สรุป "LAAB" กลุ่มไหนควรได้รับ..ฉีดวัคซีนโควิดแล้วยังต้องฉีดหรือไม่?

สรุป "LAAB" กลุ่มไหนควรได้รับ..ฉีดวัคซีนโควิดแล้วยังต้องฉีดหรือไม่?

“ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป” หรือ Long Acting Antibody (LAAB) ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่ออกฤทธิ์ยาว มีกลไกลการออกฤทธิ์ในการจับกับบริเวณโปรตีนหนาม ทำให้เชื้อไวรัสไม่สามารถเข้าสู่เซลล์ได้ มีการนำเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง-กลุ่มเปราะบาง

จากข้อมูลเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 65 ในผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวน 9 ราย แม้ผู้ป่วยที่เสียชีวิตลดลง แต่กลุ่มเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 คนไข้กลุ่มเสี่ยงมีอัตราเสียชีวิตสูง โดยกว่า 78% ไม่ได้รับวัคซีน และอีก 20% ที่ไม่มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น

  • LAAB ป้องกันโควิดได้ 83% แต่ฉีดแทนวัคซีนโควิดไม่ได้

จากการผลการศึกษา พบว่า LAAB สามารถป้องกันโควิด-19 แบบมีอาการได้ 83% เมื่อติดตามไป 6 เดือน สามารถลบล้างฤทธิ์ต่อทุกๆ สายพันธุ์กลายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน รวมถึง BA.4 และ BA.5

อย่างไรก็ตาม LAAB เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป เมื่อฉีดเข้าไปแล้ว ร่างกายสามารถใช้ได้เลย ส่วนวัคซีนป้องกันโควิด เป็นสารที่นำเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ฉีดหรือกิน เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโรค ต้องรอประมาณ 2 สัปดาห์ในการสร้างภูมิคุ้มกัน

ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ไม่สามารถนำมาทดแทนการ ฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงแนะนำว่า กลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มที่ไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานได้ หลังรับวัคซีนโควิด-19 ควรมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อจนครบตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข และค่อยรับ ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) เพิ่มเติมตามคำแนะนำแพทย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : แนวทางใช้ยา "LAAB" ฉบับปรับปรุง ในกลุ่มเสี่ยง-เปราะบาง

                        สธ. เผย ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ผู้ป่วยโควิด 105 ปี ไม่มีประวัติรับวัคซีน     

                        ดีเดย์ 1 ส.ค.65 ฉีด LAAB เสริมภูมิคุ้มกัน "โควิด-19" ใครมีสิทธิบ้าง ?   

                       รู้จัก "LAAB" ภูมิคุ้มกันสำเร็จ สำหรับ "กลุ่มเสี่ยง" โควิด ภูมิฯ ต่ำ

        

 

  • LAAB คืออะไร? ทำไมต้องฉีด?

ตามที่ ประชุม ศบค. ได้รับทราบแผนการจัดหา LAAB ยาที่เปรียบเสมือนเป็นวัคซีน ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป สำหรับ กลุ่มเสี่ยง สูงที่ไม่สามารถ กระตุ้นภูมิด้วยวัคซีนอื่นๆ เช่น คนมีโรคประจำตัว มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือให้ก่อนการสัมผัสโรคโดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

โดยข้อมูลจาก บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า อธิบายว่า ยาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Antibody - LAAB) ภายใต้ชื่อ Evusheld (ชื่อเดิม AZD7442) เป็นยาแอนติบอดีชนิดเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกา สำหรับการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19

ข้อมูลจากการศึกษาระยะที่ 3 แสดงให้เห็นว่า Evusheld หนึ่งโดส สามารถให้การป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยาวนานในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง

องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ขึ้นทะเบียน Evusheld เพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน สำหรับการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในกลุ่มผู้ใหญ่และกลุ่มวัยรุ่น (ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักมากกว่า 40 กิโลกรัม) ซึ่งเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันบกพร่องปานกลางถึงรุนแรง เนื่องมาจากการรักษาทางการแพทย์ หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

ผู้ที่อาจมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน ต่อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ไม่เพียงพอ รวมถึงผู้ที่ไม่สามารถรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ ผู้ที่ได้รับยานี้ต้องไม่เป็นผู้ติดเชื้อ หรือเป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ SARS-CoV-2

 

  • กลุ่มไหน? ใช้ LAAB ได้บ้าง

นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธินายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูล ว่า สำหรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่ออกฤทธิ์ยาว มีกลไกลการออกฤทธิ์ในการจับกับบริเวณโปรตีนหนาม ทำให้เชื้อไวรัสไม่สามารถเข้าสู่เซลล์ได้

