มังกร ON AIR

มังกร ON AIR

แม้ไม่ได้ครองจอเหมือนเมื่อก่อน แต่หนังและละครจากแดนมังกรก็ยังมีที่ทางเสมอ

เลยจุดสูงสุดมานานแล้วสำหรับสื่อบันเทิงจากประเทศจีน ตั้งแต่หนังจีนกำลังภายในหลายเรื่องดัง มาจนถึงซีรีส์วัยรุ่นสุดฟินชวนจิกหมอนที่เคยสร้างกระแสถล่มทลายในไทยมาแล้ว แต่ท่ามกลางความท้าทายจากธุรกิจบันเทิงชาติอื่นๆ ที่กำลังตีตลาดบ้านเราอย่างหนัก วันนี้มังกรกำลังตื่นจากหลับใหล และอาจจะกลับมาผงาดเป็นเจ้าตลาดอีกครั้งก็ได้

  • เงียบงันบันเทิงจีน?

ตั้งแต่ผ่านพ้นยุคทองของสื่อบันเทิงจีน ความเงียบก็เข้าปกคลุม ความบันเทิงจากประเทศต่างๆ มากมายได้เข้ามาแทนที่ ทำให้ตลอดเวลานับ 10 ปี หนังและละครจีนคล้ายถูกแช่แข็งไว้เพียงการรับรู้ของคนไทยจำนวนหนึ่ง

Michelle Yim หรือที่คนไทยรู้จักในนาม หมีเซียะ นักแสดงหญิงระดับตำนานผู้เคยรับบท ‘อึ้งย้ง’ ในซีรีส์มังกรหยก (พ.ศ.2519) กล่าวในวันแถลงข่าวเปิดตัว MVHub บริการออนไลน์ตรีมมิ่งหนังและซีรีส์จีนในประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2562 ถึงความผูกพันของสื่อบันเทิงจีนที่มีกับคนไทยว่าเมื่อหลายปีก่อน แฟนคลับชาวไทยโตมากับหนังและละครฮ่องกง แม้ที่ผ่านมาระยะหลังจะไม่โด่งดังเหมือนอดีต แต่ปัจจุบันเสน่ห์ของความเป็นฮ่องกงยังมีในหนังและละครฮ่องกงทุกเรื่อง

เพียงแต่การแข่งขันของสื่อบันเทิงจากประเทศต่างๆ มีมากขึ้น คนจึงเลือกเสพได้หลากหลายขึ้น

“ทั่วทั้งเอเชียมีการแข่งขันมากแน่นอน แต่การแข่งขันเป็นเรื่องที่ดี เพียงไม่อยากให้เปรียบเทียบเพราะเป็นคนละคน ประเทศคนละประเทศ วัฒนธรรมที่แตกต่าง ภาษาที่แตกต่าง จึงอยากให้ทุกคนมาติดตามเรื่องราวและวัฒนธรรมเพื่อทำความเข้าใจใหม่”

ในโลกของวงการบันเทิง ความเงียบงันช่างน่ากลัว หากไม่ได้รับความสนใจมากเข้าก็อาจกลายเป็นหลุดวงโคจรได้เลย ในมุมมองของ ชัยยุทธ ทวีปวรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มวี เทเลวิชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงหนังและละครจีนมานานร่วม 40 ปี ถึงสื่อบันเทิงจากจีนจะเงียบไประยะหนึ่ง แต่ก็พอเข้าใจได้ในความเปลี่ยนแปลง

“บางครั้งซีรีส์หรือหนังแต่ละประเภทหรือแต่ละประเทศ พอมีเรื่องหนึ่งบูมขึ้นมาปั๊บมันก็จะดังๆ แล้วก็วอดไป แต่คำว่าซีรีส์จีนไม่มีคำว่า 'วอดไป' เพราะอะไร เพราะเกือบทุกบ้านมีคนจีน หรือมีเชื้อสายจีน ความนึกคิดหลายอย่างจึงยังเป็นจีนอยู่ เพียงแต่ว่าบางช่วงมีเรื่องอื่นบูมขึ้นมา ยกตัวอย่างเกาหลีก็บูมมาช่วงหนึ่งเหมือนไฟไหม้ฟาง แต่พอมอดปุ๊บ ตอนนี้กระแสก็แทบจะไม่มีแล้ว หรือหนังประเภทอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน แต่ของจีน มาตรฐานมีอยู่ตลอด ถ้าสังเกตตอนนี้ทุกช่องเริ่มเอาหนังจีนกลับมาแล้ว ไม่ว่าจะช่องไหนจะมีภาพยนตร์จีนหรือไม่ก็ซีรีส์จีน”

เขายังประมาณการณ์อีกด้วยว่านี่อาจถึงยุคที่ซีรีส์หรือหนังจีนหวนกลับมาแล้ว เพราะไทยกับจีนแทบจะเรียกว่าเป็นพี่น้องกันก็ว่าได้ ตราบใดที่ยังมีคนไทยเชื้อสายจีน คำว่าซีรีส์จีนจะไม่หลุดวงโคจรประเทศไทย

  • หนังจีนในไทย ไม่ใช่แค่บันเทิง

แม้การกลับมาไม่ได้พึ่งพาแค่ความเป็นพี่น้องไทยจีนเพียงอย่างเดียว ยังมีเหตุปัจจัยมากมายที่จะยืนยันว่าหนังและซีรีส์จีนจะทวงคืนความนิยมได้ ซึ่ง ดร.เอกนรินทร์ จิรชีวีวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนภาษาจีน คณะศึกษาศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผู้คร่ำหวอดในสังคมจีนและวัฒนธรรมจีนมาทั้งชีวิตให้ความเห็นว่า ปัจจุบันซีรีส์จากแดนมังกรยังมีคนไทยนิยม โดยต้องแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ หนังและละครจีนกำลังภายใน กับหนังและละครจีนที่เป็นปัจจุบัน

ด้านหนังจีนกำลังภายใน เขาบอกว่าค่อนข้างถูกจริตคนไทย เพราะคนไทยชอบดูอะไรที่ตื่นตาตื่นใจ ยกตัวอย่างถ้าเทียบกับหนังฝรั่ง เช่น สตาร์วอร์ จูราสสิคพาร์ค ซึ่งหนังจีนมีความอลังการ ตื่นตาตื่นใจเช่นเดียวกัน คือ การเหาะเหินเดินอากาศ การต่อสู้ วิทยายุทธต่างๆ

“อีกเรื่องหนึ่งคือความทุ่มทุน เช่น การแต่งกายต่างๆ อย่างหนังเรื่องบูเช็คเทียน ที่ฟ่านปิงปิงเล่น หรือหนังที่มีการเข้าเฝ้าฮ่องเต้แล้วมีตัวประกอบเป็นร้อยเป็นพัน เราจะรู้สึกว่าเขาลงทุนเนาะ ดูแล้วรู้สึกอิ่ม

อีกเรื่องผมคิดว่าคนไทยซึมซับเรื่องราวอดีตเยอะ โหยหาอดีต ถ้าเทียบกับบ้านเราก็เรื่องบุพเพสันนิวาส เพราะเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปในอดีตได้ แต่ถ้ามีหนังสักเรื่องสะท้อนเรื่องราวในอดีตได้ก็น่าสนใจ”

ความกระชับฉับไวของการดำเนินเรื่องเป็นอีกจุดแข็งของหนังและละครจีนที่ ดร.เอกนรินทร์ ชวนให้สังเกตว่าหนังและละครจีนเดินเรื่องเร็วมาก ผิดกับของไทยหากเรื่องไหนพอเรตติ้งดีแล้วเริ่มยืดเนื้อเรื่องออกไปเรื่อยๆ จะได้รับกระแสด้านลบจากผู้ชม

นอกจากนี้หนังจีนหรือละครจีนยังมีเนื้อหาที่เข้าถึงง่าย ไม่ซับซ้อน เพราะบริบทสังคมของเอเชียเข้าถึงและเชื่อมโยงกันได้ อาจจะไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การที่คนจีนโพ้นทะเลเข้ามาในประเทศไทย เราจึงได้เห็นวัฒนธรรม วิถีชีวิต และอะไรต่อมิอะไร ทำให้ความเป็นจีนไม่ใช่เรื่องไกลตัว ซึ่งก็สอดคล้องกับทัศนะของ ชัยยุทธแห่งเอ็มวี เทเลวิชั่น ที่เขามองว่าสื่อบันเทิงจากจีนอยู่ในใจคนไทยโดยอัตโนมัติมานาน

“จะซีรีส์เก่าหรือซีรีส์ใหม่ ผมว่าแต่ละยุคมีอรรถรสไม่เหมือนกัน เช่น คนอายุ 20-30 เขาอยากดูซีรีส์ที่เคยดูตอนเด็กๆ เพราะมีความประทับใจในวัยเด็ก แต่ซีรีส์ใหม่ก็มีอรรถรสอีกแบบหนึ่ง ทั้งตัวแสดง ทั้งเนื้อเรื่อง อาจจะเหมาะกับคนรุ่นใหม่ เราจึงต้องนำมาทั้งแบบคลาสสิกและของใหม่มาให้คนได้ชม

เค้าโครงของเรื่องแต่ละยุคแต่ละสมัย ผู้เขียนมักจะเขียนให้เข้ากับตลาด คนเขียนจะดูว่ายุคนี้อะไรดัง ทิศทางเป็นแบบไหนเขาก็จะเขียนให้สอดคล้อง แต่จริงๆ อรรถรสของบางเรื่องก็ไม่เกี่ยวกับช่วงเวลา เช่น กระบี่ไร้เทียมทาน สร้างมากี่ยุคกี่สมัยพอพูดถึงเรื่องนี้คนก็จะนึกถึง ฉี เส้าเฉียน ให้สร้างใหม่ มีสเปเชียลเอฟเฟกต์แค่ไหน แต่ความทรงจำของผู้ที่ชื่นชอบยังคงอยู่ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องทำร่วมยุคร่วมสมัย”

และยังมีอีกปัจจัยในความอยู่รอดของหนังและซีรีส์จีนที่ ดร.เอกนรินทร์ ย้ำว่าอาจจะสำคัญลำดับต้นๆ สำหรับคนเสพสื่อบันเทิงก็ว่าได้

“อันนี้เลี่ยงไม่ได้ คือหน้าตาพระเอกนางเอกเข้าเค้าที่คนไทยชอบ เพราะโซนจีน เกาหลี ถ้ามีนักแสดงหน้าตาดีจะเป็นแม่เหล็กให้คนสนใจดู”

จะเห็นได้ว่าแม้กาลเวลาผ่านไปแค่ไหน เสน่ห์ของหนังและละครจีนยังมีอยู่ ซึ่งเสน่ห์ดังกล่าวคงมีแต่คนที่ได้ดูหรือได้ติดตามเท่านั้นที่จะสัมผัสได้ หรืออาจต้องเป็นนักแสดงที่อยู่ในวงการบันเทิงจีนจึงจะอธิบายได้ถ่องแท้ หนึ่งในนั้นคือเรื่องวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่สอดแทรกอยู่

หยางหมิง (Mat Yeung) ดารานำจาก Fist Fight ดุ-ดวล-เดือด ซีรีส์สุดฮอตที่เพิ่งลาจอทีวีบีฮ่องกง อธิบายว่า “ละครทุกเรื่องที่ชาวฮ่องกงสร้างมาคือเรื่องของวัฒนธรรมที่จะทำให้ทุกคนเห็นว่าเป็นอย่างไร อีกอย่างละครที่นำเสนอออกไปทุกเรื่องล้วนมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง เป็นกึ่ง reality ไม่ว่าคุณจะไปที่ไหน ถ้าคุณมีโอกาสได้สัมผัสหรือพูดคุยกับชาวฮ่องกง คุณจะได้เข้าใจถึงวัฒนธรรมของเขา สังคมของเขา ชีวิตของเขา สิ่งที่เกิดในละครมันก็เคยเกิดขึ้นในชีวิตจริง นั่นเป็นความจริงใจที่พวกเราตั้งใจนำเสนอ ขอให้ทุกคนใช้ใจสัมผัส”

ด้าน หลีเจียซิน (Ali Lee) เจ้าของตำแหน่ง TV Queen และนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมของทีวีบี ปีล่าสุด กล่าวว่า “ฉันขอยกตัวอย่างผลงานที่ฉันได้เล่นเป็นคุณแม่มือใหม่ หลายคนมองว่าเล่นเกินบทบาท แค่เป็นคุณแม่มือใหม่ทำไมต้องเล่นใหญ่ขนาดนั้น แต่ถ้าทำความเข้าใจจริงๆ โดยวัฒนธรรมของชาวฮ่องกง คุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งแต่งงาน มีลูกคนแรก เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นเลย ดังนั้นนี่จึงเป็นตัวอย่างของชีวิตและวัฒนธรรมของชาวฮ่องกงที่มีเอกลักษณ์เป็นแบบนี้”

  • มังกรออนไลน์

การเปิดตัว MVHub ซึ่งเป็นความร่วมมือกัน ระหว่างบริษัท เอ็มวี เทเลวิชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจนำเข้าและบริหารลิขสิทธิ์ภาพยนตร์จีนมากว่า 40 ปี และบริษัท ทีวีบี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจบันเทิง ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์จีนในฮ่องกงและทั่วโลก มากกว่า 51 ปี เป็นเสมือนสัญญาณว่าสื่อบันเทิงของจีนจะกลับมาทวงบัลลังก์ นอกจากการรุกตลาดออนไลน์เต็มตัวอาจจะเรียกเรตติ้งได้มาก ความเป็นอยู่ของหนังและละครจีนอาจอู้ฟู่อีกครั้งในบ้านเรา

เรื่องโซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือสำคัญที่ ดร.เอกนรินทร์ มองว่าจะพลิกเกมในตลาดนี้ได้

“สมัยก่อนถ้าเราจะดูหนังจีนก็ต้องดูจาก TVB ของฮ่องกง ต้องรอสถานีโทรทัศน์เอามาฉายแล้วพากย์เสียงทับ แต่สมัยนี้พอเรามีโซเชียลคนเลือกได้มากขึ้น การเผยแพร่ของซีรีส์จีนในประเทศต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะไทยมันก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ เขาจะได้เห็นซีรีส์จีนหรือหนังจีนในหลายๆ แบบ หลายๆ แนว ทำให้รู้ว่าไม่ได้มีแต่กำลังภายในนะ ซึ่งความหลากหลายก็เป็นอีกอย่างของเสน่ห์ของซีรีส์จีนเช่นเดียวกัน”

เมื่อโลกไร้พรมแดนเกิดขึ้นจริง สื่อจึงไม่ได้มีไว้สำหรับประเทศใดประเทศหนึ่ง สื่อบันเทิงของจีนก็เหมือนกันที่เลื่อนไหลไปสู่ประเทศอื่นๆ และไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้ ดร.เอกนรินทร์มองว่าเป็น Soft Power อย่างหนึ่งของจีน

นอกจากเรื่องการศึกษา ให้ทุนการศึกษาเด็กต่างชาติไปเรียนเพื่อขยายผลทางด้านภาษาและวัฒนธรรม สื่อบันเทิงเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งใน Soft Power ที่ทำให้คนรู้จักจีนมากขึ้นในแง่มุมของความบันเทิง

ผมมองว่าซีรีส์และหนังจีนจะกลับมานิยมในประเทศไทยอีกครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องความบันเทิง แต่อีกส่วนคือเรื่องภาษา เพราะคนนิยมเรียนภาษาจีนกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นสื่อบันเทิงของจีนจะตอบโจทย์นักเรียนนักศึกษาในแวดวงภาษาจีนด้วย ก็เหมือนว่าเราเรียนภาษาจีนแล้วก็อยากฟังหรือดูซีรีส์จีนว่าเราเข้าใจมากน้อยแค่ไหน แล้วเอามาเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนด้วย

ในมุมของคนทั่วไป ผมมองว่าจีนก็พยายามในเรื่องวงการบันเทิงไม่แพ้เกาหลี เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาอาจไม่บูมเท่า อาจด้วยรัฐบาลมุ่งเน้นต่างกัน อย่างเกาหลีเขาเน้นสื่อบันเทิงเต็มที่ แต่รัฐบาลจีนสนับสนุนประมาณหนึ่ง”

ด้านประธานบริษัท เอ็มวี เทเลวิชั่น ที่อยู่ในยุคทอง ยุคเปลี่ยนผ่าน มาจนถึงยุคนี้ ตั้งแต่สมัยวิดีโอ วิดีโอซีดี ดีวีดี จนถึงตอนนี้เป็นออนไลน์ เขาพบว่าหนังและละครจีนเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย คือไม่ว่าจะนำมาดัดแปลงเพิ่มเติมแต่เค้าโครงเดิมยังมีอยู่ เพราฉะนั้นทุกยุคทุกสมัยเขาเชื่อว่ายังเดินไปได้ตลอด ยิ่งเป็นยุคดิจิทัลแล้วการเข้าถึงง่ายจะช่วยได้อีกเยอะ

“พอพูดถึงซีรีส์จีนคนมักจะนึกถึงหนังคลาสสิกเอย อะไรเอย ยกตัวอย่างพอเพลงเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ดังขึ้นมาทุกคนร้องได้ ทุกคนจำได้ นั่นหมายความว่าทุกคนมีคำว่าจีนอยู่ในใจ หรืออย่างเพลงกระบี่ไร้เทียมทานดังขึ้นมาแม้กระทั่งเด็กยุคปัจจุบันก็รู้จัก ทางเราจึงดึงหนังคลาสสิกเหล่านี้กลับมาให้ชมใหม่ เพราะบางทีมีเงินแต่ไม่รู้จะหาดูจากที่ไหน เรามีโอกาสร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ TVB ฮ่องกงซึ่งเขามีหนังคลาสสิกมากทีเดียว

แต่ถ้าถามว่าจะมีโอกาสดังเปรี้ยงปร้างอีกไหม ผมมองว่ายังมี อยู่ที่ว่าช่วงนั้นสร้างอะไรออกมา มันอาจจะมีเรื่องไหนที่แปลกหรือไปโดนใจคนส่วนมากตอนนั้น เราเชื่อว่าตามต่างจังหวัดละครจีนกับละครไทยซึ่งมีบางอย่างคล้ายกันยังมีคนชอบดู”

การกลับมาเดินเกมรุกอีกครั้งในช่วงเวลาที่อะไรต่อมิอะไรค่อนข้างพร้อม เราอาจได้เห็นยุคทองที่หนังและละครจีนครองทั้งจอเงิน จอแก้ว และจอสมาร์ทโฟน ก็ได้