ThaiBMA คุมเข้ม’หุ้นกู้ไฮยีลด์’ ขึงเกณฑ์ใหม่ ปกป้องนักลงทุน

ThaiBMA เร่งดันเกณฑ์ใหม่เข้มจำกัดความเสี่ยงผู้ออก “หุ้นไฮยีลด์” ก่อหนี้เพิ่ม ปกป้องผู้ลงทุน คาดเริ่มใช้ภายในปีนี้ พบหุ้นกู้เลื่อนชำระ เม.ย.-พ.ค.68 รายใหม่เพิ่ม 5 ราย
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า สมาคมฯ กำลังผลักดันมาตรการที่เป็นการยกระดับเงื่อนไขข้อปฏิบัติทางการเงิน ของผู้ออกหุ้นกู้ใน “กลุ่มเสี่ยงสูง” หรือ “หุ้นกู้ไฮยีลด์” ให้เข้มงวดมากขึ้นวางเป้าหมายเพื่อเรียกความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับหุ้นกู้ไฮยีลด์ พร้อมไปกับปกป้องนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในหุ้นกู้ไฮยีลด์ด้วย
ทั้งนี้ ภายหลังที่สมาคมฯ หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาก่อนหน้านี้แล้วคาดว่าน่าจะออกเป็นแนวปฏิบัติก่อน ซึ่งจะมีการเปิดรับฟังความเห็นและคาดหวังว่าน่าจะเริ่มปฏิบัติได้ภายในปีนี้
โดยเบื้องต้นได้กำหนดกรอบข้อปฏิบัติ “เงื่อนไขจำกัดการก่อหนี้เพิ่ม” จนเกินกว่าความสามารถที่บริษัทจะสามารถชำระหนี้ได้ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขที่ระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิไว้สำหรับบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ หากไปก่อหนี้เพิ่ม หรือจ่ายเงินบาง
อย่างเช่น ปันผล เงินกู้คืนกรรมการ หรือการให้เงินกู้ยืม บริษัทต้องมั่นใจงบการเงินก่อนว่ากระแสเงินสดที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่หลังจากจ่ายรายการก่อหนี้เพิ่มไปแล้ว ยังมีกระแสเงินสด เหลือเพียงพอที่จะชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หากมีเหลือเพียงพอก็สามารถก่อหนี้เพิ่มได้ เป็นต้น
สำหรับ เงื่อนไขดังกล่าวสมาคมฯ จะมีการกำหนดเงื่อนไข อัตราส่วนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นเอาไว้ เพื่อให้บริษัทได้ทดสอบก่อน หากต้องการทำรายการก่อหนี้เพิ่มรายการต่างๆ ในช่วงหลังออกหุ้นมาแล้ว บริษัทยังต้องมีกระแสเงินสดเหลือเพียงพอรองรับในการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้หรือคืนเงินต้นทุนหุ้นกู้ได้อยู่
และกรอบเงื่อนไขดังกล่าวที่เข้มงวดขึ้น ยังช่วยให้บริษัทผู้อออกหุ้นกู้ จะต้องมีวินัยทางการเงินและมีธรรมาภิบาลมากขึ้นโดยจะต้องมีการแจ้งกับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ก่อน กำหนดไว้เป็นข้อกำหนดสิทธิเพิ่มเติมจากอัตราส่วนทางการเงินหนี้สินต่อทุน ซึ่งอัตราส่วนทางการเงินหนี้สินต่อทุน อาจไม่เพียงพอที่จะสะท้อนความเสี่ยงเหล่านี้และการเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ ยังค่อนข้างช้ามาก
หากบริษัททดสอบอัตราส่วนใหม่แล้วไม่ไหวแต่ยังดำเนินการก่อหนี้เพิ่ม จะถือเป็นการกระทำผิดข้อกำหนดสิทธิได้ ส่วนนี้จะเป็นการปกป้องนักลงทุน ไม่ให้บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ไปลงทุนเกินตัว เช่นที่ผ่านๆมาได้
“ปัญหาที่ผ่านมา เราจะเห็นบางบริษัทในช่วงกลางปียังจ่ายปันผลได้หรือไปปล่อยกู้บริษัทลูกได้ แต่สิ้นปีหุ้นกู้ดีฟอลต์แล้ว ทั้งๆ ที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนยังต่ำเตี้ยอยู่ถือว่าไม่แฟร์สำหรับผู้ถือหุ้นกู้ด้วยเช่นกัน เช่นที่ผ่านมาจะเห็นพฤติกรรมในบางบริษัทที่เป็นบริษัทใหม่ ตั้งขึ้นมาไม่นานหรือเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไม่นาน โดยที่บริษัทรู้อยู่แล้วเดือนหน้าต้องจ่ายคืนหนี้หุ้นกู้ แต่กลับเอาเงินไปคืนกรรมการก่อนยังไม่ถึงกำหนด การรักษาชื่อเสียงและวินัยทางการเงินของบริษัทเหล่านี้อาจหละหลวมอยู่”
ด้านสถานการณ์ “หุ้นกู้ที่มีปัญหา” นั้น ยังคงเป็นบริษัทใหม่ที่เพิ่มเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไม่นาน แล้วมาออกหุ้นกู้สะท้อนถึงบางบริษัทยังไม่สามารถรักษาวินัยทางการเงินเอาไว้ได้ เมื่อมีเหตุก็ต้องมาขอยืดหนี้ เพื่อไม่ให้เป็นเหตุผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนหายไป ส่วนบริษัทใหญ่มีประวัติยาวนานและมั่นคง มีธรรมาภิบาล ยังไม่มีปัญหา
สะท้อนภาพเดือนเม.ย.-พ.ค. 2568 ยัง “ไม่พบ” หุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ แต่พบหุ้นกู้ที่มีปัญหาเลื่อนชำระหนี้ มีเพิ่มขึ้น 5 บริษัท มูลค่า 4,700 ล้านบาท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเดือน เม.ย. จำนวน 3 บริษัท ได้แก่ ECF , GRAND , PF ในเดือนพ.ค. 2 บริษัท ได้แก่ B , JTS ซึ่งจะใช้วิธีการแก้ปัญหาเช่นเดิม ขอผู้ถือหุ้นกู้ “ปรับโครงสร้างหนี้ และยืดหนี้ออกไป พร้อมจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม”
โดยหุ้นกู้เลื่อกำหนดชำระเดือนม.ค.-23 พ.ค.2568 รวมทั้งสิ้น 13,563 ล้านบาท จากผู้ออก 13 ราย ส่วนผิดนัดชำระยังอยู่ 3 ราย คือ CV ,WTX ,CHO รวมมูลค่า 1,605 ล้านบาท สมาคมฯ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวในปีนี้ หุ้นกู้ของเอกชนยังคงมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ ผิดนัดหรือเลื่อนชำระหนี้ หากฐานะการเงินของบริษัทไม่แข็งแกร่งมากพอ แต่การขอปรับโครงสร้างหนี้ ยืดชำระหนี้หุ้นกู้ จากผู้ถือหุ้นกู้ มองว่า สามารถช่วยต่อลมหายให้ธุรกิจ หากกลับมาฟื้นตัวในระยะข้างหน้าได้
ด้านแนวโน้มและสถานการณ์การออกเสนอขายหุ้นกู้ พบว่าบริษัทขนาดใหญ่อยู่ในภาวะ “ที่ดี” การเสนอขายยังได้รับความสนใจที่ดีจากนักลงทุนอยู่แล้ว และยังได้เปรียบสามารถเลือกระดมทุนได้ ทั้งการออกหุ้นกู้หรือกลับไปกู้เงินสถาบันการเงินที่ให้ดอกเบี้ยต่ำลงอีก หากไม่เห็นการออกหุ้นกู้ของบริษัทขนาดใหญ่จะสะท้อนว่าได้เงินกู้แบงก์ที่ดอกเบี้ยดีกว่า
สำหรับบริษัทขนาดกลางและเล็ก ยังอยู่ในภาวะ “ค่อนข้างเหนื่อย” โดยเฉพาะการออกหุ้นกู้ไฮยีลด์ นักลงทุนยังขาดความมั่นใจกลับไปหาหุ้นกู้บริษัทขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคง และในภาวะที่ความมั่นใจยังไม่กลับมาเช่นนี้ ก็ต้องไปหาช่องทางระดมทุนอื่นๆ เข้ามาแทน