ส่องความเสี่ยง “โรคอ้วน” ปัญหาสุขภาพที่น่าห่วง

ส่องความเสี่ยง “โรคอ้วน” ปัญหาสุขภาพที่น่าห่วง

"โรคอ้วน" นับเป็นปัญหาสุขภาพที่น่าห่วง เพราะทำให้เกิดความเสี่ยงโรคอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ข้อเข่า หลอดเลือดหัวใจและสมอง ฯลฯ จากข้อมูล พบว่า ไทยมีผู้ป่วยโรคอ้วนประมาณ 6 ล้านคน สูงติดอันดับ 2 ของอาเซียน

วิถีชีวิตคนยุคใหม่เปลี่ยนไป การทานอาหารฟาสต์ฟู้ด ความเครียด ออกกำลังกายน้อย ทำให้ "โรคอ้วน" หรือ น้ำหนักเกินเป็น 2 ใน 3 ของประชากรไทย และกลุ่มที่น่าห่วง คือ น้ำหนักเกินมากจนเป็น “โรคอ้วน” ซึ่งส่งผลให้มีโอกาสเกิด โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs โดยเฉพาะเบาหวาน พบกว่า 30% ของผู้ที่เป็นโรคอ้วน และ 50% เป็นความดันโลหิตสูงร่วมด้วย อีกทั้ง ไขมันในเส้นเลือดเป็นของแถม และเมื่ออายุมากขึ้น ต้องแบกน้ำหนักส่วนเกิน กระดูก เส้นเอ็น และข้อ จะเสื่อมไว รวมถึงปัญหาการมีบุตร โรคอ้วนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสริมภาวะของการ "มีบุตรยาก" เช่นกัน

 

ไทยป่วยโรคอ้วน อันดับ 2 ในอาเซียน

 

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 65 “พญ.ภิรญา ใจดีเจริญ” ผู้จัดการแผนกครีเอทีฟ มาร์เก็ตติ้ง โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัว ศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้องลดอ้วนลดโรคภาคตะวันออก ณ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 11 อินเตอร์ โดยระบุว่า ภาวะน้ำหนักเกินหรือ “โรคอ้วน” ถือเป็นภัยเงียบในร่างกาย ปัจจุบันประเทศไทย มีผู้ป่วยโรคอ้วนมากถึงประมาณ 9% ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 6 ล้านคน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากมาเลเซีย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อนาคตในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ประชาชนจะเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิตสูง

 

"โดยผู้ที่มีตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปทุก ๆ ค่าดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้นครั้งละหนึ่ง จะทําให้ผู้ป่วยมีอายุขัยเฉลี่ยลดลง 8-10 ปีเทียบกับคนน้ำหนักปกติ ซึ่งในทางการแพทย์จะแนะนำให้ลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย"

 

 

แบบไหน ถึงเรียกว่า “โรคอ้วน”

 

โรคอ้วน ดูได้จาก 2 เกณฑ์ ได้แก่ 

การวัดรอบเอวระดับสะดือ 

  • ผู้ชาย ไม่เกิน 36 นิ้ว หรือ 90 เซนติเมตร 
  • ผู้หญิง ไม่เกิน 32 นิ้ว หรือ 80 เซนติเมตร 

 

BMI = (น้ำหนักตัว [กิโลกรัม] ÷ ส่วนสูง [เมตร] ยกกำลังสอง) 

<18.5 = น้ำหนักน้อย 

18.5 – 22.9 = น้ำหนักปกติ 

23.0 – 24.9 = น้ำหนักเกิน 

25.0 - 29.9 = อ้วน 

>30 = อ้วนมาก 

 

อ้วน ส่งผลเสียอย่างไร

 

"นพ.พรรควุธ จันทร์สว่างภูวนะ" ศัลยแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดผ่านกล้อง จุฬารัตน์11 อธิบายว่า หลังจากที่เรามีน้ำหนักตัวมากขึ้น และต้องแบกน้ำหนักทำงานต่างๆ แน่นอนว่ากระดูก กล้ามเนื้อ ทำงานหนักมากขึ้น การใช้ชีวิตประจำวันยากลำบากมากขึ้น พออ้วนมากในระดับหนึ่ง ร่างกายจะมีภาวะดื้ออินซูลิน ไขมันทำให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินแย่ลง ผลที่ตามมา คือ ระดับน้ำตาลในเลือดมาก ส่งผลสู่ โรคเบาหวาน

 

ทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น ภาวะอ้วน โรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ น้ำหนักตัวมากทำให้เวลานอนไม่สามารถหายใจได้ตามปกติที่ควรจะเป็น เกิดภาวะหายใจน้อยหรือหยุดหายใจ ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดการอักเสบในหลอดเลือด สู่ภาวะสูญเสียต่างๆ ที่ตามมา

 

ขณะเดียวกัน โรคความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดแข็ง ความดันโลหิตสูง เกิดโรคเบาหวาน และไขมันเกาะตับตามมาได้ ภาวะอ้วน จริงๆ ดูเหมือนทั้งเหตุและผลของโรคต่างๆ และโรคต่างๆ ก็อาจทำให้เกิดภาวะอ้วนตามมา และโรคอ้วนก็ทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาเช่นกัน

 

 

รักษาโรคอ้วนได้ เบาหวาน ความดัน จะดีขึ้น

 

ด้าน “นพ.ปวัน จันท์แสนโรจน์” ศัลยแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดผ่านกล้อง จุฬารัตน์ ระยอง กล่าวเสริมว่า โรคอ้วนกับเบาหวานความดันเป็นของคู่กัน คนเป็น โรคอ้วน 30% จะพบเบาหวานร่วมด้วย และ 50% มีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย เมื่อดูในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน มากกว่า 90% มีภาวะน้ำหนักเกิน เพราะฉะนั้น โรคอ้วนกับเบาหวานเป็นของคู่กัน

 

"เวลาเรามีภาวะโรคอ้วน ไขมันเยอะ ทำให้มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินทำงานไม่ดี น้ำตาลในเลือดสูง ยิ่งมีไขมันในเลือดเยอะ หลอดเลือดไม่ดี ทำให้ความดันโลหิตสูง ดังนั้น คนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือ โรคอ้วน ก็จะมีภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูงได้ง่าย เวลาเรารักษาโรคอ้วน อาการต่างๆ ที่เกิดจากเบาหวาน ความดันก็จะดีขึ้น"

 

ความอ้วน กับอาการปวดข้อ ปวดเข่า

 

“นพ.เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์” ศัลยแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดผ่านกล้อง จุฬารัตน์11 อินเตอร์ อธิบายว่า ปัญหาของผู้ป่วยกลุ่มหนึ่ง คือ ผู้ป่วยที่มีภาวะเข่าเสื่อม ซึ่งจะเริ่มเสื่อมอายุ 55 ปี ในผู้ป่วยโรคอ้วนจะมีเข่าเสื่อม หากดัชนีมวลกายเกิน 30 ขึ้นไป จะมีความเสี่ยงในการเกิดเข่าเสื่อมมากกว่าคนปกติ 7 เท่า และทุกดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้น 5 จะมีความเสี่ยงเข่าเสื่อม 35% เมื่อเราอ้วน บริเวณเข่าจะรับภาระเยอะ ทำให้กระดูกข้อเข่าเสื่อม หากน้ำหนักเยอะก็จะเสื่อมเร็วกว่าคนทั่วไป

 

ขณะเดียวกัน หากคำนวณค่าใช้จ่ายในการรักษาแต่ละโรค พบว่า

  • โรคมะเร็งลำไส้ ค่าใช้จ่ายในการรักษาราว 250,000 - 450,000 บาท
  • โรคมะเร๋งเยื่อบุโพรงมดลูก ราว 100,000 - 300,000 บาท
  • โรคไขมันอุดตัน ราว 150,000 - 250,000 บาท
  • โรคหลอดเลือดในสมอง ราว 600,000 - 800,000 บาท 

 

ส่องความเสี่ยง “โรคอ้วน” ปัญหาสุขภาพที่น่าห่วง

 

ความอ้วนกับการมีลูกยาก

 

“พญ.ขวัญนรา เกตุวงศ์” ศัลยแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดผ่านกล้อง จุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ เผยว่า ความอ้วนที่เกี่ยวข้องกับการมีบุตร พอเราน้ำหนักตัวเยอะมากขึ้น จะมีไขมันสะสมในร่างกาย เป็นสารตั้งต้นทำให้ลักษณะฮอร์โมนเพศชายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้หน้ามัน สิวขึ้น มีขนดกมากขึ้น หากเป็นหนักๆ ฮอร์โมนเพศชายมากขึ้นทำให้ไข่ไม่ตก ประจำเดือนไม่มา หรือมาบ้างไม่มาบ้าง ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้ลดน้ำหนัก

 

"ขณะเดียวกัน สำหรับคนอ้วนก็สามารถท้องได้ แต่จะมีความเสี่ยงสูง ดังนั้น ควรต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม ให้ร่างกายดีในระดับหนึ่งเพื่อให้การตั้งครรภ์ปลอดภัยทั้งแม่และลูก"

 

ลดความอ้วนอย่างไร ไม่ให้เกิดอันตราย

 

ข้อมูลจาก ศูนย์สุขภาพแนวหน้ารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า การลดน้ำหนัก ประกอบด้วย การคุมอาหารและออกกำลังกาย หรืออาจพิจารณาใช้ยาลดน้ำหนักร่วมด้วย สําหรับการผ่าตัดลดน้ำหนัก แพทย์จะใช้เฉพาะผู้มีดัชนีมวลกาย ≥ 40 กก./ม2 หรือ เกิน 35 กก./ม2  ที่มีภาวะโรคเรื้อรังจากความอ้วน ( obesity related comorbidities) ร่วมด้วย

 

หากลดแคลอรี่จากอาหารที่รับประทานลงวันละประมาณ 500 กิโลแคลอรี่  จะสามารถลดน้ำหนักได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ ครึ่งกิโลกรัม หรือ 1-2  กิโลกรัมต่อเดือน 

 

สูตรอาหารลดน้ำหนักมีหลายชนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพลดน้ำหนักในระยะสั้นแตกต่างกัน  แต่ในระยะยาว ประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักคล้ายคลึงกัน หากสามารถปฏิบัติได้ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เป็นโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ หากจะลดน้ำหนักโดยใช้สูตรลดแป้ง หรือโลว์คาร์บ (low carbohydrate) และสูตรอาหารคีโตเจนิค (ketogenic diet) เนื่องจากอาจมีความจําเป็นต้องปรับยาเบาหวาน เพื่อลดการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ และเฝ้าระวังการเกิดภาวะเลือดเป็นกรด (DKA) โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1  

 

ให้สังเกตดู  เมื่อลดน้ำหนักโดยควบคุมอาหารไปสักระยะหนึ่ง น้ำหนักจะลดช้าลง เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อลดลง  การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ และไม่ให้น้ำหนักกลับเพิ่มขึ้นอีก หรือที่เรียกว่าภาวะ “โยโย่”   

 

การออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ทำได้ง่ายๆ โดยเดินเพิ่มขึ้น อาจเดินพื้นราบ  เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์หรือบันไดเลื่อน  ถีบจักรยานระยะทางสั้น ๆ   นอกจากออกกำลังกายแล้ว ยังลดมลภาวะจากน้ำมันรถได้อีกด้วย