“ซีเซียม-137” ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น อาจสัมผัสโดยไม่รู้ตัว อันตรายถึงตาย

“ซีเซียม-137” ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น อาจสัมผัสโดยไม่รู้ตัว อันตรายถึงตาย

"ซีเซียม-137" คืออะไร? จากกรณีตรวจพบ "สารกัมมันตรังสี" ชนิดนี้ในเขตอุตสาหกรรม อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เจาะลึกอันตรายของ Cesium-137 ที่เป็นสารไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และหากสัมผัสโดนสารนี้จะส่งผลร้ายแรงถึงชีวิต

เป็นประเด็นร้อนแรงทั้งในสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อมีกระแสข่าวว่ามีการตรวจพบ “ซีเซียม-137” แล้ว หลังจากทางการได้รับแจ้งว่าสารชนิดนี้สูญหายไปจากสถานที่กักเก็บ และอาจถูกเผาหลอมปล่อยควันพิษออกมาปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ล่าสุดวันนี้ (20 มี.ค.) มีรายงานข่าวว่า ตรวจพบสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 จริง ในเขตอุตสาหกรรม อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 

ขณะที่ นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ให้สัมภาษณ์ผ่านทีมข่าว “เรื่องเล่าเช้านี้” ระบุว่าได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีดังกล่าว โดยไม่ปฏิเสธกรณีกระแสข่าวตรวจพบ ‘ซีเซียม-137’ และมีการประกาศปิดกั้นพื้นที่โรงงานแล้ว พร้อมชี้แจงว่าทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ จะแถลงข่าวในประเด็นนี้เวลาประมาณ 10.00-11.00 น. ของวันนี้

 

  • ซีเซียม-137 คืออะไร? ทำไมถูกนำมาใช้งานในอุตสาหกรรม?

สำหรับ “ซีเซียม-137” มีข้อมูลจากโรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา อธิบายไว้ว่า เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี จะสลายตัวโดยการปล่อยรังสีบีตาและรังสีแกมมาออกมา ปัจจุบันมีการนำซีเซียม-137 มาใช้ในเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมเหล็กแปรรูป  

หากซีเซียม-137 หลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่อาศัยโดยรอบ กัมมันตภาพรังสีนี้ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี จึงทำให้ผู้ที่สัมผัสอาจไม่รู้ตัว หากได้รับสารพิษนี้เข้าไปในร่างกายซีเซียมสามารถกระจายไปยังอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่กล้ามเนื้อและกระดูก บางส่วนจะไปอยู่ในตับและไขกระดูก

หลังจากการสัมผัสภายในเวลาเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน จะเริ่มแสดงอาการทางระบบต่างๆ เช่น ผิวหนัง เยื่อบุ ระบบเลือด ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ซึ่งอาจมีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

“ซีเซียม-137” ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น อาจสัมผัสโดยไม่รู้ตัว อันตรายถึงตาย

 

  • ซีเซียม-137 ใช้เวลาย่อยสลายในธรรมชาติกว่า 100 ปี

ด้าน “นพ.สมรส พงศ์ละไม” แพทย์ประจำศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจส่วนตัว อธิบายถึงความอันตรายของสารพิษนี้ไว้ว่า หาก “ซีเซียม-137” ถูกหลอมเผาไหม้และกลายเป็นไอ ควันไอเหล่านั้นจะลอยออกไปได้เป็นหลักร้อยถึงพันกิโลเมตร ขึ้นอยู่กับทิศทางลม สารพิษนี้จะทำร้ายสิ่งมีชีวิตได้ทั้งการสัมผัสโดยตรง การกิน และการหายใจ รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

อีกทั้ง หากฝังกลบซีเซียม-137 ก็จะเกิดการสะสมในดิน น้ำ อาหาร ทำให้เกิดผลเสียต่อสัตว์และนุษย์ ปลา นก ไก่ หมู หมา แพว วัว ฯลฯ โดยอนุภาคมีต้าและรังสีแกมมา จะทำลาย DNA ทำให้เกิด mutation ถ้าไม่ตายก็เกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไธรอยด์

เนื่องจากในทางเคมี ซีเซียม-137 มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี นั่นหมายความว่าจะใช้เวลาในธรรมาชาติไม่ต่ำากว่า 100 ปี จึงจะสลายหมด คนที่จะได้รับผลกระทบจะต้องอยู่ร่วมสารพิษนี้เป็น 100 ปี ผลที่ตามมาอาจจะพบว่ามีคนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไธรอยด์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในพื้นที่เสียง

 

  • เช็กอาการเบื้องต้น หากสัมผัสโดน ซีเซียม-137

สำหรับอาการเบื้องต้นของผู้ที่สัมผัสโดนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 นั้น มีอาการบ่งชี้ดังนี้

  • คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร
  • ปวดท้อง ถ่ายเหลว 
  • อ่อนเพลีย ขาดน้ำ
  • ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสรังสีเกิดการอักเสบ แดง ไหม้ มีการหลุดลอก เกิดเป็นแผล ผิวหนังตาย
  • ผมและขนหลุดร่วง ปากเปื่อย 
  • อาการจากไขกระดูกถูกกด ทำให้เป็นไข้ ติดเชื้อแทรกซ้อน มีเลือดออกง่าย
  • ซึม สับสน ชัก โคม่า

ก่อนหน้านี้ย้อนกลับไปกว่า 1 สัปดาห์ มีรายงานข่าวว่ามีการรับแจ้งกรณีวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน อ. ศรีมหาโพธิ จ. ปราจีนบุรี จึงเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งติดตามสืบค้นหาต้นทางถึงปลายทางที่สารกัมมันตรังสีดังกล่าวหลุดรอดออกมา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับประชาชน

โดยมีไทม์ไลน์ของเหตุการณ์การได้รับแจ้ง และการติดตามค้นหาของเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

10 มี.ค. 66 : สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) โดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ได้รับแจ้งเหตุกรณีวัสดุกัมมันตรังสีสูญหาย จากสถานประกอบการทางรังสีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี

11-13 มี.ค. 66 : เจ้าหน้าที่ ปส. เข้าตรวจสอบโดยละเอียดด้วยเครื่องมือวัดทางรังสีในพื้นที่เกิดเหตุร่วมกับสถานประกอบการ แต่ไม่พบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่ได้รับแจ้งว่าสูญหายไป ต่อมาวันที่ 13 มี.ค. เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่พบ

14-15 มี.ค. 66 : ปส. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.ศรีมหาโพธิ ได้ร่วมกันปฏิบัติการค้นหาวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหาย โดยการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการกิจการรับซื้อเศษโลหะและโรงหลอมเหล็กขนาดใหญ่จำนวน 15 แห่ง ภายใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี แต่ผลการตรวจสอบยังไม่พบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในพื้นที่ ต่อมามีการตั้งรางวัลสำหรับคนที่ชี้เบาะแสนำไปสู่การติดตามกลับคืนมาได้ 50,000 บาท

19-20 มี.ค. 66 : อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประเมินว่า วัตถุซีเซียม-137 อาจถูกหลอมทำลายไปแล้ว หลังตรวจพบกัมมันตภาพรังสีในฝุ่นแดงของโรงงานถลุง ต่อมากรมโรงงานอุตสาหกรรมจังหวัดแห่งหนึ่ง ได้นำฝุ่นแดงดังกล่าวไปตรวจสอบเพิ่มเติม ต่อมาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีการแถลงข่าวความคืบหน้ากรณีดังกล่าวไปเมื่อช่วง 11.00 น. ที่ผ่านมา ล่าสุด.. มีรายงานผลการแถลงข่าวดังกล่าว ระบุว่า ยังไม่พบการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ออกมาสู่สิ่งแวดล้อม

 

------------------------------------------

อ้างอิง : SynPhaeนพ.สมรส พงศ์ละไมBBCThai