผิดเดือน 

ถอดบทเรียนอุบัติเหตุ\'เผายา\' กรรมวิธีไม่ผิด  ผิดที่คนทำ

ประการที่ 4  แม้การเผายาเป็นการใช้ไฟในบริเวณใกล้ผิวหนังของผู้ป่วย แต่เป็นหัตถการที่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการควบคุมปริมาณแอลกอฮอล์ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นบนผ้าเปียกอย่างระมัดระวัง นอกจากนั้น การเผายา ยังสามารถดำเนินกรรมวิธีด้วยการไม่ใช้แอลกอฮอล์เลยด้วย เช่น การใช้การบูรแบบดั้งเดิมเป็นเชื้อเพลิงในการเผาเครื่องยา ซึ่งเป็นการเผาไหม้เครื่องยาทีละน้อย 

นอกจากนั้น หัตถการขับลม หรือคลายกล้ามเนื้อด้วยสมุนไพรรสร้อนผ่านทางผิวหนังยังสามารถทดแทนด้วยหัตถการอย่างอื่น ที่อาจมีความเสี่ยงน้อยกว่า หรือแม้แต่อาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่าสำหรับผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการเผายา หรือไม่ต้องการใช้กรรมวิธีการเผายา เช่น ครีมหรือน้ำมัน ควบคู่ไปกับการนวดกดจุด ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นแพทย์แผนไทย จะต้องชี้แจงขั้นตอนต่างๆ ให้ผู้ป่วยทราบอย่างละเอียด เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับตัวเอง และสถานการณ์แวดล้อมในขณะนั้น โดยจะต้องคำนึงถึงประโยชน์และความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ขณะที่ผู้ป่วยจะต้องมีความรู้เท่าทัน และต้องกล้าปฎิเสธการรักษาทันทีหากรู้สึกได้ว่ามีความผิดปกติ หรือมีความเสี่ยงในการรักษา 

ประการที่ 5  นอกเหนือจากกรรมวิธีเผายาแล้ว การแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านมีภูมิปัญญาการใช้ไฟและความร้อนในการรักษาอีกหลายวิธีที่ได้ผลดีมานานหลายร้อยปีแล้ว เช่น การนึ่งทับหม้อเกลือ  การประคับร้อนด้วยสมุนไพร การย่างไฟบนแคร์ด้วยสมุนไพร การอบตัวสมนไพร และการรมยา ฯลฯ

แพทย์แผนจีน- แพทย์แผนตะวันออกใช้ความร้อนรักษาโรค

นอกจากนั้นยังปรากฏการเทียบเคียงการใช้ความร้อนบนเครื่องยาสมุนไพร โดยหัตถการของการแพทย์แผนไทยซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์มัญชุสาระวิเชียร ปรากฏอยู่ในแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เล่ม 2 ของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ซึ่งคัมภีร์แพทย์หลวงเล่มนี้กล่าวถึงลมเป็นก้อนเป็นดาน 10 ประการ ที่ทำให้เกิดโรค ตั้งอยู่ในตำแหน่งต่างๆของร่างกาย ซึ่งได้กล่าวถึง'โรคปิตตะคุลมะ' อันเป็นก้อนดานตั้งอยู่ในอุระมีดีซึมอยู่เป็นอันมาก รักษาด้วยกรรมวิธีเผาเหล็กแดงนาบลงบนสรรพยาซึ่งเป็นเครื่องยาสมุนไพรในจุดที่เจ็บเพื่อแก้ลมก้อนเถาหาย

ในขณะที่การแพทย์แผนจีนซึ่งมีภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพที่มีมานานมาเป็นพันปี หากการฝังเข็มไม่ได้ผลก็จะใช้การรมยาด้วยความร้อนเพื่อเพิ่มความอบอุ่น เพิ่มพลังหยางในการกระตุ้นการไหลเวียนของระบบประสาทซิมพาเทติก (sympathetic) จึงเหมาะสำหรับคนที่มีความเย็นและชื้นในร่างกาย เสริมสร้างสุขภาพเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน รักษาภาวะหยางพร่อง(ความร้อนพร่อง) หรือมีอาการขี้หนาว กลัวลมหนาว เหนื่อยง่าย เลือดน้อย ซึ่งมีข้อห้ามเช่นเดียวกับการแพทย์แผนไทย คือห้ามสำหรับคนที่มีไข้หรือภาวะอักเสบ ติดเชื้อ ร้อนเกิน ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม กระหายน้ำมาก เป็นแผนร้อนใน เหงื่อออกมาก และหัตถการนี้ไม่เหมาะกับฤดูร้อน

นอกจากนี้ในการแพทย์แผนจีนยังมีการใช้ความร้อนรมยาผ่านสมุนไพรตามแนวกระดูกสันหลังที่เรียกว่ามังกรไฟ ชื่อกรรมวิธีฮั่วหลงจิว(火龙灸)หรือ ฉางเฉอจิว(长蛇灸) และมีความคล้ายคลึงกับการกักน้ำมันร้อนตามแนวกระดูกสันหลังที่เรียกว่า กะติ บาสติ (KATI BASTI) ของการแพทย์อายุรเวทอินเดียอีกด้วย

โดยในการแถลงข่าวครั้งนี้วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดให้มีการสาธิตการเผายาอย่างปลอดภัย การเผายาโดยใช้การบูร การประคบร้อน การนึ่งท้อง การรมยามังกรไฟ และการกักน้ำมันอุ่นตามแนวกระดูกสันหลังด้วย

ทั้งนี้ผู้ให้บริการที่ใช้ไฟและความร้อนของแต่ละภูมิปัญญา ควรเป็นผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆและมีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นโดยตรง และดำเนินกรรมวิธีการรักษาด้วยความรู้ สติ และความรอบคอบ ย่อมจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพและบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้อย่างแน่นอน

ถอดบทเรียนอุบัติเหตุ\'เผายา\' กรรมวิธีไม่ผิด  ผิดที่คนทำ

เลือกวิธีการรักษาต้องคำนึงถึงผลดีและผลเสีย

นพ.วิชาญ เกิดวิชัย  คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิต กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจว่าการรักษาพยาบาล คือ การรักษาโรคที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย หรือการบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย การให้ยา และการทำหัตถการ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ อาจจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ การเลือกวิธีการรักษาต้องคำนึงถึงผลดีและผลเสีย

"การแพทย์ปัจจุบันยังไม่สามารถให้คำตอบได้ทั้งหมด จึงมีการนำแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนจีน แพทย์แผนตะวันออกมาบูรณาการในการรักษา ซึ่งต้องมีมาตรฐาน และจริยธรรมวิชาชีพ ผู้ประกอบการวิชาชีพจะต้องได้การรับรองจากสภาการแพทย์แผนไทย และต้องไปสอบเพื่อขอใบอนุญาตวิชาชีพ และสภาการแพทย์แผนไทย ต้องมีการติดตามว่าได้ประพฤติปฎิบัติตามกำหนดหรือไม่" นพ.วิชาญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้มีการกลั่นกรอง แต่มีความแตกต่างในความสามารถของบุคคล นอกจากขาดความชำนาญแล้ว อาจจะมีความประมาณ ต้องมีการกำกับ ดูแลแก้ไขมากขึ้น กรณีที่เกิดขึ้น สภาการแพทย์แผนไทย กำลังพิจารณาอยู่

เช็กวิธีการ 'เผายา - แพทย์แผนไทย'  ก่อนทำการรักษา

พท.คมสัน  ทินกร ณ อยุธยา กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นเท่าที่ได้มีโอกาสพุดคุยกับผู้เสียหาย พบว่าตั้งแต่เริ่มกระบวนการเผายาก็ผิดวิธีแล้ว ซึ่งแพทย์แผนไทยคนที่กระทำกลับไม่ได้รับผิดชอบอะไร เรื่องนี้หัตถการไม่เกี่ยวอยู่ที่คนทำ  ปัจจุบันมีหัตถการแพทย์แผนไทยมา 100 วิธี และมีครูในYoutube มากมาย ดังนั้น คนไข้ที่จะทำการรักษา ต้องมีความรู้ ซึ่งการเผายานั้น ผู้ที่ทำได้ต้องไม่มีอาการปวดหัว หรือ มีไข้ ,มึนเวียนศีรษะ,หน้ามืดตาลาย เพราะการทำหัตถการนี้จะเพิ่มความร้อนให้กับร่างกาย

