วิกฤติการศึกษาเป็น “มหาวิกฤติ”ในสังคมไทย

วิกฤติการศึกษาเป็น “มหาวิกฤติ”ในสังคมไทย

“ไทยรั้งท้าย! ทักษะภาษาอังกฤษ” เป็นพาดหัวข่าวหนึ่งซึ่งทำให้เกิดข้อวิพากษ์จำนวนมากในสื่อสังคมตลอดสัปดาห์นี้

ในฐานะผู้สนใจในด้านการศึกษาเริ่มจากการเรียนวิชาครู ผมได้สรุปความเห็นเป็นกลอนสุภาพไว้ในสื่อสังคมดังนี้

“การศึกษาปัญหาหนักเพราะมักง่าย

ของทุกฝ่ายทุกระดับที่ขับเคลื่อน

งบประมาณฐานความคิดถูกบิดเบือน

ร่วมผูกเงื่อนจนแน่นมากยากแก้เอย”

ปรากฏว่ามีผู้สนใจให้ความเห็นจำนวนหนึ่ง ซึ่งสะท้อนความสิ้นหวังทั้งในระบบการศึกษาและในสังคมไทยโดยทั่วไป ไม่เฉพาะในด้านความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้น หากเป็นการใช้ภาษาไทยโดยทั่วไปด้วย

ผมเข้าใจมุมมองของผู้ให้ความเห็นแนวนั้นเป็นอย่างดี แม้ตัวเองจะคิดว่าความหวังยังมีเหลืออยู่ก็ตาม

ดังที่สะท้อนไว้ในกลอน ผมมองว่าต้นตอของปัญหามาจากความมักง่าย ซึ่งสังคมไทยมีอยู่ในระดับสูงมากหากเปรียบกับสังคมที่มีการพัฒนามากกว่าไทย

เช่น สิงคโปร์ ระดับของความมักง่ายเชิงประจักษ์ อาจดูได้จากสภาพของทางเท้าริมถนนและแหล่งน้ำในเมืองต่างๆ รวมทั้งในกรุงเทพฯ ซึ่งผู้ที่เคยไปสิงคโปร์ย่อมจะได้เห็นความแตกต่างอย่างแน่นอน

สังคมเรามีกฎเกณฑ์และกฎหมายมากมายที่บ่งบอกว่าอะไรไม่ควรทำ แต่เรามักง่ายจึงให้ความเคารพแก่มันต่ำ โดยการทำต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานมากจากรุ่นสู่รุ่น เพราะการกระทำของผู้ใหญ่เป็นต้นแบบให้เยาวชนลอกเลียน

ความมักง่ายในสังคมโดยทั่วไปสะท้อนออกมาในทุกฝ่ายและทุกระดับทางด้านการศึกษา ซึ่งอาจมองรวมๆ ว่าแยกได้เป็น 3 ส่วนคือ บ้าน วัดและโรงเรียน (บ.ว.ร.)

คำว่า “วัด” ในที่นี้ไม่จำกัดอยู่ที่ตัววัดของศาสนา หากหมายถึงสังคมรอบตัว

ความคิดที่ถูกบิดเบือนที่สุดได้แก่เมื่อเอ่ยถึงการศึกษา สังคมโดยทั่วไปมักมองว่าเกี่ยวกับเยาวชนเท่านั้น ทั้งที่การศึกษาเป็นเรื่องที่จะต้องเกิดอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

นอกจากนั้น ฝ่ายบ้านและสังคมรอบตัวเยาวชนโดยทั่วไปมักมองว่าการศึกษาเป็นหน้าที่ของโรงเรียน ซึ่งภาครัฐเป็นผู้จัดตั้งและสั่งการ

ยิ่งกว่านั้น การศึกษาในความคิดของสังคมโดยทั่วไปยังไม่สะท้อนส่วนประกอบรากเหง้าทั้งหมดของต้นคำ “สิกฺขา” อีกด้วย เรามักให้ความสำคัญแก่ภาคปฏิบัติน้อยเกินไปส่งผลให้เกิดสภาพ “เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ” ในบรรดาผู้เรียนจบจากสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะระดับมหาวิทยาลัย

ความมักง่ายที่เลวร้ายที่สุด ได้แก่ ความฉ้อฉล ซึ่งแสดงออกมาได้ในหลากหลายรูปแบบ กลอนมีความจำกัด จึงสะท้อนออกมาอย่างรวมๆ เป็นด้านงบประมาณและด้านความคิด

ความฉ้อฉลผ่านการบิดเบือนงบประมาณในภาคการศึกษาไม่น่าจะต่างกับในภาคอื่น ซึ่งดูจะยอมรับกันโดยทั่วไปว่ามักมีส่วนสูญหายก่อนถึงเป้าหมาย ซึ่งในปัจจุบันว่ากันว่า มาตรฐานคือ 30%

อย่างไรก็ดี ยังมีเรื่องน่าเศร้าที่เป็นข่าวบ่อยครั้งเกี่ยวกับการหายไปของงบประมาณอาหารกลางวันของนักเรียน ซึ่งจะมีผลร้ายทั้งในปัจจุบันและในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

ดังที่อ้างถึง ผู้ใหญ่เป็นต้นแบบให้เยาวชน เมื่อผู้ใหญ่ไม่พยายามศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา รวมทั้งผ่านการอ่านเป็นประจำ เยาวชนย่อมจะไม่ทำเช่นกัน

สมัยนี้เยาวชนเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทำให้การเรียนภาษาอังกฤษทำได้ตลอดเวลาและง่ายกว่าในสมัยผมเป็นเด็กมาก เนื่องจากโรงเรียนชั้นประถมของผมเป็นศาลาวัดกลางทุ่งนา แต่เยาวชนกลับไม่ทำเพราะไม่มีพฤติกรรมชี้นำอยู่รอบด้าน

ร้ายยิ่งกว่านั้น เทคโนโลยีร่วมสมัยทำให้เยาวชนเข้าถึงต้นแบบที่มักมีผลกระทบทางลบได้ตลอดเวลา ผู้แสดงความคิดเห็นต่อกลอนของผมชี้ให้เห็นการใช้ภาษาไทยของผู้ใหญ่ ซึ่งเราต่างเห็นกันอยู่ว่าอยู่ในระดับอ่อนมาก เนื่องจากความมักง่าย ไม่ว่าจะผู้ใหญ่ในคณะรัฐบาล ข้าราชการ วงการสื่อและแม้แต่ในหมู่ผู้ทำอาชีพโฆษก

ความมักง่ายเป็นปัจจัยก่อให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ รวมทั้งการขาดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของเราชาวไทย ปรากฏการณ์นี้ชี้ต่อไปให้เห็นวิกฤติทางด้านการศึกษา ซึ่งจะต้องมองว่าเป็น “มหาวิกฤติ” เนื่องจากการศึกษาเป็นฐานของการพัฒนาและปัญญา อันเป็นกุญแจของการแก้ปัญหาทั้งหมด.