"เบาหวาน" ปัญหาสุขภาพคนไทย ที่อันตรายไม่เบา

"เบาหวาน" ปัญหาสุขภาพคนไทย ที่อันตรายไม่เบา

โรคเบาหวาน นับเป็นหนึ่งปัญหาสุขภาพของคนไทย พบผู้ป่วยเป็นอันดับ 4 รองจาก จีน อินเดีย และญี่ปุ่น บางคนไม่รู้ตัวจนกว่าจะมีอาการ และเมื่อป่วยแล้ว มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนด้านสุขภาพตามมา เช่น หลอดเลือดสมอง ครรภ์เป็นพิษ และเบาหวานขึ้นตา

ในปัจจุบัน สังคมไทยการใช้ชีวิตมีความตึงเครียด เร่งรีบ ความกดดันต่างๆ และสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ ทำให้คนไทย เน้นอาหารการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพเป็นหลัก โดยเฉพาะอาหารที่มีรสชาติหวาน ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ พบว่า สถิติในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีผู้ที่เป็นเบาหวาน 4.4 ล้านคน มากขึ้นทุกช่วงอายุ มากเป็นอันดับ 4 รองจาก จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ที่น่าเป็นห่วงพบในช่วงวัยรุ่นและวัยทำงาน

 

ประเภทของเบาหวานมีอะไรบ้าง

 

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคเบาหวานมี 3 ประเภท คือ 1.เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ 2. เกิดจากการที่ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ หรือเกิดภาวะการดื้ออินซูลิน และเบาหวานขณะตั้งครรภ์

 

นอกจากนี้ ยังมีโรคเบาหวานที่พบได้ไม่บ่อย อย่างโรคเบาหวานที่เกิดจากกรรมพันธุ์หรือแบบโมโนเจนิก อีกทั้งยังมีโรคเบาหวานจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การใช้ยา หรือเกิดจากโรคของตับอ่อนอักเสบ หากผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสูงไม่ดีพอ ก็อาจจะเป็นต้นเหตุของโรคแทรกซ้อนต่างๆ ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายได้

 

รู้ได้อย่างไรว่าเป็น เบาหวาน

 

ผู้เป็นโรคเบาหวานส่วนใหญ่จะยังไม่รู้ตัว จนกว่าจะแสดงอาการ ซึ่งเกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง เช่น

  • น้ำหนักลด
  • ปัสสาวะบ่อย
  • หิวน้ำบ่อย
  • แผลหายช้า
  • อ่อนเพลีย
  • ชาปลายมือปลายเท้า
  • สายตาผิดปกติ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

โรคแทรกที่ตามมา หากปล่อยไว้นานๆ

 

หลอดเลือดหัวใจอุดตันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

เบาหวานขึ้นจอประสาทตาจนทำให้ตาบอด

โปรตีนรั่วในปัสสาวะจนนำไปสู่โรคไตเสื่อม

หลอดเลือดสมองอุดตันหรือแตก ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

สตรีมีครรภ์ที่เป็นโรคนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ อาจเกิดการแท้งบุตรได้

 

ป้องกันภาวะแทรกซ้อน

 

นายแพทย์ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ อดีตนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจเกิดภาวะเสียหายกับเส้นประสาทบริเวณมือและเท้า นำไปสู่อาการชาปลายนิ้วบริเวณนิ้วมือ หรือนิ้วเท้าได้ ซึ่งพบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน วิธีการป้องกันรักษาภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวาน สามารถทำได้ คือ

 

1.การควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

2.รับการตรวจปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เช่น ไขมันคลอเลสเตอรอล ไขมันไตรกลีเซอไรด์

3.งดการสูบบุหรี่

4.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติ ในระหว่างการรักษาโรค ควรพบแพทย์โดยด่วน

 

 

อ้วนเมื่อไหร่ เสี่ยงเบาหวานเมื่อนั้น

 

สำหรับคนที่อ้วน ซึ่งมีไขมันในร่างกายสูงทำให้ฮอร์โมนอินซูลิน ที่ช่วยลดระดับน้ำตาลทำงานได้ไม่ดี ส่งผลให้การใช้และการกำจัดน้ำตาลไม่เท่าคนปกติ ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและเป็นเบาหวานได้

 

พญ. ธนพร พุทธานุภาพ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลวิมุต อธิบายว่า คนที่เป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินจะมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานมากกว่าคนปกติ 3-7 เท่า และ 80-90% ของคนไข้เบาหวานจะมีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินร่วมด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสองโรคนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก

 

 

การรักษาโรคเบาหวาน จากภาวะอ้วน

 

จะเริ่มตั้งแต่การปรับพฤติกรรมการกินและรูปแบบอาหาร รวมถึงการต้องออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เพื่อลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

 

"พญ.ธนพร" แนะนำว่าควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อรักษา เพราะผู้ป่วยเบาหวานบางคนอาจไม่ได้ดีขึ้นจากการควบคุมอาหารอย่างเดียว อาจจะต้องใช้ยาช่วย ซึ่งยารักษาในปัจจุบันมีความปลอดภัย ไม่มีผลต่อไต ช่วยในการควบคุมน้ำตาลและลดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานได้ดี

 

นอกจากนี้ ถ้าเป็นเบาหวานและโรคอ้วนร่วมด้วย ก็จะมียากลุ่มใหม่ที่ช่วยลดทั้งน้ำตาลและน้ำหนักด้วย ซึ่งมีทั้งแบบกินและแบบฉีด ช่วยทำให้ผู้ป่วยคุมอาหารได้ง่ายขึ้น อิ่มเร็วขึ้น ลดระดับน้ำตาลได้เร็วขึ้น ซึ่งช่วยให้การรักษาไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด แต่สิ่งที่หลายคนวิตกกังวลก็คือถ้าเป็นโรคเบาหวานแล้วจะรักษาหายขาดได้หรือไม่?

