กลุ่มทุน-ทายาทเจ้าสัว ลงสนามชิงตลาดธุรกิจ รร.นานาชาติ
“แรบบิท โฮลดิ้งส์” ลุย รร.นานาชาติเวอร์โซ ใหญ่สุดในกรุงเทพฯ มั่นใจตลาดโตต่อเนื่อง "ทายาทเจ้าสัวธนินท์" ปั้น "คอนคอร์เดียน" ตั้งเป้าผลิตคนรับผิดชอบต่อสังคม ‘เอสไอเอสบี’ โรงเรียนนานาชาติแห่งเดียวที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทยจ่อเปิดให้บริการเพิ่มอีก 2 แห่งเดือน ส.ค.นี้
Key Points
- 'แรบบิท โฮลดิ้งส์' ในเครือ BTS ลงทุนธุรกิจโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ ใหญ่สุดในกรุงเทพฯ ด้วยเงินลงทุน 5,000 ล้านบาท
- 'วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์' บุตรสาวคนโตของ 'ธนินท์ เจียรวนนท์' สร้างธุรกิจส่วนตัวลงทุนโรงเรียนคอนคอร์เดียน มากว่า 20 ปี
- บริษัท โรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด เริ่มเจอปัญหาขาดทุนในช่วงโควิด-19 ปี 2563
- ‘เอสไอเอสบี’ เป็นโรงเรียนนานาชาติแห่งเดียวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในเครือของบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้ลงทุน โรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ โดยร่วมทุนสัดส่วน 50 : 50 กับ บริษัท ฟอร์จูน แฮนด์ เวนเจอร์ จำกัด จากฮ่องกง ใช้กลยุทธ์สร้างการเรียนรู้ตอบโจทย์นักเรียนยุคใหม่ โดยมองว่า ช่วงที่ผ่านมาตลาดโรงเรียนนานาชาติในไทยมีการเติบโตมากที่สุดในอาเซียน
สำหรับโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ เปิดดำเนินการตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาลจนถึง Grade 12 โดยใช้เงินลงทุน 5,000 ล้านบาท บนเนื้อที่ 168 ไร่ ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ติดกับโครงการธนาซิตี้ ย่านบางนา ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ
นอกจากนี้โรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ ได้นำเอามาตรฐานการศึกษาแบบอเมริกันมาบูรณาการ เพื่อสร้างเป็นหลักสูตรเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคต ด้วยการเรียนการสอนแบบสหวิทยาการ เน้นการทำโครงงานและการฝึกทักษะ เพื่อให้นักเรียนได้พาตนเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
นักเรียนจะได้รับมอบหมายให้ทำงานกลุ่มกับเพื่อนที่คละวัยกัน รวมทั้งนักเรียนจะได้ค้นหาสิ่งที่ตนเองสนใจและถนัดและมีโอกาสแสดงความสามารถ บ่มเพาะทักษะที่ตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคต โดยมีค่าเทอมปีละ 350,000-650,000 บาท
ทั้งนี้ ช่วงแรกมีการประเมินระยะเวลาในการคืนทุนกว่า 10 ปี รวมทั้งการลงทุนดังกล่าวดำเนินการตามแผนการลงทุนระยะยาวของบีทีเอส กรุ๊ป ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าการลงทุน รวมทั้งมีทำเลที่ดีใกล้กับธนาซิตี้ ที่มีปัจจัยภายนอกส่งเสริมรอบด้าน
รวมทั้งมีพาร์ตเนอร์ที่มีประสิทธิภาพและความน่าสนใจของรูปแบบการเรียนการสอนที่คำนึงถึงนักเรียนเป็นศูนย์กลาง
แหล่งข่าวจากบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กล่าวว่า ยังคงมีแผนพัฒนาโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซอย่างต่อเนื่อง และโรงงานนานาชาติยังเป็นที่ต้องการในประเทศไทย และนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ BTS ให้ความสำคัญกับการลงทุนครั้งนี้
รวมทั้งโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซใช้หลักสูตรสหรัฐที่สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ของรัฐนิวยอร์กและออกแบบใหม่ เพื่อสร้างหลักสูตรที่พร้อมสำหรับอนาคต โดยเน้นการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ โครงงาน และส่วนบุคคล
โรงเรียนนานาชาติอีกแห่งที่เป็นการลงทุนของทายาทเจ้าสัว คือ โรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน ถูกจัดตั้งขึ้นโดยทายาทตระกูลเจียรวนนท์ ก่อตั้งโดย นางวรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ บุตรสาวคนโตของ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ตั้งอยู่ที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปี 2544
แหล่งข่าวจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า โรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียนเป็นธุรกิจส่วนตัวของนางวรรณี โดยนางวรรณีไม่ได้ทำงานในซีพี แต่ก็มีการเข้าร่วมกิจกรรมของซีพี และการตั้งโรงเรียนนานาชาติมีแนวคิดมาจากวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 ที่เกิดจากผู้มีการศึกษา จึงเห็นว่าควรมีสถานศึกษาที่สร้างบุคลากรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
สำหรับการเรียนการสอนใช้หลักสูตร International Baccalaureate (IB) ที่ถูกยอมรับจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก มีหลักสูตร ดังนี้
หลักสูตรการศึกษาระดับต้น สำหรับเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 3 ถึง 12 ปี
หลักสูตรการศึกษาระดับกลาง สำหรับนักเรียนอายุระหว่าง 11-16 ปี
หลักสูตรการศึกษาระดับประกาศนียบัตรนานาชาติ สำหรับนักเรียนอายุระหว่าง 16-19 ปี
