เสริมศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ดันไทยสู่ Medical Hub

เสริมศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ดันไทยสู่ Medical Hub

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ เป็น 1 ใน 10 New S curve ดันไทยสู่ Medical Hub ขณะเดียวกันโควิด-19 การนำเข้าและส่งออกเครื่องมือแทพย์ไทยพุ่งสูงขึ้นในช่วงเดินเม.ย. – พ.ค. 63 สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการสร้างความมั่นคงและพัฒนาเครื่องมือแพทย์ไทย

เครื่องมือทางการแพทย์และสุขภาพ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ครุภัณฑ์ และชุดตรวจ จากการสำรวจโครงสร้างอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์และสุขภาพไทยในปี 2563 โดยสถาบันพลาสติก พบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย มีอยู่ราว 513 ราย โดย ประเภทผู้ประกอบการ” (จากผู้ให้ข้อมูลทั้งหมด 504 ราย) แบ่งเป็น ผู้ผลิตทั้งหมด 295 ราย (28%) ผู้จัดจำหน่าย 234 ราย (23%) ผู้นำเข้า 175 ราย (17%) ผู้ส่งออก 97 ราย (9%) ผู้ผลิตบางชิ้นส่วน 81 ราย (8%) ผู้ให้บริการ 71 ราย (7%) ผู้ประกอบชิ้นส่วน 35 ราย (3%) รับซ่อม 22 ราย (2%) และอื่นๆ 30 ราย (3%)

สำหรับ “กลุ่มผลิตภัณฑ์” (จากผู้ให้ข้อมูล 494 ราย) ส่วนใหญ่เป็นวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ 245 ราย (43%) ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 159 ราย (28%) การบริการสนับสนุน 37 ราย (6%) น้ำยาและชุดวินิจฉัย 36 ราย (6%) และอื่นๆ 96 ราย (17%) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการบางรายมีการประกอบธุรกิจมากกว่า 1 ประเภท และ 1 ผลิตภัณฑ์ จึงอาจเกิดการนับซ้ำ

“อริยา ศรีบุตร” นักวิเคราะห์ สถาบันพลาสติก กล่าวถึง ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย ว่า ปัจจุบัน ขนาดของผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจประเภท SMEs ขนาดธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก 96% โดยที่ตั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง คิดเป็นสัดส่วนกว่า 418 ราย (81%) ของผู้ประกอบการทั้งหมด รองลงมา คือ ภาคตะวันออก 45 ราย (9%) ภาคเหนือ 21 ราย (4%) และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 ราย (3%) ตามลำดับ

160440787243

การนำเข้าสินค้าที่เข้าข่ายเครื่องมือแพทย์ในปี 2562 ทั่วโลกมูลค่ากว่า 6.47 ล้านล้านบาท สำหรับประเทศไทยมีมูลค่า 69,476 ล้านบาท นำเข้าเป็นอันดับ 22 ของโลก อันดับ 6 ของเอเชีย และอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ โดยประเภทของสินค้าเครื่องมือแพทย์นำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. รีเอเจนต์สำหรับใช้ในการวินิจฉัย 15% 2. เลนส์แว่นตา 12% และ อุปกรณ์เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ 6%

สำหรับ การส่งออกสินค้าที่เข้าข่ายเครื่องมือแพทย์ในปี 2562 ทั่วโลกมูลค่า 10.67 ล้านล้านบาท ประเทศไทยมีมูลค่าส่งออก 106,358 ล้านบาท นับเป็นอันดับ 22 ของโลก อันดับ 7 ของเอเชีย และอันดับ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ และ มาเลเซีย โดยประเภทสินค้าเครื่องมือแพทย์ที่ส่งออกมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ 1. ถุงมือยาง 35% 2. เลนส์แว่นตา 30% และ 3. อุปกรณ์เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ (6%) 

ปี 2563 หลังจากที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤติโรคโควิด-19 การนำเข้า เดือนมกราคม - สิงหาคมมูลค่ารวม 55,039 ล้านบาท หากมองในช่วง 2 เดือนที่มีการแพร่ระบาด เดือนเมษายน – พฤษภาคม 2563 การนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 12,000 ล้านบาท จากเดิมที่อยู่ราว 6,000 ล้านบาทต่อเดือน

ด้าน การส่งออก ของไทย เดือน มกราคม – สิงหาคม มูลค่ารวม 98,420 ล้านบาท ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2563 สูงขึ้นเช่นเดียวกันอยู่ที่ราว 17,000 – 18,000 ล้านบาทต่อเดือน จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 9,000 ล้านบาทต่อเดือน โดยกลุ่มวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์มีการส่งออกในสัดส่วนที่มากที่สุด

อดิศร อาภาสุทธิรัตน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย ระบุว่า ที่ผ่านมาในปี 2553 มีการจดทะเบียนผลิต นำเข้า เครื่องมือแพทย์ ปีละประมาณ 50-100 ราย จนกระทั่งปี 2562 มีผู้จดทะเบียนรวมประมาณ 700 ราย ขณะที่ ปี 2563 เพิ่มขึ้นราว 800 ราย ในช่วงโควิด -19 หน้ากากอนามัย มีผู้มาจดทะเบียนผลิต 60 กว่าราย ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มที่ผันมาผลิตชุด PPE มากขึ้นเช่นกัน

“เครื่องมือแพทย์ถือเป็นปัจจัย 4 ในเชิงเศรษฐกิจแม้ไม่ได้โตมาก แต่เมื่อแย่ก็ไม่ตกลงมาก ช่วงที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดโควิด-19 มีความต้องการ ขณะเดียวกันในกลุ่มที่ความต้องการลดลงหรือเลื่อนออกไป เช่น การผ่าตัด ผู้ป่วยก็ยังป่วยอยู่ สินค้าที่เกี่ยวข้องเหล่านี้จึงเพียงแค่ชะลอลง แต่ไม่ได้หายไป โควิด-19 กระทบระยะนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ New Normal ดันทุกอย่างให้เกิดขึ้นเร็ว” อดิศร กล่าว

160440795475

ด้าน "นายแพทย์บุญ วนาสิน" ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากการระบาดของโควิด -19 ส่งผลให้ความต้องการถุงมือยางทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงได้จัดตั้งบริษัท บริษัท ไทยเมดิคอล โกล์ฟ จำกัด (Thai Medical Glove) โดยร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ผลิตและส่งออกถุงมือยางรองรับความต้องการของตลาดโลกที่มีความต้องการถุงมือยางอยู่ที่ 4,000 ล้านกล่องต่อปี ขณะที่กำลังการผลิตทั่วโลกในปัจจุบันมีเพียง 1,800 ล้านกล่อง

160440795262

โดยงบประมาณการลงทุนเฟสแรกกว่า 2 หมื่นล้านบาท (ไม่รวมที่ดิน) 150 ไลน์การผลิตในโรงงาน 4 แห่ง ได้แก่ 1.โรงงานในย่าน ถ.บางนา-ตราด กม. 26 พื้นที่ 20 ไร่ 10 ไลน์การผลิต 2.โรงงานย่าน ถ.บางนา-ตราด กม.46 พื้นที่ 82 ไร่ มี 50 ไลน์การผลิต 3.โรงงานใน จ.ชลบุรี พื้นที่ 20ไร่ มี 10 ไลน์การผลิต 4.โรงงานใน อ.ปลวกแดง จ.ระยอง พื้นที่ 20 ไร่ 80 ไลน์การผลิต เริ่มเดินเครื่องการผลิตในโรงงานแห่งแรกได้ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 ผลิตเฟสแรก 300 ล้านกล่อง จากเป้าหมายที่วางไว้ 600 ล้านกล่อง เน้นส่งออกในรูปแบบ B2B เป็นหลัก เช่น วอลลมาร์ท คาดว่าจะใช้คืนทุนในช่วง 8 เดือนหลังจากทำตลาด

นายแพทย์บุญ กล่าวต่อว่าจะขยายการลงทุนเฟสสองในช่วงกลางปี 2564 โดยจะเพิ่มไลน์การผลิตอีก 150 ไลน์การผลิตหรือคิดเป็นเงินลงทุนราว 1.5 หมื่นล้านบาทรวมไลน์การผลิตทั้งหมด 300 ไลน์การผลิต จะทำให้สามารถครองส่วนแบ่งในตลาดโลกได้ที่ 15% หากสถานการณ์โควิดผ่านพ้นไป ความนิยมถุงมือยางลดน้อยลงปรับไลน์การผลิตไปผลิตถุงมือยางทางการแพทย์เพื่อการผ่าตัด ซึ่งมีราคาแพงและยังเป็นที่ต้องการอยู่แทน 

ปัจจุบัน มาเลเซียผู้นำอันดับ 1 ของโลกส่งออกถุงมือยางครองส่วนแบ่งการตลาด 65% ราคากล่องละ250-280 บาท ไทยอยู่ที่ 13% มีบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ครองส่วนแบ่งตลาด 9%  ราคากล่องละ 350 บาท ซึ่งบริษัท ไทยเมดิคอล โกล์ฟ จำกัด (Thai Medical Glove) ตั้งเป้าหมายจะมีส่วนแบ่งตลาด 12 % ภายในสิ้นปี 2564 จำหน่าย 150 บาทต่อกล่อง ทำให้ประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาด 25% ในตลาดถุงมือยางโลก เป้าหมายรายได้ในสิ้นปี 2564 จะอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาทและหากเข้าตลาดก็จะสามารถทำได้ 1.5 แสนล้านบาท