คนไทยบริโภคโซเดียมสูงกว่า WHO กำหนด 2 เท่า

คนไทยบริโภคโซเดียมสูงกว่า WHO กำหนด 2 เท่า

คนไทยบริโภคโซเดียมเกือบ 4,000 มก.ต่อวัน สูงกว่า WHO กำหนดไม่ควรเกิน 1 ช้อนชา หรือ 2,000 มก.ต่อวัน ถึง 2 เท่า ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

แผนยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทยปี 2559-2568 จึงกำหนดเป้าหมายให้ประชาชนลดเกลือและโซเดียมลง 30% ภายในปี 2568 พร้อมกับผลักดันนโยบายภาษีความเค็ม โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลเสียสุขภาพประชาชน

ข้อมูล องค์การอนามัยโลก WHO ระบุว่าผลการสำรวจที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ เด็กไทยบริโภคเกลือมากเกินความจำเป็น เฉลี่ยมากถึง 3,194 มก.ต่อวัน ซึ่งเป็นระดับการบริโภคที่สูงเกินกว่าเกณฑ์แนะนำสำหรับกลุ่มเด็ก การบริโภคโซเดียมมากเกินไป เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง นำไปสู่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบตัน และไตวาย รวมทั้งโรคเรื้อรังชนิดอื่นๆ นำมาซึ่งภาวะทุพพลภาพและการสูญเสียทางเศรษฐกิจ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรตามมา

160450529864

ทั้งนี้ จากการสำรวจปริมาณการบริโภคโซเดียมในประชากรทั่วประเทศ โดย ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยการตรวจวัดโซเดียมในปัสสาวะ 24 ชม. จากกลุ่มตัวอย่าง 2,388 คน อายุเฉลี่ย 43 ปี ใน 14 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นเพศหญิงร้อยละ 53 พบว่า คนไทย บริโภคโซเดียมเฉลี่ย 3,632 มก.ต่อวัน หรือ 1.8 ช้อนชา โดยบริโภคเฉลี่ยเยอะที่สุดในภาคใต้ 4,108 มก.ต่อวัน รองลงมา คือ ภาคกลาง 3,760 มก.ต่อวัน ภาคเหนือ 3,563 มก.ต่อวัน กรุงเทพมหานคร 3,496 มก.ต่อวัน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,316 มก.ต่อวัน

กลุ่มบริโภคเกลือมาก คือ คนอายุน้อย (เริ่มสำรวจตั้งแต่อายุ 18 ปี) บริโภคเกลือมาก ส่วนคนอายุมาก ทานน้อยลง และ กลุ่มที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง กลับกินเค็มมากกว่าคนปกติ ขณะที่ คนที่น้ำหนักเกิน อ้วน กินเกลือมากกว่าคนน้ำหนักปกติเช่นกัน โดยแหล่งของเกลือที่คนไทยได้รับ มากจากการกินอาหารนอกบ้าน 80% 

“รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ” ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวในงานแถลงข่าวขับเคลื่อน “ลดเค็มทำได้” ในประเทศไทย โดยเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส. ว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังสูงถึง 7,600,000 คน เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจ และหลอดเลือดประมาณ 40,000 คนต่อปี หรือ 108 คนต่อวัน เป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตกว่า 500,000 คน ผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้นปีละ 10% การป้องกันจะลดโอกาสเกิดโรคไต การเสียชีวิตจากหัวใจและหลอดเลือด

160450530020

ที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ได้สร้างการรับรู้แก้ประชาชน รวมถึงพูดคุยกับอุตสาหกรรมอาหารในการปรับสูตร ลดการบริโภคเค็ม อาทิ ฉลากโภชนาการ บอกค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม แต่ยังไม่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม นำมาซึ่งการทำงานร่วมกันกับ สสส. สธ. และกรมสรรพสามิต ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเก็บภาษีความเค็มขึ้นในปี 2564 

“พญ.เรณู การ์ก” เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ (โรคไม่ติดต่อ) สำนักงานผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า ประเทศไทยมีการบริโภคโซเดียมที่แฝงอยู่ทั้งจากอาหารทำเองที่บ้าน อาหารขายริมบาทวิถี อาหารสำเร็จรูปในบรรจุภัณฑ์ และอาหารพร้อมรับประทาน ดังนั้น จำเป็นต้องแจ้งข้อมูลให้ประชาชนทราบว่าอาหารชนิดใด มีปริมาณโซเดียมสูง

160450530029

ดังนั้น มาตรการที่ควรใช้ ได้แก่ การออกแบบฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ให้เข้าใจง่าย จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วว่าควรซื้อหรือไม่ เช่นเดียวกับประเทศชิลี ที่ประสบความสำเร็จในการลดการบริโภคเกลือและน้ำตาล ขณะที่หลายประเทศกำลังพิจารณาการใช้ฉลากคำเตือนบนผลิตภัณฑ์อาหารที่มีปริมาณเกลือ น้ำตาล แคลอรี่ และไขมันอิ่มตัวมากเกินไป ถัดมา คือ การเผยแพร่และปรับสูตรอาหารโซเดียมน้อย ในโรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ทำงาน 

สุดท้าย คือ นโยบายการเก็บภาษีจากอาหารที่มีโซเดียมมากเกินไป และให้เงินอุดหนุนแก่อาหารที่มีโซเดียมน้อยกว่า และอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ผลไม้ และผัก เป็นมาตรการที่พิสูจน์ว่ามีผลส่งเสริมให้ประชาชนเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีผลเสียต่อสุขภาพ

“การเก็บภาษีอาหารสำเร็จรูปในบรรจุภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมมากเกินไป สามารถผลักดันให้ผู้ผลิตอาหารปรับเปลี่ยนสูตรของผลิตภัณฑ์อาหารเป็นสูตรที่มีโซเดียมน้อยลง และเสนอทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าสำหรับผู้บริโภค จุดหมายไม่ใช่เพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐบาลแต่เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน และผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารเปลี่ยนแปลงสูตรอาหาร” พญ.เรณูกล่าว

นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าสถานการณ์การบริโภคโซเดียมที่ล้นเกินของประชาชนไทย ทำให้เร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ. 2559-2568 เป้าหมายให้ประชาชนบริโภคเกลือและโซเดียมลดลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568 เพื่อลดโอกาสที่จะนำไปสู่การป่วย การเสียชีวิต และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการเพิ่มขึ้นของโรค NCDs ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือในการกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการและแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเพื่อสนับสนุนแผนบริการของกระทรวงสาธารณสุข ในการลดโรค NCDs รวมถึงโรคไตวายระยะสุดท้ายของประชาชนไทย

160450528692

“ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค ร่วมกับ รพ.สังกัดสธ. ดำเนินการลดเค็มให้น้อยลง ปรับอาหารที่มีโซเดียมต่ำ ทั้งของผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ และสำหรับญาติผู้ป่วย ในปี 2562 ทีผ่านมา มีการดำเนินการใน รพ. ระดับจังหวัด 83 แห่ง ระดับอำเภอ 34 แห่ง ระดับชุมชน 50 แห่ง ในปีนี้จะมีเพิ่มอีกอย่างน้อย 50 แห่ง”

160450566148