3 ทักษะที่ 'ตลาดงาน' ต้องการ กับโจทย์ของ 'ภาคการศึกษา' ที่ต้องปรับตัว

3 ทักษะที่ 'ตลาดงาน' ต้องการ กับโจทย์ของ 'ภาคการศึกษา' ที่ต้องปรับตัว

เมื่อโลกการทำงานเปลี่ยน การพัฒนาแรงงานที่มีทักษะตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม เป็นสิ่งที่ต้องเร่งขับเคลื่อนเพื่อให้ทันต่อความต้องการ โดยเฉพาะด้านภาษา และ ดิจิทัล เป็นโจทย์ใหญ่ของภาคการศึกษา และหน่วยงานสนับสนุน ส่งเสริม ให้เด็กๆ เข้าถึงการเรียนรู้

Key Point : 

  • โลกการทำงานเปลี่ยน อุตสาหกรรมต้องการแรงงานที่มีทักษะที่ตอบโจทย์ทั้งด้านภาษา และ ดิจิทัล รวมถึงแรงงานทักษะสูง
  • ภาคการศึกษา เป็นหน่วยงานสำคัญในการผลิตบุคลากร ทำอย่างไรที่จะพัฒนาหลักสูตร และสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างคนให้ตรงกับความต้องการ
  • โจทย์สำคัญ คือ ปัจจุบัน ยังมีเด็กจำนวนมากเข้าไม่ถึงการศึกษา หรือหลุดออกนอกระบบ รวมถึง ไม่ได้รับโอกาสในการศึกษาต่อ การเปลี่ยนการศึกษา สู่การเรียนรู้ ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เวลาสั้น และทำงานได้เร็ว เป็นอีกทางออกหนึ่งในการสร้างโอกาส คนเข้าตลาดแรงงาน 

 

ปัจจุบัน ผู้ว่างงานจำนวนมากกว่า 400,000 คน ปัจจัยหนึ่ง คือ การที่ผู้เรียนมีทักษะไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ดังนั้น การพัฒนาทักษะ อัปสกิล รีสกิล ปรับตัวตลอดชีวิต และหาความรู้ได้ทุกที่จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง ในยุคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และล่มสลายไปอย่างรวดเร็ว คนต้องพร้อมเสมอเพื่ออยู่รอดและแข่งขันได้ด้วยศักยภาพที่มี 

 

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 มูลนิธิเอสซีจี เดินหน้าขยายแนวคิด Learn to Earn เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด จัดงาน Learn to Earn : The Forum ผนึก Key Drivers ทุกภาคส่วนระดับประเทศ นำทัพสร้างวาระแห่งชาติ 'เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด' จุดประกายและเปิดมุมมองใหม่ ให้เยาวชนได้เรียนรู้ ปรับตัวแบบ Lifelong learning พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ผันผวนอย่างรวดเร็ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในช่วงเสวนาหัวข้อ “เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด” ผนึกกำลังชาติ เพื่ออนาคตไทย ว่า  ในมุมมองภาคอุตสาหกรรม โลกเปลี่ยนรวดเร็ว สิ่งที่กระทบมากที่สุดในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา คือ ดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น ทำให้การเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและทำให้เกิดดิจิทัลดิสรัปชั่น อุตสาหกรรม 45 กลุ่ม โดนกันถ้วนหน้า อุตสาหกรรมที่เคยเข้มแข็งในอดีตไม่มีอะไรการันตี เพราะสามารถล้มได้ฉับพลัน การปรับตัวสู่อุตสาหกรรมใหม่ต้องเปลี่ยนเยอะ ซึ่งสิ่งสำคัญ คือเรื่องคน เมื่อดูพื้นฐานต้นทุนด้านทุนมนุษย์มีปัญหา เพราะไม่สามารถทรานฟอร์มได้อย่างรวดเร็ว แม้จะมีเทคโนโลยีต่างๆ แต่ขาดคน 

 

ไทยตกชั้น ลำดับ 79 

หากเทียบศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลก ปี 2566 พบว่า ประเทศไทย อยู่อันดับที่ 75 ในปี 2565 ลงมาอยู่ อันดับที่ 79  ในปีนี้ เมื่อเกิดโควิด งานทุกอย่างหยุดหมด แต่เมื่อโควิดหมด ประสิทธิภาพในกลุ่มอาเซียนก็ยังไม่ดีขึ้นยกเว้น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ดังนั้น การทรานฟอร์มประเทศสู่ยุคดิจิทัล แต่ไทยยังขาดคนที่มีทักษะภาษาอังกฤษและ ดิจิทัล ดีมานด์ภาคอุตสาหกรรรมมีในการทรานฟอร์มสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น S-Curv แต่ซัพพลายยังตอบโจทย์ไม่ได้ 

 

3 อันดับ ทักษะที่เป็นที่ต้องการภาคอุตสาหกรรม 

 

อันดับ 1 ทักษะทางวิศวกรรม 68.8%

อันดับ 2 ทักษะทางดิจิทัล 63.3% 

อันดับ 3 ทักษะทางการวิเคราะห์ข้อมูล 53.7%

 

 

4 สิ่งต้องเปลี่ยน 

ปัจจุบัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มี 46 กลุ่ม 11 สิ่งที่ต้องเปลี่ยน คือ 

  • เปลี่ยนจาก OEM เป็น ODM 
  • เปลี่ยนจากการใช้แรงงาน ไปใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ออโตเมชั่น 
  • เปลี่ยนการผลิตเพื่อกำไร สู่การผลิตที่ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม
  • เปลี่ยนจาก Unskill Labor สู่ High Skill Labor 

 

เดินหน้าสู่ Next Gen Industries ใน 3 กลไก คือ 

  • S-Curve 
  • BCG 
  • Climate Change 

 

"โดยเบื้องต้น มีการก่อตั้ง FIT Academy โดยร่วมกับกระทรวง อว. ในการพัฒนาหลักสูตร ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ รีสกิล อัปสกิล นิวสกิล ประเภทประกาศนียบัตร เพื่อพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม โดยรับหลักสูตรละ 40 คน"

 

การศึกษา คือ ทุนมนุษย์

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า เด็ก เยาวชน ต้องการการศึกษา ขณะที่เด็กส่วนหนึ่งเข้าไม่ถึงการศึกษา โจทย์ คือ ต้องการแรงงานที่มีทักษะ โดยทางออกทุกอย่างอยู่ที่คุณภาพคน แต่ความเป็นจริง คุณภาพคนมีหลายมิติ หากดูทักษะแรงงานในบรรดาแรงงาน 100% พบว่า เป็นเกษตรกรและอุตสาหกรรมทักษะไม่สูงรวมแล้วเกินครึ่ง หากสามารถยกระดับให้ส่วนนี้เข้าถึงการศึกษา ก็จะช่วยโจทย์ได้เยอะ 

 

จากการสำรวจ พบว่า เด็กในครอบครัวยากจน มีโอกาสเข้าเรียนน้อย ระดับการศึกษา คือ หนึ่งในทุนมนุษย์สำคัญที่ถูกส่งต่อข้ามรุ่น พบว่า หากพ่อแม่การศึกษาระดับต่ำ ลูกส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มได้รับการศึกษาระดับต่ำตามไปด้วย 49% ขณะเดียวกัน องค์การยูเนสโก ประเมินว่า หากประเทศไทย บรรลุเป้าหมาย Zero-Dropout ได้สำเร็จตาม SDG4 ประเทศไทยจะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นปีละ 3% ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเปลี่ยนคำว่าการศึกษา เป็นการเรียนรู้ พัฒนาการเรียนรู้อย่างไรให้ยืดหยุ่น เพื่อการมีงานทำ

 

ความท้าทายภาคการศึกษา

ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การผลิตคนภาคการศึกษา บางครั้งอาจไม่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม นักเรียนเรียนหนัก ครูภาระมาก ขาดงบประมาณ นักเรียนไม่สนใจสายอาชีพ ทักษะภาษาอังกฤษต่ำอย่างไรก็ตาม เราพยายามจะเปลี่ยนแปลง 

 

ความท้าทาย ที่พบ ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19  พบว่า การศึกษามีการปรับตัว นำเทคโนโลยีมาใช้อย่างรวดเร็ว สิ่งที่ต้องเตรียมการ คือ สังคมสูงวัย เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยีนวัตกรรม การศึกษาที่ตอบโจทย์สังคม เป็นเรื่องท้าทายที่เราตระหนักเรื่องนี้ 

 

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิด คือ เมื่อโควิด-19 ทำให้คนออกนอกระบบกลางคันจำนวนมาก เราพยายามติดตามเด็กกลับมาเรียน ซึ่งเจอเกือบ 100% และเด็กที่อายุเกินการศึกษาภาคบังคับ ก็มี กศน. รองรับ

 

รวมถึงผลกระทบทั้ง การถดถอยทางการเรียน ขาดทักษะทางสังคม ผู้ปกครองขาดรายได้/ย้ายถิ่น สมรรถนะของครูงบประมาณ ขนาดโรงเรียนเปลี่ยน และรูปแบบการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปเยอะ เป็นต้น 

 

"กระทรวงศึกษาธิการ ได้เตรียมการและจะดำเนินการต่อไป สิ่งที่พวกเราตระหนัก คือ เด็กต้องถึงเส้นชัยแต่อาจจะถึงไม่เท่ากัน การสร้างโอกาสไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแข่งขัน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมีนโยบาย 'เรียนดี มีความสุข' ได้แก่