ขณะที่ สมุนไพรที่ใช้ในการเผายา เป็นเครื่องยารสร้อน ไพล เหง้ากระทือ เหง้าขิง เหง้าข่า เหง้าขมิ้น เหง้าตะไคร้ก่อนทำหัตถการ ต้องได้รับการวินิจฉัย และนวดบริเวณที่มีอาการก่อน จากนั้น นำผ้าชุบน้ำบิดแล้ววงล้อมบริเวณที่จะหัตถการนั้น และนำเครื่องยา ลงสระในวงที่ทำไว้เบื้องต้น จากนั้นโรยผงเกลือแกงเพื่อนำยาและความร้อนผ่านผิวหนังลงไปภายใน นำผ้าชุบน้ำอีกผืนหนึ่งคลุมปิดวงเครื่องยาที่สระไว้จนมิดชิด แล้วนำแอลกอฮอล์ 95% ราดลงแต่พอควรและจุดไฟ

อย่างไรก็ตาม คนไข้จะรู้สึกเพียงแค่อุ่นๆเท่านั้น เพราะเปลวไฟอยู่เพียงผืนผ้าที่เปียกน้ำอยู่ และยังมีชั้นเครื่องยาขวางความร้อนจากเปลวไฟนั้นอยู่อีกเป็นชั้นที่สอง ขณะเดียวกันหมอจะถือผ้าชุบน้ำไว้อีกผืนเพื่อป้องกันเปลวไฟนั้นหากคนไข้แจ้งว่าร้อนพอควรแล้ว ก็จะดับไฟทันที จบขั้นตอนหัตถการ

เลือกวิธีที่เหมาะกับคนไข้ ไม่อันตราย ไม่ก่อโรค

ศ.คลินิก แพทย์จีน นพ.ภาสกิจ วัณนาวิบูล หัวหน้าหลักสูตรแพทย์แผนจีน วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิต กล่าวว่า การที่ร่างกายจะมีสุขภาพดี ต้องมีเลือดลมที่ดี ซึ่งร่างกายของคนเรามีภาวะที่เย็นและบางคนร้อน ต้องมีการใช้วิธีที่แตกต่างกัน และต้องปรับสมดุลของร่างกาย ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาโรคมากมาย แต่ไม่ใช่วิธีการ อยู่ที่ผู้นำมาใช้ ต้องมีความเข้าใจ และรู้ว่าจะใช้อย่างไร

"สิ่งที่ต้องคำนึงในการรักษาคนไข้ คือ จะใช้วิธีอะไรกับคนไข้ที่ไม่ทำให้เกิดอันตราย หรือก่อโรคมากขึ้น และต้องมีองค์กรความรู้ที่ถูกต้อง แพทย์ต้องมีความเข้าใจร่างกายของคนไข้ และเลือกวิธีที่มีมาตรฐาน"ศ.คลินิก แพทย์จีน นพ.ภาสกิจ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อคิดจากกรณีที่เกิดขึ้น สิ่งที่ต้องปรับ คือเราต้องไม่เรียนรุ้เฉพาะวิธีการ แต่เราต้องรู้ว่าวิธีการต่างๆ เหมาะสมกับคนไข้หรือไม่อย่างไร และการจะนำวิธีการไปใช้ ถ้าเราใช้ผิด แทนที่จะไปรักษาคนไข้ อาจจะไปทำร้ายคนไข้ เราต้องรู้ควรจะใช้ให้เหมาะสมอย่างไร

ถอดบทเรียนอุบัติเหตุ\'เผายา\' กรรมวิธีไม่ผิด  ผิดที่คนทำ

พท.สันติสุข โสภณสิริ กรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันการแพทย์แผนไทย ทั้งระดับมหาวิทยาลัยหรือคลินิก ถึงจะผลิตแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์แผนจีน หรือแพทย์แผนตะวันออก ถึงจะมีการรับรองอยู่แล้ว แต่ควรจะมีการกำหนดมาตรฐานการรับรองที่ชัดเจนมากขึ้น ว่าแพทย์ที่จบนั้น มีความเชี่ยวชาญหัตถการด้านใด ได้รับการฝึกฝนมาอย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดความมั่นใจและปลอดภัยแก่ผู้บริโภค 

ด้าน  พท.ป.แวสะมิง แวหมะ รองคณบดีวิทยาลัยแพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิต กล่าวว่าถือเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการที่ได้มีการถอดบทเรียนในเรื่องดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักในเรื่องความปลอดภัย โดยต้องมีมาตรการ ถึงจะจบการศึกษาจากแพทย์แผนไทย ต้องให้รู้ว่ามีความรู้ความชำนาญอย่างไร เพราะการแพทย์แผนไทยมีหลายหัตถการ ต้องสร้างมาตรฐาน และความปลอดภัย รวมถึงการอบรมต่างๆ เพื่อให้เกิดความชำนาญ และต้องมีการรับรองว่าจบจากที่ไหน และต้องยืนบนความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล