ไขข้อสงสัย ทำไม "การนอน" จึงสำคัญ ? ปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม

ไขข้อสงสัย ทำไม "การนอน" จึงสำคัญ ? ปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม

"ปัญหาการนอน" เรียกว่าเป็นปัญหาระดับโลก ทั่วโลกมีคนที่มีปัญหาการนอน 10-30% ไม่เพียงแค่อาการ "นอนไม่หลับ" เท่านั้น แต่ยังมีภาวะนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ และอาการอื่นๆ เช่น ขากระตุก ละเมอ ฯลฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว

ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่มีชีวิตไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป หลายคนใช้เวลากับการทำงาน กิจกรรมต่างๆ จนละเลยเรื่องการนอน มองเรื่อง "การนอน" เป็นเรื่องเล็ก การนอนที่มีคุณภาพต้อง 1 ใน 3 หรือ 7-8 ชั่วโมง ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายสดชื่น และแข็งแรง หากนอนไม่ดี จะส่งผลให้ตื่นมารู้สึกไม่สดชื่น หงุดหงิด ขาดสมาธิ และสำคัญ คือ เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดหลายๆ โรค

 

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 “นพ. เขษม์ชัย เสือวรรณศรี” รองประธานอาวุโสปฏิบัติการด้านการแพทย์ และแพทย์ชำนาญการด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวในงานแถลงข่าวออนไลน์ The Hidden Impact of Sleep พร้อมเปิดตัว ‘Comprehensive Sleep Clinic’ คลินิกคุณภาพการนอนหลับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โดยระบุว่า ความสำคัญของการนอน มีหลายคนมองว่าเป็นปัญหาระดับชาติ แต่ความจริงเป็นปัญหาระดับโลก ทั่วโลกมีคนที่มีปัญหาการนอน 10-30%

 

คนไทย 19 ล้านคน นอนไม่หลับ

 

ส่วนประเทศไทย 70 ล้านคน มีปัญหา “นอนไม่หลับ” กว่า 30-40% หรือราว 19 ล้านคน นับเป็นปัญหาที่เจอบ่อยเมื่อเทียบกับโรคอื่น นอกจากนี้ ยังมีผลต่อสุขภาพหลายอย่าง และหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองเป็น เพราะปัญหาการนอนไม่ใช่แค่นอนไม่หลับ แต่พบการหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะนี้ทำให้เกิดโรคตามมา รวมถึงอุบัติเหตุในท้องถนน ในสหรัฐพบว่า 1 ปี มีอุบัติเหตุเกิดจากความง่วง 1 แสนราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตราว 1,500 ราย

 

“ปัญหาสำคัญ คือ หลายคนไม่รู้ว่าตัวเองเป็น คลินิกคุณภาพการนอนหลับ ไม่ใช่แค่วินิจฉัย แต่คัดกรอง เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้เพราะการนอนที่มีคุณภาพสำคัญ โรคของการนอนไม่หลับไม่ใช่แค่นอนไม่หลับ หรือหยุดหายใจ แต่มีขากระตุก ละเมอ กรน ฯลฯ มีทุกรูปแบบ ไม่ใช่แค่เฉพาะคนไข้แต่เป็นปัญหาคนรอบข้างด้วย”

 

ไขข้อสงสัย ทำไม \"การนอน\" จึงสำคัญ ? ปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม

กลุ่มเสี่ยงควรพบแพทย์ 

 

สำหรับ กลุ่มที่มีความเสี่ยงและควรมาปรึกษาแพทย์ เป็นอันดับต้นๆ คือ

1.กลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไตวาย โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคความจำเสื่อม โรคอ้วน หรือมีดัชนีมวลกาย (BMI) เกิน 30 ขึ้นไป ซึ่งคนที่มีโรคประจำตัวดังกล่าว จะมีโอกาสสูงถึง 50% ที่จะมีภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย

2.กลุ่มที่มีภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ

3.กลุ่มที่มีอาการง่วงนอนสูงในระหว่างวัน

4.กลุ่มที่มีอาการนอนไม่หลับ เช่น สัปดาห์หนึ่งเกิน 3 วัน นานติดต่อกันเกิน 1 - 3 เดือน ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ หรือกลุ่มที่ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิม หรือมีภาวะอารมณ์ผิดปกติ หรือภาวะซึมเศร้า

 

ไขข้อสงสัย ทำไม \"การนอน\" จึงสำคัญ ? ปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม

 

นอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ เสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง

 

