คนทำงานเลือก “องค์กร” ลูกน้องเลือก “เจ้านาย”

คนทำงานเลือก “องค์กร” ลูกน้องเลือก “เจ้านาย”

หัวใจหลักที่สำคัญขององค์กร คือ “การบริหารทรัพยากรบุคคล” จะทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ปัจเจกบุคคลได้ตรงจุด และกำหนดนโยบายองค์กรให้ตรงตามความต้องการ “พนักงาน”

เมื่อโลกการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หลายตำแหน่งงานต้องแย่งชิงคนเข้าทำงาน ทำให้คนทำงานกลายเป็นผู้เลือกบริษัท องค์กรที่ตัวเองต้องการจะทำงานมากกว่าที่องค์กรเป็นฝ่ายคัดเลือกคนเข้ามทำงานเหมือนในอดีต เพราะการทำงานในยุคนี้คนที่เก่งๆ มีความรู้ความสามารถ มีทักษะที่เพียบพร้อมในยุค “ดิจิทัล” เวลาจะเลือกทำงานที่บริษัทต่างๆ เขาไม่ได้มองเพียงเรื่องค่าตอบแทนที่เป็นเงินเท่านั้น แต่จะมองไปถึงว่าถ้าเลือกทำงานในบริษัทนี้แล้ว จะทำให้สามารถมีชีวิต มีไลฟ์สไตล์ตามที่ต้องการได้หรือไม่

โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่แล้วจะมองค่าตอบแทนเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่จะให้น้ำหนักลักษณะของการทำงาน ที่ทำการสถานที่ตั้ง ทั้งอาคารสถานที่ กฎระเบียบบริษัทที่มีความยืดหยุ่น การทำงานได้ในรูปแบบ work from anywhere ที่พนักงานสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบใหม่คนที่กำลังมองหางาน

มองไปถึงเรื่องสวัสดิการ การดูแลสุขภาพ และต้องการเลือกบริษัทที่เปิดโอกาสให้ได้ทำงานทั้งเพื่อตัวพนักงานเอง เพื่อบริษัทและเพื่อสังคมที่ดีขึ้น รวมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคม และต้องเป็นองค์กรที่ทำให้ตัวเองมีความสุข ตอบโจทย์การทำงานและการใช้ชีวิต ตามสโลแกน “work life balance” / Work-Life Integration หรือ Life of balance ที่มีนัยความหมายในทำนองเดียวกัน 

3 สโลแกนที่ว่าจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่หลายองค์กร ต้องปรับโฉมการทำงานรูปแบบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ ความต้องการ และ “พนักงานรุ่นใหม่” ที่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีในขณะที่กำลังทำงาน เพราะพวกเขาเป็นฟันเฟืองที่สำคัญทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ จึงมีความจำเป็นต้องทำให้ “พนักงาน” มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพการเงิน เมื่อพนักงานมีความสุข ก็จะทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ การมีความสุขก่อเกิดความคิดสร้างสรรค์และส่งผลดีต่อองค์กรในทุกๆ ด้าน

นาทีนี้จึงไม่ใช่เฉพาะเจ้าของ “สถานประกอบการ”เท่านั้นต้องปรับตัว สร้างสภาพแวดล้อม และสวัสดิการที่เอื้อต่อการทำงาน และไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังต้องรวมไปถึง “หัวหน้างาน” ก็ต้องปรับตัว เปิดโอกาสให้พนักงานประเมินการทำงาน สะท้อนมุมมองความเห็นต่าง บอกถึงอุปสรรคปัญหา และนำเสนอแนวทางที่ช่วยให้ทีมทำงานร่วมกัน

ที่สำคัญ ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล จะต้องมีเครื่องมือที่สามารถรับรู้ได้ว่า “พนักงาน”คนไหนที่กำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจไปหาสิ่งที่ดีกว่า หรือกลุ่มคนกลุ่มไหนที่มีความรู้ความสามารถที่จะควรส่งเสริมให้โอกาสทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น 

เพราะหัวใจหลักที่สำคัญขององค์กร คือ “การบริหารทรัพยากรบุคคล” จะทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ปัจเจกบุคคลได้ตรงจุด และกำหนดนโยบายองค์กรให้ตรงตามความต้องการ “พนักงาน”

อีกทั้งต้องมีวิธีการทำให้คนแต่ละเจเนอเรชัน (Generation) ทำงานร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นคนใหม่ คนเก่า ต้องดูแลพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน จนเกิดความประทับใจทำงานร่วมกันออกมาได้ ส่งผลดีต่อองค์กรโดยรวม เรียกได้ว่าการมี “ฝ่ายทรัพยากรบุคคล” ที่ชาญฉลาดและมองการณ์ไกล สามารถสร้างความยิ่งใหญ่ให้องค์กรนั้นๆ ได้ และอาจจะได้ผลลัพธ์ที่ตรงข้ามได้ หากก้าวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง