เด็กเก่งเขามีพ่อแม่แบบไหน?

เด็กเก่งเขามีพ่อแม่แบบไหน?

คนเป็นพ่อเป็นแม่ทุกคนย่อมปรารถนาให้ลูกเป็นคนเก่ง เป็นคนดีและประสบความสำเร็จในชีวิตกันทั้งนั้น แต่ยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบแบบสูตรสำเร็จ

คนเป็นพ่อเป็นแม่ทุกคนย่อมปรารถนาให้ลูกเป็นคนเก่ง เป็นคนดีและประสบความสำเร็จในชีวิตกันทั้งนั้น ส่วนจะต้องทำอย่างไรลูกจึงจะเก่ง ดี และประสบความสำเร็จเป็นคำถามที่ยังหาคำตอบแบบสูตรสำเร็จไม่ได้เลยค่ะ มิฉะนั้นเราคงไม่ได้เห็นพ่อแม่ที่แสนฉลาด แสนดี ประสบความสำเร็จสูงส่งในชีวิตมีลูกที่เป็นเด็กธรรมดาๆมีอาชีพธรรมดาๆไม่โดดเด่นอะไรในสังคม แถมซ้ำร้ายบางคนยังมีลูกที่สติปัญญาไม่ค่อยฉลาด นิสัยเกเร เป็นอาชญากรก็มี ผิดกับพ่อแม่บางรายที่มีสติปัญญาระดับปานกลาง ฐานะทางการเงินและสังคมไม่ค่อยดีนัก แต่มีลูกที่ผ่าเหล่าผ่ากอ แสนจะปราดเปรื่อง สอบชิงทุนการศึกษาได้ทุกระดับ เรียนฟรีตลอดชีวิต จบแล้วก็มีบริษัทใหญ่ๆมาจองตัวให้ไปทำงานด้วย ชีวิตรุ่งโรจน์ซะไม่มี...ซึ่งก็ยังหาทฤษฎีทางวิชาการมาอธิบายปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ได้ หลายคนจึง(อยาก)สรุป(ง่ายๆ)ว่า “เป็นเรื่องของบุญกรรมที่ทำมา”

ดิฉันก็ไม่มีเหตุผลอะไรมาหักล้างความเชื่อเรื่องบุญ-กรรมหรอกค่ะ แต่เมื่ออยู่ในวงการศึกษาที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างคน ก็ต้องพยายามหาวิธีการหนทางต่างๆของกระบวนการสร้างคนให้มีความรู้คู่คุณธรรมและประสบความสำเร็จที่เป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่คนทั่วไปสามารถนำไปปฏิบัติได้ ทั้งนี้ในการอบรมสั่งสอนเยาวชนทั้งหลายให้เป็นคนมีคุณภาพ ตัวพ่อแม่ของเยาวชนถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder)ที่มีผลกระทบโดยตรงกับความสำเร็จของลูกที่สถาบันการศึกษาไม่สามารถมองข้ามได้

มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก นิตยสารออนไลน์ Business Insider โดยเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา เรเชล จิลเลตต์ และเดร้ค แบเออร์ ได้เขียนบทความที่รวบรวมคุณลักษณะของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกที่ประสบความสำเร็จ โดยพ่อแม่เหล่านี้มีคุณลักษณะที่คล้ายคลึงกันอยู่หลายประการ ดิฉันอ่านผ่านข้อความนี้ก็เลยเกิดอาการหูผึ่งตาโตต้องอ่านบทความนี้ต่อทันที เพราะอยากจะทราบอยู่เหมือนกันว่าพ่อแม่กลุ่มนี้เขาต้องทำอะไรหรือมีลักษณะพิเศษอะไรจึงทำให้พวกเขาช่วยส่งเสริมให้ลูกประสบความสำเร็จได้ เรเชลและเดร้คได้นำเสนอคุณลักษณะ 9 ประการของพ่อแม่ที่มีลูกประสบความสำเร็จโดยอ้างถึงผลงานวิจัยของนักวิจัย และนักวิชาการที่สนับสนุนข้อสรุปเกี่ยวกับแต่ละคุณลักษณะดังนี้ค่ะ

1. พ่อแม่ที่สามารถสอนให้ลูกมีทักษะทางสังคม (Social skills)

