3 พฤติกรรมเรียนรู้ที่ได้ผล | วรากรณ์ สามโกเศศ

3 พฤติกรรมเรียนรู้ที่ได้ผล | วรากรณ์ สามโกเศศ

ไม่ว่าครูหรือพ่อแม่ได้ลองผิดลองถูกกันมายาวนานในการสร้างการเรียนรู้ และในด้านของผู้เรียนก็มีความเข้าใจผิดอยู่มากในเรื่องพฤติกรรมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้

 เมื่อมีความรู้จากการศึกษาและงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ของการเรียนรู้จากภาควิชาการจึงเป็นเรื่องน่ายินดีเพราะจะทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น   ล่าสุดมีผู้เสนอว่ามีอยู่ 3 พฤติกรรมของผู้เรียนที่ทำให้ประสบผลสำเร็จ       

 ข้อรำพึงที่น่าคิดก็คือ ถ้าเราไม่รู้และไม่เข้าใจว่ามนุษย์มีการเรียนรู้อย่างไรในเชิงวิทยาศาสตร์  แล้วเราจะสอนหรือสร้างการเรียนรู้ที่ได้ผลอย่างไร   ผู้เขียนได้พบข้อเขียนใหม่ในเรื่องที่สนใจอยู่จึงขอนำมาเสนอต่อ (Psychology Today, Regan Gurung, Posted September 12, 2022. “Do it for Your Brain : 3 Habits That Improve Learning”)

ผู้เรียนหนังสือส่วนใหญ่มีทัศนคติ    ความคิด   ความเชื่อและพฤติกรรมที่ผิดจนทำให้เกิดนิสัยในการเรียนรู้ที่ไม่ได้ผลในระยะยาว    มักคิดว่าไม่ต้องจดเนื้อหาสิ่งที่ต้องเรียนรู้ก็ได้ เพราะอัดเทปไว้แล้ว        ทุกอย่างอยู่ในหนังสือ    ไม่ต้องเข้าห้องเรียน    เพราะมีทุกอย่างพร้อมแล้ว     รายละเอียดวัตถุประสงค์ของวิชาที่เรียนก็ไม่ต้องอ่านเพราะยังไงก็ได้ยินระหว่างการบรรยาย  เพียงแค่ดูหนังสือหนักคืนสองคืนก่อนสอบก็ผ่านแล้ว

        สมองของมนุษย์เป็นสิ่งอัศจรรย์   เรามีจำนวนเซลล์สมอง หรือนิวรอน (neurons) ทั้งหมดอยู่ประมาณ 128 พันล้าน และเราใช้มันทั้งหมด (จากการค้นพบล่าสุดซึ่งตรงข้ามกับที่เคยเชื่อกัน)    งานวิจัยด้านจิตวิทยา  ด้านการทำงานของสมองและ Neuro-Science ตลอดจนศาสตร์ด้านการเรียนการสอน

พบว่าการเรียนรู้ซึ่งเกิดขึ้นข้ามระยะเวลาถูกควบคุมด้วยหลายส่วนของสมอง   หลักสำคัญก็คือต้องพยายามให้การเรียนรู้ใหม่ย้ายจากความจำในระยะสั้น (WM-Working Memory) ไปสู่ LTM (Long-Term-Memory)

3 พฤติกรรมเรียนรู้ที่ได้ผล | วรากรณ์ สามโกเศศ

WM มีความสามารถในการเก็บรักษาที่จำกัด และเก็บได้เป็นระยะเวลาสั้น   ในขณะที่ LTM มีขนาดใหญ่กว่ามากในการเก็บรักษาและอยู่ได้เป็นระยะเวลายาวนาน    

งานวิจัยล่าสุดพบว่าสำหรับ WM ของมนุษย์สามารถจำได้เพียง 4 ชิ้นของสารสนเทศทันทีโดยใช้ส่วนของสมองที่เรียกว่า Hippocampi  และถ่ายทอดไปสู่ LTM  ซึ่งมี neurons ซ้อนตัวกันอยู่หลายชั้นดังมีชื่อเรียกว่า Neocortex  พื้นที่แห่งนี้เป็นสถานที่ ๆ การเรียนรู้ใหม่จะถูกเก็บรักษาไว้  

 การย้ายการเรียนรู้จาก WM สู่ LTM อาศัย 3 พฤติกรรม  ดังต่อไปนี้
        (1)  ให้ความสนใจ  ส่วนนี้เป็นหัวใจของการเรียนรู้    ถ้ายิ่งให้ความสนใจน้อยเท่าใดในการเรียนรู้ในห้องเรียน   ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้น้อยยิ่งขึ้นในการถ่ายโอนการเรียนรู้จาก WM สู่ LTM    การเข้าห้องเรียนและให้ความสนใจแก่สิ่งที่ต้องเรียนรู้เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จของการเรียนรู้    การฟังคำสอนบรรยายจากเทปไม่อาจทดแทนได้

เพราะขาดบรรยากาศของการเรียนรู้ในห้อง และขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมการเรียนรู้ ซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างความสนใจเนื้อหาของการเรียนรู้ในภาพรวม    การเข้าห้องเรียนเป็น “พิธีกรรม” ที่ปลุกเร้าความสนใจในการเรียนรู้ และการให้ความสำคัญแก่การเรียนรู้       

 (2)  จดบันทึก   ส่วนนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเข้าใจเนื้อหาของการสอนและถ่ายโอนจาก WM สู่ LTM ในการฟังและจดบันทึก ผู้เรียนต้องฟัง   คิด  และถ่ายทอดออกมาเป็นเนื้อหาเพื่อบันทึก  การสร้างความเข้าใจสิ่งที่เรียนรู้ในลักษณะนี้จะช่วยให้กระบวนการถ่ายโอนสะดวกและง่ายยิ่งขึ้น
        การจดบันทึกกินความถึงเรื่องการจดเนื้อหา    การสร้างผังความคิด และการวิเคราะห์การ  โยงใยของประเด็นความรู้จากสิ่งที่ได้อ่านจากหนังสือหรือข้อเขียน    ซึ่งทั้งหมดนี้ประกอบกันเป็นการจัดรูปแบบการเรียนรู้ที่เป็นระเบียบซึ่งทำให้การถ่ายโอนสู่ LTM เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

3 พฤติกรรมเรียนรู้ที่ได้ผล | วรากรณ์ สามโกเศศ

        (3)  ย้อนกลับสู่การตรวจสอบ    นักวิทยาศาสตร์การเรียนรู้เห็นพ้องต้องกันว่าวิธีการที่ดีในการศึกษาเล่าเรียนก็คือการเรียนรู้อีกครั้งอย่างต่อเนื่อง (successive relearning)   องค์ประกอบสำคัญในเรื่องนี้ได้แก่การตรวจสอบกับตนเอง   เช่น   การทำแบบฝึกหัดหรือการทำข้อสอบว่าได้เรียนรู้อะไรไปบ้างอย่างบ่อยครั้งโดยเว้นระยะห่าง    

การตอกย้ำเรียนรู้สิ่งที่ได้เรียนรู้ไปแล้วอย่างต่อเนื่องจะช่วยทำให้ neurons ซึ่งเป็นตัวแทนของการเรียนรู้สามารถปรับตนเองให้ยึดติดแน่นกับ neurons อื่น ๆ ยิ่งขึ้น ซึ่งยิ่งยึดแน่นเพียงใดก็จะช่วยในเรื่องความจำเพียงนั้น

        การฝึกฝนนำข้อมูลของสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปแล้วกลับมาเรียนรู้อีกครั้ง เป็นหนทางหนึ่งที่ดีที่สุด ที่จะช่วยให้สมองของเราสามารถถ่ายโอนจาก WM สู่ LTM  ซึ่งถึงขั้นตอนนี้แล้ว ยากที่จะลืมเลือนได้  

ความสำเร็จของการเรียนรู้ทุกอย่างโยงใยอย่างสำคัญกับความจำเสมอ    ยิ่งฝึกฝนเช่นนี้มากเท่าใดข้ามช่วงเวลา    ความจำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาก็จะยิ่งดีขึ้นและช่วยให้บรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้

        ทั้ง 3 พฤติกรรมหรือ 3 นิสัยข้างต้นคือหัวใจของการเรียนรู้อย่างได้ผล    เด็กที่ได้รับการสร้างนิสัยดังกล่าวแต่ยังเยาว์วัย    มีความเป็นไปได้สูงที่จะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ หรือที่เรียกกันว่า    “เรียนเก่ง” ในชีวิต

        หากย้อนกลับไปดูการลองผิดลองถูกในการสร้างการเรียนรู้ (กินความกว้างขวางกว่าการสอนเพราะครอบคลุมถึงการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้   วิธีการเรียนรู้    บทบาทของผู้สอน     การมีบทบาทร่วมของผู้เรียน   ฯลฯ)   ก็จะพบว่ามนุษย์มิได้พลาดเป้ามากมายนัก     เพียงแต่ขาดการให้น้ำหนักของความสำคัญแต่ละด้าน     ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะช่วยทำให้กระบวนการเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

        การให้ความสนใจ     การจดบันทึก และการย้อนกลับสู่การตรวจสอบ  คือ  3 พฤติกรรมสำคัญที่จะช่วยให้กระบวนการสร้างการเรียนรู้ประสบผลสำเร็จเมื่อพิจารณาจากทั้ง 2 ฝั่ง คือ  ผู้สร้างและผู้รับการเรียนรู้.