ปฏิรูปการเรียนรู้ให้ประชาชนฉลาดขึ้นได้อย่างไร | วิทยากร เชียงกูล

ปฏิรูปการเรียนรู้ให้ประชาชนฉลาดขึ้นได้อย่างไร | วิทยากร เชียงกูล

การปฏิรูปการศึกษาต้องทำมากกว่าการปฏิรูประบบโรงเรียน สถาบันการศึกษา คือต้องปฏิรูปสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่จูงใจและให้โอกาสทั้งเด็ก เยาวชน ประชาชนทุกวัยมีความอยากรู้อยากเห็น อยากอ่าน,ฟัง,ดูเรื่องที่จะทำให้พวกเขาฉลาดขึ้น พอใจมากขึ้นควบคู่กันไป

แนวทางการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ของประชาชน ที่ผู้เขียนขอเสนอเพิ่มเติม จากที่เคยเสนอในบทความก่อนๆมาแล้วคือ

1. ประชาชนที่มีความรู้/ตื่นตัว ร่วมมือกันรณรงค์ผลักดันการปฏิรูปสื่อ โดยเฉพาะวิทยุโทรทัศน์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ทั้งด้านบวกและลบต่อเด็กและเยาวชนรวมทั้งผู้ใหญ่อย่างมาก สื่อเหล่านี้ใช้ศิลปะในการดึงดูดความสนใจและเร้าอารมณ์ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้มากกว่าการสอนแบบปกติของครูอาจารย์และพ่อแม่ด้วย

ประชาชนต้องพิจารณาสาระที่สื่อเสนออย่างวิพากษ์วิจารณ์  ผลักดันการปฏิรูปสื่อเพื่อลดอิทธิพลในทางลบ เช่น การสร้างค่านิยมแบบแข่งขันเห็นแก่ตัว เน้นการหาเงิน การบริโภค เน้นการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ฯลฯ  และส่งเสริมสื่อที่รับผิดชอบ ทำรายการมีคุณภาพสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสติปัญญา,

ค่านิยมและจิตสำนึกประชาชนในทางบวกและทางก้าวหน้า (ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรม เพื่อคุณภาพชีวิต และความยั่งยืนของสังคม) เพิ่มขึ้น  ผู้ปกครองควรเอาใจใส่ดูแลให้เด็กใช้เวลากับสื่ออิเล็กโทรนิคส์น้อยลง ไปเล่นกีฬาและกิจกรรมที่ทำร่วมกับเพื่อนจริงๆมากขึ้น  รวมทั้งคอยดูแลให้เขาเลือกแพลตฟอร์มที่สร้างสรรค์ ปฏิเสธแพลต์ฟอร์มเลวประเภท การพนัน การหมกหมุ่นเรื่องเพศ เกมที่ใช้ความรุนแรงฯลฯ

 ส่งเสริมดูแลการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ให้ประโยชน์อย่างเหมาะสม เช่นสร้างเว็บไซท์ เกมส์ที่ส่งเสริมความรู้ ความฉลาด ส่งเสริมกิจกรรมกีฬา ดนตรี กิจกรรมทางสังคม ศิลปวัฒนธรรม  ความบันเทิงที่พัฒนารสนิยม ส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ สร้างค่านิยมที่ดี

ปฏิรูปการเรียนรู้ให้ประชาชนฉลาดขึ้นได้อย่างไร | วิทยากร เชียงกูล

การจะทำให้สื่อเป็นประโยชน์มากกว่าโทษทางหนึ่ง คือ การปลูกฝังชี้แนะให้เด็กเยาวชนรักการอ่าน การใฝ่การเรียนรู้ รู้จักคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล อย่างวิพากษ์วิจารณ์ มีความคิดรับผิดชอบอย่างเป็นตัวของตัวเองเพิ่มขึ้น

เพื่อจะสร้างภูมิต้านทานในตัวเองได้ ไม่ไปหลงใหลกับสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และอิเล็กทรอนิกส์ที่มุ่งความสนุกสนาน ความตื่นเต้น ความรุนแรง เพื่อการตลาดขายสินค้าบริหารเพื่อหาหากำไรเอกชนอย่างไม่รับผิดชอบต่อสังคม

2. ประชาชนช่วยกันพัฒนาให้การศึกษา การเผยแพร่ความรู้ความคิดอ่าน ทำให้คนส่วนใหญ่มีความรู้และทักษะที่ใช้งานได้  เป็นพลเมืองผู้รับผิดชอบต่อสังคม ตระหนักเรื่องสิทธิและหน้าที่พลเมือง มีความรู้ความเข้าใจว่าพลเมืองนั้นเป็นเจ้าของสมบัติของส่วนรวมของประเทศร่วมกันและเป็นผู้จ่ายภาษีให้รัฐบาล 

ปฏิรูปการเรียนรู้ให้ประชาชนฉลาดขึ้นได้อย่างไร | วิทยากร เชียงกูล

ดังนั้น พลเมืองจึงมีสิทธิที่จะได้รับบริการทางการศึกษา การสาธารณสุขและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมด้านต่าง ๆ จากรัฐบาลอย่างมีคุณภาพและเป็นธรรม นอกจากเรื่องสิทธิในการเลือกตั้งผู้แทน และผู้บริหารท้องถิ่นระดับต่างแล้ว พลเมืองมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ คัดค้าน การตรวจสอบ จนถึงขั้นร่วมกันรณรงค์หาทางถอดถอนเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามสิทธิของพลเมืองในรัฐธรรมนูญได้