 

ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา

  • ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา 
  • โยกย้ายกลับภูมิลำเนาโปร่งใส ไม่มีซื้อขายตำแหน่ง 
  • แก้ปัญหากนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา
  • จัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน 1 ครู 1 Tablet

 

ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง 

  • เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา 
  • เรียนฟรี มีงานทำ
  • มีระบบแพลตฟอร์มเรียนรู้ฟรี ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 1 นักเรียน 1 Tablet 
  • 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ
  • ระบบแนะแนวการเรียนและเป้าหมายชีวิต 
  • การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่มเพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ 
  • การจัดระบบวัดผลเทียบการศึกษาและประเมินผลการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาในระบบ ประหยัดเวบา ประหยัดค่าใช้จ่าย 
  • มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ

 

พลิกโฉมสู่ความสำเร็จที่ทันสมัย 

  • หลักสูตรขั้นพื้นฐาน/อุดมศึกษา
  • การเรียนการสอน / STEM 
  • พัฒนาซอฟต์มสกิล และ ฮาร์ด สกิล 
  • การจัดการศึกษาทวิภาคี 
  • แพลตฟอร์มการเรียน ขายสินค้า 
  • แรงจูงใจด้านภาษี/ยกย่อง/คะแนน
  • CSR จากสถานประกอบการ
  • พัฒนาครูและบุคลากร
  • ปรับเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการ
  • กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ 

 

ตามเทคโนโลยีให้ทัน เลือกเทคโนโลยีให้ถูก เรียนรู้ข้ามศาสตร์ 

 

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ระบบการศึกษาในปัจจุบัน ออนไลน์สามารถเรียนที่ไหนก็ได้ ทุกที่ การศึกษาของแพทย์ สามารถทำการผ่าตัดในโลกเสมือนได้ก่อนจะไปผ่าตัดคนไข้จริง ทักษะเป็นสิ่งสำคัญ 

 

ปัจจุบัน ไม่มีศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งเพียงอย่างเดียว ต้องเรียนรู้ข้ามศาสตร์ ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยมหิดล มีหลักสูตร Master of Science in Advanced Biomedical Technology & Venture Creation มีความรู้เรื่องการแพทย์แล้ว ต้องรู้เรื่องการบริหารจัดการ เอื้ออาทรกับสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างต้องรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียว 

 

  • มีองค์กรเป็นเครือข่ายร่วมดำเนินการทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น กลุ่มบริษัท โรงพยาบาล 
  • กลุ่มผู้เรียนบางส่วนจะเป็นบุคลากรที่ทำงานอยู่ในองค์กรเหล่านี้อยู่แล้ว โดยบริษัทคัดเลือกและสนับสนุนบุคลากรเข้าเรียน
  • หลักสูตรในกลุ่มอุตสาหกรรม medical device มีบริษัทและสถาบับวิจัยสนใจเข้าร่วม ประมาณ 10 แห่ง ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กร เหล่านี้จะมาร่วมเป็นผู้สอนในหลักสูตรและจะได้วางแผนหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมต่อไป
  • จะมีการเทียบโอนประสบการทำงานเข้ามาสะสมเป็นหน่วยกิต เป็นการเชื่อมโยง non degree เข้ามาสู่การศึกษาแบบได้ปริญญา
  • การจัดการศึกษาแบบ block course ที่กระชับเน้นการได้รับปริญญาด้านวิชาชีพมากกว่าด้านวิชาการ นำไปสู่การสร้างสมรรถนะ
  • มีข้อยกเว้นคุณสมบัติผู้เรียนให้สามารถเรียนในระดับปริญญาตรีควบคู่กับปริญญาโทได้

 

พัฒนาคน คือ การพัฒนาชาติ 

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ประเทศไทย ต้องเร่งขับเคลื่อนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน คนจึงเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ รัฐบาลจึงเร่งปรับปรุงคุณภาพการศึกษาทุกระดับ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและขจัดความยากจน ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเรียนการสอนทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานที่จะทำให้เกิดคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีรายได้เลี้ยงตนเองได้ พร้อมส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong learning เร่งพัฒนาทักษะทั้ง Hard skill และ Soft skill รวมถึงสร้าง Future skill ที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และอาชีพใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