 

“ปัจจุบัน เรายังไม่เรียกว่าหายขาดแต่ใช้คำว่าโรคสงบคืออยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกับคนปกติ สำหรับคนไข้ที่เป็นเบาหวานร่วมกับภาวะอ้วนมาไม่นานเกิน 3-5 ปี หากลดน้ำหนักได้ 15% ขึ้นไป ก็มีโอกาสที่โรคเบาหวานจะสงบจนอยู่ในระดับปกติโดยไม่ต้องใช้ยา แค่ต้องคุมน้ำหนักต่อเนื่องเท่านั้น”

 

ป้องกันเบาหวานจากภาวะอ้วน

 

การป้องกันโรคเบาหวานจากภาวะอ้วนจึงอยู่ที่การควบคุมน้ำหนักซึ่งต้องปฏิบัติควบคู่กันในหลาย ๆ ด้านทั้งการปรับพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เช่น

  • ในอาหารหนึ่งจานอาจแบ่งเป็น 4 ส่วน ครึ่งหนึ่งกินเป็นผักใบๆ อีกหนึ่งในสี่กินเป็นเนื้อสัตว์ติดมันที่ปรุงแบบไขมันต่ำอย่างตุ๋น ต้ม หรือนึ่ง อีกหนึ่งส่วนเป็นคาร์โบไฮเดรต ซึ่งแนะนำเป็นข้าวกล้องหรือข้าวไรซ์เบอร์รี่จะทำให้น้ำตาลไม่สูงและมีกากใยเยอะ
  • รับประทานผลไม้ในปริมาณที่พอเหมาะและเลือกชนิดที่ไม่หวานจัดเช่น แอปเปิ้ล 1 ผลเล็ก ฝรั่งครึ่งผลกลาง ชมพู่ 3-4 ผลกลาง
  • นอกจากนี้ ยังควรเสริมการออกกำลังกายอย่างการยกน้ำหนัก วิดพื้น ซิทอัพ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ
  • และการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง ปั่นจักรยาน ให้ได้สัปดาห์ละ 150 นาทีขึ้นไป เท่านี้ก็จะห่างไกลจากโรคอ้วนและเบาหวานได้

 

เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy)

 

คนไข้ที่เป็นเบาหวาน มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอาการ ซึ่งแต่ละคนจะมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไม่เหมือนกัน หนี่งในภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวานที่พบได้บ่อยคือ “เบาหวานขึ้นตา”

 

พญ.ปนียา ตปนียางกูร จักษุวิทยาต้อหิน ศูนย์ตา (Eye Center) โรงพยาบาลนวเวช อธิบายว่า “เบาหวานขึ้นตา” คำนี้หลายคนอาจเคยได้ยิน เพราะเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อน ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน จะส่งผลให้หลอดเลือดฝอยเสื่อมทั่วร่างกาย รวมทั้งหลอดเลือดที่จอประสาทตา

 

ทำให้เลือดและสารต่าง ๆ รั่วซึมออกมา ทำให้เส้นเลือดตรงจอประสาทตาได้รับความเสียหาย และผู้ป่วยเบาหวานมักจะสูญเสียดวงตาในภาวะแทรกซ้อนนี้ โดยภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ก็มีวิธีการรักษาที่หลากหลาย แต่ถ้าเป็นถึงขั้นรุนแรงแล้ว อาจจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้และจะสูญเสียการมองเห็นไปตลอดชีวิต

 

อาการของภาวะเบาหวานขึ้นจอตา

 

  • ในช่วงระยะเริ่มแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ
  • มีจุดเลือดออกในจอตา
  • มีน้ำรั่วในจอตา อาจทำให้จุดรับภาพชัดบวม
  • เกิดเส้นเลือดงอกใหม่ทำให้ เลือดออกในน้ำวุ้นตา
  • จอประสาทตาหลุดลอก
  • การป้องกันภาวะเบาหวานขึ้นจอตา
  • ไม่กินอาหารที่มีแป้งมากเกินไป
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ควบคุมน้ำตาลและระดับน้ำตาลสะสม HbA1C น้อยกว่า 6.0 mg% ให้อยู่ในระดับปกติ (ระหว่าง 70-100 mg/dL)

 

การรักษาภาวะเบาหวานขึ้นจอตา

 

  • หากผู้ป่วยเป็นในระยะแรก แพทย์จะให้ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติ
  • การใช้แสงเลเซอร์ ใช้ในระยะที่เลือดออกในตายังไม่มาก
  • ฉีดยาเข้าไปในดวงตา ในกรณีผู้ป่วยจอประสาทตาบวม เพื่อลดการบวมของจอประสาทตา
  • การผ่าตัด ในกรณีผู้ป่วยมีเลือดเต็มจอประสาทตาหรือจอประสาทตาหลุดลอก
  • แต่หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ ข่าวร้ายก็คืออาจไม่สามารถรักษาให้ดวงตากลับมาเป็นปกติได้