รุก soft power สร้างเอกลักษณ์ เสน่ห์สุนทรียภาพ ดันการทูตศิลปะของไทย

รุก soft power สร้างเอกลักษณ์ เสน่ห์สุนทรียภาพ ดันการทูตศิลปะของไทย

สัมมนาวิชาการ รุก soft power สร้างเอกลักษณ์ เสน่ห์สุนทรียภาพ ดันการทูตศิลปะของไทย

ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ soft power เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิไทย กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดงานสัมมนาวิชาการ “เสน่ห์สุนทรียภาพกับการทูตศิลปะของไทย” ที่ห้องบอลรูม 1 ชั้น 9 โรงแรมโนโวเทลกรุงเทพ เพลินจิต สุขุมวิท 

โดยงานนี้ได้รับความสนับสนุนจากโครงการวิจัย “แนวทางส่งเสริมภาพยนตร์เพื่อความมั่นคงยุคหลังโควิด” ทุน Fundamental Fund และกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิจัยด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์กับความมั่นคงเอเชีย ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา กล่าวถึง “เสน่ห์สุนทรียภาพกับการทูตร่วมสมัย” โดยระบุว่า soft power ยุคปัจจุบันไม่ได้ผูกขาดเพียงแค่ความบันเทิง หรือ การทูตตามธรรมเนียมนิยม แต่ศิลปะกำลังมีอิทธิพลในกรอบ soft power มากขึ้น จีนเป็นหนึ่งในชาติที่ใช้ประโยชน์จากศิลปะอย่างเต็มรูปแบบโดยเฉพาะการผลิตวีดิทัศน์ศิลปะสำหรับเผยแพร่ออนไลน์ 

รุก soft power สร้างเอกลักษณ์ เสน่ห์สุนทรียภาพ ดันการทูตศิลปะของไทย

วิธีการของจีนทำให้เกิดภาพเคลื่อนไหวหมวดหมู่ใหม่ เรียกว่า moving art ซึ่งต่างจากภาพยนตร์ทั่วไปที่เป็น moving image แต่ moving art มีขนาดสั้น ไม่ได้ต้องการเรื่องราว ตัวละคร หรือ ประเด็นขัดแย้งชัดเจน เพียงนำเสนอกระบวนการบางอย่าง หรือ ความเป็นไปใด ๆ อย่างมีสุนทรียภาพ ช่วยให้ผู้ชมรู้สึกงดงาม สบายใจ และผู้ชมจะเชื่อในความมีอารยธรรมของสังคมผู้เผยแพร่เพราะสัมผัสความละเมียดละไมของเนื้องาน ในสายตาของ ดร.ฐณยศ ประเทศไทยควรให้ความสำคัญแก่ศาสตร์ด้าน moving art รวมทั้งการเผยแพร่ศิลปะทุกแขนงผ่านช่องทางผสมผสาน

จากนั้น นางดารินทร์ รัฐกาญจน์ ทาคาดะ ศิลปินกระจก เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น บรรยายหัวข้อ “สุนทรียภาพเสน่ห์ไทยในงานสเตนกลาส” นางดารินทร์เผยว่า สเตนกลาสเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทน เวลา และจินตนาการในการรังสรรค์ แต่ผลที่ได้คือความงามซึ่งเข้าถึงคนทุกหมู่เหล่า ปกติสเตนกลาสเป็นศิลปะในโบสถ์ เน้นการนำเสนอเรื่องราวของศาสนจักร ทว่านางดารินทร์กับคณะศิลปินสเตนกลาสหลายคนพยายามฉีกขนบด้วยการหาความท้าทายใหม่ ๆ 

รุก soft power สร้างเอกลักษณ์ เสน่ห์สุนทรียภาพ ดันการทูตศิลปะของไทย
ผลงานล่าสุดมีชื่อว่า “ดาหลา” มาจากการได้ชมดอกดาหลาในเรื่องบุพเพสันนิวาส 2 ซึ่งแสดงความหมายของดอกชนิดนี้ว่า เป็นตัวแทนความรัก ความห่วงใย เมื่อนางดารินทร์มีโอกาสจัดแสดงดาหลาที่ญี่ปุ่น ผู้ชมให้ความสนใจที่มาของดอกดาหลาในประเทศไทยและพากันใช้ชื่อเรียกวา “ดาหลา” แทนชื่อภาษาอังกฤษ “Etlingera” สเตนกลาสของนางดารินทร์จึงทำหน้าที่ทั้งในทางสุนทรียภาพและวัฒนธรรมสัมพันธ์  
                
ในเวลาถัดมา ดร.นิเวศ แววสมณะ ผู้ก่อตั้งบ้านตุ๊กตุ่น ได้ขึ้นมาแบ่งปันเรื่องราวการสรรค์สร้างความงามผ่านศิลปะหุ่นกระบอกไทย ดร.นิเวศชี้ว่า ทุกชาติที่มีอารยธรรมต้องมีหุ่นกระบอกเป็นของตนเอง ดร.นิเวศได้เพียรศึกษาหุ่นกระบอกไทยเป็นระยะเวลาหลายปีจนสามารถผลักดันให้หุ่นกระบอกเป็นทูตวัฒนธรรมไทย-นานาชาติ การแสดงครั้งหนึ่งที่เกาหลีใต้ มีผู้ชมมายืนรอคิวเข้าชมกันอย่างล้นหลาม ทุกคนสนใจรายละเอียดของหุ่นซึ่งมีความซับซ้อนรวมทั้งลวดลายวิจิตรพิสดาร 

รุก soft power สร้างเอกลักษณ์ เสน่ห์สุนทรียภาพ ดันการทูตศิลปะของไทย

ความนิยมหุ่นกระบอกไทยยังเป็นที่แพร่หลายในอีกหลายชาติ ดร.นิเวศจึงแนะนำว่า ประเทศไทยควรสร้างพันธมิตรด้านสื่อที่จะช่วยให้เผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมได้กว้างไกลขึ้น มีการแปลเป็นภาษานานาชาติมากขึ้น เมื่อทุนศิลปะวัฒนธรรมไทยเข้มแข็งอยู่แล้ว ยุทธศาสตร์ด้านการประชาสัมพันธ์จึงเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ

ในการบรรยายช่วงที่สี่ อาจารย์กมลศิริ วงศ์หมึก คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้เอ่ยถึงการลงพื้นที่ของอาจารย์กับคณะนักศึกษาซึ่งพยายามสำรวจเอกลักษณ์ทางศิลปะวัฒนธรรมไทย อาจารย์พบว่า เอกลักษณ์ไทยไม่ได้มีความตายตัว แต่ลื่นไหลเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มีทั้งเอกลักษณ์ท้องถิ่น เอกลักษณ์ผสมตะวันตก เอกลักษณ์ร่วมสมัย เอกลักษณ์เกิดใหม่

เพราะฉะนั้นข้อโตแย้งที่บอกว่า ความเป็นไทยไม่มีอยู่จริงจึงไม่ถูกต้อง แต่ความเป็นไทยมาจากการพัฒนาหลอมรวมลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมจากหลากหลายแหล่งจนกลายเป็นตัวตนประจำถิ่นไทย เอกลักษณ์ไทยสำหรับอาจารย์จึงมีความเด่นชัดจนยากจะปฏิเสธ เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรที่ภาคอุตสาหกรรม หรือ ภาคปฏิบัติการวัฒนธรรมนำสีสันแบบไทย ๆ มาผสมกับสินค้า/บริการเพื่อตอบโจทย์ soft power ยุคปัจจุบันให้ได้มากที่สุด

สำหรับการบรรยายช่วงสุดท้าย นายธฤต จรุงวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิไทย กระทรวงการต่างประเทศ ได้ขึ้นมาบอกเล่าเกี่ยวกับบทบาทของมูลนิธิไทยกับการส่งเสริมศิลปะ นายธฤตกล่าวว่า ประเทศไทยมีผลงานด้านศิลปะวัฒนธรรมอย่างล้นเหลือ ขาดแต่เพียงการส่งออกไปให้คนต่างชาติได้เชยชม ทางมูลนิธิไทยจึงพยายามสร้างคลังความรู้รวมทั้งสื่อเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมไทยเป็นภาษาสากล

โดยมูลนิธิไทยวางเป้าไว้ว่า ประเทศไทยจะต้องสร้างฐานแฟนคลับทั่วทุกมุมโลก เพราะทันทีที่ผู้นิยมไทยมีปริมาณมากขึ้น การเชื่อมโยงภาคประชาชนระหว่างไทยกับนานาชาติจะเป็นไปอย่างมั่นคง นอกจากนี้ มูลนิธิไทยยังพิจารณาว่า จุดขายของไทยอยู่ที่การเป็นสังคมเปิดกว้างสำหรับคนทุกชาติพันธุ์ รู้จักให้ และเอาใจใส่อย่างที่หาได้ยากในสังคมอื่น บุคลิกไทยจึงควรได้รับการตอกย้ำในสื่อศิลปะวัฒนธรรม

รุก soft power สร้างเอกลักษณ์ เสน่ห์สุนทรียภาพ ดันการทูตศิลปะของไทย

การสัมมนาครั้งนี้ดำเนินรายการโดย ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย นักวิจัยศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย