“The Great Unretirement” เมื่อวัย(ควร)เกษียณไม่ได้เกษียณ ส่งผลดีต่อตลาดแรงงาน-เศรษฐกิจ?

“The Great Unretirement” เมื่อวัย(ควร)เกษียณไม่ได้เกษียณ ส่งผลดีต่อตลาดแรงงาน-เศรษฐกิจ?

ส่องปรากฏการณ์ “วัย(ควร)เกษียณที่ไม่ได้เกษียณครั้งใหญ่” (The Great Unretirement) ในอังกฤษ เมื่อเหล่าพนักงานเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retirees) หลายพันคนที่ถูกเลิกจ้างในช่วงการระบาดของโควิด-19 กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อสูงในปัจจุบัน ทำให้เงินเก็บของพวกเขาร่อยหรอลง และบีบให้ต้องกลับมาหางานทำอีกครั้ง

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติสหราชอาณาจักร ระบุว่า สัดส่วนของคนวัยทำงานที่ไม่ได้มีงานทำหรือหางานลดลง ลดลง 0.2% ในช่วงระหว่างเดือน ส.ค.-ต.ค. ตัวเลขที่ลดลงนี้เกิดจากกลุ่มคนที่มีอายุ 50-64 ปี จำนวน 84,000 คน ที่เคยเกษียณไปแล้ว กลับมาทำงานอีกครั้ง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 41 ปี ทำให้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น จนเป็นปัจจัยหลักให้หลายคนตัดสินใจกลับมาทำงาน ซึ่งช่วยเพิ่มจำนวนแรงงานในตลาดแรงงานของสหราชอาณาจักรได้อย่างมาก

แซม เบ็คเก็ตต์ หัวหน้าฝ่ายสถิติเศรษฐกิจของสำนักงานสถิติฯ เปิดเผยว่า “ตัวเลขนี้สอดคล้องกับข้อมูลอื่น ๆ ที่บ่งชี้ว่าผู้คนในวัย 50 ปีกำลังคิดที่จะกลับไปทำงาน เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว” 

แม้ว่าเมื่อนำตัวเลขดังกล่าวจะไม่ได้ลดลงมาก แต่นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ “วัย(ควร)เกษียณที่ไม่ได้เกษียณครั้งใหญ่” (The Great Unretirement) ที่ทำผู้คนที่เคยออกจากงานก่อนหน้านี้กลับมาทำงาน เพื่อหาเงินสำหรับใช้เลี้ยงชีพ เพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อเงินเก็บของพวกเขา

หากปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจริงจะส่งผลดีต่อตลาดแรงงานของสหราชอาณาจักร เนื่องจากมีความกังวลในปัญหาขาดแคลนแรงงานซึ่งเป็นผลพวงมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งในปัจจุบันการจ้างงานยังคงต่ำกว่าระดับก่อนยุคโควิด-19 อยู่ 1%

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่า การขาดแคลนแรงงานเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสหราชอาณาจักรสูงกว่ากลุ่มประเทศร่ำรวยประเทศอื่น ๆ ตลอดจนเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงยิ่งขึ้น

กระแสการเกษียณอายุก่อนกำหนดทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดรั้งสภาพเศรษฐกิจและทำให้ผู้ประกอบการส่วนมากไม่มีทางเลือก ต้องเพิ่มค่าแรงที่สูงขึ้นเพื่อดึงดูดแรงงานให้มาทำงานด้วย

การที่เหล่าพนักงานเกษียณอายุกลับมาทำงานอีกครั้ง ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีและน่าสนใจ โดยเบียทรีซ บอยลู จาก Institute of Fiscal Studies สถาบันวิจัยเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักรเชื่อว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า จะเกิดการกลับมาทำงานเหล่าพนักงานที่เกษียณอายุก่อนกำหนดเป็นจำนวนมาก เหมือนช่วงที่คนเหล่านี้แห่ลาออกจากงานหรือไม่

“ยังมีกลุ่มคนอายุ 50-64 อีกกว่า 300,000 คนที่ไม่ได้ทำงาน เมื่อเทียบกับตลาดแรงงานก่อนยุคโควิด-19 เรากำลังเห็นการพลิกกลับของคลื่นการเกษียณอายุก่อนกำหนดอย่างเต็มรูปแบบที่เห็นในช่วงการระบาดใหญ่หรือไม่”

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความคิดเห็นของสำนักงานสถิติฯ เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา พบว่า เกือบ 75% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 50-59 ปี ที่ไม่ได้ทำงาน กล่าวว่าพวกเขาจะกำลังตัดสินใจจะกลับไปทำงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 58% ในแบบสอบถามเมื่อเดือน ก.พ. นอกจากนี้ สองในสามของผู้ตอบแบบสอบถาม ยังกล่าวว่าพวกเขาตัดสินใจจะกลับไปทำงานเป็นเพราะเรื่องเงิน แสดงให้เห็นว่าแรงกดดันจากปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูงกำลังกระตุ้นให้ผู้เกษียณอายุจำนวนมากสนใจหันกลับมาทำงาน 

“โดยทั่วไปแล้ว มีคนอายุระหว่าง 50-64 ปีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่สามารถเกษียณได้ตามช่วงอายุที่คาดไว้ และอยู่ได้ด้วยเงินบำนาญจากรัฐ อันที่จริงช่วงล็อกดาวน์อาจทำให้พวกเขาเห็นข้อเสียและค่าใช้จ่ายจากการไปทำงาน จนทำให้พวกเขาตัดสินใจลาออก และคิดว่าเงินที่เก็บไว้น่าจะเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตในบั้นปลาย แต่ในตอนนี้มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากค่าครองชีพที่พุ่งสูงทำให้ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน” แอนดรูว์ เจ สก็อตต์ อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ระบุ

นอกจากนี้ การสำรวจของสำนักงานสถิติฯ ยังพบว่า มีเพียง 27% ของผู้ที่มีอายุ 50-64 ปี ที่ไม่ได้ทำงานในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (นับถึงเดือน ต.ค.) ลดลงจาก 27.7% ในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งนี้สัดส่วนดังกล่าวยังคงสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยอยู่ที่ 25.3%

นอกจากปัจจัยด้านค่าครองชีพแล้ว ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าสิ่งที่จะทำให้เหล่าพนักงานเออร์รี รีไทร์สนใจกลับมาทำงานขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่พวกเขาออกจากงานและทักษะของพวกเขามีความจำเป็นต่องานหรือไม่

ริคกี คานาบาร์ ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสังคมแห่งมหาวิทยาลัยบาธ กล่าวว่า “พนักงานส่วนใหญ่ที่เกษียณอายุไปแล้ว กลับเข้ามาทำงานอีกครั้งมักจะเป็นกลุ่มคนที่พึ่งออกจากงานไปได้ไม่นาน แต่สำหรับคนที่ออกจากงานมานานแล้ว อาจจะพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกลับเข้าไปทำงาน เนื่องจากต้องเสียค่าเสื่อมทักษะไปด้วย”

ขณะที่สก็อตต์กล่าวว่า “ความท้าทายของผู้สูงอายุที่จะกลับเข้ามาทำงานมีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพยังแข็งแรงพอที่จะทำงานได้หรือไม่ จะหางานได้หรือไม่ เพราะงานส่วนใหญ่จำกัดอายุของผู้สมัคร มีงานที่เหมาะสมกับวัยของพวกเขาหรือไม่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานมีอคติต่อผู้สูงอายุ”

สำหรับตอนนี้ต้องรอดูกันต่อไปว่า “วัย(ควร)เกษียณที่ไม่ได้เกษียณครั้งใหญ่” (The Great Unretirement) จะกลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหม่ของตลาดแรงงานทั่วโลก เหมือนกับหลาย ๆ ปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ได้หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ มีข้อบ่งชี้หลายประการที่ชี้ให้เห็นว่ามันกำลังเกิดขึ้นจริง และสามารถช่วยเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรอีกด้วย


ที่มา: Telegraph, Yahoo