ทำไม "ครูไทยต้องกู้" กว่า 80% แบกรับภาระหนี้สินมหาศาล

ทำไม "ครูไทยต้องกู้" กว่า 80% แบกรับภาระหนี้สินมหาศาล

"หนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา"เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกและสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ว่าจะวันครู หรือวันไหนๆ ครูไทยก็ต้องเผชิญกับชะตากรรมแบกรักหนี้สินที่ตัวเองก่อขึ้น และอาชีพแม่พิมพ์ พ่อพิมพ์เหล่านี้ถือเป็นกลุ่มอาชีพที่มีปัญหาหนี้สินจำนวนมาก

แม้วันนี้ 16 มกราคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันครูแห่งชาติ ที่กำหนดขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระคุณครูอาจารย์ผู้ให้ความรู้ลูกแก่ศิษย์ ถือเป็นอาชีพสำคัญที่สร้างและพัฒนาคนขึ้นมาเป็นบุคลากรที่สำคัญของประเทศ ทว่า "ครูไทย" จำนวนกว่า 9 แสนคน หรือกว่า 80% ยังคงต้องแบกรับภาระหนี้สินที่ตัวเองก่อไว้ 

รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กรมส่งเสริมสหกรณ์ รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ให้เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเร่งด่วน เพื่อลดความเดือดร้อน โดยมีเป้าหมายให้ครูได้ชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือการรวมหนี้ครูไว้ในสถาบันการเงินแหล่งเดียว กำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับการผ่อนชำระหนี้ของครูให้ได้มากที่สุด

ต่อมาในปี 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาช่วยแก้ไขปัญหา ตามวาระแห่งชาติการแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการที่กำหนดขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

Teachers'day 16 ม.ค.นี้ เปิดคู่มือดูแลสุขภาพใจ- กายสำหรับคุณครู

วันครู 2566 ปม "พรบ.การศึกษาแห่งชาติ" ที่ทำให้ครูทั่วประเทศลุกขึ้นมาแต่งดำ

ทำไม?อาจารย์ไทยต้อง "ซื้องานวิจัย" พร้อมเปิดตลาดช็อปปิ้งผลงานวิชาการ

นายกฯส่งสารถึงครูทั่วประเทศ ย้ำครูพัฒนาเด็ก พลังขับเคลื่อนการศึกษา

 

"ครูไทย" กว่า 80% มีหนี้สิน รวมภาระหนี้ 1.4 ล้านล้านบาท

โดยเมื่อต้นเดือน ธ.ค.2565 ‘เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา’ ออกมารณรงค์ให้ครูทั่วประเทศที่ถูก ‘หักเงินเดือนหน้าซอง’ จนเหลือเงินใช้ไม่ถึง 30% ต่อเดือนออกมาโชว์ ‘สลิปเงินเดือน’ ของตนเองผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อสะท้อนให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องรับรู้ถึงปัญหาดังกล่าว

พร้อมทั้งเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะ “นายจ้าง”ของครูทั่วประเทศ สั่งการให้มีการบังคับใช้ระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนเพื่อการชำระหนี้สวัสดิการและสหกรณ์ปี 2551 อย่างเคร่งครัดสะท้อนสภาพความรุนแรงของปัญหาหนี้สินครูที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน

ขณะที่ด้าน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้กำหนดให้มีสถานีแก้หนี้ครู 558 สถานี ในระดับจังหวัด ตลอดจนเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษาที่เป็นหน่วยหักเงิน ณ ที่จ่ายระดับจังหวัด ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบให้เกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม

ทำไม \"ครูไทยต้องกู้\" กว่า 80% แบกรับภาระหนี้สินมหาศาล

เพื่อให้ครูทุกคนได้รับการดูแลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินครูได้อย่างทั่วถึง มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมีศักดิ์ศรี อันจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพสังคม

จากกระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีครูและข้าราชการบำนาญเป็นหนี้สหกรณ์และสถาบันการเงินกว่า 900,000 คน มีภาระหนี้รวมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 80% ของครูทั้งหมดที่เป็นหนี้

โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จำนวน 8.9 แสนล้านบาท

รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน 3.49 แสนล้านบาท รวมทั้งธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคาร สงเคราะห์ และสถาบันการเงินอื่นๆ

 

ทำไมครูไทยต้องกู้... เป็นหนี้ 

"อาชีพครู" เหมือนกับการประกอบอาชีพอื่นๆ ที่ต้องใช้ชีวิต  และเป็นอาชีพที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย โดยสรุปสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ครูไทยต้องกู้ และเป็นหนี้นั้น มีดังนี้  

1.ครูต้องกู้ซื้อรถ

รถที่ซื้อไม่ใช่เพราะคนเป็นครูจะต้องทำตัวหรูหรือไฮโซ  แต่เป็นรถที่ใช้ในการขนส่งเด็กๆนักเรียนออกนอกพื้นที่ อย่าง งานแข่งขันวิชาการต่างๆ จะให้ไปเช่าไปยืมรถของคนอื่นดูยุ่งยาก และต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายมากขึ้น อีกทั้งต้องไปง้องอนเขาให้มาช่วยอีก ครูทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้องมีรถขับพอได้ประทังชีวิตครู และรถของครูก็ไม่ใช่รถของตัวเอง หากคิดดูให้ดีคิดให้ลึก รถของครูทุกคนก็กลายเป็นรถหลวงไปซะหมดแล้ว ทั้งใช้เดินทางมาทำงาน ใช้เดินทางไปอบรมในที่ต่างๆ ใช้ขนส่งนักเรียนผู้น่ารัก ใช้พานักเรียนไปหาหมอยามที่นักเรียนไม่สบาย ใช้สำหรับซื้อสิ่งของหรือบรรทุกวัสดุก่อสร้างภายในโรงเรียน จะว่าไปแล้วรถของครูนี่ก็ใช้งานกันคุ้มค่าเกินราคาจริงๆ 

2.ครูต้องมีภาระหน้าที่ทางครอบครัว

ครูก็คน คนก็คือครู ครูทุกคนมีครอบครัวมีภาระหน้าที่ที่จะต้องดูแล ไม่ว่าจะเป็นบิดา มารดา ที่ท่านมีพระคุณต่อเราที่จะต้องตอบแทน เมื่อเราได้ดิบได้ดีมีการมีงานทำ คนที่ขึ้นชื่อว่าลูกก็จำเป็นจะต้องดูแลท่านให้ท่านได้อยู่อย่างสุขสบายเหมือนพ่อแม่คนอื่นๆบ้าง ถึงแม้จะไม่ได้สบายถึงขั้นมหาเศรษฐีก็ขอให้ท่านได้พอมีพอกินพอใช้ก็พอ มีบ้านที่ฝนตกแล้วไม่รั่วเหมือนเมื่อครั้งที่ท่านเคยส่งเราเรียนหนังสือ ส่งเราเรียนจบได้มีงานทำที่ดี

หน้าที่ของเราที่จะตอบตอบแทนบุญคุณของท่าน แต่ลำพังเงินเดือนของเราที่ไม่ได้มีมากมายนัก กอปรกับค่าเงินบาทที่ดูเฟ้อ ลำพังซื้อชุดมาใส่ไปทำงานได้ก็กินเนื้อที่ของเงินเดือนไปแล้ว 1 ใน 3 ส่วน ก็เลยจำเป็นที่จะต้องกู้

นอกเหนือจากภาระหน้าที่ที่จะต้องเลี้ยงดูพ่อและแม่แล้ว ครูก็ยังเหลือครอบครัวของตัวเองให้เลี้ยงดูอีกเช่นกัน ไหนจะค่าเทอมลูก ค่าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ค่าเล่าเรียนที่บอกว่าเบิกได้ นั่นก็คงจะไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการส่งลูกๆเรียนกันแน่เชียว และนี่แหละคือสาเหตุที่ครูเราจำเป็นที่จะต้องกู้ เพราะเราไม่ได้อยู่โดยโดดเดี่ยวเพียงลำพัง ความรับผิดชอบต่างๆจึงถูกกระจายไปถึงทุกคน

3.ครูต้องซื้อชุดใส่ให้ถูกวัน

ครูต้องทำงาน 5 วันเต็มและในแต่ละวันครูก็ต้องใส่ชุดที่แตกต่างให้ตรงวัน อย่างเช่นวันจันทร์ใส่ชุดกากี วันอังคารใส่ผ้าไทย วันพุธใส่ชุดลูกเสือ(ชุดลูกเสือบางจังหวัดใส่วันพฤหัสบดี) วันพฤหัสบดีใส่ชุดกีฬา วันศุกร์ใส่ชุดพื้นเมือง (ครูในแต่ละพื้นที่จะใส่ไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับนโยบายของทางจังหวัด หรือทางเขตพื้นที่) แล้วชุดที่ใส่กันในแต่ละวันก็ถูกน่าดูทีเดียว อย่างเช่นผ้าไทยก็ตกอยู่ที่ 1,000+ บาท ผู้ชายไม่แพงเท่าไหร่ แต่ของผู้หญิงนี่สิแพงขึ้นมาหน่อย ยิ่งท่าเนื้อผ้าดีก็จะเพิ่มราคาขึ้นมา แล้วลองคิดดูว่าต้องใส่ 5 ชุดที่ไม่ซ้ำกัน แล้วไหนบางชุดใส่ได้พอดี 

4.ครูต้องซื้ออุปกรณ์เสริมมาช่วยสอน

งบรายหัวค่าตกแต่งห้องเรียน ขอบอกตรงๆว่าไม่พอใช้จ่ายกันหรอกครับ ถ้าจะตกแต่งห้องกันจริงๆคงต้องเพิ่มงบ โดยเฉพาะเรื่องสื่อการสอนยิ่งไปกันใหญ่ สื่อบางตัวครูก็ต้องควั๊กกระเป๋า(แบนแฟนทิ้ง)จ่ายซื้อเองด้วยน้ำพักน้ำแรงและหยาดเหงื่อที่เราแลกมา เช่น ค่ากระดาษที่ไม่พอสำหรับปริ้นใบงาน ค่าหมึก ค่าเครื่องปริ้นเตอร์ ครูบางคนลงทุนซื้อเครื่องโปรเจคเตอร์เอง ซื้อสื่อการสอนที่เขามาเร่ขายที่หน้าเขตพื้นที่  เป็นต้น 

5.ครูต้องพัฒนาตน(เรียนต่อ)

ในยุคปัจจุบันถ้าเราจะเป็นครูก็คงจะเป็นยากหน่อยหากครูไม่ยอมที่จะพัฒนาตน พัฒนาความรู้ของตัวเองให้ทัดเทียมกับความรู้ของเด็กๆในยุคนี้ ซึ่งเป็นยุคของนักเรียนที่อยู่ในเจเนอเรชั่น Y ของคนที่เกิดตั้งแต่ปีพ.ศ.2540 ขึ้นไป เป็นยุคที่เด็กๆเติบโตมากับเทคโนโลยีมากมาย และพวกเขาสามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่ายๆแค่เพียงคลิกเดียวเบาๆ ง่ายเสียยิ่งกว่าการหายใจเข้าปอดเสียอีก และสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เด็กยุคนี้เรียนรู้ได้รวดเร็วและทั้งเก่งทั้งฉลาด

คนเป็นครูถ้าจะรู้น้อยกว่าเด็กก็คงจะต้องอายเด็ก  ครูบางคนลงทุนไปเรียนต่อปริญญาโท หรือเรียนไปจนถึงปริญญาเอก(ขอชื่นชม) มาเพื่อจะมีความรู้สอนเด็กๆได้ให้สมกับคนที่ขึ้นชื่อว่าครู แต่การเรียนทุกครั้งก็ต้องใช้เงินไม่น้อย ว่ากันว่าเรียนต่อปริญญาโท ก็จะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 2 แสนบาท 

6.ครูต้องเติมน้ำมันไปอบรม

ปัจจุบันค่าน้ำมันจากการไปอบรมได้กิโลเมตรละ 4 บาท (ราคานี้มาตั้งแต่สมัยพ่อขุน) แต่ที่บอกว่ากิโลเมตรละ 4 บาท นี้ไม่ได้หมายถึงเราได้วัดระยะกันจริงๆ แต่ให้จากการประมาณการของระยะทาง ความเป็นจริงแล้วระยะทางที่ครูเขาขับรถไปเพื่อติดต่อราชการ หรือไปอบรมระยะทางเกินงบค่าประมาณกาหรือค่าน้ำมันที่ได้จากการเบิกจ่ายแน่นอน โรงเรียนบางแห่ง ครูบางคนไม่ได้เบิกเลย เพราะงบโรงเรียนเหลือน้อยจนเราต้องเสียสละ และครูบางคนก็เสียสละงบนี้ซะส่วนมาก(เกือบทุกคนไม่เบิกจ้า)

7.ครูไม่มีรายได้เสริม

อาชีพครูถ้าจะทำอาชีพเสริมหารายได้ก็สามารถทำได้ แต่ถ้าจะทำอย่างจริงจังเป็นล่ำเป็นสันก็คงจะทำไม่ได้ เพราะเวลาของเรามีมันช่างเหลือน้อยนิดเสียยิ่งกระไร เวลาให้สามีคนในครอบครัวก็ยังไมมีเลย แล้วจะให้เอาเวลาที่ไหนไปทำอาชีพเสริม

จะว่าไปแล้วเงินเดือนของครูเราก็เยอะพอสมควร แต่ถ้าจะให้เปรียบเทียบกับค่าเงินในปัจจุบันแล้ว เงินเดือนในยุคเก่าๆ ของครูสมัยก่อนซึ่งถือว่าเยอะมาก เพราะเมื่อก่อนทองบาทละ 1 พัน ครูมีเงินเดือน 2-3 พัน ถือว่าซื้อทองได้ 1-3 เส้นกันเลยทีเดียว แต่ทุกวันนี้เงินเดือนครูสูงมาก ครูจบใหม่เงินเดือนอยู่ที่ 1.5 หมื่น แต่ทองก็ปาเข้าไปบาทละเกือบ 2 หมื่นแล้ว ไหนจะค่าครองชีพที่สูงขึ้นอีก ค่าต่างๆที่เล่ามาก่อนหน้านี้อีกทำให้เราต้องคืนภาษีกลับไปให้ชาติกันต่อไป

8.อาชีพครูเป็นอาชีพที่ได้ซอง

ยิ่งถ้าเป็นครูที่สอนมานานก็จะยิ่งมีคนรู้จักมากตามอายุการทำงาน เพราะในแต่ละปีครูก็จะผลิตลูกศิษย์ออกไปสู่สังคมในแต่ละรุ่นมากมาย กอปรกับลักษณะงานของเราก็ต้องเกี่ยวข้องกับชุมชน วัด และเทศบาล ที่เรานั้นสอนอยู่ ครู ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากมายตามหน้าที่ จึงทำให้มีผู้คนทั่วไปรู้จัก เรียกได้ว่าฮอตมาก ส่วนเรื่องของซองผ้าป่า งานบุญ งานบวช งานแต่ง เพราะมีมาตลอดไม่ขาดสาย ดั่งสายน้ำที่ไหลมาจากยอดเขาที่ไม่เคยมีวันได้เหือดแห้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคนมามอบซองให้ ก็แสดงว่าเขามีความรักและนับถือเรา ต้องแสดงถึงความให้เกียรติกลับคืนไปโดยการใส่ซองนั้นกลับคืนไปและก็ต้องเดินทางไปเป็นเกียรติผู้มีแขก 

9.ครูเครดิตดีมากมาย

ครูเป็นอาชีพที่เครดิตดีมากเมื่อเทียบกับข้าราชการหลายหน่วยงาน เพราะเราแม้ไม่มีเงินเราก็ ไม่หนี ไม่ใช้ และไม่จ่าย เฮ้ย! ไม่ใช่…เราเป็นอาชีพที่ต้องทำงานอยู่กับที่ตลอดเวลา ไม่ค่อยได้ย้ายกันบ่อยๆเหมือนกับอาชีพอื่นๆหรอก และฐานเงินเดือนเราก็ค่อนข้างจะเยอะ (หากเทียบกับหน่วยงานอื่นก็ถือว่าเยอะพอสมควรแต่เงินทอนจะเหลือเท่าไหร่ไม่ว่ากันนะ) ซึ่งเงินเดือนของเรานี่แหละ เป็นอะไรที่ล่อเป้าดึงดูดบรรดาองค์กรปล่อยเงินกู้ ธุรกิจประกันภัย ห้างร้านขายสินค้าต่างๆให้เข้ามาหาเราอยู่เสมอ

หน่วยงานสินเชื่อ บัตรเครดิต หน่วยงานประกัน และหน่วยงานของธนาคารต่างๆจะเข้ามาแวะเวียนเยี่ยมเยือนโรงเรียนของเราอยู่เป็นประจำ

ลงนาม13 หน่วยงาน ร่วมแก้ปัญหาหนี้สินครู

เมื่อต้นปี 6 มกราคม 2566 ศธ.ได้ลงนามร่วมกับ 12 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง (กค.), กระทรวงยุติธรรม (ยธ.), กรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.), ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ก.บ.ข.), บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด, สมาคมธนาคารไทย, สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ, ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารกรุงไทย

ด้วยความหวังในการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งต่อยอดมาจาก “โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” และ “มหกรรมการเงินเพื่อครูไทย” ที่มีการช่วยเหลือและปรับโครงสร้างหนี้ให้ครูที่เข้าร่วมโครงการไปแล้วมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท รวมไปถึงการเจรจาลดดอกเบี้ยกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ ซึ่งการดำเนินงานในปีแรกถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ มีครูจำนวนกว่า 1.5 หมื่นรายที่ได้รับการช่วยเหลือและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้วิกฤตที่ได้รับมาตรการทางการเงินและการปรับโครงสร้างหนี้เข้าไปช่วยเหลือได้จริง

นับเป็นครั้งแรกที่บูรณาการความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เป็นการต่อยอดเพื่อสร้างพันธมิตรสำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างยั่งยืน

โดยจะดึงจุดแข็งของแต่ละหน่วยงานเข้าช่วยเหลือจัดการแก้ไขหนี้และการอบรมความรู้ปลูกฝังวินัยการเงิน พร้อมให้สิทธิพิเศษต่างๆ สำหรับการชำระหนี้ การกู้ยืม การออม และการลงทุน ซึ่งการได้รับโอกาสความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นการบูรณาการแก้ไขร่วมกันที่ยิ่งใหญ่ เพื่อช่วยเหลือให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงอยากเชิญชวนครูที่มีหนี้เข้าร่วมโครงการเพื่อช่วยหาทางออก และแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับแต่ละราย โดย ศธ.และหน่วยงานพันธมิตรพร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่”

สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ก.ย.2565 ) พบว่า ภาพรวมได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูไปแล้ว ดังนี้

 1. ลดดอกเบี้ยเงินกู้ มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ลงเฉลี่ยร้อยละ 0.3 ลูกหนี้ได้รับประโยชน์กว่า 4 แสนราย รวมภาระหนี้สินที่ลดลงกว่า 2.2 พันล้านบาท

2.ปรับโครงสร้างหนี้ โดยการรวมหนี้มาไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ หรือสถาบันการเงิน ที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่า เพื่อให้ครูมียอดชําระต่อเดือนน้อยลง และเหลือ เงินเดือนหลังหักชําระไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30

3.กําหนดให้สามารถหักเงินสวัสดิการ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค)ในกลุ่มแรก (ร้อยละ 70 ของเงินเดือน) เพื่อให้สามารถใช้เงิน ช.พ.ค เป็นหลักประกันเงินกู้ได้ ซึ่งปัจจุบันมีครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 3.6 แสนราย ที่ใช้ ช.พ.ค เป็นหลักประกันเงินกู้ส่งผลให้ผลให้ครูไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อทำประกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงกว่า 2.3 พันล้านบาท

สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูผ่านสถานีแก้หนี้ 588 แห่งทั่วประเทศ ขณะนี้ มีครูลงทะเบียนแก้หนี้แล้ว 4 หมื่นกว่าคน มูลค่าหนี้รวมกว่า 5.8 หมื่นล้านบาท สามารถแก้ปัญหาหนี้ไปแล้ว 11,090 คน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ลงทะเบียน

ส่วนที่เหลือ กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับธนาคารออมสินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จะจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ “ปิดเทอม เรื่องหนี้ มีทางออก” เป็นเวทีกลางเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นำร่องที่จังหวัดกำแพงเพชร เริ่ม 4 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ก่อนขยายผลจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครูในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป

อ้างอิง : trainkru