สำหรับการเรียนการสอนแบบ 3 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ, ภาษาจีน และภาษาไทย รวมทั้งมีการส่งเสริมการกีฬาให้กับนักเรียน โดยได้พัฒนาศูนย์กีฬา (Sport Complex) ขนาด 9,500 ตารางเมตร ซึ่งรองรับจำนวนนักเรียนทุกระดับชั้นที่เพิ่มขึ้น โดยมีสระว่ายน้ำ ยิมเนเซียมเอนกประสงค์ ห้องฟิตเนส ห้องโยคะ สนามกีฬาสควอช ลานปิงปอง สนามเทนนิส ห้องกีฬาฟันดาบ
ทั้งนี้ บริษัท โรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 3 เม.ย.2544 ทุนจดทะเบียน 253 ล้านบาท
สำหรับรายได้รวมที่แจ้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเริ่มขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ปี 2563 มีรายได้รวม 612 ล้านบาท ขาดทุน 3.81 ล้านบาท
ปี 2564 มีรายได้รวม 640 ล้านบาท ขาดทุน 15.3 ล้านบาท
ปี 2565 มีรายได้รวม 661 ล้านบาท ขาดทุน 43.2 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มีโรงเรียนนานาชาติที่เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 1 โรงเรียน นั่นคือ บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISB ประกอบธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งเป็นบริษัทแรก และยังเป็นรายเดียวที่เข้าจดทะเบียนใน ตลท. เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2561 โดยใช้หลักสูตรการศึกษาของประเทศสิงคโปร์เป็นหลักสูตรพื้นฐาน ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน
ปัจจุบันมีโรงเรียนนานาชาติ ประกอบด้วย โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์กรุงเทพฯ โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ สุวรรณภูมิ โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ ธนบุรี โรงแรียนนานาชาติเชียงใหม่ (เป็น JV) โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ นนทบุรี (อยู่ระหว่างก่อสร้างจะเปิดให้บริการ ส.ค.2566) และโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ ระยอง (อยู่ระหว่างก่อสร้างจะเปิดให้บริการภายในส.ค.2566)
สำหรับผลดำเนินช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (2561-2565)
ปี 2561 มีรายได้รวม 947.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% มีกำไรสุทธิ 103.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 447% จากปี 2560 สาเหตุหลักมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมการศึกษาเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น 12.39% เป็น 2,222 คน เนื่องจากเปิดโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ธนบุรี และมีอัตราค่าบริหารการศึกษาเฉลี่ยต่อคนต่อปี 0.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.40% รวมถึงบริษัทมีค่าใช้จ่ายที่คงที่
ปี 2562 มีรายได้รวม 1,129.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.20% มีกำไรสุทธิ 220.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น13.37% จากที่บริษัทมีรายได้จากการจัดการศึกษาเพิ่มขึ้น17.62%เป็น 1,086 ล้านบาท เพราะมีจำนวนนักเรียนอยู่ที่ 2,433 คน เพิ่มขึ้น 9.50% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และค่าบริการการศึกษาเฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ที่ 0.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.33%ขณะที่ค่าใช้จ่ายของบริษัทคงที่จึงทำให้มีกำไรสุทธิสูงขึ้น
ปี 2563 มีรายได้รวม 1,076.53 ล้านบาท ลดลง 4.67% มีกำไรสุทธิ 159.93ล้านบาท ลดลง 27.59 % เพราะรายได้จากการจัดการศึกษาลดลง 4.96% สาเหตุหลักเกิดขึ้นจากส่วนลดใช้ครั้งเดียวที่ทางโรงเรียนให้เพื่อเป็นความช่วยเหลือแก่ผู้ปกครองในภาคการศึกษาที่ 3 ปีการศึกษา 2562-2563
อีกทั้งรายได้จากค่าอาหารกลางวัน รายได้กิจกรรมหลังเลิกเรียนและรายได้ทัศนศึกษา มีการปรับลดลงเช่นกัน เนื่องจากโรงเรียนปิด ทำการ และนักเรียนทำการเรียนผ่านระบบออนไลน์จากทางบ้าน อัตราค่าบริการการศึกษาเฉลี่ยต่อคนต่อปีเท่ากับ 0.40 ล้าน บาท
ปี 2564 มีรายได้รวม 1,071.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.22% มีกำไรสุทธิ 208.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.53% เป็นผลจากรายได้การจัดการศึกษาเพิ่มขึ้น 1.34% จากมีจำนวนนักเรียนอยู่ที่ 2,253 คน และการเติบโตเกิดจากอัตราค่าบริการการศึกษาเฉลี่ยต่อคนต่อปีที่ 0.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.21%
ปี 2565 มีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 25.09 % มาอยู่ที่ 1,344.41 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 369.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.90% เนื่องจากรายได้จากการจัดการศึกษาเพิ่มขึ้น เพราะ จำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นเป็น2,862 คน(ไม่รวมนักเรียนของสาขาเชียงใหม่) และอัตราค่าบริการการศึกษาเฉลี่ยต่อคนต่อปีปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 0.49 ล้านบาท จากกลับมาเรียนปกติที่โรงเรียน