เสื้อผ้า ทรงผม : สร้างวินัยอย่างไม่กดทับสิทธินักเรียน | วาระทีดีอาร์ไอ

เสื้อผ้า ทรงผม : สร้างวินัยอย่างไม่กดทับสิทธินักเรียน | วาระทีดีอาร์ไอ

กฎระเบียบทรงผมและเครื่องแบบนักเรียนอยู่คู่กับนักเรียนไทยมานาน กระทั่งเมื่อ 3 ปีก่อน นักเรียนไทยได้เริ่มเรียกร้องให้ยุติการบังคับเรื่องทรงผมและเครื่องแบบ เพื่อให้มีสิทธิเลือกทรงผมและเครื่องแบบของตนเอง

การเรียกร้องที่เกิดขึ้นได้สร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้เราได้เห็นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกกฎระเบียบยืดหยุ่นให้นักเรียนสามารถไว้ทรงผมได้ยาวขึ้น แต่เครื่องแบบยังคงไว้ตามกฎระเบียบเดิม

กระทั่งล่าสุด 2 กุมภาพันธ์ 2566 กระทรวงได้ยกเลิกกฎระเบียบทรงผมดังกล่าว โดยให้แต่ละสถานศึกษาตัดสินใจออกระเบียบเรื่องทรงผมนักเรียนได้เองตามความเหมาะสม เราจึงเห็นโรงเรียนบางแห่งที่ค่อนข้างให้อิสระนักเรียนเรื่องทรงผม ซึ่งมีเสียงชื่นชมและเป็นตัวอย่างของการออกระเบียบที่เคารพสิทธิเด็ก 

เสื้อผ้า ทรงผม : สร้างวินัยอย่างไม่กดทับสิทธินักเรียน | วาระทีดีอาร์ไอ

แต่ก็ยังมีประเด็นที่น่ากังวล 2 ประการ คือ

1.การสื่อสารของกระทรวงศึกษาธิการ ยังขาดความชัดเจน แม้ว่า รมว.ศึกษาธิการ ได้สื่อสารเจตนารมณ์ของแนวทางใหม่ให้สถานศึกษากำหนดระเบียบทรงผมได้ โดยมีการหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ก็ยังไม่มีการออกแนวทางเป็นลายลักษณ์อักษร

ส่งผลสถานศึกษาไม่มั่นใจในการปฏิบัติ เกิดความสับสน ขาดความเข้าใจ รวมถึงอาจเพิ่มภาระงานแก่สถานศึกษาที่ดำเนินการไปก่อน หากมีประกาศภายหลังแล้วขัดกับสิ่งที่สถานศึกษาปฏิบัติ 

2.การมอบอำนาจให้สถานศึกษาอย่างเบ็ดเสร็จ อาจเกิดกรณีการกำหนดระเบียบทรงผมโดยไม่นำความต้องการของนักเรียนเป็นที่ตั้ง จนนำไปสู่ระเบียบที่เข้มงวด โดยเฉพาะกระบวนการปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้องที่ยังให้อำนาจแก่ผู้ที่ “ไม่มีสิทธิ” บนเนื้อตัวผู้อื่น

เช่น สถานศึกษา ชุมชนท้องถิ่น คณะกรรมการสถานศึกษา (ไม่มีนักเรียนเป็นกรรมการ) มากำหนดระเบียบทรงผม 

รวมถึงการระบุเรื่อง “ความเหมาะสม” ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจหรือดุลยพินิจส่วนบุคคล สะท้อนออกมาจากคุณค่า ความเชื่อที่ยึดถือ ซึ่งหลายครั้งอาจไม่สมเหตุสมผลนัก จึงอาจเกิดกรณีที่ไม่นำความต้องการของเจ้าของสิทธิ (นักเรียน) มาเป็นที่ตั้ง

การเคารพสิทธิเด็ก” เป็นไปตามหลักปรัชญาเสรีนิยม ที่มนุษย์ทุกคนล้วนมีสิทธิเสรีภาพ และสามารถกระทำอะไรก็ได้ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น หลักการนี้เป็นรากฐานของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็กหลายฉบับที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้

อีกทั้งรัฐธรรมนูญยังได้รับรองหลักการดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น นักเรียนจึงควรมีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกทรงผมและเครื่องแบบ บนเรือนร่างกายของตนเองได้ ตราบเท่าที่ไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของคนอื่น

เสื้อผ้า ทรงผม : สร้างวินัยอย่างไม่กดทับสิทธินักเรียน | วาระทีดีอาร์ไอ

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญได้ให้รัฐสามารถออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ แต่ต้องไม่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินเหตุ

ที่ผ่านมา กระทรวงฯ จึงได้เคยออกกฎระเบียบที่บังคับทรงผม รวมทั้งคงเรื่องเครื่องแบบนักเรียนไว้ พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษ โดยอ้างความจำเป็นในการสร้างวินัยให้กับนักเรียน

แม้วินัยจะเป็นคุณลักษณะที่ยังจำเป็นต่อการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข แต่กฎระเบียบดังกล่าวกลับมีปัญหาอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่

