แรงงานไทยสิงห์อมควัน 20.5% สูบหนัก 1-10 มวน/วัน พยายามเลิกแต่ไม่สำเร็จ 59%

แรงงานไทยสิงห์อมควัน 20.5% สูบหนัก 1-10 มวน/วัน พยายามเลิกแต่ไม่สำเร็จ 59%

เผยผลสำรวจ แรงงานไทยสิงห์อมควัน 20.5% สูบหนัก 1-10 มวน/วัน พยายามเลิกแต่ไม่สำเร็จถึง 59% สสส. สานพลัง เครือข่ายสถานประกอบการ HAPPY WORKPLACE หนุนสถานประกอบการปลอดบุหรี่ทั่วไทย 2,000 แห่ง คุ้มครองสุขภาพแรงงานกว่า 3 แสนคน

วันนี้ (5 ต.ค.2565) นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีเปิดงานสัมมนา “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ของแรงงานและการพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ให้โดนใจผู้ประกอบการ” ว่าเป็นข่าวดีที่อายุของคนไทยจะยืนยาวมากขึ้น ซึ่งผู้ชายจะมีอายุยืนไปถึง 71-73 ปี ผู้หญิงอายุยืน 78-82 ปี และในปี 2583 คนไทยจะอายุยืนยาวขึ้นอีก 3 ปี  ขณะที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า 70% ของวัยแรงงานป่วยจากกลุ่มโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น หัวใจ เบาหวาน มะเร็งและหลอดเลือด และในช่วงโควิด-19  กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยง 

  • "บุหรี่"เป็นต้นเหตุโรค NCDs ทำลายสุขภาพร่างกายทั้งระบบ

โดย สาเหตุของโรคNCDs คือ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกฮออล์ ไม่มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ และบุหรี่ยังทำลายสุขภาพร่างกายทั้งระบบ

“วัยทำงานมีผลต่อเศรษฐกิจมากที่สุด เพราะประเทศจะเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนได้มเนื่องจากคนกลุ่มนี้ ซึ่งในภาวะปัจจุบัน คนวัยทำงานต้องดูแลทั้งเด็ก และผู้สูงอายุ เป็นเสมือนแซนวิชที่ต้องดูแลทั้งข้างบนและข้างล่าง ทำให้คนกลุ่มนี้อาจจะมีภาวะความเครียดทั้งทางกายและใจ ขณะเดียวกันผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดปี 2562 พบว่า ประชากรวัยแรงงานสูบบุหรี่สูงที่สุด 21% หากต้องการให้อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลง จำเป็นต้องทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรวัยทำงานลดลงให้ได้"นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว 

 

  • สสส.หนุนส่งเสริมสุขภาพ สถานประกอบการปลอดบุหรี่

สสส. สนับสนุนสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานในสถานประกอบการ ตั้งแต่ปี 2551 เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการควบคุมการสูบบุหรี่ในสถานประกอบการอย่างเป็นรูปธรรม

ปัจจุบันสถานประกอบการเห็นความสำคัญการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพโดยเฉพาะบุหรี่ สุรามากขึ้น โดยสามารถพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ได้ 2,000 แห่ง คุ้มครองสุขภาพของแรงงานจากควันบุหรี่ได้กว่า 300,000 คน และช่วยให้แรงงานเลิกบุหรี่ได้สำเร็จกว่า 4,000 คน

“การขยายผลในระยะต่อไป สสส. จะเร่งผลักดันและส่งเสริมผู้ประกอบการในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น โดยสร้างกลไกให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ ที่ช่วยให้การป้องกันและควบคุมการสูบบุหรี่ของแรงงาน เช่น เครื่องมือ สื่อ ระบบให้บริการช่วยเลิกบุหรี่ และระบบส่งต่อการบำบัดเพื่อให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ โดยบูรณาการประเด็นการทำงานสร้างเสริมสุขภาพอื่นๆ ของ สสส. พร้อมขยายเครือข่ายการทำงานร่วมกับเครือข่าย Happy Workplace ที่มีมากกว่า 10,000 หน่วยงาน จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

 

  • ผลสำรวจวัยแรงงานในสถานประกอบการสูบบุหรี่ 20.5%

ดร.ศันสนีย์ กีรติวิริยาภรณ์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานในสถานประกอบการ กล่าวว่า ได้ สำรวจสถานการณ์และพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของแรงงานในสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ เดือนม.ค.-พ.ค. 2565 

  • แรงงานในสถานประกอบการสูบบุหรี่ 20.5%
  • เพศชายสูบบุหรี่สูงกว่าเพศหญิง
  • กลุ่มแรงงานที่มีระดับการศึกษาสูงจะสูบบุหรี่น้อยกว่ากลุ่มแรงงานที่มีการศึกษาต่ำกว่า
  • แรงงานส่วนใหญ่ 56% เริ่มสูบบุหรี่อายุ 16-20 ปี เพราะอยากลองและสูบตามเพื่อน
  • สูบบุหรี่โรงงาน 77% (สูบ 1-10 มวนต่อวัน) มีเพียง 8% ที่สูบทั้งบุหรี่โรงงานและบุหรี่ไฟฟ้า
  • มีแหล่งซื้อคือร้านค้าใกล้บ้านและร้านสะดวกซื้อทั่วไป
  • โดยพบการสูบในที่ทำงาน 70% แบ่งเป็น สูบในพื้นที่ที่บริษัทจัดไว้ให้ 87% และสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ 13% ซึ่งพบเห็นการสูบในที่ห้ามสูบ 21% และมีแรงงานที่คิดจะเลิกสูบสูงถึง 79%

ดร.ศันสนีย์ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจเลิกบุหรี่ คือ ครอบครัวอยากให้เลิก และเป็นห่วงสุขภาพ ขณะที่ยังมีแรงงานพยายามเลิกสูบแต่เลิกไม่สำเร็จ 59% ส่วนใหญ่พยายามเลิก 1-3 ครั้ง โดยใช้การเลิกด้วยตนเอง ไม่ขอคำปรึกษาจากหน่วยงานให้บริการช่วยเลิกสูบบุหรี่

  • เลิกบุหรี่ วิธีหักดิบ ได้ผลดีกว่าลดจำนวนมวนที่สูบ

การเลิกบุหรี่ นิยมใช้วิธีหักดิบ รองลงมาคือ ลดจำนวนมวนที่สูบ ส่วนสาเหตุที่เลิกไม่สำเร็จเพราะไม่สามารถเอาชนะความเคยชินได้ และเห็นคนอื่นสูบแล้วอยากสูบตาม

ทั้งนี้ ผลสำรวจนี้เป็นประโยชน์ให้สถานประกอบการมีข้อมูลการสูบบุหรี่ของแรงงานในสถานประกอบการของตน นำไปใช้ในการวางแผนดำเนินงานและออกแบบกิจกรรมช่วยให้สถานประกอบการตนเองปลอดบุหรี่ได้อย่างถูกต้อง และช่วยให้หน่วยงานราชการนำไปวางแผนพัฒนาการช่วยเหลือการเลิกบุหรี่ให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