เด็กที่มีความสุข นำไปสู่เด็กดี...ไม่ใช่เด็กเก่ง | สลา สามิภักดิ์

เด็กที่มีความสุข นำไปสู่เด็กดี...ไม่ใช่เด็กเก่ง | สลา สามิภักดิ์

สิ่งสำคัญที่ควรปลูกฝังในโรงเรียนคือ การฝึกให้เด็กเลือกใช้ชีวิตให้มีความสุข และคนรอบข้างก็มีความสุขด้วย ซึ่งอาจแปลความได้ถึง การทำสิ่งที่รักและถนัดอย่างสุดความสามารถ เพื่อเติมเต็มความรู้สึกของตนเองในขณะเดียวกันก็แบ่งปันความสุขนั้นให้คนรอบข้างได้อีกด้วย

พอเถอะกับการให้นักเรียนไทยเรารู้เนื้อหาวิชาการเยอะแยะเต็มไปหมด แต่นักเรียนเองไม่สามารถเชื่อมโยง หรือนำเนื้อหาเหล่านั้นมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เลย...มิหนำซ้ำ บางครั้งครูผู้สอน (ยกตัวอย่าง ดิฉันเอง) ก็คิดเหมือนนักเรียน ว่า “เด็กเรียนไปทำไมนะ”

การให้รางวัลเด็กเรียนดีในด้านโน่น ด้านนี้ ทำให้เด็กเห็นความสำคัญของการสอบ และคะแนน มากกว่าความสำคัญของการเรียนรู้ และเพื่อนฝูง ซึ่งเป็นค่านิยมที่ไม่ได้ส่งเสริมความเป็นคนดี ซึ่งเราทราบกันดีว่า ‘คนดี’สำคัญมากกว่า ‘คนเก่ง’ อยู่มาก

ในการใช้ชีวิตในสังคมจริง  โรงเรียนไม่ควรส่งเสริม(ทางอ้อม) ให้นักเรียนหวงความรู้ ไม่แบ่งปันสิ่งที่ตนเองเรียนรู้กับเพื่อน เพียงเพื่ออยากได้คะแนนดีกว่าเพื่อน เป็นต้น

เราอาจจะต้องไปให้ถึงแก่นแท้ เป้าหมายของการศึกษาที่แท้จริง…

คือการเตรียมให้นักเรียนเข้าใจตนเอง ทั้งความรู้สึก จิตใจ ความสามารถ สิ่งที่ตนชอบทำ และวางแผนจะทำในการเลี้ยงชีพให้ตนเองอยู่รอดได้ และขณะเดียวกันก็มีความสุขด้วย...เกิดการเรียนรู้ในทุก ๆ มิติของชีวิต...

สิ่งต่างๆเหล่านี้ ไม่สามารถแยกส่วนออกมาเป็น “วิชาแนะแนว” เพื่อแนะนำการเรียนในคณะต่าง ๆ หรือ “วิชาจริยธรรม คำสอน” ที่สอนหลักของการเป็นคนดี แต่ควรสอดแทรกในทุกการปฏิบัติของนักเรียนในทุกรายวิชา ที่มีเป้าหมายปลายทางเดียวกัน คือ มีความสุขและเป็นประโยชน์กับผู้อื่น

ครูและผู้บริหารการศึกษา ต้องอย่าปล่อยให้กรอบการคิดของคนนอกวงการ มามีบทบาทต่อการพัฒนานักเรียน และพัฒนาการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติของมนุษย์ได้เด็ดขาด

เด็กที่มีความสุข นำไปสู่เด็กดี...ไม่ใช่เด็กเก่ง | สลา สามิภักดิ์

กรอบหนึ่งซึ่งเรารับมาโดยที่ไม่ได้ตั้งคำถามกับมัน และกลับปรับเปลี่ยนการปฏิบัติให้เข้ากันกับมันแทน คือ กรอบการประเมินในบริบทไทยเรา

เคยสงสัยไหมว่าทำไมนักเรียนต้องทำใบงาน ทำการบ้าน เยอะแยะ ให้ออกมาเป็นตัวอักษร หลักฐาน

ในขณะที่บางครั้งเวลาเราเรียนรู้อะไรบางอย่าง มันมักจะอยู่ในหัว ความเอ๊ะ อ๋อ ของเรา มักไม่ได้มาจากคำถามที่ครูตั้งให้เราตอบ

เคยสงสัยไหมว่าทำไมครูต้องมาเขียนแผนการสอนยาวเหยียด ตามแบบฟอร์มที่เปลี่ยนไปในทุก ๆ ปี

ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ครูแทบไม่ได้พูด หรือทำตามสิ่งที่เขียนในแผนการสอนนั้นเลยด้วยซ้ำ

ทำไมบ้านเรา ให้ความสำคัญกับการสอบปลายภาคของนักเรียนมาก จนมักจะมีการโกง การลอกกันเกิดขึ้น

ทั้งที่ความเข้าใจของพวกเขา ไม่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ มีนักเรียนจำนวนหนึ่ง ได้คะแนนสูง แต่ไม่ได้เข้าใจสาระสำคัญของบทเรียน ในขณะที่นักเรียนคนที่เข้าถึงแก่นสำคัญของบทเรียน มักได้คะแนนต่ำ

เนื่องมาจากว่า แก่นสำคัญของบทเรียน มักไม่ได้อยู่ที่การจำได้ หรือการคำนวณ ใส่สูตรอะไรบางอย่างได้ แต่คือการเข้าใจถึงวิธีคิด และการได้มาซึ่งข้อความรู้นั้น...สิ่งเหล่านี้มันคือศิลปะ มันคือความสร้างสรรค์ ที่เราไม่อาจวัดตรงๆ ผ่านการจำเนื้อหาบทเรียนได้

เด็กที่มีความสุข นำไปสู่เด็กดี...ไม่ใช่เด็กเก่ง | สลา สามิภักดิ์

ยกตัวอย่างเช่น การค้นพบดาวยูเรนัส สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่านักเรียนจำได้ว่าดาวยูเรนัสเป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง แต่นักเรียนทราบว่ากว่านักวิทยาศาสตร์จะค้นพบดาวยูเรนัสได้ เขาต้องปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดอยู่หลายครั้ง

เขาลองสังเกตท้องฟ้าซึ่งแต่เดิม มีแต่คนบอกว่าท้องฟ้าไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยในแต่ละวัน แต่เขากลับมองเห็น “ดาว” ดวงหนึ่งถึง 4 คืนติดต่อกัน จึงทำให้มาฉุกคิดว่าความเชื่อเดิมๆ อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป จนมีการตั้งสมมติฐานว่าน่าจะเป็นดาวหาง และท้ายสุดจึงทราบว่าดาวยูเรนัส เป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงนี้ใช้เวลาเกือบ 100 ปี...

ความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ การเปลี่ยนแนวความคิดเดิม ไปสู่แนวความคิดใหม่ เป็นสิ่งที่นักเรียนต้องเรียนรู้ เพื่อพัฒนาความรู้ใหม่ๆ ให้ก้าวหน้าต่อไปในทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

ปัจจุบันนี้ บ้านเมืองเราดูสะเปะสะปะ ไปคนละทิศละทาง การพัฒนาเหมือนจะไปได้ไม่สุด ในทุกแวดวง ก็เพราะว่ารากฐานทางการศึกษาของเราบิดเบี้ยวไปหมด การศึกษาเรา สังคมเรา ตีกรอบคิดให้คนไทยเต็มไปหมด

การตีกรอบแล้วยื่นให้เราคิดแบบนั้นแบบนี้ ทำให้เราไม่ได้มีอิสระทางความคิด ไม่กล้าที่จะคิด หรือแม้แต่ไม่ตระหนักถึงความคิดที่เราได้รับมาจากกรอบของสังคม

ทำให้ปัจจุบัน คนร้อยละ 90% ไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนเองรักและถนัด คนไม่ชอบงานของตนเอง...หากในระดับบุคคล เขายังไม่สามารถ happy ได้ มันก็จะส่งผลต่อในระดับสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้