“Learn to Earn เรียนรู้ เพื่ออยูรอด เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในฐานะรองนายกฯ ที่ดูแลกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนนั้น อยากเห็นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา อุตสาหกรรม และสาธารณสุข ซึ่งการจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ พวกเราต้องเตรียมพร้อมแรงงานของชาติให้เก่งทั้งทักษะงาน และทักษะการใช้ชีวิต ที่สำคัญต้องเป็นคนดีมีน้ำใจ ซึ่งจะทำให้ประเทศเราก้าวไปเร็วยิ่งขึ้น ขอขอบคุณทุกภาคส่วน ที่เห็นความสำคัญและร่วมกันขับเคลื่อนให้แนวคิดดังกล่าวเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันได้และพัฒนาได้อย่างยั่งยืนเพราะการพัฒนาคน คือ การพัฒนาชาติ”

 

 

ลดความเหลื่อมล้ำ หนุนการศึกษา 

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า มูลนิธิเอสซีจี ได้ดำเนินงานเพื่อสังคม ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนมานานกว่า 60 ปี เป็นจำนวนกว่า 100,000 ทุน เป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างคนให้เติบโตเป็นทั้งคนเก่งและดี มีน้ำใจ แต่ปัจจุบันพบว่า ยังมีผู้ว่างงานจำนวนมากเพราะทักษะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด จึงเกิดเป็นแนวคิด Learn to Earn เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด ด้วยหวังว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ จะปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน”

 

“เรามาถึงจุดที่การศึกษาต้องปรับตัว ร่วมพลังกันทุกภาคส่วน เพราะการศึกษาในโลกยุคใหม่ คือการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนผู้สอน ผู้ใช้งาน ต้องปรับตัวเข้าหากัน ทักษะความรู้สำคัญไม่แพ้ทักษะชีวิต ในนามของมูลนิธิเอสซีจี 

 

"ขอขอบคุณทุกภาคส่วน ที่จะร่วมกันผลักดันแนวคิด Learn to Earn ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมขยายไปใน   วงกว้างเพราะจะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาน้อยลง เมื่อมีอาชีพ มีรายได้ คนในสังคมก็จะพึ่งพาตัวเองได้ และอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน”

 

 

LEARN TO EARN (เรียนรู้เพื่ออยู่รอด)

 

สำหรับ แนวคิด LEARN TO EARN เกิดขึ้นจากการเล็งเห็นว่า สถานการณ์วิกฤต ซ้อน วิกฤต จากโรคระบาด ปัญหาสิ่งแวดล้อม สงคราม ส่งผลโดยตรงกับเศรษฐกิจ เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในมิติของการศึกษา รูปแบบการศึกษาในปัจจุบันจึงเปลี่ยนไป มูลนิธิฯ จึงได้ผลักดันแนวคิด Learn to Earn เรียนรู้ เพื่ออยู่รอดให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ เรียนรู้ ปรับตัว พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้ไม่จำกัดแค่ในห้องเรียน แต่คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ทั้งทักษะวิชาชีพ (Hard skills) และทักษะด้านอารมณ์ และการเข้าสังคม 

 

(Soft skills) หรือที่เรียกว่า ‘ทักษะแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21’ (Power Skill) ซึ่งจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตและการทำงานในยุคปัจจุบันและอนาคต 

 

โดยตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน มูลนิธิเอสซีจีได้มอบทุนการศึกษาภายใต้แนวคิด Learn to Earn ไปแล้ว 6,789 ทุน เป็นเงินกว่า 154 ล้านบาท ได้แก่ หลักสูตรด้านสาธารณสุขและการแพทย์ หลักสูตรด้านอุตสาหกรรม S-curve และ New S-curve หลักสูตรด้านเทคโนโลยี IT รวมถึงหลักสูตรด้านการส่งเสริมอาชีพทั่วไป

 

ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี มูลนิธิฯ ได้ขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาภายใต้แนวคิด Learn to Earn อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจาก

 

1. ให้ทุนระยะสั้น (ระยะเวลาในการเรียนไม่เกิน 1 ปี) เพื่อให้เรียนเร็ว จบเร็ว ได้งานทำเร็ว โดยกว่า 80% 

มีงานทำทันที เช่น ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ นักกีฬาอีสปอร์ต ทำให้เยาวชน

นำทักษะมาประกอบอาชีพ มีรายได้ มีความมั่นคงในชีวิต เมื่อดูแลตัวเองได้ ก็สามารถดูแลครอบครัว ดูแลสังคมต่อไปได้

 

2. พัฒนาศักยภาพทักษะด้านความรู้ความสามารถทั้ง Hard skills และ Soft skills สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต Lifelong learning

 

3. สร้างการรับรู้ และการมีส่วนร่วมกับแนวคิด Learn to Earn ในทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันเป็นพลังสนับสนุน ขับเคลื่อนผลผลิตแห่งการศึกษาและเรียนรู้ให้มีคุณภาพ ตามวิถีพลเมืองโลกในยุคศตวรรษที่ 21 เพื่อเป็นฐานรากในการพัฒนาประเทศต่อไป