ซีเซียม-137 ถูกหลอมแล้วหรือไม่ อัปเดตสรุปไทม์ไลน์ข้อมูลล่าสุด (21 มี.ค.66)

ซีเซียม-137 ถูกหลอมแล้วหรือไม่ อัปเดตสรุปไทม์ไลน์ข้อมูลล่าสุด (21 มี.ค.66)

ปม "ซีเซียม-137" ที่สูญหายพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี สรุปแล้วนั้นถูกหลอมแล้วหรือไม่ ซึ่งทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ได้หาข้อมูลเพื่อสรุปมาให้เข้าใจง่ายๆเป็นข้อมูลเท่าที่จะหามาได้ ณ ขณะนี้

ปม "ซีเซียม-137" ที่สูญหายพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ล่าสุดหลังจากที่มีการแถลงพบวัสดุกัมมันตรังสีดังกล่าวที่สูญหายจากบริษัท NOS 5a ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามต่างๆนาๆจากประชาชนว่า สรุปแล้วนั้นถูกหลอมแล้วหรือไม่ ซึ่งทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ได้หาข้อมูลเพื่อสรุปมาให้เข้าใจง่ายๆเป็นข้อมูลเท่าที่จะหามาได้ ณ ขณะนี้

ซีเซียม-137 คืออะไร ประโยชน์ และความเสี่ยงต่อสุขภาพ

ซีเซียม-137 (Cs-137) เป็น ไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม ซึ่งเป็นผลผลิตฟิชชันที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน ซีเซียม-137 มีครึ่งชีวิต 30.17 ปี ประมาณ 95% สลายตัวโดยการปลดปล่อยรังสีบีต้าแล้วกลายเป็นแบเรียม-137m (barium-137m) ซึ่งเป็นไอโซโทปกึ่งเสถียร (metastable) หรือไอโซเมอร์ของแบเรียม-137 (137mBa, Ba-137m) ส่วนอีก 5% สลายตัวไปเป็นไอโซโทปเสถียรโดยตรง แบเรียม-137m (Ba-137m) สลายตัวให้รังสีแกมมา โดยมีครึ่งชีวิต 2.55 นาที ซีเซียม-137 ปริมาณ 1 กรัม มีกัมมันตภาพรังสี 3.215 เทราเบคเคอเรล (terabecquerel, TBq)

โฟตอนจากไอโซโทปรังสีแบเรียม-137m มีพลังงาน 662 keV สามารถใช้ประโยชน์ในการฉายรังสีอาหาร (food irradiation) ใช้ในด้านรังสีรักษา (radiotherapy) สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง มีการใช้ซีเซียม-137 สำหรับการถ่ายภาพด้วยรังสีทางอุตสาหกรรมไม่มากนัก เนื่องจากเป็นวัสดุที่ไวต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมี เกลือของซีเซียมละลายน้ำได้ดีทำให้ควบคุมความปลอดภัยได้ยาก จึงมีการใช้โคบอลต์-60 (Cobalt-60) ในงานด้านการถ่ายภาพด้วยรังสีมากกว่า นอกจากจะเป็นโลหะที่ไวต่อปฏิกิริยาน้อยกว่าแล้ว ยังให้รังสีแกมมาพลังงานสูงกว่า การนำมาใช้งาน เราจะพบซีเซียม-137 ได้ในอุปกรณ์วัดความชื้น เครื่องวัดอัตราการไหลหรืออุปกรณ์ตรวจวัดชนิดอื่นที่ใช้หลักการทำงานคล้ายกัน

การนำ ซีเซียม-137 มาใช้ประโยชน์

มีการนำซีเซียม-137 มาใช้ไม่มากนัก ถ้าปริมาณน้อยๆ จะใช้สำหรับปรับเทียบเครื่องมือวัดรังสี ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาในการวัดความหนาแน่นของเครื่องมือเจาะสำรวจน้ำมัน ใช้เป้นต้นกำเนิดรังสีในการรักษามะเร็ง รวมทั้งใช้ในเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม เช่น เครื่องวัดความหนาของวัสดุ เครื่องวัดการไหลของของเหลว

