“ภูเก็ต”เตรียมจะสร้าง“กระเช้าลอยฟ้า” 

“ภูเก็ต”เตรียมจะสร้าง“กระเช้าลอยฟ้า” 

ประเทศไทยหลังโควิด-19  จะกลายเป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพคนทั่วโลก การเตรียมพร้อมสภาพแวดล้อมของเมืองให้คนทุกเพศทุกวัยทุกกลุ่มสภาพร่างกายสามารถใช้ชีวิตได้ปกติเป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่ “ภูเก็ต” มีแผนจะสร้าง “กระเช้าลอยฟ้ายาวที่สุดในโลก” 79.99 กิโลเมตร

    ระหว่างวันที่ 15-18 ธ.ค.2565 ที่ไบเทค บางนา มีงาน  “Thailand Friendly Design Expo 2022” มหกรรมอารยสถาปัตย์และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 6 จัดโดยมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และเครือข่าย Friendly Design ไทย – นานาชาติ  เพื่อแสดงผลงานความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม สถาปัตยกรรม และการออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล
         รวมถึงการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษโดยเฉพาะ ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในอาคาร สถานที่ แหล่งท่องเที่ยว ระบบขนส่งมวลชนและบริการสาธารณะได้อย่างสะดวกปลอดภัย ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

          สาธิต  ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายที่จะใช้การดำเนินงานด้านสุขภาพ มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศ ทั้งการบริการทางการรักษาพยาบาล การบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ การนวด สปา สมุนไพรและผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามารับบริการเพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ

     “การให้ความสำคัญและส่งเสริมการดำเนินงานด้านอารยสถาปัตย์  การจัดสรรสภาพแวดล้อมให้คนทุกเพศทุกวัยทุกสภาพร่างกายสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งให้ประเทศไทยเป็นทั้งเมืองสุขภาพและเมืองท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล ช่วยฟื้นฟูประเทศหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ก้าวหน้า เข้มแข็ง ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”สาธิตกล่าว 

ภูเก็ตสร้าง“กระเช้าลอยฟ้า”รองรับเมือง

        ทั้งนี้  ภายในงานมีการเสวนาขับเคลื่นอนธุรกิจสุขภาพและการท่องเที่ยว หัวข้อ “เฟรนด์ลี่ ดีไซน์ ภูเก็ตอันดามัน ลงทุนเมืองน่าอยู่” โดยภูเก็ตมีการเตรียมระบบขนส่งรองรับเมืองและการท่องเที่ยว ด้วยโครงการ “กระเช้าลอยฟ้า” ที่มีความยาว 79.99 กิโลเมตรจะกลายเป็นยาวที่สุดในโลก เพื่อแก้ปัญหาการคมนาคมและการเดินทาง

“ภูเก็ต”เตรียมจะสร้าง“กระเช้าลอยฟ้า” 

          “ฉื่อ ต้า ถัว” ผู้แทนจากสำนักกฎหมายดีทีแอลลอว์ ซึ่งเป็นสำนักกฎหมายที่ดูแลธุรกิจขนาดใหญ่ของจีนที่มาลงทุนในประเทศไทย  กล่าวว่า จากเดิมคนจีนมาท่องเที่ยวที่ภูเก็ต มากกว่า 10 ล้านคนต่อปี หลังสถานการณ์โควิด-19และประเทศจีนเปิดให้เดินทางออกนอกประเทศได้  เชื่อว่าจะมีการเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า

       จึงจำเป็นต้องมีการร่วมลงทุนพัฒนาภูเก็ตให้เป็นเมืองน่าอยู่และยั่งยืน  โดยจะมีโครงการกระเช้าลอยฟ้าที่ยาวที่สุดในโลก 79.99 กิโลเมตร ระยะเริ่มจากพื้นที่ต.กะรน ส่วนจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไหร่ จะต้องอยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจของหลายภารส่วน  ในการผลักดันให้เกดิโครงการนี้ 

      “ที่สำคัญการออกแบบกระเช้าลอยฟ้าที่จะเกิดขึ้น จะต้องมีการออกแบบดีไซน์ ที่เป็นยูนิเวอซัลดีไซน์ คือ จะต้องให้ทุกคนทุกเพศทุกวัยทุกสภาพร่างกายสามารถใช้ได้ จะต้องไม่มีข้อจำกัด และการที่เมืองมีเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะนำคนที่มาเยือนเมืองเป็นคนที่มีคุณภาพและลงทุนมากขึ้น” ฉื่อ ต้า ถัวกล่าว 

     ขณะที่ วินัย ชิดเชี่ยว  กำนันต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต  ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำหนดนโยบายป่าชุมชนแห่งชาติ  กล่าวว่า  ก่อนโควิด-19ระบาด เกาะภูเก็ตสร้างรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยว 4 แสนกว่าล้าน  เฉพาะต.กะรน  7 หมื่นล้านบาท คนมีรายได้เฉลี่ย  30,000 ต่อเดือน แต่ช่วงโควิด-19เหลือราวคนละ 1,000 กว่าบาท  ทำให้ได้เรียนรู้และเกิดยุทธศาสตร์วางแผนพัฒนาเมือง ซึ่งที่ผ่านมาภูเก็ต มุ่งขาย Sea Sand Sun  แต่จากนี้จะต้องเพิ่มศักยภาพเรื่องสุขภาพ เวลเนส และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

             “เมืองที่น่าอยู่ คือ เมืองที่มีงาน อาชีพ รายได้ สวัสดิการแห่งรัฐสะดวกและสบาย  มีความปลอดภัย ซึ่งสภาพปัญหาหนึ่งของภูเก็ต คือ การคมนาคม ถ้าเกิดมีกระเช้าลอยฟ้า นอกจากจะช่วยเรื่องคมนาคมแล้ว ยังเพิ่มเรื่องจุดขายของเมืองด้วย จากเดิมที่คนอาจจะชมทัศนียภาพจากฝั่งออกไปทะเลเท่านั้น จะกลายเป็นสามารถมองภูมิทัศน์ได้จากที่สูง และสามารถชมได้ทั้งเมือง กลายเปนอีกจุดขายของภูเก็ต”วินัยกล่าว