หลักสูตร‘ภาษาอังกฤษ’สพฐ.ฮิต ค่าเทอมถูก-มาตรฐานอิงสากล

หลักสูตร‘ภาษาอังกฤษ’สพฐ.ฮิต ค่าเทอมถูก-มาตรฐานอิงสากล

สพฐ.เปิดหลักสูตร EP จัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอิงมาตรฐานสากล แนวโน้มการเติบโตพุ่ง โรงเรียนในสังกัดแห่เปิดสอน 632 โรง  ผู้ปกครองให้ความสนใจสูงฝึกเด็กไทยได้ภาษา จุดเด่นค่าเทอมต่ำ หลักสูตรได้มาตรฐาน สอนในสภาพแวดล้อมแบบไทย​

Keypoint:

  • สพฐ.เผยหลักสูตรภาษาอังกฤษ EP ในไทยได้รับความนิยมสูง
  • หลักสูตรอิงมาตรฐาน สากล ค่าเทอมไม่แพง เรียนภาษาอังกฤษเข้มข้นกว่าปกติ
  • สช.ชู7 นโยบาย และจุดเน้นหลักสูตรนานาชาติ ส่งเสริมการศึกษาสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ในประเทศไทย นอกจากหลักสูตรโรงเรียนนานาชาติ ที่มีการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ในส่วนของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังได้เปิดห้องเรียน “หลักสูตร EP หรือ English Program” ซึ่งเป็นหลักสูตรมุ่งเสริมสร้างทักษะด้านภาษาอังกฤษให้นักเรียน

ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนและสาระการเรียนรู้ต่างๆ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ โดยนักเรียนในหลักสูตรนี้จะเรียนภาษาอังกฤษที่เข้มข้นกว่าภาคปกติ

หลักสูตร‘ภาษาอังกฤษ’สพฐ.ฮิต ค่าเทอมถูก-มาตรฐานอิงสากล

ปัจจุบันมีโรงเรียนหลักสูตร EP จำนวน 632 โรงเรียน มีนักเรียน 113, 760 คน และมีครูไทยและต่างชาติรวม 6,320 คน  

ดร.อาทิตยา ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า หลักสูตร EP จะจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งในการเรียนการสอน หนังสือเรียน และครูผู้สอนต้องใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ไทยเติบโตสูงสุดในอาเซียน เกิน 10% ทุกปี'รร.นานาชาติ'ฮิตสะพัดแสนล้าน

กลุ่มทุน-ทายาทเจ้าสัว ลงสนามชิงตลาดธุรกิจ รร.นานาชาติ

มารู้จัก'10อันดับ'โรงเรียนนานาชาติ 

ส่องค่าเทอม 'โรงเรียนนานาชาติ' แพงเท่าไหร่ สอนอะไร คุณภาพชีวิตดีแค่ไหน?

 

ผู้ปกครองสนใจส่งลูกเรียนหลักสูตรEP

ผู้สอนจะเป็นครูชาวต่างชาติ ครูเจ้าของภาษา หรือผู้ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าเป็นผู้สอน โดยจะมีวิชาภาษาไทย และวิชาที่เกี่ยวกับความเป็นไทย และศิลปวัฒนธรรมจะเรียนเป็นภาษาไทยทั้งหมด ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะเรียนในสภาพแวดล้อมมีนักเรียนหลักสูตรปกติ นักเรียนไทยเป็นหลัก 

“ขณะนี้มีโรงเรียนหลักสูตร EP จำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกเก่งภาษาอังกฤษ หรือไปเรียนต่อในต่างประเทศ เพราะอนาคตโลกเปิดกว้างมากขึ้น การทำงานไม่ได้จำกัดอยู่ในประเทศ การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้จะทำให้เด็กมีโอกาสมากขึ้น นอกจากนั้น ค่าเทอมที่เรียนในหลักสูตรดังกล่าวจะถูกกว่าเมื่อเทียบกับโรงเรียนในประเทศอื่นๆ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้หลักสูตร EP ได้รับความสนใจมากขึ้น” ดร.อาทิตยา กล่าว

หลักสูตร‘ภาษาอังกฤษ’สพฐ.ฮิต ค่าเทอมถูก-มาตรฐานอิงสากล

หลักสูตรอิงมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนหลักสูตร EP จะเป็นหลักสูตร ที่เป็นไปตามกรอบมาตรฐานความสามารถทางภาษาอังกฤษที่เป็นสากล ได้แก่ The Common European Framework of Reference for Languages (CEFR) ซึ่งเป็นกรอบความคิดหลักในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของประเทศไทย

ออกแบบหลักสูตร พัฒนาการเรียนการสอน การทดสอบ วัดผล พัฒนาครู กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ และเน้นเรื่องการสื่อสารเป็นหลัก โดยจะมีเกณฑ์ควบคุมมาตรฐานทั้งผู้สอนและผู้เรียน

“จุดเด่นหลักสูตร EP คือ เรื่องราคา และคุณภาพมาตรฐานที่เทียบเท่าระดับสากล และเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้โดดเด่นเพียงต่างภาษาเท่านั้น แต่ยังได้รับการพัฒนาทั้งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศสตร์ และด้านอื่นๆ รวมด้วย ดังนั้น การเลือกหลักสูตร EP ให้ลูก ถ้าไม่ดูเรื่องค่าใช้จ่าย ขอให้ศึกษาเรื่องของคุณภาพครูผู้สอน การจัดการเรียนการสอน อุปกรณ์ สภาพแวดล้อมในการเรียนการสอน และเลือกให้เหมาะสมกับบริบทของลูกเป็นต้น” ดร.อาทิตยา กล่าว

 

7นโยบายและจุดเน้นหลักสูตรนานาชาติ

ปัจจุบัน ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สช. ในปี 2565 มีโรงเรียนนานาชาติ ทั้งหมด 243 โรง มีนักเรียน 66,352 คน และครู 18,259 คน ค่าเทอมโรงเรียนนานาชาติส่วนใหญ่จะหลักแสนบาทต่อปีและมากถึงล้านบาท

นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) กล่าวว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีโอกาสเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมโรงเรียนเอกชน ประเภทนานาชาติ ซึ่งได้ขอความร่วมมือโรงเรียนเอกชนในระบบประเภทนานาชาติ ดำเนินการจัดการศึกษา โดยคำนึงถึงการเชื่อมโยงกับ 7 นโยบาย และจุดเน้น ได้แก่

1.จัดการศึกษาเพื่อความปลอดภัย

2.ยกระดับคุณภาพการศึกษา

3.สร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย

4.การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

หลักสูตร‘ภาษาอังกฤษ’สพฐ.ฮิต ค่าเทอมถูก-มาตรฐานอิงสากล

5. ส่งเสริมสนับสนุนวิชาชีพครู บุคลากรทางการศึกษา และบุคลากร

6.การพัฒนาระบบราชการและการบริการภาครัฐยุคดิจิทัล

7.การขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษาและแผนการศึกษาแห่งชาติ

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการส่งเสริมการศึกษามีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย และสร้างนักเรียนไทยให้เป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพต่อไป