'ธุรกิจwellness' เติบโตสูง แนะภาคการศึกษาจับทิศทาง ตอบโจทย์8 ปรารถนา

'ธุรกิจwellness' เติบโตสูง แนะภาคการศึกษาจับทิศทาง ตอบโจทย์8 ปรารถนา

กฟผ.ผนึกกฎบัตรไทย และเครือข่าย 10 มหาวิทยาลัย พัฒนาพื้นที่เป้าหมายรอบเขื่อน กฟผ. 9 แห่งทั่วประเทศสู่ธุรกิจWellness รองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หวังฟื้นฟูและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก แนะภาคศึกษาจับทิศทางให้ดีตอบโจทย์ 8 ปรารถนา

Keypoint:

  • กฟผ.ร่วมกับกฎบัตรไทย และ10 เครือข่ายมหาวิทยาลัย นำร่องพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย 9 แห่งทั่วประเทศ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
  • ธุรกิจWellness คือการมีความสุขและมีสุขภาพที่ดีในทุกช่วงวัย ซึ่งองค์การอนามัยโลก ระบุชัดเจนว่า ธุรกิจป้องกันโรคจะมีอัตราการเติบโตมากกว่าธุรกิจรักษาโรค
  • 3 บทบาทภาคการศึกษาก้าวสู่ธุรกิจ Wellness ตอบโจทย์ปัจจัยสี่ ความปรารถนา 8 เรื่องที่คนต้องการ

ข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ใน พ.ศ. 2564 มีผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปี ประมาณ 13 ล้านคน หรือราว 20% ของประชากรทั้งประเทศ และมีการประเมินว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า พ.ศ. 2575 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุดคือมีคนอายุเกิน 60 ปี สูงถึง 28% ทำให้กระแสการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ Wellness Tourism กลายเป็นธุรกิจมาแรง 

ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้ารายได้รวมการท่องเที่ยวปี 2566 ไว้ 2.38 ล้านล้านบาท โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 ล้านคน สร้างรายได้  1.5 ล้านล้านบาท และนักท่องเที่ยวชาวไทย 135 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 880,000 ล้านบาท ทำให้ธุรกิจ Wellness คึกคักมากยิ่งขึ้น

ธุรกิจ Wellness จึงเป็นอีกหนึ่ง Mega Trend ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ยิ่งขณะนี้กระแสการรักสุขภาพ เทรนด์การดูแลสุขภาพในเชิงป้องกันและรักษามาแรง ทำให้อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าวก้าวกระโดด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เทรนด์ดูแลสุขภาพ 'ยุคใหม่' 18ปีลดน้ำหนัก-ฝังเข็มแก้โรคทำงาน

สูตรลดน้ำหนักอย่างไรให้เห็นผล ไม่คลั่งผอม น้ำหนักลด สุขภาพดี

‘สุขภาพ-ความงาม’ มาแรงแห่งยุค คาด ปี 70 มูลค่าตลาดพุ่ง 2.48 แสนล้านบาท

'พัฒนากำลังคน' กุญแจสำคัญ ดันไทยสู่ Medical Hub

 

นำร่องพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย 9 แห่งทั่วประเทศสู่ธุรกิจWellness

วันที่ (2 มิ.ย.2566)นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย กรรมการและเลขานุการกฎบัตรไทย ร่วมกับนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการกฟผ. และเครือข่าย 10 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยพายัพ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ลงนามข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจการแพทย์ การส่งเสริมสุขภาพ พลังงานสะอาด และการส่งเสริมการลงทุนในเขตนวัตกรรมและพื้นที่ของ กฟผ. เพื่อพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้ กฟผ. จะจัดทำแผนแม่บทบูรณาการเชื่อมโยงร่วมกับกฎบัตรไทยและเครือข่ายมหาวิทยาลัยในแต่ละภาคของประเทศ เพื่อกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ประจำภาค สำหรับพัฒนาชุมชนในแต่ละจังหวัด โดยมีเขื่อนของ กฟผ. เป็นศูนย์กลางดำเนินงานและเชื่อมโยงสู่ชุมชนซึ่งจะนำร่องในพื้นที่เป้าหมาย 9 แห่งทั่วประเทศ ดังนี้

  • ภาคเหนือ  2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และเขื่อนภูมิพล จ.ตาก
  • ภาคใต้  2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้ากระบี่ จ.กระบี่ และเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ
  • ภาคตะวันตก 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี

 