เรามาทำลายกรอบความคิดเหล่านี้ และปรับความคิดกันใหม่ดีกว่า

เด็กดีคือเด็กที่ตั้งใจเรียนและเรียนหนังสือเก่ง ได้ผลการเรียนดี มาเป็นว่า เด็กทุกคนมีดีเป็นของตนเอง แต่ในบริบทโรงเรียน เราสามารถวัดความสามารถของเด็กได้อย่างจำกัด ทำให้เด็กที่เรียนดี ได้รับการสนับสนุน ได้รับความมั่นใจ จนอาจจะเกินเหตุไปได้บ้าง

เด็กที่มีความสุข นำไปสู่เด็กดี...ไม่ใช่เด็กเก่ง | สลา สามิภักดิ์

การจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ต้องเริ่มจากการได้เข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาอันดับต้นๆ ของประเทศ มาเป็นว่า ความสำเร็จ ขึ้นกับการทำตามศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ อาจจะหมายถึงการไม่ได้เรียนต่อในสายอุดมศึกษาก็ได้ เช่น การเป็นนักระบายสีน้ำ เรียนรู้ด้วยตนเอง

ดังนั้น อันดับของสถานศึกษาที่วัดด้วยงานวิจัยของอาจารย์ในสถานศึกษานั้นเป็นหลัก อาจไม่ได้บ่งบอกถึงคุณภาพในการพัฒนานักศึกษา หรือการสอนของอาจารย์ ที่จะทำให้นักศึกษาตนเองพัฒนาเต็มตามศักยภาพก็เป็นได้...

เลิกให้ความสำคัญเกินเหตุกับคนที่จบจากมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่หันมาให้ความสำคัญกับความคิดความอ่านของแต่ละบุคคลน่าจะดีกว่า

การศึกษาดี นำไปสู่งานที่ดี มาเป็นว่า การเข้าใจตนเองต่างหาก จะสามารถนำไปสู่งานที่ตนเองรัก ที่ตนเองถนัด นำไปสู่งานที่ตนเองอยากจะทำในทุกๆวัน แม้ไม่ได้ผลตอบแทนเป็นเงินก็ตาม งานนี้เอง ที่เราจะเรียกได้เต็มปากว่า เป็นงานที่ดี 

งานที่ดี ไม่ควรถูกกำหนดโดยกรอบของสังคม หรือผู้อื่นรอบข้าง ดีอย่างไร ขึ้นกับเราเอง

ตัวอย่างงาน และอาชีพที่ดี ได้แก่ หมอ พยาบาล วิศวะ ครู ตำรวจ ทหาร หรืองานราชการทั้งหลาย มาเป็นว่า ทุกอาชีพสำคัญเท่าเทียมกันหมด เพราะทุกอาชีพ อิงอาศัยกัน งานที่ดี ไม่ได้หมายถึงงานที่ได้ค่าตอบแทนดี หรือไม่ได้หมายถึงงานที่มั่นคง ที่ทำให้เราหยุดพัฒนาตนเองและทำเฉพาะหน้าที่ที่เราได้รับมอบหมายเพียงเท่านั้น 

เด็กที่มีความสุข นำไปสู่เด็กดี...ไม่ใช่เด็กเก่ง | สลา สามิภักดิ์

หากพวกเราหันมาส่งเสริม การศึกษาที่ให้นักเรียนได้คิด ได้เลือกใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ได้ทำตามสิ่งที่ตนรักที่ตนชอบ พวกเขาก็จะเติบโตไปเป็นบุคคลที่มีคุณภาพในสายอาชีพนั้น กล้าที่จะคิด จะทำ จะเปลี่ยนแปลง ในหน้าที่การงานของตน ได้อย่างมีความสุข สังคมไทยเราจะพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน

...คนที่เป็นหมอ คือคนที่อยากจะเป็นหมอจริงๆ นั่นคือ ผู้ที่เราฝากชีวิตไว้กับเขา ไม่ได้มาเป็นหมอ เพียงเพราะว่าหมอเป็นอาชีพที่ได้รับเกียรติจากสังคม และรายได้ดี.