ระบบที่ถึงจุดระเบิดของครูไทย | ภาวิณี โสธายะเพ็ชร

ระบบที่ถึงจุดระเบิดของครูไทย | ภาวิณี โสธายะเพ็ชร

การเป็นครูไทยไม่ได้เป็นเรื่องง่าย คนที่จะมาเป็นครูนั้นต้องอาศัยความรัก ทั้งรักในสิ่งที่ทำและรักเด็ก การหลงใหลการถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียน เกิดแววตาอันเป็นประกายสะท้อนว่า เข้าใจในสิ่งที่ครูต้องการถ่ายทอด สื่อสาร ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ ความดีรวมไปถึงการใช้ชีวิต

วิชาชีพครูจึงเป็นวิชาชีพที่น่ามหัศจรรย์ใจ เพราะครูไม่สามารถเผชิญกับนักเรียนในแบบที่เหมือน ๆ กันได้เลยในแต่ละคน ในทางกลับกันครูต้องทำงานบนความแตกต่างหลากหลายของนักเรียนทุกคน

ทั้งภูมิหลัง เพศ เชื้อชาติ ศาสนา ความรู้สึกนิกคิด นิสัยใจคอ บุคลิกภาพ ฯลฯ ดังนั้น งานครูจึงเป็นงานที่ท้าทายและใช้ความเสียสละค่อนข้างมาก

นิสิตนักศึกษาครูที่เรียนคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์จึงต้องบูรณาการผสานการเรียนรู้ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ (ฝึกสอน) ไม่ว่าจะเป็น 1 ปี ในอดีตที่ผ่านมา หรือ 1 เทอม ณ ปัจจุบัน

เพื่อการเป็นสนามทดลองครั้งสำคัญ ในการตัดสินใจต่อว่าตนเองเหมาะสมกับการเป็นครูในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่

ความพยายามและความเหน็ดเหนื่อย หรือบางครั้งเกิดความท้อแท้ในนิสิตนักศึกษาจำนวนมากที่เกิดจากกระบวนการฝึกสอน การบ่มเพาะขัดเกลาต่าง ๆ จากการสอนของคณาจารย์ และจากกระบวนการนิเทศที่เข้มข้น

เพื่อหวังให้นิสิตนักศึกษาเป็นครูที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพคนหนึ่งในสังคมได้ เป็นฟันเฟืองหนึ่งในการที่จะช่วยพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้ ทุกขั้นตอนและกระบวนการเหล่านี้ล้วนแต่ใช้ระยะเวลาด้วยกันทั้งสิ้นกว่าจะผลิตครูคนหนึ่งให้กับประเทศชาติได้

ครั้นถึงสนามชีวิตของการเป็นครูอย่างแท้จริง เมื่อสอบบรรจุเข้ารับราชการครูได้ กลับมีระบบหลายอย่างในองค์กรที่ลดทอนความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการพัฒนานักเรียนอย่างเต็มที่เต็มความสามารถหลังจากที่ได้ร่ำเรียนมา กลับลดลงอย่างมากมาย

ครูไม่ได้สอน แต่มีหน้าที่ทำงานเอกสารการประเมินสารพัด การส่งนักเรียนเข้าประกวดประขันเปรียบเทียบกัน การผูกผ้าเตรียมการแสดงต้อนรับกลุ่มคนต่าง ๆ ที่เข้ามาในโรงเรียน

การเข้าร่วมโครงการสารพันจากหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน และอื่น ๆ อีกมากมาย การขาดสื่อ-อุปกรณ์ การสนับสนุนทางเทคโนโลยีที่สำคัญในช่วงการเกิดโควิดที่ไม่ได้เอื้อทั้งต่อครูผู้สอนและนักเรียน และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายหลายประการที่ไม่ได้หยิบยกมาเป็นตัวอย่าง

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ครูจบใหม่อยากจะทำ หรือครูที่อยู่มานานอยากจะทำจนเป็นอาจิณ

หากแต่เขาเรียนจบครูมาเพื่อหวังใช้วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาหลายปี ในการสร้างนักเรียนคนหนึ่งให้สามารถพัฒนาตนเองได้ทั้งวิชาการ และบันดาลแรงใจในการเป็นคนดีมีคุณภาพในสังคมก็เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจมากแล้วสำหรับครูคนหนึ่ง

ครูไทย ไม่ใช่อเวนเจอร์ที่สามารถทำได้ทุกอย่างตั้งแต่ นักการ ภารโรง แม่ครัว คนสวน ช่างไฟ ช่างประปา คนซ่อมหลังคา ไปจนถึง ผู้อำนวยการโรงเรียน 

ขอแค่พวกเขาได้เป็นอเวนเจอร์คอยพิทักษ์ดูแลนักเรียนให้ได้เรียนหนังสือ พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของตนเองอย่างเต็มที่ ใช้ชีวิตในสังคมได้ ให้ครูได้ทำหน้าที่ของการเป็นครูอย่างแท้จริงก็เพียงพอแล้ว

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ควรเอาระบบจารีตประเพณีต่าง ๆ ขององค์กรออกไปแทนการที่ ครูจะต้องออกจากระบบแทน ซึ่งผู้เขียนคิดว่าปัญหาการลาออกจากราชการนี้มีมานานมากแล้ว แต่ไม่ได้รับการเผยแพร่ให้รับรู้กันทางสื่อ

แต่ปัจจุบันสื่อโซเชียลในช่องทางต่าง ๆ เผยแพร่ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว เมื่อมีครูคนหนึ่งระเบิดกับระบบ ย่อมเป็นชนวนให้สามารถจุดระเบิดยังครูคนต่อ ๆ ไปได้ง่ายขึ้นด้วยความคิดและความรู้สึกที่เหมือนกัน

โดยเฉพาะครูรุ่นใหม่ที่มีความคิดเป็นของตัวเอง กล้าทำ กล้าตัดสินใจโดยไม่ต้องทนฝืนอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบได้ และเลือกทำอย่างอื่นที่มีความสุขใจมากกว่า

งานฝีมือ งานช่าง งานเกษตร

งานเพาะเห็ด เลี้ยงปลา ทำอาหาร

ซ่อมหลังคา อุดน้ำรั่ว ล้างอาคาร

นอนเวรยาม พิธีการ สารพัน

ฉันเป็นครู แค่อยาก สอนหนังสือ

ได้ฝึกปรือ ความรู้  อย่างสร้างสรรค์

สอนนักเรียน เขียนอ่าน รู้เท่าทัน

ก็สุขสรร หรรษา ค่าของครู

ครูควรออกจากระบบ หรือ ระบบ (บางอย่าง) ควรออกไปจากครูกันแน่!!!