ความเสี่ยงต่อสุขภาพของสารกัมมันตรังสีซีเซียม

ซีเซียม สามารถทำปฏิกิริยากับน้ำและกลายเป็นซีเซียมไฮดรอกไซด์ (caesium hydroxide) ซึ่งเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำ ซีเซียมมีคุณสมบัติในทางชีววิทยาคล้ายกับโปแตสเซียม (potassium) และรูบิเดียม (rubidium) เมื่อเข้าไปในร่างกาย ซีเซียมจะกระจายไปทั่วร่างกาย โดยมีความเข้มข้นสูงที่กล้ามเนื้อและกระดูก ซีเซียมมีครึ่งชีวิตทางชีววิทยา (biological half-life) ประมาณ 70 วัน จากการทดลองในสุนัข เมื่อได้รับซีเซียมในครั้งเดียวจำนวน 3800 ไมโครคูรีต่อกิโลกรัม (mCi/kg) (คิดเป็นซีเซียม-137 จำนวน 44 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม) สุนัขนั้นตายลงภายใน 3 สัปดาห์

ถ้าบังเอิญได้รับซีเซียม-137 เข้าไปในร่างกาย ควรรับประทานปรัสเซียนบลู (Prussian blue) ซึ่งจะไปทำปฏิกิริยาเคมีโดยจับกับซีเซียม ทำให้ขับออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น

การควบคุมดูแลซีเซียม-137 ที่ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาที่ไม่รัดกุมพอ อาจจะทำให้เกิดการรั่วไหลของไอโซโทปรังสีและเกิดการเจ็บป่วยจากรังสีได้ กรณีตัวอย่างที่ทราบกันดี ได้แก่ อุบัติเหตุที่ (Goiania accident) ที่มีการทิ้งสารกัมมัตรังสีจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำรังสีรักษาจากคลินิกในเมือง Goiania ประเทศบราซิล ทำให้คนเก็บขยะนำไปขายให้กับคนที่รับซื้อ เนื่องจากคิดว่าเป็นของแปลก กรณีนี้ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการได้รับรังสีจำนวนหลายคน

 

ซีเซียม-137 ถูกหลอมแล้วหรือไม่ อัปเดตสรุปไทม์ไลน์ข้อมูลล่าสุด (21 มี.ค.66)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ซีเซียม-137 คืออะไร อันตรายแค่ไหน และจะเกิดอะไรขึ้นหากถูกสารนี้เข้าไป

- อธิบดีกรอ. เผย ‘ซีเซียม-137’ ถูกหลอมถลุงเป็นฝุ่นแดงแล้ว

- “ซีเซียม-137” ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น อาจสัมผัสโดยไม่รู้ตัว อันตรายถึงตาย

 

20 มีนาคม 2566 เวลา 11.00 น. สรุปแถลงฯพบ "ซีเซียม-137"

นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติและทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ยืนยันว่าพบสารกัมมันตรังสีอยู่ในผงโลหะที่อยู่ในที่กักเก็บผงโลหะที่ได้จากกระบวนการการหลอมโลหะ ในโรงหลอมโลหะแห่งหนึ่งใน จ.ปราจีนบุรี แต่ต้องตรวจสอบกันอีกครั้งว่าเป็นสารที่มาจากวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหายหรือไม่

เบื้องต้น ยืนยันว่าโรงงานหลอมโลหะนี้ดำเนินการอยู่ในระบบปิด ไม่มีสารกัมมันตรังสีฟุ้งกระจายออกมา และได้ทำการตรวจพื้นที่เก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมบริเวณ 5 กิโลเมตรโดยรอบโรงงานและพนักงานทุกคนแล้ว ไม่พบสารกัมมันตรังสีตกค้าง 

เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุว่า กัมมันตรังสีที่ตรวจพบในโรงหลอมเหล็กไม่ได้ฟุ้งกระจายอย่างที่ประชาชนกังวล ส่วนจุดที่พบบิ๊กแบ็คข้างโรงหลอม ซึ่งถูกนำไปถมที่ด้านข้าง เจ้าหน้าที่ให้ขุดบิ๊กแบ็คและดินนำขึ้นมาในพื้นที่ที่กำหนดและตรวจหาอีกครั้งหนึ่ง ยังไม่พบกัมมันตรังสี จึงไม่มีการปนเปื้อนตามธรรมชาติ

นายกิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า เมื่อวานเจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ตรวจวัดค่ารังสีพบว่า ตรวจจับได้ จึงได้กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม ซึ่งจุดที่พบเป็นจุดหลอมเหล็กเป็นพื้นที่ปิด เมื่อตรวจสอบในโรงงานโดยรอบรัศมีห่างออกไปราว 10 เมตร ไม่พบค่าวัสดุกัมมันตรังสี จึงจำกัดวงเฉพาะที่ตรวจพบ ส่วนกรณีที่ประชาชนกังวลว่าจะมีการฟุ้งกระจาย ยืนยันว่าที่ปลายป่องโรงหลอมมีฟิลเตอร์เป็นตัวดักจับ เมื่อฝุ่นเหล็กลอยขึ้นไปติดกับฟิลเตอร์และเย็นลงจะร่วงลงมาด้านล่าง

ด้าน นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ได้สั่งการให้โรงหลอมโลหะดังกล่าว เป็นพื้นที่เขตควบคุมไว้ก่อน เพื่อวางแผนกับทีมงานของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ในการเก็บกู้ต่อไป

นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ได้ชี้แจงเรื่องการตรวจร่างกายผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรงหลอมโลหะทั้งหมด ไม่พบความผิดปกติ และเตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังรับมือหากพบประชาชน ที่อาจได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ในทุกพื้นที่ และยืนยันไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

โดยได้ตรวจเลือดผู้เกี่ยวข้องในโรงหลอม ไม่พบความผิดปกติ และตรวจสอบการตรวจสุขภาพย้อนหลังก็ยังไม่พบความผิดปกติด้านร่างกาย สิ่งหนึ่งที่สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีจะดำเนินการเพิ่ม คือ วางระยะในการตรวจสุขภาพผู้เกี่ยวข้องทั้งโรงไฟฟ้า โรงหลอม 6 เดือน/1 ปี ในระยะนี้ยังไม่มีผลกระทบใดๆ

ตำรวจภูธรจังหวัด ได้แจ้งว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้แจ้งความกับบริษัท เนชั่นแนล พาวเวร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด กับพวกซึ่งเป็นโรงงานที่ครอบครองวัสดุกัมมันตรังสีที่สูญหายไปจะมีความผิดทางกฎหมายในกรณีที่ไม่แจ้งเจ้าพนักงานในทันที ที่วัสดุกัมมันตรังสีสูญหาย ส่วนประเด็นอื่นๆจะได้สืบสวนเพิ่มเติมอีกครั้ง

เฝ้าระวังซีเซียม-137

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปราจีนบุรีได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (ส่วนหน้า) ซึ่งซีเซียม-137 เป็นสารกัมมันตรังสีมองไม่เห็น ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ความเป็นพิษต่อร่างกายจะมีความรุนแรงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดสาร ความเข้มข้นของสาร ระยะเวลาการสัมผัส และระยะห่างของการสัมผัส

ขณะนี้ได้มีการวางระบบเฝ้าระวังอาการป่วยใน 3 กลุ่ม

1.กลุ่มผิวหนัง เนื้อเยื่อ อาการจะมีตั้งแต่ตุ่มน้ำใส เนื้อตาย เป็นต้น

2. กลุ่มอาการทั่วไป คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ

3.กลุ่มอื่นๆ ระยะกลางและระยะยาว จะไวต่อเซลล์ที่มีการแบ่งตัว เช่น เม็ดเลือดขาว และผม เป็นต้น 

ประชาชนทั่วไปในอำเภอกบินทร์บุรีและจังหวัดปราจีนบุรี หากมีอาการ 3 กลุ่มดังกล่าวให้รีบพบแพทย์

สถานการณ์และการตรวจสอบกรณีวัสดุกัมมันตรังสี "ซีเซียม-137" สูญหาย จังหวัดปราจีนบุรี ณ วันที่ 21 มี.ค.2566 ข้อมูลจากล่าสุดจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)

1.ปส.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจวัดรังสีในอุตสาหกรรมโรงหลอมโลหะจากเศษเหล็กที่เลิกใช้แล้ว ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีจำนวน 5 แห่งในรัศมี 10 กิโลเมตร

2.ปส.ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ไอโซโทปรังสีในการตรวจสอบ เพื่อใช้สำรวจปริมาณรังสีและวิเคราะห์ชนิดของสารกัมมันตรังสีจากวัตถุต้องสงสัยว่าเป็นสารกัมมันตรังสีหรือวัตถุที่อาจมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หรือไม่

3.ผลการตรวจสอบพบว่ามีโรงงานแห่งหนึ่ง มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นโลหะที่ได้จากผลิตโลหะ

4. ผู้เชี่ยวชาญของ ปส. ได้ทำการควบคุมและตรวจสอบพื้นที่โรงงานโดยรอบ พบว่าโลหะที่ได้จากกระบวนการผลิตไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137

5.เมื่อตรวจวัดปริมาณรังสีโดยรอบพื้นที่บริเวณโรงงานพบว่า ระดับปริมาณรังสีอยู่ในระดับปกติตามปริมาณรังสีในธรรมชาติ นอกจากนี้ได้มีการตรวจสอบคุณภาพอากาศ น้ำ บริเวณโดยรอบโรงงานพบว่า ระดับรังสีอยู่ในระดับปกติตามปริมาณรังสีในธรรมชาติ ไม่มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในสิ่งแวดล้อม

6.การปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเชียม-137 ในฝุ่นแดง เกิดขึ้นจากโรงงานหลอมโลหะรีไซเคิลที่รับซื้อเศษโลหะมือสองที่มีการปะปนของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เข้าไปในกระบวนการหลอมโลหะ และเมื่อวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เข้าไปในกระบวนการหลอมซีเซียม-137 จะถูก
หลอมและระเหยกลายเป็นไอกระจายอยู่ในเตาหลอม

ซึ่งจะมีระบบการกรองของเสียจากกระบวนการผลิตและเป็นการทำงานในระบบปิดทั้งหมด ทำให้ซีเซียม-137 จะปนเปื้อนไปอยู่ในฝุ่นโลหะที่ได้จากกระบวนการหลอม ซึ่งฝุ่นปนเปื้อนเหล่านี้จะมีระบบกรองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม และถูกจัดเก็บ ควบคุมอยู่ในระบบปิดทั้งหมด ดังนั้นฝุ่นโลหะปนเปื้อนได้ถูกระงับการเคลื่อนย้ายและจำกัดไม่ให้ออกนอกบริเวณโรงงาน

7. ปส.ได้ดำเนินการตรวจวัดการเปรอะเปื้อนทางรังสีนอกร่างกายของผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดภายในโรงงาน ผลการตรวจสอบไม่พบการเปรอะเปื้อนทางรังสีของผู้ปฏิบัติงานแต่อย่างใด

8. สามารถสรุปได้ว่าฝุ่นโลหะปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 มีการปนเปื้อนในบริเวณที่จำกัด และถูกควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และเหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่เกิดการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีซีเซียม -137 สู่สิ่งแวดล้อม ไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบและบริเวณใกล้เคียง

9. ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและสถานการณ์ทั้งหมดได้ถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว และขอให้เข้าใจขั้นตอนการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งดำเนินการตามหลักวิชาการและมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางรังสีต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม