3 จุดอ่อนสถานศึกษา เร่งส่งเสริมผู้เรียน ผู้สอน เรียน เล่นอย่างมีความสุข

3 จุดอ่อนสถานศึกษา เร่งส่งเสริมผู้เรียน ผู้สอน เรียน เล่นอย่างมีความสุข

สมศ. รายงานผลการประเมินฯ ปี’65 รวมกว่า 19,500 แห่ง พบจุดต้องเร่งส่งเสริม 3 ประเด็น สร้างโอกาสให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง สร้างนวัตกรรมของสถานศึกษา ส่งเสริมให้ผู้สอนพัฒนางานวิจัยและขยายผลไปสู่ชุมชน

การประเมินคุณภาพภายนอก ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 มีสถานศึกษาเข้ารับการประเมินฯ ในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 19,558 แห่ง ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้จากเดิม จำนวน 18,000 แห่ง แบ่งออกเป็น

  • ศูนย์พัฒนาเด็ก 7,009 แห่ง
  • การศึกษาขั้นพื้นฐาน 11,341 แห่ง
  • การศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ 317 แห่ง
  • การศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษโรงเรียนนานาชาติ 50 แห่ง
  • การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 415 แห่ง
  • การอาชีวศึกษา 384 แห่ง
  • ระดับอุดมศึกษา 42 แห่ง

โดยจำนวนของสถานศึกษาทั่วประเทศที่ได้รับการประเมินในปีงบประมาณ 2564 – 2565 รวมทั้งสิ้น 40,835 แห่ง จากจำนวนสถานศึกษาทั้งหมด 60,335 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 67.68 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของสถานศึกษาต่อ สมศ. ถึงการดำเนินงาน และการประเมินรูปแบบใหม่ที่ไม่สร้างภาระให้กับสถานศึกษา รวมถึงสถานศึกษาสามารถนำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากผู้ประเมินภายนอกนำไปปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพได้จริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เด็กรุ่นใหม่เรียนป.ตรีน้อยลง สถาบันการศึกษาดิ้นปรับตัว

เอเปคการศึกษา มุ่งเป้ายกระดับคุณภาพการศึกษาที่ยั่งยืน รองรับงานโลกผันผวน

กว่า 50 ผู้ประกอบการรุ่นใหม่มุ่งแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก

ควบรวมร.ร.ขนาดเล็ก ทางออกหรือซ้ำเติมคุณภาพการศึกษา?

 

ส่งเสริมเด็กปฐมวัยเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์  รักษาการประธานกรรมการ สมศ. กล่าวว่าหลังจากที่ได้ประเมินฯ พบว่า แต่ละประเภทสถานศึกษามีจุดเด่นแตกต่างกัน ด้านจุดเด่นได้ส่งเสริมให้สถานศึกษาดำเนินการต่อยอดเพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม (Innovation) และแบบอย่างที่ดี (Best Practice) ส่วน

ข้อเสนอแนะที่ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อการพัฒนา สมศ.ได้ให้ข้อเสนอแนะ โดยแบ่งตามประเภทของสถานศึกษา ดังนี้

การศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) จุดเด่น คือการมีส่วนร่วมของ ชุมชน ผู้ปกครอง  การจัดประสบการณ์ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ มีการจัดบรรยากาศการเรียนที่ดี ครูและผู้ดูแลเด็กมีความรู้ในการจัดประสบการณ์ เด็กมีการเจริญเติบโตสมวัยและมีสุขนิสัยที่ดี มีพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน สอดคล้องกับบริบทสถานศึกษาและท้องถิ่น

โดยข้อเสนอแนะที่ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อการพัฒนา คือการสร้างโอกาสให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง เรียนและเล่นอย่างมีความสุข พัฒนาสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ รวมถึงสื่อในรูปแบบ Online  เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และกำหนดเป้าหมายในการดำเนินงานให้ชัดเจนตามกระบวนการคุณภาพ PDCA 

 

สร้างนวัตกรรม พัฒนาครูผู้สอนพัฒนาวิจัยสู่ชุมชน

ขณะที่ การศึกษาขั้นพื้นฐาน จุดเด่น คือผู้เรียนได้รับการส่งเสริมและพัฒนาที่เหมาะสมตามวัย มีความสุขกับการเรียนรู้ และมีการส่งเสริมทักษะด้านภาษาและการสื่อสารที่ดี มีการบริหารงานมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม เน้นการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning มากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาหลักสูตรและบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

โดยข้อเสนอแนะที่ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อการพัฒนา คือสถานศึกษาควรส่งเสริมให้มีการสร้างนวัตกรรม และสื่อ Online เพิ่มมากขึ้น และควรมีการประเมินพัฒนาการของผู้เรียนก่อนและหลังการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

ด้านการอาชีวศึกษา จุดเด่น คือผู้เรียนมีทักษะด้านวิชาการ วิชาชีพและการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ หลักสูตรสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และตลาดแรงงาน โดยข้อเสนอแนะที่ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อการพัฒนา คือการพัฒนาการสอนในระบบทวิภาคีให้มีความต่อเนื่อง ส่งเสริมให้ครูพัฒนางานวิจัยและขยายผลไปสู่ชุมชนให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น

“สำหรับสถานศึกษาที่เข้ารับการประเมินแล้ว พบว่าหลายสถานศึกษามีการนำข้อเสนอแนะไปปรับใช้ ส่งผลให้เกิดการพัฒนา ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์และตรงกับวัตถุประสงค์หลักของ สมศ. อีกทั้งอยากสร้างความเข้าใจให้กับสถานศึกษาว่า การประเมินฯ นั้นไม่ได้เป็นการสร้างภาระ แต่เป็นการ “ประเมินเพื่อพัฒนา” ให้สถานศึกษาทราบจุดเด่นเพื่อต่อยอด ทราบจุดบกพร่องเพื่อพัฒนา ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมศ.ได้ปรับแนวทางการประเมิน และพัฒนาผู้ประเมินอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกขั้นตอนของการประเมินตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ เพื่อให้การดำเนินงานรวดเร็ว และก้าวทันสถานการณ์โลก ที่สำคัญอยากให้ตระหนักว่าการประเมินฯ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ” ศ.ดร.สมคิด กล่าว

ใช้เทคโนโลยีตัวช่วยยกระดับการศึกษาไทย 

ด้าน ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สมศ. ยังคงมุ่งเน้นเดินหน้าในการสร้างคุณภาพการศึกษา ให้มีคุณภาพเทียบเท่าในระดับนานาชาติ โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสนับสนุนในการการประเมินอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับที่ประชุมเครือข่ายการประกันคุณภาพของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APQN) ที่ทุกประเทศสมาชิกมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอก ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและออนไลน์มาใช้ รวมถึงรูปแบบการตรวจเยี่ยมเสมือนจริง (Virtual Assessment)

โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สมศ. ตั้งเป้าหมายสถานศึกษาเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกจำนวน 13,212 แห่ง ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่เหลืออยู่ทั้งหมดและยังไม่ได้รับการประเมินในช่วงปี 2563 – 2565 ที่ผ่านมา โดยแบ่งการประเมินฯ ออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 เป็นการประเมินและวิเคราะห์รายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) ซึ่งเป็นการประเมินตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 49

ระยะที่ 2 เป็นการประเมินตามความสมัครใจของสถานศึกษาในรูปแบบการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหรือการตรวจสอบหลักฐานและข้อมูลของสถานศึกษาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยการประเมินทั้ง 2 ระยะ เป็นการประเมินที่สอดคล้องกับการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา และไม่สร้างภาระเพิ่มเติมให้กับสถานศึกษา

พร้อมกันนี้ สมศ.ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้สนับสนุนการประเมิน เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน และมีการพัฒนาระบบเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดย สมศ.ได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดจำนวน 27 หน่วยงาน

อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ / กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย / กรุงเทพมหานคร ฯลฯ ในการพัฒนาเชื่อมต่อและใช้งานระบบบริหารจัดการรายงานประเมินตนเองของสถานศึกษา (e-SAR) ร่วมกัน

โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน คือ สถานศึกษาจะจัดส่งรายงานประเมินตนเอง (SAR) ให้กับหน่วยงานต้นสังกัด จากนั้นหน่วยงานต้นสังกัดจะรวบรวมไฟล์ SAR ของสถานศึกษาจัดส่งเข้าสู่ระบบ e-SAR เพื่อจัดเก็บรายงานผลการดำเนินงาน ส่งผลให้หน่วยงานต้นสังกัดสามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ ลดการใช้ทรัพยากรกระดาษ และประหยัดเวลาตั้งแต่เริ่มการประเมินไปจนสิ้นสุดการประเมิน

ตลอดจนพัฒนาระบบการออกใบรับรอง (e-Certificate) ให้กับสถานศึกษาที่ได้รับการประเมินและรับรองรายงานผลการประเมินเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ การประเมินคุณภาพของสมศ.ในช่วงนี้ จะเป็นการประเมินเพื่อพัฒนาให้สถานศึกษาได้ทราบระดับคุณภาพสถานศึกษาของตนเองในปัจจุบัน โดยเทียบกับการประเมินในรอบที่ผ่านมา เพื่อที่จะสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับบริบทของแต่ละสถานศึกษา

สำหรับสถานศึกษาที่อยู่ในกระบวนการประเมินนั้น สมศ. ขอย้ำอีกครั้งว่าไม่ต้องกังวลว่าการประเมินคุณภาพภายนอกจะสร้างภาระเพิ่มเติมให้ เพราะการประเมินจะดำเนินการตามบริบทของสถานศึกษาที่สอดคล้องกับการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด

"ในส่วนของสถานศึกษาที่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกไปแล้วนั้น ขอให้นำข้อเสนอแนะที่ได้รับจาก สมศ. ในด้านต่าง ๆ ไปปรับใช้เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาและต่อยอดพัฒนาไปสู่ระดับสากล ต่อไป” ดร.นันทา กล่าวทิ้งท้าย