Soft Power นิยามภาษาไทย มุมมอง "นายกราชบัณฑิตยสภา"

Soft Power นิยามภาษาไทย มุมมอง "นายกราชบัณฑิตยสภา"

กรณี Soft Power นิยามภาษาไทย มุมมอง "นายกราชบัณฑิตยสภา" ควรแปลว่าอย่างไร?

ก่อนสิ้นปี 2565 ความเคลื่อนไหว Soft Power ของไทย มีความคึกคักจากการจัดเทศกาลท่องเที่ยวและเทศกาลเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ จากหน่วยงานรัฐและเอกชน ซึ่งจะรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

สำหรับวันนี้มีเรื่องของ Soft Power ซอฟต์พาเวอร์ กรณีความหมายแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยนั้น ควรใช้คำใด หลายคนคงเคยได้ยินคำแปลว่า "อำนาจอ่อน" หรือ "อำนาจละมุน" มาบ้างแล้ว

ล่าสุด ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ แห่งสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สอบถามเป็นความรู้แบบบทสัมภาษณ์อิเล็กทรอนิกส์จาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ นายกราชบัณฑิตยสภา เรื่อง แนวทางการนิยาม Soft Power ในภาษาไทย

กรณี ดร.ฐณยศ ถามว่า คณาจารย์ด้านศิลปะจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นแจ้งว่า ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ เป็นผู้ให้คำแปล “soft power” ว่า สุนทรียฤทธิ์ จริงหรือไม่ เมื่อค้นคว้าและทำงานเกี่ยวกับ soft power สนใจคำแปลนี้มาก และต้องการอ้างอิงที่ถูกต้อง

นายกราชบัณฑิตยสภา ตอบโดยสรุปว่า ได้ปรับมาใช้คำว่า “พลังศรัทธา” หมายความว่า เป็นการใช้ความนิยมชื่นชอบ เป็นวิถีในการชนะใจ หรือ โน้มน้าวใจผู้อื่นจนเกิดศรัทธาและปฏิบัติตาม

ต้องขออธิบายเพิ่มเติมตามความเข้าใจว่า soft power ไม่ใช่เอาโนราไปรำที่เวนีสแล้วบอกว่า เป็น soft power นั้นไม่น่าจะใช่ เพราะนั่นเป็นเพียงผลงานศิลปกรรมที่ยังไม่มีพลัง ต่อเมื่อสำแดงให้สาธารณชนแล้ว เขารับไปชื่นชอบและปฏิบัติตามจนโนราเป็นที่ยอมรับในที่ใหม่เหมือน McDonald ที่คนไทยชอบกิน นั่นจึงเป็น soft power

 

สิ่งใดที่แพร่หลายออกจากต้นกำเนิดไปในที่อื่นที่ผู้คนยอมรับนับถือและปฏิบัติเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต เช่น พุทธศาสนาสายเถรวาทกำลังเป็นที่สนใจในคนต่างชาติต่างศาสนาน้อมนำนับถือปฏิบัติวิปัสสนาเกิดปีติศรัทธาจนถึงอุปสมบทแล้วออกธุดงค์แพร่หลายไปในท้องถิ่นใหม่ ๆ เช่น พระรักขิตชาวอูกันดาที่ทำให้ชาวอูกันดาเป็นพุทธมามกเป็นจำนวนมาก

หรือ มวยไทย อาหารไทย แต่การที่คนต่างชาติน้อมนำไปปฏิบัติก็เหมือนที่คนไทยนิยมอาหารญี่ปุ่นแต่ก็พอใจที่จะกินอย่างไทยไทย คือหยิบโน้นกินนี่ เติมนั่นตามใจตนซึ่งญี่ปุ่นไม่ทำ เขากินเป็นสำรับ กินความงาม กินอย่างประณีตเพื่อสัมผัสรูป รส กลิ่น เสียงอย่างละเมียดละไม ผลงานศิลปกรรมเป็นตัวต้นน้ำ การจะเผยแพร่ออกไปสู่คนต่างวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในความอัศจรรย์ของภูมิปัญญาและฝีมือความวิจิตรบรรจง เช่น การดูละครโนะของญี่ปุ่น เขาคงเดิมมาหลายร้อยปี เขาต้อง educate คนดูก่อนว่า essential performance factors & aesthetic คืออะไร เพื่อคนดูจะได้ซาบซึ้ง

ดังนั้นในบางครั้งมันไม่ใช่ว่า คนดูจะน้อมนำไปปฏิบัติ แต่ประทับใจและศรัทธาในความฉลาดปราดเปรื่อง ความมุ่งมั่นอนุรักษ์ด้วยจิตวิญญาณ appreciation ก็บังเกิด ของบางอย่างก็เป็นเรื่องธรรมดาแต่มีพลังมหาศาล เช่น การมีระเบียบวินัย การตรงต่อเวลา การเสียสละเพื่อส่วนรวมยามวิกฤติ ซึ่งคนญี่ปุ่นปลูกฝังมาแต่เยาว์ ซึ่งบางครั้งผมก็รู้สึกอึดอัดและเครียด เพราะชีวิตเราไม่น่าจะต้องจริงจังขนาดนั้นมั้ง ก็ประมาณนี้นะครับ

ข้าราชการ, อาจารย์ ก็มักโหนกระแส ตั้งแต่ iso 90000, steam education, ASEAN spirit, QA, student center, big data, new normal, creative economy, metaverse, ranking, rating ฯลฯ ที่จริง soft power เขาทำกันมาแต่โบราณ ซึ่งมีทั้งสองทางคือทั้งผู้ให้และผู้รับ

กล่าวข้างต้น นั่นคือ มุมมองของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ นายกราชบัณฑิตยสภา นิยาม Soft Power ในภาษาไทยว่า พลังศรัทธา ซึ่งในอนาคต ถูกใช้แพร่หลายมากกว่า คำทับศัพท์ อย่าง ซอฟต์พาเวอร์ หรือ อำนาจอ่อน และอำนาจละมุน ก็อาจจะเป็นนิยามศัพท์หรือไม่ก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรอ ราชบัณฑิตยสภา อีกครั้ง!?

...

อ้างอิง

เรื่องเกี่ยวกับ soft power ของไทย

บทความของ นิติราษฎร์ บุญโย