เรเชลและเดร้คอ้างว่ามีผลงานวิจัยของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดุ๊ค (Duke University)และมหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลเวเนีย (PennsylvaniaState University)ที่ทำการศึกษาติดตามวิวัฒนาการของเด็กจำนวน 700 รายทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เด็กเหล่านี้อยู่ในวัยอนุบาลจนถึงอายุ 25 ปี จากการศึกษาติดตามเด็กเหล่านี้ตลอดระยะเวลาประมาณ 20 ปี ทำให้นักวิจัยค้นพบว่าเด็กที่ได้รับการอบรมสั่งสอนทักษะทางสังคมจากพ่อแม่เป็นอย่างดีจะประสบความสำเร็จในสังคมที่เขาใช้ชีวิตอยู่อย่างมีนัยสำคัญ โดยเด็กที่มีทักษะทางสังคมดีจะสามารถใช้ชีวิตร่วมหรือทำงานร่วมกับเพื่อนฝูงของเขาได้ดี ทำตัวเป็นประโยชน์กับเพื่อนฝูง ช่วยเหลือเพื่อนฝูงคนรอบข้างได้ เข้าใจและตระหนักถึงอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง สามารถแก้ปัญหาของตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งคนอื่น มีแนวโน้มสูงที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นต้นไป และมีงานประจำทำเมื่ออายุได้ 25 ปีเป็นจำนวนมากกว่าเด็กที่มีทักษะทางสังคมต่ำ

ในทางตรงกันข้าม เด็กที่ไม่มีหรือมีทักษะทางสังคมต่ำมีโอกาสสูงที่จะเป็นผู้ต้องหาถูกจับตัวตั้งแต่เป็นผู้เยาว์ ติดเหล้า และไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต้องอยู่สถานสงเคราะห์มากกว่าจะอยู่กับครอบครัว

เพียงแค่ข้อแรกที่ได้อ่านดิฉันก็อึ้งด้วยความประทับใจแล้วละค่ะ เข้าใจว่าท่านผู้อ่านคงจะรู้สึกอึ้งและทึ่งเหมือนกัน เพราะคุณสมบัติข้อแรกนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องการศึกษาด้านวิชาการที่พ่อแม่จำนวนมากเพ่งให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องอื่น พ่อแม่หลายคนไม่มีเวลาใกล้ชิดลูก มุ่งเอาเวลาไปทำมาหากินสร้างเงินก้อนโตมาจ่ายค่าเล่าเรียน ค่าติวเตอร์แพงๆเพราะหวังว่าการศึกษาจะทำให้ลูกประสบความสำเร็จ คราวนี้พ่อแม่คงต้องคิดใหม่แล้วค่ะ ลูกของท่าน ท่านก็ต้องสอนพวกเขาเองด้วย ไม่ใช่ฝากความหวังและความรับผิดชอบส่วนใหญ่กับครูอาจารย์ที่สถาบันการศึกษา ที่เขาว่ากันว่าพ่อแม่คือครูคนแรกของลูกนั่นถูกต้องที่สุดค่ะ ครอบครัวคือสังคมแรกสุดที่ลูกได้พบเจอ ดังนั้นทักษะในการสังคมอันดับแรกต้องมีพ่อแม่เป็นผู้วางรากฐาน ซึ่งทักษะนี้จะเป็นรากฐานในการเข้าสังคมต่อๆไปของลูก คริสติน ชูเบิร์ต ผู้อำนวยการโครงการของมูลนิธิโรเบิร์ต วู้ด จอห์นสัน ซึ่งเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยที่ยาวนานถึง 20 ปีนี้ได้กล่าวประโยคที่สะกิดใจพ่อแม่ทั่วโลกว่า “ตั้งแต่อายุยังน้อยนิด ทักษะ(ทางสังคม) นี้สามารถบ่งชี้ว่าเด็กจะได้เข้ามหาวิทยาลัยหรือเข้าคุก และเขาจะได้งานทำหรือเป็นขี้ยาเมื่อโตขึ้น”

2. พ่อแม่ที่มีความคาดหวังและให้ความมั่นใจแก่ลูกสูง

มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียที่ลอส แองเจลิส(University of California at Los Angeles หรือ UCLA)ได้ทำการสำเร็จเด็กจำนวน 6,600 รายที่เกิดในปี ค.ศ. 2001 โดยค้นพบว่าความคาดหวังที่ผู้ปกครองมีต่อเด็กมีผลกระทบสูงต่อความสำเร็จในชีวิตของเด็ก อาจารย์นีล ฮาล์ฟฟอน หัวหน้าโครงการสำรวจวิจัยกล่าวว่าพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความคาดหวังและมีความเชื่อมั่นว่าลูกของตนจะต้องเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้มักจะสามารถดำเนินการให้ลูกสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ ต่างจากพ่อแม่ที่แม้อาจจะคาดหวังว่าลูกน่าจะเข้ามหาวิยาลัยได้ แต่มีเพียงความคาดหวัง ไม่มีความเชื่อมั่นว่าลูกจะทำได้ ซึ่งเมื่อพ่อแม่ไม่เชื่อมั่น ลูกก็จะรู้สึกได้และทำให้ลูกขาดความเชื่อมั่นในตัวเองไปด้วย ประเด็นนี้เป็นเรื่องซับซ้อนทางจิตวิทยาพอสมควร การเป็นพ่อแม่เป็นภาระกิจที่ยากและหนักมาก แต่ถ้าท่านมีทั้งสมอง หัวใจ และความเชื่อมั่นให้กับลูก ความสำเร็จย่อมไม่ไกลเกินที่ท่านและลูกจะไขว่คว้า

3. แม่เป็นผู้หญิงทำงาน

เรเชลและเดร้คอ้างถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าเด็กที่เติบโตขึ้นมากับแม่ที่ทำงานนอกบ้านได้รับประโยชน์จากการที่มีแม่ทำงานนอกบ้านอย่างมีนัยสำคัญ ข้อนี้แปลกจากที่ดิฉันเคยคิดนะคะ เพราะคิดว่าลูกน่าจะได้รับความอบอุ่นจากแม่ที่เป็นแม่บ้านเต็มเวลามากกว่า งานวิจัยยังพบว่าลูกสาวที่มีแม่ทำงานนอกบ้านจะใช้เวลาศึกษาในสถานศึกษานานกว่ากลุ่มที่ไม่มีแม่ที่ทำงานนอกบ้าน นอกจากนี้พวกลูกสาวกลุ่มที่มีแม่ทำงานนอกบ้านยังมีแนวโน้มที่จะได้งานในตำแหน่งหัวหน้างานและมีรายได้สูงกว่าพวกที่มีแม่อยู่กับบ้านถึง 23% (เดาว่าลูกสาวคงได้รับแรงบันดาลใจจากแม่ที่เป็นหญิงเก่งก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามอยากจะเข้าใจว่าบรรดาแม่ที่เป็นหญิงทำงานต้องใส่ใจดูแลอบรมลูกด้วย ประมาณว่างานอาชีพก็ไม่ขาด งานแม่บ้านก็ไม่พร่อง ทีนี้หันมาดูลูกชายที่มีแม่ทำงานนอกบ้านบ้าง พวกเขามีแนวโน้มที่โตขึ้นแล้วจะสนใจดูแลงานบ้านและดูแลลูกมากกว่าพวกที่มีแม่เป็นแม่บ้าน (สงสัยพอมีแม่อยู่บ้านทำให้ทุกอย่าง ลูกชายกลุ่มนี้เลยนิสัยเสียละกระมัง?) งานวิจัยยังเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจอีกด้วยว่าลูกชายที่มีแม่ทำงานนอกบ้านใช้เวลาในการดูแลลูกมากกว่าอีกกลุ่มถึง 7.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และใช้เวลาทำงานบ้านมากกว่าสัปดาห์ละ 25 นาที (พวกฝรั่งที่เขาชอบตัวเลขกันจริงๆนะคะ) อาจารย์แคธลีน แม็กกินน์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวถึงประเด็นเรื่องการมีแม่ที่ทำงานนอกบ้านว่ามันเป็นปัจจัยหนึ่งที่แสดงถึง “บทบาท” ที่เป็นแบบอย่างในสังคมครอบครัวที่ลูกเรียนรู้จากแม่ซึ่งมีผลต่อแนวคิดและพฤติกรรมของเขาในอนาคต เช่น ถ้ามีแม่ที่ทำงานนอกบ้านไม่ค่อยมีเวลาทำงานบ้าน สมาชิกคนอื่นๆในครอบครัวไม่จำกัดว่าเป็นหญิงหรือชายก็ต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ...ทราบอย่างนี้แล้วแม่ๆทั้งหลายคงต้องเริ่มฝึกนิสัยผู้ชายในบ้านกันแล้วละค่ะ

นี่แค่เพียงสามข้อแรกที่เป็นลักษณะของบรรดาพ่อแม่ที่มีลูกประสบความสำเร็จค่ะ อ่านแล้วก็ใช้วิจารณญาณของเราตัดสินใจเองว่าข้อไหนเหมาะกับเรา ใช่หรือไม่ใช่อย่างไร ทั้งนี้คุณลักษณะบางข้ออาจค้านกับค่านิยมของท่าน เช่น บางท่าน (รวมทั้งดิฉัน)เชื่อว่าการที่แม่สามารถอยู่บ้านทำหน้าที่แม่บ้านจะดูแลลูกได้เต็มที่กว่าแม่ที่ทำงานนอกบ้าน ท่านก็สามารถอยู่บ้านเป็นแม่บ้านเต็มตัวก็ได้ แต่นำข้อมูลนี้ไปพัฒนาคุณสมบัติอื่นๆที่ท่านอาจจะพร่องไปหรือไม่มี เช่น ถึงแม้ท่านจะเป็นแม่บ้าน ก็เป็นแม่บ้านที่ทันสมัยสนใจข่าวสารบ้านเมือง ธุรกิจ และเศรษฐกิจ ท่านสามารถคุยกับลูกและให้คำปรึกษาได้ทุกเรื่องรอบตัว ถ้าทำได้แบบนี้ท่านก็จะสามารถอุดข้อด้อยเรื่องไม่มีความรู้เรื่องข้อมูลธุรกิจนอกบ้านไปได้ในระดับหนึ่งค่ะ

4.พ่อแม่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม (Socioeconomic status) ในระดับสูงกว่า

โดยมีฐานะสูงกว่าพ่อแม่ของเด็กที่เรียนไม่ค่อยดีและไม่ค่อยประสบความสำเร็จชีวิต ซึ่งข้อนี้เราคงไม่ค่อยแปลกใจเท่าไร เพราะผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงกว่าย่อมมีโอกาสอื่นๆในชีวิตที่สูงกว่า มีมุมมองและทางเลือกมากกว่า ทั้งนี้เรเชลและเดร้คอ้างผลงานวิจัยของนักวิจัยชื่อ ฌอน แรร์ดอนจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่พบว่าความแตกต่างทางฐานะของพ่อแม่ของเด็กมีผลกระทบต่อการประสบความสำเร็จของเด็ก นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นที่ชี้ว่าเด็กที่มีผลสอบ SAT สูง (Scholastic Assessment Tests หมายถึงผลการสอบมาตรฐานของเด็กที่เรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในสหรัฐอเมริกา โดยมหาวิทยาลัยจะนำคะแนนสอบ SAT นี้ไปเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษา โดยแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีเกณฑ์การใช้คะแนนนี้ต่างกันไป) มักเป็นเด็กที่มีพ่อแม่ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงกว่า

5.พ่อแม่มีการศึกษาสูง

โดยสูงกว่าพ่อแม่ของเด็กที่ไม่ประสบความสำเร็จ ข้อนี้ก็ไม่น่าแปลกใจอีกนั่นแหละ และยังอาจมีผลทำให้พ่อแม่ที่มีการศึกษาน้อยและมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนไปทางที่ต่ำอาจจะหมดกำลังใจที่จะเลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จ อย่าหมดกำลังใจเลยค่ะ มีเด็กที่ประสบความสำเร็จอีกหลายคนที่ไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีพ่อแม่ร่ำรวยและมีการศึกษาสูง ทั้งนี้ซานดร้า ตั้ง นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนพบว่า จากกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาจำนวน 14,000 คน เด็กที่มีแม่เป็นวัยรุ่น อายุต่ำกว่ายี่สิบที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาลงมามักจะไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียนในระดับมหาวิทยาลัย ประมาณว่าแม่เรียนได้แค่ไหน ลูกก็เรียนได้แค่นั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับระดับสติปัญญาของแม่หรือของเด็กแต่อย่างใด แต่มันเป็นเรื่องของ “แรงบันดาลใจ” (Inspiration) มากกว่า หมายความว่าการที่ลูกจะได้เรียนระดับมหาวิทยาลัยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับแรงบันดาลใจจากพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่มีแรงบันดาลใจอยากเรียนระดับมหาวิทยาลัย แม้ว่าอาจจะไม่ได้เรียนด้วยสาเหตุใดก็ตาม ลูกมักจะได้รับถ่ายทอดความบันดาลใจนั้นด้วย ซึ่งจะมีผลในการผลักดันให้เขาอยากศึกษาและร่วมมือกับพ่อแม่หาทางศึกษาให้สูงที่สุด ทั้งนี้จากการศึกษาของนักจิตวิทยาชื่อ เอริค ดูโบว์ จากมหาวิทยาลัยโบว์ลิ่งกรีนในย่านชนบทของมลรัฐนิวยอร์คพบว่า ระดับการศึกษาของพ่อแม่ ณ เวลาที่ลูกมีวัย 8 ขวบเป็นช่วงเวลาที่มีนัยสำคัญที่จะพยากรณ์ระดับการศึกษาและความสำเร็จในอาชีพของลูก กล่าวคือ สมมุติว่าเมื่อลูกมีอายุ 8 ปี พ่อแม่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ก็มีแนวโน้มสูงว่าลูกจะจบการศึกษาระดับเดียวกันเมื่อโตขึ้น อ่านแล้วดิฉันไม่แน่ใจว่าเราจะตีความการค้นพบนี้ว่าอย่างไร แปลว่าพ่อแม่ควรเร่งเรียนให้สูงที่สุดก่อนที่ลูกจะอายุ 8 ปีอย่างนั้นหรือ? ทั้งนี้ข้อมูลมีไม่มากพอจะตีความได้ สรุปเป็นว่า พ่อแม่ควรพยายามเรียนให้สูงๆเข้าไว้ และถ้าไม่มีโอกาสเรียนสูงๆก็ยังไม่ต้องสิ้นหวัง ควรสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกเรียนสูงๆอย่าได้หยุดยั้ง เรายังมีความหวังอยู่ค่ะ

6.พ่อแม่สอนเลขเบื้องต้นให้ลูกตั้งแต่ตอนเด็กๆ

เรื่องนี้พ่อแม่ที่ไม่ต้องร่ำรวยหรือเรียนสูงๆก็ทำได้ มันเป็นเรื่องการเอาใจใส่ ต้องขอย้ำว่าอย่าโยนภาระการสอนหนังสือให้กับครูที่โรงเรียนอย่างเดียว พ่อแม่ควรใช้เวลาสอนความรู้ต่างๆ เช่น การคิดเลขง่ายๆ ซึ่งทักษะเบื้องต้นง่ายๆนี้มีผลต่อการพัฒนาทักษะของลูกเมื่อพวกเขาโตขึ้นอย่างที่พ่อแม่คาดไม่ถึงเลยค่ะ เกร็ค ดันแคน นักวิจัยของมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเธิร์นที่โด่งดังกล่าวว่า “การมีทักษะทางคณิตศาสตร์เบื้องต้นของเด็กมันสามารถสะท้อนถึง หรือพยากรณ์ได้ถึงความสำเร็จในทางคณิตศาสตร์ในตอนโตได้เลย และมันยังคาดการณ์ได้ถึงความสามารถในการอ่าน (Readin) ในอนาคตของเด็กด้วย” คนเป็นพ่อแม่จึงต้องจำไว้เสมอว่าการดูแลเอาใจใส่สั่งสอนอบรมลูกในเรื่องต่างๆตั้งแต่พวกเขายังเป็นเด็กเล็กๆด้วยตนเองเป็นเรื่องที่ห้ามพลาดและรอไม่ได้ เพราะท่านไม่สามารถย้อนเวลาให้ลูกกลับไปเป็นเด็กเพื่อที่ท่านจะแก้ตัวได้อีกค่ะ

7.พ่อแม่พัฒนาสัมพันธภาพที่ดีกับลูกตั้งแต่วัยเยาว์

ข้อนี้พ่อแม่ที่ไม่รวยเงิน แต่รวยความรักและความเอาใจใส่คงได้เฮกันค่ะ มีงานการศึกษาในปีที่แล้วที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กที่มีฐานะยากจนจำนวน 243 ราย พบว่าเด็กที่ได้รับความเอาใจใส่ใกล้ชิดจากพ่อแม่ในช่วงอายุ 3 ปีแรกที่ได้ลืมตาดูโลกจะมีความสามารถในการทำข้อสอบได้ดีกว่าเด็กที่ไม่มีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพ่อแม่ นอกจากนี้พวกเขายังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นและประสบความสำเร็จทางการศึกษาที่ดีกว่าเมื่อพวกเขามีอายุได้ประมาณ 30 ปี

8.พ่อแม่มีความเครียดน้อยกว่า

บริจิด ชูลต์ที นักเขียนของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ อ้างงานศึกษาชิ้นหนึ่ง(ไม่ทราบว่าของใคร) ว่าเราอย่าไปนับจำนวนชั่วโมงที่พ่อแม่หรือที่แม่อยู่กับลูก สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ใช้เวลาอย่างไรต่างหาก ถ้าพ่อแม่อยู่กับลูกทั้งวัน แต่อยู่ด้วยความเครียด เข้มงวดกวดขันดุด่ามากไป มันก็จะกลายเป็นการใช้เวลาที่ไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร พ่อแม่ที่ฉลาดและเลี้ยงลูกเป็นต้องมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่สูง ไม่เครียดเกินไปในการเลี้ยงและดูแลลูก จึงจะได้ลูกที่มีสุขภาพจิตดีและมีสติปํญญาที่ดี สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดี เข้าสังคมกับผู้อื่นได้ไม่มีปัญหา และทำงานได้ประสบความสำเร็จตามสมควร

9.พ่อแม่ที่มีความคิดจำกัด (Fixed mindset) และพ่อแม่ที่มีความคิดที่เติบโตยืดขยาย (Growth mindset)

ต้องขออภัยที่แปลออกมาเป็นภาษาไทยที่ฟังแล้วไม่รื่นหูเท่าที่ควรค่ะ อธิบายได้ว่าพ่อแม่มีวิธีคิดที่มีผลกระทบต่อวิธีคิดและพฤติกรรมของลูก เช่น ถ้าพ่อแม่มีความคิดที่มีขอบเขตจำกัดว่าการที่คนเราจะประสบความสำเร็จก็เพราะต้องมีความฉลาดหรือ IQ เท่านั้นเท่านี้ ต้องมีโอกาสแบบนั้นแบบนี้ ต้องได้เรียนกับครูคนนั้น หรือเรียนที่โรงเรียนนั้นๆ แบบนี้เรียกว่ามีวิธีคิดที่จำกัด และเมื่อไม่สามารถได้เงื่อนไขตามที่ต้องการ พ่อแม่ที่มีความคิดจำกัดแบบนี้ก็จะคิดว่า “ถ้าไม่ได้ตามนี้ เป็นอันว่าหมดหวัง ไม่มีทางดิ้นแล้ว” ซึ่งจะมีผลให้ลูกติดอยู่กับข้อจำกัดต่างๆ (ที่ตนเองคิดเอาเองว่าเป็นข้อจำกัดไปด้วย) แต่ถ้าพ่อแม่มีแนวคิดยืดหยุ่น ปรับวิธีคิดให้ยืดขยายหรือเปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์ แบบนี้มันก็เห็นหนทางในการก้าวข้ามหรือแก้ปัญหา หรือลดข้อจำกัดไปได้ พ่อแม่ที่คิดแบบนี้ก็จะหาหนทางใหม่ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ได้ตลอดเวลา ลูกก็มักจะได้รับอานิสงส์แบบนี้ด้วย ทำให้เขาคิดต่อยอดเก่ง ไม่สิ้นหนทางง่ายๆ ทัศนะคติแบบนี้จะส่งเสริมให้ตนเราหาทางไขว่คว้าความสำเร็จมาอยู่ในมือจนได้

9 ประการนี้คงสามารถให้ข้อคิดแก่พ่อแม่ทั้งหลายที่อยากส่งเสริมปูทางให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิตได้ โดยท่านสามารถนำหลักการหลายข้อไปปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ของตนเองได้ ทั้งนี้ไม่มีใครได้อะไรครบทุกอย่างในชีวิต ต้องมีพร่องตรงนี้นิด เกินตรงนั้นหน่อยกันทั้งนั้น ขอเพียงให้มีความตั้งใจจริง รู้จักคิดบวก คิดยืดหยุ่น ใส่ความรักและความใส่ใจให้ลูก ไม่เครียด แค่นี้ก็น่าจะเป็นทุนที่เพียงพอให้ลูกประสบความสำเร็จได้ในอนาคตตามสมควรแล้วละค่ะ