3. ประชาชนร่วมกันสร้างสถาบันครอบครัว และสถาบันการศึกษา ให้เป็นประชาธิปไตยและเน้นประโยชน์ของส่วนรวม พ่อแม่ควรเลี้ยงดูลูกอย่างเป็นประชาธิปไตย คือด้วยเหตุด้วยผล เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในครอบครัว ส่งเสริมให้เด็กคิดตัดสินใจเป็น มีความภูมิใจในตัวเอง และมีจิตสำนึกเป็นพลเมืองที่รักชาติ เห็นแก่ส่วนรวม

ครูต้องเคารพสิทธินักเรียน นักศึกษา ส่งเสริมให้พวกเขาคิดตัดสินใจ จัดให้มีการเลือกหัวหน้าชั้น มีสภานักเรียน สภานักศึกษา สภาคณาจารย์ สมาคมผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาและสภามหาวิทยาลัยที่มีการเลือกสรรอย่างเป็นประชาธิปไตย มีตัวแทนนักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์และบุคคลากร ผู้ปกครองและผู้นำในชุมชนรวมอยู่ในคณะกรรมการด้วย

 

คณะกรรมการสถานศึกษาและสภามหาวิทยาลัย ควรจะมีบทบาทในการควบคุมดูแลพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เป็นแค่คณะกรรมการที่นาน ๆ ประชุมครั้ง ทำหน้าที่รับรองหรืออนุมัติบางเรื่องเป็นตามที่ผู้อำนวยการโรงเรียนหรืออธิการบดีมหาวิทยาลัยเสมอมาเท่านั้น

การปฏิรูปโครงสร้างการบริหารด้านการศึกษาให้เป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น จะทำให้มีการตรวจสอบคานอำนาจ และการทำเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น วิธีการคือควรลดอำนาจการบริหารแบบรวมศูนย์แนวตั้งของรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงศึกษาลงมา และกระจายอำนาจไปให้องค์กรบริหารท้องถิ่นที่ควรปฏิรูปให้มีคุณภาพและเป็นอิสระขึ้นด้วย

ปฏิรูปการเรียนรู้ให้ประชาชนฉลาดขึ้นได้อย่างไร | วิทยากร เชียงกูล

เขตการศึกษาและสถานศึกษาต่าง ๆ ทำงานร่วมกันแบบเครือข่ายแนวนอน โดยมีคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติที่คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนของภาควิชาการและภาคประชาชน เป็นผู้อำนวยการและประสานงาน บริหารงานสถาบันการศึกษาต่างๆอย่างเป็นอิสสระมากขึ้น 

โดยกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนแปลงบทบาทจากการเป็นผู้จัดการศึกษาเองแบบสั่งการจากบนลงล่าง ไปเป็นผู้อำนวยความสะดวก ผู้ส่งเสริมมาตรฐานและการประกันคุณภาพ

การจัดการศึกษาในสถานศึกษาควรดำเนินการได้ค่อนข้างเป็นอิสระ โดยหลายฝ่ายหลายรูปแบบ ทั้งโดยท้องถิ่น เขตการศึกษา มูลนิธิเอกชน คณะกรรมการและผู้บริหารสถานศึกษาที่เป็นอิสระแบบนิติบุคคล

 

สถานศึกษาแต่ละแห่งสามารถปรับแก้หลักสูตร วิธีการเรียนการสอน การวัดผลของตนเอง (มีเป้าหมายและหลักสูตรกลางของชาติเป็นแกนกลาง) ในระดับประเทศ ภูมิภาค จังหวัด ก็จัดระบบการประกันคุณภาพให้มีการถ่วงดุล และตรวจสอบซึ่งกันและกัน (โดยครู ผู้ปกครอง ผู้เรียน สมาคม วิชาชีพสมาคมผู้บริโภค ฯลฯ) และพัฒนาองค์กรอิสระที่ควรอยู่นอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

เช่น สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) คุรุสภา ที่ประชุมอธิการบดี ,สภาอาจารย์ สมาคมอาจารย์อุดมศึกษา สมาคมครูต่าง ๆ ฯลฯ มาช่วยถ่วงดุลตรวจสอบ อย่างเป็นประชาธิปไตยที่ทุกภาคี(ฝ่าย)ต่างมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน

สรุปคือประชาชนต้องแสวงหาความรู้และทักษะในการถ่ายทอดความรู้ ช่วยให้การศึกษาความรู้ที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อทั้งคนในครอบครัว ที่ทำงาน ชุมชน สังคม ควบคู่กันไป กับการผลักดันการปฏิรูปการจัดการศึกษาของสถานศึกษาต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศให้มีคุณภาพ/ประสิทธิภาพ สามารถให้บริการเด็กเยาวชนและประชาชนได้อย่างทั่วถึง กว้างขวาง เป็นธรรมเพิ่มขึ้น.