“นอนไม่หลับ” ภัยร้ายใกล้ตัวกว่าที่คิด เสี่ยงอันตรายถึงสมอง

“นอนไม่หลับ” ภัยร้ายใกล้ตัวกว่าที่คิด เสี่ยงอันตรายถึงสมอง

หากใครนอนไม่หลับ หลับไม่เป็นเวลา หรือหลับๆ ตื่นๆ บ่อย ต้องระวังเพราะนอกจากเป็นการนอนหลับผิดปกติแล้ว อาจส่งผลให้เป็นโรคสมองเสื่อมหรือหยุดหายใจขณะหลับได้

นอนไม่หลับตอนกลางคืนแต่ง่วงนอนตอนกลางวัน ละเมอ ฝันร้าย สะดุ้งตื่นบ่อย ลุกมาปัสสาวะบ่อยระหว่างหลับ ตื่นมาแล้วยังเพลียอยู่ อาการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นของ “การนอนหลับผิดปกติ” หรือ Sleep Disorders ซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคร้ายหลายอย่างที่อาจตามมาในอนาคตถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่า การนอนหลับผิดปกติเป็นปัญหาที่พบบ่อย โดยประชากรประมาณร้อยละ 30 มีปัญหานอนไม่หลับ นอกจากนั้นเป็นปัญหาการนอนหลับอื่นๆ

การนอนหลับผิดปกติ เกิดจากการนอนหลับที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้รบกวนการทำงานของสมอง หัวใจ หลอดเลือด การหายใจ ทางเดินอาหาร ต่อมไร้ท่อ การสืบพันธ์ุ ภูมิคุ้มกัน และการฟื้นฟูร่างกาย เป็นต้น สำหรับการนอนหลับตามปกตินั้น เมื่อเข้านอนประมาณ 15-20 นาทีจะเริ่มเคลิ้มหลับ และแบ่งคลื่นสมองออกเป็น 4 ระดับ เมื่อคลื่นสมองเข้าสู่ระดับที่ 1 และหลับลึกลงเรื่อยๆ 45 นาที ต่อมาจะเข้าสู่ระดับที่ 4 วนซ้ำกันประมาณ 5-6 ครั้ง

  • ประเภทของการนอนหลับผิดปกติ

ปัญหาของการนอนหลับผิดปกติสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท ดังนี้

1. Dyssomnia เป็นการนอนหลับผิดปกติในเรื่องของ ปริมาณการนอน คุณภาพการนอน หรือเวลาที่เริ่มง่วงนอน ทำให้นอนหลับยาก นอนหลับๆ ตื่นๆ หรือนอนมากเกินไป สามารถแยกออกมาเพิ่มเติมได้อีก ดังนี้

- Insomnia เป็นความผิดปกติที่พบบ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะรู้สึกว่านอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ ง่วงนอนตอนกลางวันและการนอนตอนกลางคืนไม่มีประสิทธิภาพ แบ่งออกเป็น Transient Insomnia หรือ short-term insomnia เป็นการนอนไม่หลับเป็นครั้งคราว เป็นไม่เกิน 3 สัปดาห์ สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือความกดดันเฉียบพลันหรือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เช่น ใกล้สอบ ตกงาน เป็นต้น และ Long-term Insomnia ได้แก่การนอนไม่หลับเรื้อรังนานกว่า 3 สัปดาห์ เกิดจากรูปแบบและระยะเวลาในการนอน

สำหรับการรักษาจากปัญหาทั้งสองแบบต้องรักษาตามสาเหตุร่วมกับทำให้ผู้ป่วยมีตารางกันเข้านอนและตื่นนอนที่ดี ออกกำลังสม่ำเสมอแต่ไม่ออกช่วงก่อนเข้านอน อาจมีการให้ยานอนหลับในบางกรณีที่จำเป็น

- Hypersomnia เป็นการนอนหลับมากเกินปกติ หรือง่วงนอนช่วงกลางวันตลอด แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ Narcolepsy คืออาการเริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป มักเริ่มเป็นก่อนอายุ 15 ปี จำเป็นต้องมีวินัยในการนอนอย่างเคร่งครัดระหว่างรักษา ห้ามงีบหลับช่วงกลางวันเด็ดขาด อาจใช้ยากระตุ้นประสาทรักษาอาการง่วงซึมตอนกลางวัน และ Breathing-related Sleep Disorder (Sleep Apnea) หรือ การหยุดหายใจขณะหลับ พบว่าการหายใจของผู้ป่วยหยุดลงอย่างน้อย 10 วินาที เป็นมากกว่า 5 ครั้งต่อชั่วโมง จำเป็นต้องลดน้ำหนักอย่างจริงจังในการรักษา

