ตั้งเป้า 3 ปี ผลิตกำลังคนอาชีวะ ป้อนอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต

ตั้งเป้า 3 ปี ผลิตกำลังคนอาชีวะ ป้อนอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต

สอศ.ลงนามความร่วมมือกับ มูลนิธิคีนันแห่งอาเชีย เร่งพัฒนาทักษะนศ.อาชีวะ และกำลังคน ป้อนภาคอุตสาหกรรมและบริการ รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเตรียมความพร้อมนศ.อาชีวะสู่ศตวรรษที่ 21 เน้นลงมือปฏิบัติจริง เชื่อมโยงกับปัจจัยด้านความต้องการแรงงานที่เพิ่มมากขึ้น

Keypoint:

  • ในปี 2566 ประมาณการว่าจะมีผู้เข้าสู่ตลาดแรงงาน จำนวน 373,488 คน โดยจะเป็นเด็กอาชีวศึกษา 147,857 คน ทั้งที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการกำลังคนมากกว่านี้ 
  • สอศ.ลงนามความร่วมมือกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย และพันธมิตร ตั้งเป้า 3 ปี  ผลิตและพัฒนากำลังคนเน้นทักษะช่างเทคนิคสมัยใหม่ ลงมือปฎิบัติจริงพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานอุตสาหกรรมและการบริการ
  • มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย และพันธมิตรในเครือข่าย พร้อมยกระดับการจัดการเรียนการสอน พัฒนาและปรับหลักสูตรให้กับสถานศึกษาในสังกัด สอศ. เพื่อให้สามารถผลิตกำลังคนรองรับความต้องการของสถานประกอบการ 

ข้อมูลประมาณการผู้เข้าสู่ตลาดแรงงาน ปี 2566-2567 ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลจากสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถาบันการพลศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ

พบว่า ในปี 2566 ประมาณการว่าจะมีผู้เข้าสู่ตลาดแรงงาน จำนวน 373,488 คน โดยเป็น ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน จำนวน 147,857 คน และส่วนใหญ่เป็นระดับ ปวส. จำนวน 87,176คน คิดเป็นร้อยละ 23.34 สำหรับระดับปริญญาตรี คาดว่าจะมีจำนวน 165,115 คน คิดเป็นร้อยละ 44.21 ส่วนในปี 2567 ประมาณการว่าจะมีผู้เข้าสู่ตลาดแรงงาน จำนวน 412,466 คน โดยเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา จำนวน 160,828คน ส่วนใหญ่เป็นระดับ ปวส. จำนวน 93,296 คน คิดเป็นร้อยละ 22.62 สำหรับระดับปริญญาตรี คาดว่าจะมีจำนวน 189,934 คน คิดเป็น ร้อยละ 46.05 ตามลำดับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียก้าวผ่าน 25 ปี เสริมพลังประชากรกลุ่มเปราะบางสู่อนาคตที่ดีขึ้น

สุดยอดอาชีวะปวส.-ปวช. คว้าแชมป์ “สัมมาอาชีวบัญชี มหาจักรีสิรินธร”

 

สร้างเครือข่าย ร่วมพัฒนากำลังคนสายอาชีพคุณภาพ

ทั้งนี้ การเสริมสร้างและขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการระดมทรัพยากร และยกระดับคุณภาพ
การอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ เป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของ สอศ.สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีหน้าพัฒนาสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศให้ผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพให้เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพและสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

วันนี้ (6 ก.ย.2566) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ลงนามความร่วมมือกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย เพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา รองรับภาคอุตสาหกรรมและบริการ ณ ห้องประชุม หลานหลวง โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ  วงษ์จินดา  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา   เปิดเผยว่า มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มุ่งดำเนินโครงการด้านการพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประชากร          ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน

ตั้งเป้า 3 ปี ผลิตกำลังคนอาชีวะ ป้อนอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต

"ความร่วมมือในครั้งนี้มีระยะเวลา 3 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือในการพัฒนาทักษะการทำงาน ทักษะอุตสาหกรรมและบริการ และการเรียนรู้โลกแห่งการทำงานผ่านโปรแกรมการฝึกงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้นักเรียน นักศึกษา มีทักษะและความพร้อมในการทำงานที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ พัฒนาครูผู้สอนในสถานศึกษา ให้มีทักษะช่างเทคนิคสมัยใหม่ แนวทางการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้และทักษาะการแนะแนวอาชีพและเตรียมความพร้อมในการทำงานให้กับนักเรียน นักศึกษา ส่งเสริมการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษา"ว่าที่ร้อยตรี  ธนุ กล่าว

 

ผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรมและบริการ

รวมทั้ง เป็นการยกระดับการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาและปรับหลักสูตรให้กับสถานศึกษาในสังกัด สอศ. เพื่อให้สามารถผลิตกำลังคนรองรับความต้องการของสถานประกอบการ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการ สถานศึกษาในสังกัดสอศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความร่วมมือในการฝึกอบรมทักษะและผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา ทั้งนี้ สอศ.จะรับผิดชอบประสานและสนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษา และครูผู้สอนเข้ารับการอบรมและร่วมโครงการที่ดำเนินการโดยมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ตลอดจนร่วมวางแผนและให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะเพื่อร่วมพัฒนาโครงการต่อไป

ทั้งนี้  ประเทศไทยมีปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างความต้องการแรงงาน และอุปทานแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากการจัดการศึกษา ดังนั้น สถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษา ควรเร่งดําเนินการเพิ่มคุณภาพของผู้เรียนเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานโดยเฉพาะ อย่างยิ่งการพัฒนาให้ผู้สําเร็จการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา (แรงงานระดับกลาง) ทั้งในระดับประกาศนียบัตร วิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) มีสมรรถนะในการทํางาน และมีความสามารถใน สาขาอาชีพทั้งด้านความรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตลอดจนมีทัศนคติ มีคุณธรรมจริยธรรม สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

ปัจจุบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้งส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมและ ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ขึ้นมาเป็นจํานวนมากที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม

ด้าน นายปิยะบุตร  ชลวิจารณ์  รองประธานกรรมการและประธานอำนวยการมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย จะเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญในการประสานความร่วมมือในการพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษา โดยมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งการก้าวเข้าสู่เส้นทางอาชีพนั้นไม่ได้จบเพียงแค่ความรู้ในห้องเรียน แต่ยังต้องสั่งสมจากประสบการณ์การทำงานจริง และนำมาร้อยเรียงจุดเด่นของตนเอง พร้อมทั้งการพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอให้ทันต่อยุคสมัย

ทั้งนี้ ยังมีพันธมิตรของมูลนิธิคีนันฯ อันได้แก่ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด มูลนิธิซิตี้แบงก์ ประเทศไทย และ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย)  ดร.นวลอนงค์ ธรรมเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดาวิชชาชีพ รวมทั้งผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษา ที่ได้สนับสนุน และให้ความสำคัญต่อความร่วมมือครั้งนี้ในการผลิตกำลังคนเพื่อรองรับต่อการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมและบริการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เยาวชนไทยจะมีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน พร้อมทั้งการพัฒนาตนเองสู่ทักษะใหม่ๆ ในอนาคต เพื่อเป็นกำลังสำคัญที่ผลักดันประเทศไทยให้มีความสามารถในการแข่งขัน ในระดับภูมิภาค และระดับโลกอย่างยั่งยืน