บาดแผลการศึกษาโลกและไทยหลังโควิด-19 | สหวรัชญ์ พลหาญ

บาดแผลการศึกษาโลกและไทยหลังโควิด-19 | สหวรัชญ์ พลหาญ

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โลกของเราได้เกิด disruption อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบเชิงลบอย่างใหญ่หลวงต่อการเรียนรู้และการศึกษาของเด็กหลายล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กในประเทศที่มีรายได้ต่ำ จนอาจเรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติ

โลกถูกดิสรัปทั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) วิกฤตการณ์ด้านอาหารและเชื้อเพลิงจากสงครามรัสเซียและยูเครน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วิกฤติทางการเรียนรู้และการศึกษาระดับโลกที่เกิดขึ้นนี้ หากไม่ได้รับการแก้ไข จะเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงต่ออนาคตของเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายหลายล้านคนทั่วโลก และทำให้อนาคตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่างๆ ทั่วโลกมืดมนลง

ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ชี้ว่า เด็กจำนวนกว่า 250 ล้านคนทั่วโลกไม่มีโอกาสเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียน

และราวครึ่งหนึ่งของเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษา ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาโดยขาดทักษะการอ่านจับใจความพื้นฐาน

และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบในประเทศที่มีรายได้ต่ำมากกว่าประเทศอื่น ๆ ได้ส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ที่มีโอกาสกับผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาดังกล่าวถ่างขยายเพิ่มขึ้นไปอีก

โดยทำให้เด็กราว 24 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบการศึกษาไปตลอด

ธนาคารโลกยังชี้ว่า สัดส่วนของเด็กที่ไม่สามารถอ่านและเข้าใจเรื่องง่าย ๆ เมื่อมีอายุ 10 ปี ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 70

ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่นานาประเทศจะต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้เด็กทั่วโลกได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพครบ 12 ปี

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมาองค์การสหประชาชาติได้จัดการประชุมระดับสูงด้านการเปลี่ยนแปลงการศึกษา (Transforming Education Summit: TES) ขึ้นที่เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

มีผู้แทนมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมหารือแนวทางการรับมือวิกฤตการณ์การเรียนรู้ของโลก และได้ข้อสรุปว่า ผู้นำประเทศต่าง ๆ ตระหนักว่า การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ด้วยการเพิ่มงบประมาณการลงทุนเพื่อการศึกษาในระดับประเทศ

กลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำตระหนักถึงความจำเป็นในการเพิ่มงบประมาณการลงทุนเพื่อการศึกษาเป็นอย่างดี

ในปี พ.ศ. 2565 ผู้นำประเทศในกลุ่ม Partner Countries of the Global Partnership for Education (GPE) ทั้งสิ้นจำนวน 20 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเรื่องการลงทุนเพื่อการศึกษา

โดยให้คำมั่นที่จะจัดสรรงบประมาณอย่างน้อยร้อยละ 20 ของงบประมาณภาครัฐทั้งหมดให้กับการศึกษา

ผู้นำประเทศในกลุ่ม GPE ยังให้คำมั่นที่จะลงทุนเพื่อการศึกษาราว 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ในช่วงระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2568)

เพื่อส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายในกลุ่ม GPE ได้รับโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ากำลังเกิดแรงกระเพื่อมในเรื่องดังกล่าว

ในการนี้ ภารกิจที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุดในระดับโลกคือ การเพิ่มงบประมาณทางการศึกษาในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศชายขอบที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 และการดำเนินนโยบายคุมเข้มทางการเงิน (monetary tightening) ของประเทศเศรษฐกิจหลัก

กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ได้ชี้ว่า 1 ใน 8 ประเทศทั่วโลกได้ใช้เงินงบประมาณไปกับการชำระหนี้สูงกว่าเงินงบประมาณที่ใช้ลงทุนเพื่อการศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการทางสังคมต่าง ๆ

จึงทำให้ประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรที่จำกัดอย่างมากในการพัฒนาการเข้าถึงการศึกษาของเด็ก และเพิ่มอัตราการสำเร็จการศึกษาของนักเรียน

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) ชี้ว่า ในช่วงที่ผ่านมา งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยงบประมาณรายจ่ายกระทรวงศึกษาธิการปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ราว 311,519 ล้านบาท ซึ่งถูกปรับลดลงราว 4,079 ล้านบาทจากปีงบประมาณก่อนหน้า

ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ราว 315,598 ล้านบาท ถูกปรับลดลงราว 21,223 ล้านบาทจากปีงบประมาณก่อนหน้า

การปรับลดงบประมาณด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่องนี้ จึงอาจกลายเป็นข้อจำกัดในการส่งเสริมให้เด็กไทยทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันในช่วงวิกฤตการณ์ทางการศึกษานี้

เด็กทุกคนล้วนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติ การลงทุนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กเหล่านี้คือการลงทุนในโอกาสที่จะเปลี่ยนโลกของเราให้ดีขึ้นได้

นอกจากนี้ การส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันที่จะบรรลุปณิธานของตนเอง ถือเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้สังคมของเด็กเหล่านั้น

หากเราเพิกเฉยและไม่ร่วมแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการศึกษาในครั้งนี้ ก็คงไม่สามารถคาดหวังให้คนรุ่นใหม่มาแก้ไขปัญหาที่เราไม่สามารถแก้ไขกันได้ในปัจจุบัน.    

สหวรัชญ์ พลหาญ

ดร.สหวรัชญ์ พลหาญ

คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์