ข้อมูลสถิติรายงานว่า ผู้ที่มีภาวะนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ จะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่า ภายในระยะเวลา 10 ปีหากไม่ได้รับการรักษา อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่สอดคล้องกัน รายงานว่ากลุ่มที่ป่วยเป็น โรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือโรคหลอดเลือดสมองแตก จะมีโอกาสเกิดภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับสูงถึง 50 - 90%

“พญ. ดารกุล พรศรีนิยม” แพทย์ชำนาญการด้านประสาทวิทยาและเวชศาสตร์การนอนหลับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า ภายในเวลา 10 ปี หากไม่ได้รับการรักษาภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ จะเพิ่มโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เนื่องจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1. การที่มีระดับออกซิเจนต่ำเป็นพักๆ ขณะหลับ

2. วงจรการนอนไม่ดี ทำให้คลื่นสมองตื่นบ่อย

3. ระบบหัวใจและหลอดเลือดมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องด้วยช่วงที่หยุดหายใจจะเป็นช่วงที่มีความดันโลหิตขึ้นสูง ชีพจรเต้นเร็วขึ้น บางคนมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย หัวใจต้องบีบตัวแรงขึ้นเพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงสมอง เพื่อช่วยเพิ่มระดับออกซิเจนในสมอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายๆ รอบ ทุกคืน เป็นระยะเวลานาน จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบหัวใจและหลอดเลือด

 

อย่างไรก็ตาม ภาวะ นอนกรน ยุดหายใจขณะหลับจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น เมื่อมีภาวะอ้วนร่วมด้วย มีอายุที่มากขึ้น รวมถึงหากเป็นผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน อายุประมาณ 50 - 55 ปี ก็จะมีภาวะหยุดหายใจเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เพราะในช่วงอายุที่มีประจำเดือน ร่างกายจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ช่วยทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมแข็งแรง แต่พอฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงหรือหมดไป กล้ามเนื้อหลอดลมก็จะแฟบลง ทำให้มีการนอนกรนหยุดหายใจมากขึ้น 

 

ไขข้อสงสัย ทำไม \"การนอน\" จึงสำคัญ ? ปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม

 

การตรวจ Sleep Test ด้วยระบบคอมพิวเตอร์

 

ด้าน พญ. เบญจมาศ อินทรโภคา แพทย์ชำนาญการด้านโรคระบบหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ปัญหาการนอนที่พบบ่อยมากที่สุดและมาปรึกษาแพทย์ที่ ‘คลินิกคุณภาพการนอนหลับ’ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ คือ ภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ รองลงมา คืออาการนอนไม่หลับ โดยเบื้องต้นแพทย์จะทำการประเมินซักถามผู้ป่วย และทำการวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุ

 

โดยส่วนใหญ่แพทย์จะทำการ ตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐาน (Gold Standard) แม่นยำ ในห้องปฏิบัติการตรวจการนอนหลับในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1 คืน มีเจ้าหน้าที่ดูแลสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดตลอดทั้งคืน เพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ

1. ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อลูกตา ใต้คาง และขา คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทำให้ทราบว่าหลับตื้นหรือหลับลึก วงจรการหลับเป็นปกติหรือไม่ หรือการนอนมีคุณภาพที่ดีเพียงพอหรือไม่

2. ตรวจวัดลมหายใจ ว่าหายใจปกติหรือไม่ หรือหายใจแผ่ว หรือมีการหยุดหายใจขณะหลับ

3. ตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด ว่าค่าออกซิเจนอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ บางคนหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งกรณีที่มีค่าออกซิเจนต่ำลงมาก จะมีความเสี่ยงทำให้อวัยวะในร่างกายไม่ทำงาน และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 

ไขข้อสงสัย ทำไม \"การนอน\" จึงสำคัญ ? ปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม

 

รักษานอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ด้วย CPAP

 

ขณะเดียวกัน การรักษาภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ มากกว่า 95% แพทย์ทั่วโลกนิยมรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกเพื่อขยายช่องทางเดินหายใจ ซีแพพ (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP) ซึ่งทางการแพทย์ถือว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยหลักการปล่อยให้แรงดันอากาศเปิดช่องคอที่แฟบให้เปิดขยาย ทำให้ไม่เกิดการอุดกั้นเวลาหายใจขณะที่นอนหลับ โดยไม่ต้องผ่าตัด วิธีนี้สามารถรักษาภาวะนอนกรน และภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับได้ทุกระดับอาการ

 