ธุรกิจป้องกันโรคเติบโตมากกว่าธุรกิจรักษาโรค

ศ.พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ‘แนวทางขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจเวลเนสโดยมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศ ตอนหนึ่งว่า มีการพูดเรื่องของ Wellness มาตลอดระยะนานหลายปี และทุกภาคส่วนต่างพยายามขวนขวายพัฒนาตนเองให้ก้าวไปทันโลกในเรื่องของธุรกิจ Wellness โดยที่อาจจะมีความสับสน ไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้

คำจำกัดความของว่าWellness คือ การมีความสุขและมีสุขภาพที่ดีในทุกช่วงวัยเพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่ทำให้คนมีความสุขและสุขภาพดีจะอยู่ในขอบเขตของธุรกิจ Wellness ซึ่งแนวโน้มของธุรกิจ wellness องค์การอนามัยโลก ระบุชัดเจนว่า ธุรกิจการป้องกันโรคจะมีอัตราการเติบโตมากกว่าธุรกิจการรักษาโรคอย่างแน่นอน  ยิ่งขณะนี้มนุษย์มีความเจริญมากขึ้น  มีรายได้มากขึ้น ทุกคนคำนึงถึงสุขภาพและความสุขของตัวเองมากขึ้น  และการป้องกันทุกคนมักจะมองว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองไม่เป็นโรค

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Wellness จะมีปัจจัยสี่ที่ทำให้ทุกคนมีชีวิตอยู่ได้ และมีพัฒนาการจาก ปัจจัยสี่สู่ปรารถนา 8 ของมนุษย์ คือ

1.ต้องการมีสุขภาพที่ดีไม่มีโรค  

2.ต้องการมีสุขภาพจิตที่ดี  

3. ต้องการไม่แก่เร็ว ต้องการชะลอวัย

4.ต้องการให้ตัวเองไม่ขี้เหร่ ต้องการให้ตัวเองสวยหล่อมากขึ้น  

5.ต้องการมีชีวิตที่ผ่อนคลาย

6.ต้องการกินดีอยู่ดี พักผ่อนดี

7.ต้องการสิ่งแปลกใหม่ในชีวิต 

8.ต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดี สังคมที่ดี 

"การขับเคลื่อนสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ด้วยธุรกิจ Wellness ซึ่งไทยมีคู่แข่งจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย  ซึ่งเมื่อก่อนเราทำเพราะต้องการให้น้องท่องเที่ยวเข้ามา แต่ในความเป็นจริง ส่วนภาคการศึกษาไม่ต้องทำในทุกมิติ แต่ทำในมิติที่ตนเองถนัด เพื่อทำให้ธุรกิจ Wellness ในด้านนั้นๆ เติบโต และมีการจ้างงานมากขึ้น"

อย่างไรก็ตาม บทบาทของมหาวิทยาลัยทั้ง 10 แห่งที่ร่วมกันครั้งนี้ จะเป็นการทำงานร่วมกันใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธุรกิจเวลเนส  2.พัฒนางานวิจัย องค์ความรู้ใหม่ๆ และ 3.ศึกษาการพัฒนาบริการ อันนำไปสู่การทำให้อุตสาหกรรม  Wellness มีอัตราการเติบโตสูง ทำให้การจ้างงานคนเพิ่มมาขึ้น และประเทศก้าวหน้ามากขึ้น 

ทั้งนี้ ในส่วนของ มฟล. มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจเวลเนสของภาคเหนือ ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ด้านคือ 1. ความพร้อมทางจิตวิญญาณ (สุข - สงบ) 2. ความพร้อมทางระบบบริการสุขภาพ 3. ความพร้อมทางด้านนโยบาย ซึ่งหากดำเนินการได้จะส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพดีทุกช่วงวัย ลดการเจ็บป่วย ลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลของบุคคล และครอบครัว ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐเรื่องสวัสดิการ 30 บาท รักษาทุกโรค เพิ่มผลผลิตของชาติ เพราะคนสุขภาพดีทำงานได้มาก สิ่งสุดท้ายคือครอบครัวมีความสุข

โดยในฐานะสถาบันการศึกษา นอกจากพันธกิจในการผลิตบัณฑิตที่ครอบคลุมทักษะวิชาชีพต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ด้านศิลปศาสตร์ ด้านบริหารและการบริการ และด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีการผลิตบัณฑิตในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้งสิ้น 6 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ และสำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ

นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังมีอีกหนึ่งพันธกิจคือการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของประชาชนในเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้จัดตั้งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งประกอบด้วยโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ศูนย์บริการสุขภาพครบวงจรแห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (MFU Wellness Center) สถาบันการแพทย์แผนไทย-จีน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมสุขภาพ และดูแลสุขภาพของประชาชน