ภาษาไทยและความเสื่อม | วรากรณ์ สามโกเศศ

ภาษาไทยและความเสื่อม | วรากรณ์ สามโกเศศ

“29 กรกฎาคม” เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้น และปลุกจิตสำนึกของคนไทยให้เห็นความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย วันนี้ลองมาดูแง่มุมที่อยู่เบื้องหลังกัน

เรื่องแรก 
หมอ: เอางี้คุณกินยาดับเบิ้ลเลย เพิ่มสองเท่า 
คนไข้: ผมกินอยู่ 2 เม็ดแล้วให้เป็น 6 เม็ดหรือ 
หมอ: เปล่า ๆ จาก 2 กินเป็น 4 คุณกินยังไง 
คนไข้: ผมกิน-ค้าง-คาว 
หมอ: ผมถามเรื่องยา 
คนไข้: ก็ผมกินยาเป็นคั้ง เป็นคาว

เรื่องที่สอง 
พนักงานบนเครื่องบิน: เพื่อ-คาม-ปอด-ภัย-ตาม-มาต-ตา-ถาน-กาน-บิน-ที่สูงของบริษัทเลา ขอ ปะ-กาด ว่า..

เรื่องที่สาม 
ผู้สัมภาษณ์: พูดอะไรที่เป็นบวกเกี่ยวกับบริษัทเราหน่อย 
ผู้เข้าสัมภาษณ์: ผม-ลู้-สึก-ปาบ-ปื้ม-ที่ได้เห็น-กาน-ปับ-ปุง-เปี่ยน-แปง

เหตุการณ์ชวนหัวเราะทั้งสามนี้เป็นเรื่องการสื่อสารระหว่างคนไทยที่อาจทำให้เกิดปัญหา เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี ขาดความศรัทราและความน่าเชื่อถือ ทั้งหมดนี้ ผูกโยงอยู่กับประเด็นของการมีมาตรฐาน

ภาษาไทยและความเสื่อม | วรากรณ์ สามโกเศศ

เรื่องแรก การเอาคำ double ในภาษาอังกฤษมาใช้ในภาษาไทย และแปลว่า “สองเท่า” เช่นจาก 2 เป็น 6 (2+2 เท่าของ 2) จนเข้าใจผิด ทั้งที่จริงแล้วคือ “หนึ่งเท่า” คือ 4 (2+2) ถ้าไม่มีพจนานุกรมที่มีคำแปลอันเป็นมาตรฐานแล้วก็อาจเกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน นอกจากนี้การพูดที่ไม่มีคำกล้ำและการออกเสียงตัว “” อย่างต่างไปจากมาตรฐานในการออกเสียงอาจทำให้เกิดปัญหาในการเข้าใจกันได้

เรื่องที่สอง คำประกาศตั้งใจให้ผู้โดยสารรู้สึกปลอดภัย แต่เมื่อได้ยินแล้วอาจรู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะแม้แต่คำประกาศยังออกเสียงไม่เป็นมาตรฐาน แล้วการบินจะมีมาตรฐานได้อย่างไร 

เรื่องที่สาม ถ้าผมเป็นผู้สัมภาษณ์ ผมก็ไม่รับแน่นอน เพราะแม้แต่การพูดภาษาไทยง่าย ๆ ยังไม่มีมาตรฐาน ความรู้ความสามารถที่รองรับโดยปริญญาจะเชื่อถือได้แค่ไหน มีคู่แข่งอีกหลายคนที่พูดได้อย่างถูกต้อง แสดงว่าได้รับการฝึกฝนอบรมมาดีกว่า น่าจะสามารถพัฒนา “ปับปุง” ให้เป็นทีมงานที่มีคุณภาพได้ในอนาคต พูดง่าย ๆ ก็คือ ต้องการผู้สมัครที่ส่อแววว่ามีมาตรฐาน

เหตุใดอะไร ๆ ก็ใช้มาตรฐานเป็นตัวตัดสิน ลองคิดดูถ้าสายการบินไม่มีมาตรฐาน นักบินไม่มีการฝึกอบรมอยู่เสมอ ไม่มีการตรวจสุขภาพ ไม่ได้สอบผ่านเข้ามาหากใช้เส้นสาย การดูแลรักษาเครื่องบินก็ไม่เป็นไปตามมาตราฐานที่เขากำหนดไว้ และสำหรับถนน ถ้าไม่ปฎิบัติตามมาตรฐานของวิศวจราจรที่กำหนดไว้สำหรับถนนลักษณะต่าง ๆ ทั้งหมดก็คือ การคืบคลานไปสู่อุบัติเหตุ ดังนั้น การขาดมาตรฐานก็คือการเดินไปสู่อันตรายนั่นเอง

ภาษาเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เพื่อการสื่อสารระหว่างสมาชิกชุมชน กล่าวคือ พูดกันรู้เรื่องและเข้าใจตรงกัน ต่อมาเมื่อมีการใช้กันกว้างขวางขึ้น สังคมใหญ่โตขึ้นโดยมีวัฒนธรรมอื่น ๆ เข้ามาปนเปมากขึ้น อีกทั้งรสนิยมและความเชื่อของสมาชิกมีความหลากหลายมากขึ้น 

ภาษาไทยและความเสื่อม | วรากรณ์ สามโกเศศ

(ภาพถ่ายโดย Markus Winkler)

ความจำเป็นในการสร้างมาตรฐานเพื่อช่วยให้เกิดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจึงเกิดขึ้น เช่น การมีไวยากรณ์ การสะกดคำ การออกเสียงที่มีเสียงกล้ำตัว “ร” และ “ล” ตามหลักภาษาไทย การมีพจนานุกรม การบันทึกการออกเสียงของสถานที่เฉพาะ (เช่น อำเภอ จักราช โคราช อ่านว่า”จัก-กะ-หราด “/ อำเภอแม่สรวย เชียงราย อ่านว่า “แม่สวย”) ฯลฯ

ถ้าภาษาขาดมาตรฐานแล้ว รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ กฎกระทรวง เอกสารต่าง ๆทางกฎหมาย คำตัดสินของศาล คำสั่งศาล สัญญา พินัยกรรม ข้อความสื่อสารถึงกันของสมาชิกสังคม ฯลฯ ก็จะเกิดความยุ่งยากมากเพราะอ่านแล้วเข้าใจไม่ตรงกัน นี่คืออันตรายอย่างยิ่งของทุกภาษาในโลก ภาษาซึ่งเกิดขึ้นเพื่อความสะดวกของมนุษย์อาจกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาสังคมไปได้หากสังคมไม่ใส่ใจ ไม่เห็นความสำคัญและคุณค่าในการสร้างมาตราฐานและปฎิบัติตาม

อีกแง่มุมหนึ่งก็คือ มาตรฐานของสังคมที่เกิดขึ้นในใจของสมาชิก ทุกสังคมล้วนคาดหวังการมีมาตรฐานของผู้นำในทุกภาคส่วน ในทุกระดับ การยอมรับคนเหล่านี้ผูกโยงกับการมีมาตรฐาน มีวัตรปฏิบัติที่งดงาม มีจริยธรรม โดยเฉพาะความเหมาะสมในการใช้ภาษา

ตัวอย่างที่ไม่สร้างการยอมรับ เช่น ครูใช้คำหยาบคายกับนักเรียน หัวหน้าพูดจาข่มขู่ลูกน้อง อธิบดีพูดไม่มีเสียงกล้ำและ ”ร” เลย สาวขายของชนิดพูดคำด่าคำโดยมีสารพัดสัตว์และดอกไม้เป็นมิตรสนิท กลุ่มนักศึกษาสาวใส่เครื่องแบบน่าศรัทธาแต่พูดมึงกูกันในที่สาธารณะ ผู้ที่พูดจาหยาบคาย ขาดความสุภาพและความเคารพผู้อื่น ฯลฯ

บางคนอาจเห็นว่าจะพูดอย่างไรก็ได้ มันเป็นเสรีภาพของเรา ไม่เห็นต้องคำนึงถึงมาตรฐานต่าง ๆ ที่สังคมกำหนดขึ้นมาเป็นพันธนาการ แต่ความจริงก็คือการกระทำเป็นเสรีภาพที่ห้ามกันไม่ได้ก็จริงอยู่ แต่ผู้ฟังก็มีเสรีภาพในใจที่จะยอมรับ เชื่อถือ และศรัทธาผู้พูดเช่นกัน การต้องกระทำตามกติกาของสังคมจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตามตราบที่ต้องการอยู่ในสังคมอย่าง “อยู่รอดและอยู่ดี

ปัจจุบันการใช้คำหยาบดูจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสังคมไทยโดยเฉพาะในหมู่ผู้ใหญ่และเยาวชนบางกลุ่ม เราเห็นการใช้เป็นปกติในโซเซียลมีเดียและในที่สาธารณะ การรู้จักกาลเทศะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมีมาตรฐานในการใช้ภาษาของเรากำลังเปลี่ยนไป 

คำหยาบนั้นมีในทุกภาษาแต่กาลเทศะของการใช้เป็นเรื่องสำคัญ การใช้เฉพาะในกลุ่มของตนอย่างไม่หลุดรอดออกไปในสาธารณะนั้นเป็นที่ยอมรับได้ ผลเสียของการใช้ในที่สาธารณะก็คือ ผู้ใช้จะเสียหายเองและมีผลเสียต่อเยาวชนที่ได้ยินอย่างคุ้นเคยและเลียนแบบการใช้คำหยาบนั้นมีผลกระทบทำให้จิตใจหยาบกระด้าง ลดความอ่อนโยนและละเอียดอ่อนของจิตใจ มันทำให้ห่างไกล “ความดี ความงาม ความจริง ความเจริญ” ซึ่งเป็นหัวใจของความเป็นอารยชน

ยังดีที่ในขณะนี้การใช้คำหยาบในที่สาธารณะของสังคมเรานั้นยังสามารถทำให้ผู้ได้ยินบางส่วนหมดความศรัทธา และเชื่อถือผู้ใช้อยู่ แต่ถ้าเราปล่อยให้เป็นไปในทิศทางแห่งความหยาบคายมากขึ้นโดยไม่ช่วยกันแก้ไขแล้ว แต่ละวันเราก็จะได้ยินแต่ภาษาพ่อขุน การเอ่ยถึงบุพการี โรคร้าย สารพัดสัตว์ ฯลฯ อย่างเป็นเรื่องปกติและอย่างไม่คิดว่าผู้ใช้มีชีวิตเติบโตมาอย่างไร เราอยากเห็นสังคมไทยเราเป็นเช่นนี้หรือ

ในวันภาษาไทยเราควรคำนึงถึงการมีและการกระทำตามมาตรฐานในการใช้เพื่อหลีกหนีอันตรายร้ายแรงที่สุดซึ่งได้แก่การด้อยความสามารถของภาษาไทยในการสร้างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างคนไทยด้วยกันเอง