กลุ่มเป้าหมาย กำหนดให้ Long Acting Antibody ได้ มีดังนี้

  • กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • กลุ่มผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
  • กลุ่มผู้ป่วยได้รับปลูกถ่ายไขกระดูก
  • กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังให้เคมีบำบัด
  • กลุ่มผู้ป่วยที่กำลังได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
  • กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มี CD4 น้อยกว่า 100
  • กลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอื่นๆ
  •  กลุ่มที่มีอาการแพ้วัคซีนโควิด
  • ในกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป มีน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กก. ทั้งผู้ที่เคยได้รับวัคซีน โดยห่างจากเข็มล่าสุด 3 เดือน และไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน
  • ในกรณีอื่น ๆ ให้พิจารณาตามความเสี่ยงและดุลยพินิจของอายุรแพทย์/กุมารแพทย์/แพทย์เจ้าของไข้

ทั้งนี้ หลังรับวัคซีนโควิดไปแล้ว ควรมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อจนครบตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข และค่อยมารับ LAAB เพิ่มเติมตามคำแนะนำแพทย์

โดย LAAB ฝาสีเทาเข้ม และสีขาว โดยมี 2 ชนิดขนาดยารวม 300 มก. และจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณสะโพกชนิดละข้าง ข้างละ 1.5 มล.โดยหลังฉีดผลข้างเคียงน้อยมาก ส่วนใหญ่ปวด บวม ส่วนใหญ่หายได้เองภายใน 2-3 วัน แต่แนะนำว่า หลังฉีด 1 ชั่วโมงต้องมีการติดตามอาการข้างเคียงอย่างใกล้ชิด โดยกลุ่มที่ควรได้รับ LAAB คือ ผู้ที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป และผู้ที่ไม่สามารถรับวัคซีนโควิด

  • ผลการใช้ในต่างประเทศเป็นอย่างไร?

สำหรับ การนำมาใช้หลังรับเชื้อโควิด-19 ล่าสุด มีการศึกษาวิจัยโครงการ TACKLE Phase 3 ที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจที่ชื่อว่า “แลนเซ็ต” (The Lancet Respiratory Medicine) ออกมาแสดงผลการศึกษา LAAB ยี่ห้อ Evusheld ขนาด 600 มิลลิกรัม ฉีดในผู้ป่วยโรคโควิด -19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก

มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต จำนวน 910 ราย ในสถานพยาบาล 95 แห่งในประเทศสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น พบว่า การให้ภายใน 7 วันหลังมีอาการ สามารถลดการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิตได้ 50% เมื่อเปรียบเทียบกับการให้ยาหลอก

หากให้ยาเร็วขึ้นอีกภายใน 5 วันและ 3 วันหลังมีอาการ จะลดการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิตได้ 67% และ 88% ตามลำดับ

นอกจากนี้ จากการศึกษาวิจัยแบบสุ่มที่มีการควบคุม (RCT) พบว่า การให้ Evusheld ขนาด 600 มิลลิกรัม ในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและมีอาการมาไม่เกิน 12 วัน จำนวน 1,417 ราย จากสถานพยาบาล 81 แห่งในประเทศสหรัฐฯ ยุโรป อูกันดา และสิงคโปร์ พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับยา Evusheld มีอัตราการเสียชีวิตลดลง 30% ซึ่งแสดงถึงผลดีของภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปยี่ห้อ Evusheld ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด

สำหรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ยี่ห้อ Evusheld พัฒนาโดยบริษัทแอสตราเซนเนก้า เป็นภูมิคุ้มกันออกฤทธิ์ยาวที่ผสมตัวยา LAAB 2 ชนิด ซึ่งมาจากบีเซลล์ที่ได้รับการบริจาคจากผู้ที่เคยป่วยจากโควิด-19 ซึ่งถูกค้นพบโดยศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิวท์ และได้อนุญาตให้แอสตราเซนเนก้านำมาพัฒนาต่อเมื่อเดือน มิ.ย. ปี 2563

  • การใช้ LAAB ในต่างประเทศ

ปัจจุบันการใช้ LAAB มีทั้งการป้องกันโควิด และการรักษา โดยการใช้เพื่อการป้องกันการติดเชื้อโควิดนั้น มีอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป รัสเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และประเทศไทย ส่วนประเทศที่ใช้ LAAB ในการรักษาโควิด19 แบบคนไข้นอก มียุโรป สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ส่วนประเทศไทยในอนาคตอาจมีคำแนะนำการรักษาตามมา

สำหรับคำแนะนำการให้ LAAB เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยกรมควบคุมโรค ระบุว่าให้ใช้ได้ตั้งแต่ผู้ที่อายุมากกว่า หรือเท่ากับ 12 ปี มีน้ำหนัก 40 กิโลกรัม โดยกลุ่มเป้าหมาย กำหนดเป็นผู้ป่วยไตวายที่ได้รับการปลูกถ่ายไต และได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยไตวายที่ได้รับการฟอกเลือด ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน และผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

  • หากรับ LAAB ถ้าต้องการฉีดวัคซีนโควิดเว้นระยะห่างอย่างไร?

ไม่ได้มีข้อห้ามว่า ต้องเว้นระยะห่างเท่าไหร่ แต่ก็มีข้อมูลจากการศึกษากลุ่มย่อย โดยพบว่า คนไข้ที่รับ LAAB เมื่อมารับวัคซีนโควิดก็พบว่า ภูมิคุ้มกันขึ้นได้

“ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยการใช้ LAAB มีการรวบรวมข้อมูลจากคนอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่เด็กยังไม่มีการใช้ เพียงแต่มีการสร้างโมเดลและเทียบเคียงกับเด็กอายุน้อยลงมา เป็นวัยรุ่น จึงมีคำแนะนำให้ใช้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ และในเรื่องน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัมสามารถใช้ได้” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว

  • ย้ำลูกหลาน 6 เดือน และ<5 ปีฉีด “ไฟเซอร์ฝาแดงเข้ม” ต.ค.นี้

พญ.ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า สำหรับวัคซีนในเด็กอายุ 6 เดือนจนถึงน้อยกว่า 5 ปี ที่ใช้ในประเทศไทยนั้น จะมีวัคซีนไฟเซอร์เข้าในช่วงเดือนตุลาคม

โดยวัคซีนมีรูปลักษณ์เปลี่ยนไป คือ ฝาสีแดงเข้ม ขวดก็แดงเข้มเช่นกัน จะทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแยกง่ายขึ้น โดยวัคซีนชนิดนี้ต้องผสมตัวทำละลายตามที่กำหนด ซึ่ง 1 ขวดฉีดได้ 10 โดส หรือ 10 คน โดยมีขนาดโดสละ 0.2 มิลลิลิตร (3 ไมโครกรัม) ซึ่งถือว่าปริมาณน้อย โดยต้องฉีดจำนวน 3 เข็ม คือ เข็ม 1 และเข็ม 2 ห่างกัน 3-8 สัปดาห์ ที่แนะนำคือ 4 สัปดาห์ ส่วนเข็ม 2 และ เข็ม 3 ให้ฉีดได้ตั้งแต่ 8 สัปดาห์ขึ้นไป

พญ.ปิยนิตย์ กล่าวอีกว่า สำหรับอาการข้างเคียงไม่รุนแรง มีความปลอดภัยดี โดยส่วนใหญ่จะเจ็บบริเวณที่ฉีด มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร โดยอาการข้างเคียงเหมือนกันทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 และเข็ม 3 ไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรงในการศึกษาที่ผ่านมา แต่มีบางคนที่ขึ้นผื่น ตัวบวมจากการแพ้ แต่ไม่มีอาการรุนแรงช็อก

อย่างไรก็ตาม จำนวนตัวอย่างที่ศึกษาที่ผ่านมาไม่ได้มากเท่ากับการใช้จริง ซึ่งก็ต้องมีการติดตามต่อไป และหลังฉีดเบื้องต้นต้องติดตามอาการ 15 นาทีเป็นอย่างน้อย

“จากการศึกษาภูมิคุ้มกันพบว่า ฉีด 2 เข็มภูมิฯไม่สูงมากนัก จึงแนะนำว่า ต้องฉีด 3 เข็ม ซึ่งจะทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลยังพบว่า หลังการฉีดมีการติดตามกลุ่มตัวอย่างพบว่า ฉีดครบ 3 เข็ม อย่างน้อย 7 วันพบประสิทธิผล ลดการติดเชื้อได้ประมาณ 75-80% แต่อันนี้เป็นการศึกษาช่วงหลังฉีดใหม่ๆ ซึ่งประสิทธิผลการป้องกันติดเชื้อลดลงเร็วมาก จึงอย่าหวังเรื่องป้องกันติดเชื้อ แต่เราหวังป้องกันอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิตมากกว่า” พญ.ปิยนิตย์ กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มเด็กที่ควรเข้ารับวัคซีน คือ กลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง ซึ่งเป็นไปตามข้อแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กอ้วน เด็กที่มีโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืด เด็กที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มโรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ ฯลฯ

“มีข้อควรระมัดระวัง โดยเด็กและวัยรุ่นที่เคยมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่สัมพันธ์กับการฉีดวัคซีน mRNA มาก่อน ก็ให้เลื่อนการฉีดเข็มถัดไปไปก่อน แต่กรณีนี้ที่ผ่านมาไม่เคยพบในเด็กเล็ก ขอย้ำว่า การรับวัคซีนเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก ไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการไปโรงเรียน” พญ.ปิยนิตย์ กล่าว 

พญ.ปิยนิตย์ กล่าวถึงกรณีมีคำถามว่า หากเด็กเล็กฉีดวัคซีนโควิด 1 เข็ม แต่ติดโควิดก่อนฉีดเข็ม 2 ยังต้องฉีดหรือไม่ และต้องห่างเท่าไหร่ ว่า หากเด็กติดเชื้อโควิด ให้บวก 3 เดือนไปก่อนค่อยฉีดเข็มถัดไป กล่าวคือ เว้น 3 เดือนค่อยฉีดอีกครั้งจนครบโดส

วัคซีนไฟเซอร์เด็กเล็กจะเริ่มฉีดในเดือนตุลาคมนี้ คาดว่าจะมีการกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ โดยทางจังหวัดจะเป็นผู้บริหารจัดการช่วงสัปดาห์หน้า หรือกลางเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งผู้ปกครองสามารถสอบถามได้ยังโรงพยาบาลใกล้บ้าน