สัญญาณบวก medical tourism คนไข้ต่างชาติเริ่มกลับเข้ามารับบริการรักษาในไทย

สัญญาณบวก medical tourism คนไข้ต่างชาติเริ่มกลับเข้ามารับบริการรักษาในไทย

ภาคเอกชนส่งสัญญาณคนไข้ต่างชาติเริ่มกลับเข้ามารับบริการรักษาในไทย เชื่อมั่นไทยมีศักยภาพเป็น “ medical tourism Hub” ในภูมิภาค การมีนวัตกรรมยารักษาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีส่วนสำคัญให้นักท่องเที่ยวมั่นใจ

        ภายในงาน กรุงเทพธุรกิจ Roundtable “รัฐและเอกชนไทยพร้อมแค่ไหน กับการก้าวสู่  Medical  Tourism หลังเปิดประเทศ” กรุงเทพธุรกิจ X Roche  เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2565 ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนปาร์ค  เสาวภา จงกิตติพงศ์ ผู้อำนวยการกองสุขภาพระหว่างประเทศ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของการดำเนินงานที่ผ่านมาเพื่อรองรับนโยบาย  คือ การปรับปรุงกฎหมาย อำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตรา เพื่อเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถอยู่พำนักในไทยได้นานขึ้น และเพิ่มประเทศใหม่ๆในการให้วีซ่า(Visa) โดยขยายเวลา 90 วันในกลุ่มประเทศGCC(บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม)และจีน  ,มีการเพิ่มประเทศในการให้ Long Stay Visa 10 ปี  ,  ให้ Long Stay Visa 1 ปีกับผู้ที่มีประกันสุขภาพ และMedical Treatment Visa   เพื่อการรักษาพยาบาล 1 ปี

     “ประเทศไทยประกาศนโยบาย medical  hub มาตั้งแต่ปี 2547 ทุกรัฐบาลจะมีนโยบายเรื่องนี้  โดยที่คนไทยทุกคนต้องได้รับประโยชน์ด้วย และเชื่อมั่นว่ายุค Post Covid-19 ต่างชาติเมื่อนึกถึงระบบบริการสุขภาพ จะนึกถึงประเทศไทยเป็นลำดับต้นๆ” เสาวภากล่าว

คนไข้ต่างชาติเริ่มกลับมา

      ขณะที่ภาคเอกชนไทยนั้นมีความพร้อมอย่างมากที่จะให้บริการผู้ป่วยต่างชาติ ที่เริ่มส่งสัญญาณการกลับเข้ามารับบริการในประเทศไทยมากขึ้น หลังจากที่มีการเปิดประเทศ และเชื่อมั่นว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 ระบบบริการสุขภพาของประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้น

        รัฐพงษ์ อำพันวงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล  กล่าวว่า นอกจากการมีรพ.กรุงเทพและรพ.ในเครือกระจายอยู่ตามหัวเมืองโดยเฉพาะที่เป็นเมืองท่องเที่ยวเพื่อรองรับการให้บริการแล้ว ยังมีจุดแข็งเรื่องศักยภาพและความสามารถในการดูแลรักษาทุกระดับจนถึงโรคยากที่สลับซับซ้อน  โดยกรณีที่รพ.หัวเมืองมีความต้องการทีมแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงขึ้น  รพ.ในเครือสามารถที่จะจัดส่งไปสนับสนุนได้

      “หากเปรียบเทียบปี 2562 กับปี 2565  ขณะนี้คนไข้ต่างชาติเริ่มกลับมารับบริการที่รพ.กรุงเทพ แต่ยังไม่เท่ากับปี  2562 โดยปัจจุบันกลับมาแล้วราว  70-75 % ของปี 2562  คาดหวังว่าผู้รับบริการจะเข้ามารักษาในไทยมากขึ้น โดยเครือรพ.กรุงเพท คาดว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 น่าจะมีคนไข้ใกล้เคียงกับปี  2562  ต้นปีหน้าน่าจะเป็นปีที่ดีของ medical  tourism ไทยที่ต่างชาติจะเข้ามารักษามากขึ้น” รัฐพงษ์ กล่าว

สัญญาณบวก medical tourism คนไข้ต่างชาติเริ่มกลับเข้ามารับบริการรักษาในไทย

  นพ.นิธิวัฒน์ กิจศรีอุไร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันรพ.สมิติเวช สุขุมวิท ให้บริการผู้ป่วยต่างชาติคิดเป็น 42 % ของคนไข้ทั้งหมด ส่วนก่อนโควิด-19ระบาดจะให้บริการคนไทย 55 % ต่างชาติ 45 % โดยคนไข้ต่างชาติจะ 2 กลุ่ม คือ ต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย 70 % มากที่สุดเป็นชาวญี่ปุ่นคิดเป็นประมาณ 40 %ของคนไข้ต่างชาติ และต่างชาติที่บินมารับการรักษา 30 %  เช่น เมียนมา กัมพูชา บังกลาเทศ ส่วนปัจจุบันสัดส่วนเป็นต่างชาติอาศัยในไทย 80 % และบินมา 20 % และเชื่อว่าการที่รัฐมีนโยบายส่งเสริมเรื่อง medical  tourism จะมีการกลับมาของคนไข้ที่บินมารักษามากขึ้น 

    นพ.วิทยา วันเพ็ญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า แม้ต้นปี 2563 จะมีชาวจีนที่มารับบริการ medical  tourism หายไป แต่ยังมีชาวจีนที่อาศัยพำนักอยู่ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่ามีอยู่ราว 2.5-3 แสนคนและเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากลุ่มนี้เข้ามารับบริการรักษาที่รพ.พระรามเก้ามากขึ้น จากเดิมที่คนกลุ่มนี้หากรักษาโรคซับซ้อนจะบินกลับไปรับการรักษาที่ประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2565 คนไข้ต่างชาติเริ่มบินกลับเข้ามารับการรักษา  โดยเฉพาะกลุ่มรักษาผู้มีบุตรยากเริ่มมีการติดต่อกลับเข้ามารับบริการ รวมถึง โรคยากและซับซ้อนอื่นๆ เช่น โรคไต โรคมะเร็ง เป็นต้น  นอกจากนี้ รพ.เพิ่มบริการกลุ่มใหม่เป็นดูแล Wellness เช่น ทันตกรรม การทำเลสิกที่มาแรงมาก ศัลยกรรมตกแต่งที่ประเทศไทยเทียบเท่ากับประเทศเกาหลี และการตรวจสุขภาพทั่วไป

    นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช  กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค  บอกว่า รพ.เมดพาร์คเริ่มเปิดให้บริการในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 แต่การเข้าไปช่วยภาครัฐในการฉีดวัคซีนกว่า 4 แสนโดส ในจำนวนนี้เป็นต่างชาติราว 1 แสนโดส ทำให้ต่างชาติรู้จักรพ.เร็วขึ้นมาก จากเดิมที่คาดว่าจะมีคนไข้ต่างชาติแบบค่อยๆขยับเพิ่มขึ้นจาก 5 % เป็น 10 % แต่ปัจจุบันที่คนไข้ต่างชาติทะลักเข้ามารับบริการรักษาในประเทศไทย ทำให้ขณะนี้สัดส่วนผู้ป่วยในกว่า 30 % เป็นคนไข้ต่างชาติ

สัญญาณบวก medical tourism คนไข้ต่างชาติเริ่มกลับเข้ามารับบริการรักษาในไทย

มาไทยเข้าถึงยารักษาต่อเนื่อง 

      อย่างไรก็ตาม จุดที่สำคัญอย่างมากต่อการเดินทางมาเข้ารับการรักษาและท่องเที่ยวในประเทศไทยของผู้ป่วย คือ การได้รับยาอย่างต่อเนื่อง  เพราะฉะนั้น หากประเทศไทยมียาหรือนวัตกรรมใหม่ที่ผู้ป่วยได้รับอยู่เดิม ณ ประเทศต้นทาง จะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลในการตัดสินใจเลือกมารับการรักษาในประเทศไทย

     ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์  ผู้อำนวยการศูนย์ศรีพัฒน์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า ศูนย์ศรีพัฒน์เป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้บริการแบบPrivate เพื่อตอบสนองต่อนโยบาย medical  hub และยุทธศาสตร์ชาติ  20 ปี  รองรับผู้ป่วยได้ 450 เตียง ส่วนใหญ่เป็นประชากรในภาคเหนือและประเทศกลุ่มCLMV ที่ผ่านมาให้บริการต่างชาติราว  13,000 คนต่อปีส่วนใหญ่เป็นชางเมียนมา  อนาคตคาดว่าจะสามารถรองรับได้มากขึ้น  เนื่องจากมีจุดแข็งที่เป็นโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์  มีอาจารย์แพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความสามารถที่จะพัฒนาศักยภาพ อีกทั้ง สามารถเชื่อมโยงการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆของรพ.ระหว่างส่วนที่เป็น Private และส่วนให้บริการประชาชนทั่วไป จะช่วยเสริมกันและกันทำให้สามารถดูแลคนไทยได้ดีขึ้นด้วย 

      “การมีนวัตกรรมยารักษาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีส่วนสำคัญให้นักท่องเที่ยวมั่นใจใน Medical Tourism ยกตัวอย่าง โรคจอประสาทตาเสื่อม AMD ที่ยารักษาล่าสุดเพิ่งได้รับการอนุมัติ และไทยเป็นประเทศที่ 5 ของโลกที่มียารักษานี้ หลังจากสหรัฐอเมริกาได้รับอนุมัติเป็นประเทศแรก  มีคนไข้ต่างชาติเข้ารับการรักษาแล้ว ที่ ศูนย์ศรีพัฒน์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เนื่องจากในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมา จำเป็นต้องได้รับการรักษาของโรคนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง” ผศ.นพ.ธนินนิตย์ กล่าว

   พญ.ศันสนีย์ เลิศฤทธิ์เรืองสิน ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัทโรช ไทยแลนด์ จำกัด  ให้ข้อมูลว่า  บริษัทโรช ไทยแลนด์ มุ่งเน้นในเรื่องการรักษา และ พัฒนานวัตกรรมยาเพื่อให้การรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วย ในฐานะที่โรชเป็นผู้ผลิต พัฒนานวัตกรรมยา ตลอดระยะเวลา 126 ปี จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และ 51 ปี ในประเทศไทยที่มีส่วนร่วมอย่างมากในการนำนวัตกรรมการรักษาเข้ามาไม่ว่าจะเป็น ด้านมะเร็ง ภูมิคุ้มกัน โรคไตเรื้อรัง โรคติดเชื้อ โรคหายาก และล่าสุดกลุ่มโรคตา ซึ่งบริษัทโรช มีสำนักงานใน 150 ประเทศทั่วโลก ทำให้มีการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลภายในซึ่งกันและกัน ในการดูแลผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาหรือการดูแลอย่างต่อเนื่องแม้จะมีการเดินทางท่องเที่ยว 

     ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง(SMA) เดิมอาจจะเป็นคนไข้ติดเตียงหรือติดวิลแชร์ และในต่างประเทศมีข้อมูลอายุขัยราว 20 ปี แต่ปัจจุบันด้วยยาและนวัตกรรมการรักษาใหม่ มีอายุขัยที่ยาวนานขึ้นเป็น 40 ปี หรือยาวนานกว่านั้น  ทำให้คนไข้มีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนบรรยากาศและเดินทางท่องเที่ยว  โดยคนไข้รายหนึ่งระบุปลายทางท่องเที่ยวที่จ.ภูเก็ต ประเทศไทย ซึ่งบริษัทโรชมีการหารือกันเพื่อทำให้คนไข้มีโอกาสท่องเที่ยว ด้วยการประสานงานเรื่องยา  นำเข้ามาก่อนที่จะมีการขึ้นทะเบียนสำเร็จ คือ การให้แพทย์มีประสบการณ์ใช้ยาก่อน  จนเกิดความเชื่อมั่นในการใช้ยา  ส่งผลให้คนไข้ที่ต้องรับยาต่อเนื่องเมื่อมาท่องเที่ยวประเทศไทย ก็สามารถมียาตัวนั้นใช้ได้เช่นกัน 
สัญญาณบวก medical tourism คนไข้ต่างชาติเริ่มกลับเข้ามารับบริการรักษาในไทย

      ท้ายที่สุด มร.ฟาริด บิดโกลิ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว  มองว่า ไทยเป็นประเทศ มีศักยภาพที่สามารถดึงดูด นักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่า ประเทศ แคนาดา จะเป็นอันดับ1 และ สิงคโปร์ จะติดTOP5 ของแหล่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก แต่ประเทศไทยอันดับที่17 ก็มีศักยภาพ ที่สามารถขับเคลื่อน ในเรื่อง Medical Tourism ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในอนาคตได้ด้วยศักยภาพ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย บุคคลากรทางแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ความพร้อมการให้บริการทางสาธารณสุข

      “จากสถานการณ์ เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก จึงทำให้ ประชากรในหลายประเทศ มีความระมัดระวังการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น การเข้าถึงระบบรักษาค่าพยาบาลของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศ อื่น มีราคาที่ถูกกว่า 50-60% ยกตัวอย่างเมื่อเปรียบเทียบกับ ประเทศ สหรัฐอเมริกาและสิ่งที่สำคัญ การได้รับการรักษาและ การได้รับยาอย่างรวดเร็วที่เป็นประโยชน์ ต่อผู้ที่เข้ามารับการรักษาที่เมืองไทย ถือว่าเป็นจุดแข็งในด้านการสาธารณสุข” มร.ฟาริด กล่าว

        ถึงแม้ว่าสิงคโปร์ ซึ่งมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ทันสมัย แต่เมื่อเทียบกับประเทศไทยก็มี นวัตกรรมการเข้าถึงการรักษาโรคไม่แพ้กัน แต่ความต่างคือ คนไข้สามารถเข้ารับการรักษาที่เร็วกว่า รวมถึงเมื่อเปรียบเทียบการเข้ารับการรักษากับประเทศ เกาหลี หรือ ออสเตรเลีย ประเทศไทย สามารถจ่ายยาได้เร็วและในราคาที่ถูกกว่าให้กับผู้ป่วย จึงถือว่าทั้งหมดเป็นจุดแข็งที่ไทยกลายเป็น หมุดหมายของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่จะเดินทางเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ กลุ่มนักท่องเที่ยว ที่ต้องการรักการรักษาและรับยาอย่างต่อเนื่อง สามารถเดินทางมารักษา และท่องเที่ยว ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ประเทศไทยมีศักยภาพพร้อมเข้าถึงในทุกด้าน

       “เชื่อมั่นว่าประเทศไทย สามารถที่จะเป็นMedical Tourism Hubในภูมิภาค ด้วยศักยภาพที่มีความพร้อมเอื้ออำนวยในทุกเรื่อง” มร.ฟาริดกล่าว