  1. เอื้อให้เกิดการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  2. ไม่ส่งเสริมการสร้างวินัยอย่างแท้จริง

สำหรับประการแรก ศธ. มักกำหนดกฎระเบียบโดยขาดความตระหนักถึงความต้องการที่หลากหลายของนักเรียน เช่น กฎระเบียบเครื่องแบบ ที่กำหนดชุดเครื่องแบบสำหรับนักเรียนชายและหญิงเท่านั้น หากนักเรียนต้องการสวมเครื่องแบบที่ตรงตามสรีระ เพศวิถีหรือความเชื่อ ก็ต้องขอร้องผ่อนผันกับโรงเรียน 

หรือโรงเรียนต้องการออกแบบเครื่องแบบที่สอดคล้องกับความหลากหลายขึ้น ก็ต้องขอร้องผ่อนผันกับผู้มีอำนาจ ซึ่งเอื้อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในภาวะที่บุคลากรขาดการตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชน

ขณะที่ประเด็นต่อมาคือ ปัญหาการไม่ส่งเสริมการสร้างวินัยอย่างแท้จริง เพราะกฎระเบียบยังเน้นการบังคับให้ทำตามและลงโทษเมื่อไม่ทำตาม แต่หลักการศึกษาสมัยใหม่ เชื่อว่าวินัยจะสร้างได้ต่อเมื่อนักเรียนตระหนักถึงคุณค่าผ่านการลองผิดลองถูกและมีครูคอยนำทาง

การบังคับและลงโทษจึงไม่ทำให้นักเรียนเกิดวินัย เพราะนอกจากจะทำให้นักเรียนไม่เห็นคุณค่าจากการขาดการลงผิดลองถูกแล้ว ยังอาจทำให้เกิดการต่อต้านจากการลงโทษได้

ดังนั้น เพื่อให้การยกเลิกกฎระเบียบทรงผมในครั้งนี้ เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ ศธ.ไม่ต้องการให้นักเรียนถูกกระทบทางร่างกายและจิตใจที่ต้องถูกบังคับหรือลงโทษ

เสื้อผ้า ทรงผม : สร้างวินัยอย่างไม่กดทับสิทธินักเรียน | วาระทีดีอาร์ไอ

กระทรวงฯ สามารถเสริมแรงให้มีสถานศึกษาอีกจำนวนมากสร้างเด็กที่มีวินัยบนหลักการเคารพสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้ใน 3 เรื่อง คือ

(1) กระทรวงศึกษาฯ ควรปรับระเบียบเครื่องแบบเดิม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่สถานศึกษาในการกำหนดเครื่องแบบนักเรียน โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งหรือผู้กำกับดูแลสถานศึกษานั้น

(2) เปิดพื้นที่ให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจของสถานศึกษา ทั้งระเบียบทรงผมที่ถูกยกเลิกแล้ว และ ระเบียบเครื่องแบบที่กำหนดเอาไว้เดิมนั้น เปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถใช้อิสระได้พอสมควร 

ศธ.ควรสนับสนุนโดยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางที่พึงประสงค์ ระบุสิ่งที่โรงเรียนห้ามบังคับ ป้องกันการกำหนดระเบียบโดยยึดตามความเหมาะสมหรือดุลยพินิจของผู้ใดผู้หนึ่ง

ส่วนสถานศึกษาก็ควรใช้อิสระดังกล่าวโดยเริ่มจากการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนต่อระเบียบต่างๆ อาจใช้วิธีแต่งตั้งคณะกรรมการสภานักเรียน หรือภาคี 4 ฝ่ายที่มีผู้แทนนักเรียนอยู่ด้วย เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสถานศึกษา และเผยแพร่ผลรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไว้ในระบบสารสนเทศของสถานศึกษา

(3) เอาผิดบุคลากรที่ละเมิดสิทธิอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิของนักเรียน มีการติดตามและเอาจริงเอาจังกับสถานศึกษาที่ลงโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุ พร้อมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิเด็กและแนวทางการปกป้องสิทธิของตนเอง ต่อทั้งตัวนักเรียน ผู้ปกครอง และครู 

เช่น ข้อมูลจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และรวมข้อกฎหมายป้องกันครูละเมิดสิทธินักเรียน จัดทำโดย Thaipublica เป็นต้น เพื่อให้นักเรียนรู้จักปกป้องสิทธิของตนเอง

มิเช่นนั้นการลงโทษอย่างรุนแรงอาจจะมีให้เห็นต่อไป โดยที่ครูหรือผู้กระทำผิดจะยังคงลอยนวลอยู่เช่นเดิม

การมีกฎระเบียบยังจำเป็นเพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ และเป็นบรรทัดฐานในการสร้างวินัยของนักเรียน แต่เมื่อมีความเสี่ยงที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การออกกฎระเบียบจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง ป้องกันการละเมิดสิทธิ ในขณะเดียวกันควรเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมกำหนด