เด็กซนแบบไหน…เข้าข่ายสมาธิสั้น

เด็กซนแบบไหน…เข้าข่ายสมาธิสั้น

กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แนะผู้ปกครอง สังเกตลูกน้อย หากพบอาการขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำ ซุกซนมากกว่าเด็กปกติ พูดจาไม่หยุด และหุนหัน พลันแล่น อาจเข้าข่ายโรคสมาธิสั้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคสมาธิสั้น (Attention-deficit hyperactivity disorder;ADHD) พบได้ตั้งแต่เด็กอายุ 4-5 ปีขึ้นไป และพบได้มากถึงร้อยละ 5 ในเด็กวัยเรียนสำหรับสาเหตุของโรคสมาธิสั้นเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกันโดยมีปัจจัยหลัก คือ

1. ปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม
ปัจจัยทางด้านระบบประสาท ซึ่งเกิดจากสารในสมองส่วนหน้า คือ โดพามีน(Dopamine) และ นอร์เอพิเนฟริน(Norepinephrine) ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมพฤติกรรมและสมาธิมีการทำงานที่ลดลง การดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ของแม่ขณะตั้งครรภ์ ทารกที่คลอดก่อนกำหนด และมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ

161180800218

2. ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู ซึ่งทำให้เด็กมีอาการคล้ายโรคสมาธิสั้นมากขึ้น โดยการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ขาดระเบียบวินัย นอนดึก
นอนน้อย และมีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และโทรทัศน์เป็นเวลานาน จะทำให้เด็กขาดทักษะสังคมและการสื่อสาร รวมถึงอาจมีปัญหาพฤติกรรมรุนแรงที่เกิดจากการเลียนแบบสิ่งที่ดูจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์

นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิธีการสังเกตอาการของลูกให้ดูอาการหลัก 2ด้านคือ 1. ขาดสมาธิ มีสมาธิสั้น ขี้ลืม ทำงานไม่สำเร็จไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งตรงหน้า (ไม่รวมถึงการดูสื่ออิเล็คทรอนิกส์) 2. มีพฤติกรรมซุกซน นั่งไม่ติดที่ พูดมากหรือพูดโพล่ง และขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ซึ่งเด็กบางคนอาจมีอาการเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือมีทั้ง 2 กลุ่มอาการร่วมกันก็ได้

161180798619

การรักษาโรคสมาธิสั้น จะประกอบด้วยการปรับพฤติกรรมโดยเฉพาะในเด็กเล็ก คือ มีการสอนให้เด็กรู้จักการอดทนและรอคอย มีการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ลดการใช้สื่ออิเลคทรอนิกส์ ซึ่งต้องใช้เวลานานและต้องทำอย่างสม่ำเสมอโดยมีแพทย์คอยให้คำปรึกษาในแต่ละขั้นตอน ผู้ป่วยในบางรายอาจมีการรักษาด้วยยารับประทานควบคู่กับการปรับพฤติกรรม(ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์)ทั้งนี้ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกต และติดตามอาการลูกอย่างใกล้ชิด หากพบอาการดังกล่าว สามารถพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และกุมารแพทย์ทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเพื่อทำการรักษาต่อไป

161180798360