ข้อดีคือ ผู้ป่วยไม่นอนกรน ไม่หยุดหายใจขณะหลับ ส่งผลให้วงจรการนอนกลับมาเป็นปกติ โดยหลังการรักษาแล้ว ผู้ป่วยจะมีคุณภาพการนอนที่ดีขึ้น นอนได้เต็มอิ่ม ตื่นมารู้สึกสดชื่น อารมณ์ดี มีสมาธิดีขึ้น ความจำดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้โรคต่างๆ ที่เคยเป็นมีอาการที่ดีขึ้นตามไปด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เพราะการคุมเบาหวานจะดีขึ้น น้ำหนักลดลงโดยอัตโนมัติ เพราะการนอนที่ดีจะช่วยให้ร่างกายมีการเผาผลาญที่ดี และระบบของร่างกายจะมีความสมดุลมากขึ้น ที่สำคัญ การรักษาด้วยวิธี CPAP ยังเป็นการป้องกันโรคที่ยังไม่เกิดขึ้นได้อีกด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

 

“การใส่ CPAP ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก ดังนั้น ช่วงแรกที่เริ่มใส่จะให้คนไข้ฝึกจากแรงดันต่ำ เพื่อให้ทนแรงดันได้ หลังจากนั้นก็กลับมาปรับแรงดันใหม่ ในแต่ละคนการตอบสนองต่างกัน สัปดาห์แรกจะเห็นผลเลยว่าคุณภาพการนอนต่างจากเดิม แต่ที่เห็นชัดเจน คือ ความดัน เบาหวาน จะเริ่มลงจาก 2-3 อาทิตย์แรก”

 

ไขข้อสงสัย ทำไม \"การนอน\" จึงสำคัญ ? ปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม

 

ปัญหาการนอน ด้วยอาการอื่น

 

สำหรับ ผู้ที่มีปัญหาการนอนด้วยอาการอื่นๆ อาทิ นอนไม่หลับ นอนกัดฟัน นอนขากระตุก นอนละเมอเดินละเมอพูด โรคลมหลับ ง่วงนอนกลางวันผิดปกติ หรือภาวะนอนไม่หลับในเด็ก “ศ.นพ.ชัยรัตน์ นิรันตรัตน์” แพทย์ชำนาญการด้านหู คอ จมูกและเวชศาสตร์การนอนหลับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า จะต้องพบแพทย์ชำนาญการ เพื่อประเมินซักถาม หรือตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุ และส่งมอบให้แพทย์เฉพาะทางเพื่อการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ยกตัวอย่างกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็กและไม่สามารถใส่เครื่อง CPAP ได้

 

รวมถึงผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ เป็นไซนัส จมูกคด ใบหน้าผิดปกติ หรือมีเพดานอ่อนหรือลิ้นไก่ยาวผิดปกติ ก็จะมีการส่งผู้ป่วยเพื่อเข้ารับรักษาที่ศูนย์หู คอ จมูก, ศูนย์ทันตกรรม หรือศูนย์สุขภาพทางจิต ซึ่งบำรุงราษฎร์มีวิธีการรักษาที่หลากหลาย เช่น การรักษาด้วยยา การรักษาด้วยคลื่นวิทยุ การผ่าตัดปกติและการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ การผ่าตัดต่อมทอนซิล การใส่เครื่องมือทางทันตกรรม การจัดฟัน ดึงกราม หรือการปรับความคิดและพฤติกรรมบำบัด

 

ไขข้อสงสัย ทำไม \"การนอน\" จึงสำคัญ ? ปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม

 

“ทั้งนี้ เพื่อการรักษาแก้ไขให้ตรงจุดก่อน ซึ่งจะมีการติดตามผลการรักษา แต่หากยังพบปัญหาการนอนอยู่ โดยเฉพาะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์ก็จะทำการรักษาด้วยวิธี CPAP เป็นขั้นตอนของการรักษาต่อไป”

 

“จากข้อซักถามที่ว่า หากผอมลงช่วยให้นอนกรนดีขึ้นหรือไม่ จากงานวิจัย และจากการดูผู้ป่วยอาการจะดีขึ้นหากผอมลง ไม่หายแต่ดีขึ้นราว 30% ซึ่งไม่ว่าจะรักษาด้วย CPAP หรือ ผ่าตัด ทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาคงทนอยู่กับเราได้นาน ดังนั้น การลดน้ำหนัก การออกกำลังกายสำคัญ ต้องทำสม่ำเสมอ” ศ.นพ.ชัยรัตน์ กล่าว

 

ไขข้อสงสัย ทำไม \"การนอน\" จึงสำคัญ ? ปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม