พลุเป็นพิษ อันตรายกว่า ‘ควันบุหรี่’

พลุเป็นพิษ อันตรายกว่า ‘ควันบุหรี่’

นักเคมีฯ ธรรมศาสตร์ ชำแหละ ‘พลุ’ เต็มไปด้วยสารอันตรายอื้อ ต้นเหตุ PM 2.5 ทำลายชั้นบรรยากาศ ชี้สร้างผลกระทบมากกว่าควันบุหรี่ แนะประชาชนจุดในที่โล่ง หากมึนหัวให้ออกจากพื้นที่ทันที

รศ.ดร.จิรดา สิงขรรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาเคมีประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) เปิดเผยว่า พลุที่เป็นที่นิยมในงานเฉลิมฉลองต่างๆ โดยเฉพาะพลุที่มีเสียงดัง มีความอันตรายมากกว่าควันบุหรี่เนื่องจากมีทั้ง PM 2.5 PAHs Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs) ซึ่งมีปริมาณแก๊ส Carbon Dioxide และCarbon monoxide ค่อนข้างสูง ฉะนั้นจำเป็นต้องจุดในบริเวณที่อากาศเปิดเพื่อให้มีการถ่ายเทได้สะดวก เพราะหากบริเวณที่จุดมีออกซิเจนไม่เพียงพอจะทำให้รู้สึกมึนหัว ซึ่งก็ควรออกจากพื้นที่ดังกล่าวโดยทันที

รศ.ดร.จิรดา กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับการจุดพลุในช่วงฉลองวันชาติของสหรัฐอเมริกา โดยเทียบเคียงในช่วงก่อนและหลังการจุด 24 ชั่วโมง พบว่าปริมาณฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะถึง 42% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังไม่นับรวมถึงขณะจุดที่มีปัจจัยอื่นในการกระจายตัวของฝุ่นละอองด้วย อย่างไรก็ตามในประเทศไทยโชคดีที่ไม่ได้จุดพลุในปริมาณมหาศาล แต่ก็ยังมีการจุดตามเทศกาลบ้าง ข้อแนะนำคือควรจุดในบริเวณที่กว้าง โล่ง และไม่เข้าไปชิดบริเวณที่มีการจุดมากเกินไป การอยู่ในระยะที่ห่างถือว่าเป็นการป้องกันระดับหนึ่งแต่ไม่สามารถป้องกันมลพิษในท้องฟ้าได้

รศ.ดร.จิรดา กล่าวอีกว่า ในพลุมีสารที่เรียกว่า Oxidizing agent หรือ Oxidizer ได้แก่ Nitrate ที่อยู่ในรูปของPotassium Nitrate ซึ่งเป็นสารก่อระเบิด ส่วนเชื้อเพลิงถ้าไม่ได้ใช้แก๊สก็จะใช้จำพวก Carbon , Sulphur หรือดินปืนแทนดังนั้นเมื่อเกิดการเผาไหม้จะพบสารมลพิษ Carbon Dioxide มีลักษณะเป็นละอองฝุ่นเมื่อเกิดการเผาไหม้ก็จะเกิดเป็นมลพิษ 

นอกจากนี้ ในพลุยังมีแรงดันที่เรียกว่า Ballistic Effect คือเมื่อจุดแล้วแก๊สจะเกิดการขยายตัวเป็นแรงระเบิด Power of Explosion ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่ใช้พัฒนาระเบิด ถ้าต้องการให้สูงมากเท่าไหร่ ก็จำเป็นต้องใช้พลังส่งตัวมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งบางประเทศก็จะมีข้อจำกัดของเสียงไม่ควรเกิน 125 เดซิเบล ในช่วง 4 เมตร เพื่อไม่ให้มนุษย์ได้รับเสียงที่ดังเกินไป 

พลุมีเศษกระดาษที่บางส่วนอาจยังไม่ถูกเผาไหม้ ทำให้ละอองพวกนี้ยังอยู่และกลายเป็นมลพิษทางอากาศ เช่นเดียวกับประเทศจีนที่เจอ Sulfur Dioxide และ Nitrogen Dioxide ซึ่งเมื่อสารพวกนี้ถูกแดดก็จะกลายเป็นสารอนุมูลอิสระที่ทำลายชั้นโอโซน และท้ายที่สุดก็จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์รศ.ดร.จิรดา กล่าว

อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. กล่าวอีกว่า นอกจากพลุแล้ว ช่วงเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองมักมีการนำสเปรย์หิมะมาใช้ ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือ snow effect และสาร Calcium Carbonate หรือหินปูน ที่ทำให้เกิดการคงตัว โดยสเปรย์ต่างๆ มักมีการใช้สาร มี Acetone ,Butanol ,Methyl Acetate acetic ซึ่งจัดเป็นกลุ่มอันตรายที่ขณะนี้หลายประเทศห้ามไม่ให้ใช้แล้ว ที่สำคัญก็คือภายในกระป๋องจะมีแรงดันสูง หากเกิดแรงกระแทกหรืออุณหภูมิสูงอาจก่อให้เกิดการระเบิดได้