- Circadian Rhythm Sleep Disorder แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) Delayed-sleep Phase Type ง่วงนอนช้ากว่าคนทั่วไปมาก เช่น เวลา 3- 6 โมงเช้า นอนหลับได้ปกติ รักษาโดยให้นอนช้าขึ้นกว่าเดิมวันละ 2-3 ชั่วโมงจนกว่าจะถึงเวลาที่ปกติ 2) Jet Lag Type ภาวะง่วงซึมหรือไม่ง่วงนอน ตามเวลาของท้องถิ่นนั้นๆ ส่วนใหญ่เกิดจากการเดินทางไปยังประเทศที่เวลาต่างจากที่เดิมมาก มักเป็นภาวะชั่วคราว และ 3) Shift Work Sleep Type พบบ่อยในคนที่จำเป็นต้องทำงานเป็นกะและเปลี่ยนเวลาเข้า-ออกงานอยู่ตลอดทำให้จังหวะการนอนหลับสับสน นอนไม่หลับหรือหลับๆ ตื่นๆ อาจต้องแก้ไขด้วยการปรับเวลาเข้านอนและงีบหลับตอนกลางวัน

2. Parasomnia ผู้ป่วยมีพฤติกรรมหรือการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่ผิดปกติ ซึ่งเกิดสัมพันธ์กับขณะนอน บางช่วงของการนอน หรือในช่วงระหว่างการนอนกับการตื่น แยกออกได้เป็น 3 ประเภท คือ 1) Nightmare Disorder หรือ ฝันร้าย เกิดในช่วงจำความฝันได้ขณะหลับ พบบ่อยในเด็ก มักเกิดหลังมีความกดดันทางจิตใจ 2) Sleep Terror Disorder พบบ่อยในเด็ก มักสะดุ้งตื่น ผวา กรีดร้องเสียงดัง แต่ตื่นมาแล้วจะจำไม่ได้ และ 3) Sleep Walking Disorder พบบ่อยในเด็กแต่จะหายเมื่อโตขึ้น โดยเด็กจะลุกขึ้นเดินโดยไม่รู้ตัวเต็มที่ เหตุการณ์เกิดขึ้นไม่นานและเมื่อตื่นจะจำไม่ได้

  • นอนผิดปกติ ส่งผลให้เกิดโรคอะไรบ้าง?

เนื่องจากการนอนผิดปกติทำให้มีอาการหลับไม่ต่อเนื่อง, หยุดหายใจขณะหลับ, ออกซิเจนในเลือดต่ำขณะหลับ, ปัสสาวะบ่อย, ตื่นมาไม่สดชื่น,ปวดศีรษะ และ มีอาการง่วงกลางวันเป็นต้น  ทำให้ส่งผลต่อภาวะความผิดปกติของหัวใจ,หลอดเลือด, ความดันโลหิตสูง, หลอดเลือดสมองตีบ,เบาหวาน,กรดไหลย้อน, ความจำลดลง  หรือแม้แต่ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา ได้แก่

- โรคอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยบางคนไม่ยอมนอนในเวลากลางคืนเพราะนาฬิกาชีวิตเปลี่ยนแปลงไปทำให้เวลานอนและกินแปรปรวน ซึ่งโรคนอนไม่หลับเป็นโรคที่มีความเชื่อมโยงกับ “โรคอัลไซเมอร์” หรือ “ภาวะสมองเสื่อม” เพราะสมองทำงานผิดปกติ ส่งผลทำให้การนอนหลับผิดปกติ ซึ่งโรคนอนไม่หลับพบในผู้ป่วยอัลไซเมอร์และสมองเสื่อมมากถึงร้อยละ 25-33

- โรคนอนเกิน คนที่มีภาวะนี้จะตื่นนอนยากกว่าคนทั่วไป และเมื่อตื่นแล้วจะรู้สึกว่าต้องการนอนต่ออีก ระหว่างวันก็ต้องการงีบหลับหลายครั้ง และการงีบก็อาจเกิดขึ้นในเวลาที่ไม่เหมาะสม

- โรคซึมเศร้า และ โรควิตกกังวล เมื่อการนอนไม่หลับเกิดจากความเครียดทำให้เกิดความกังวล หมดกำลังใจ ก็อาจทำให้เป็นโรคทางใจได้ต่อไปในอนาคต

ดังนั้นเมื่อเริ่มรู้ตัวว่ามีอาการนอนไม่หลับไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ตรงตามอาการก่อนที่ “การนอนหลับผิดปกติ” จะกลายเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคร้ายอื่นๆ

อ้างอิงข้อมูล : All Well Healthcare, รพ.เพชรเวช, รพ.นนทเวช, รพ.กรุงเทพ และ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ม.มหิดล