CPF ลั่นกำไรปีนี้โต ‘วอลุ่ม-ราคาหมู’ เพิ่ม เร่งขยาย ‘ฟิลิปปินส์’

CPF ลั่นกำไรปีนี้โต ‘วอลุ่ม-ราคาหมู’ เพิ่ม เร่งขยาย ‘ฟิลิปปินส์’

CPF วางงบลงทุนปีนี้ 2 หมื่นล้าน รุกขยาย “ฟิลิปปินส์” อัปเกรด-สร้างโรงงานใหม่ ขณะที่ “กำไร” ปี 68 ดีกว่าปีก่อน “วอลุ่ม-ราคาขาย” เพิ่ม ราคาหมูไทย-เวียดนามดีขึ้น

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจทั่วโลกมี “ความท้าทาย” ค่อนข้างมาก จากความคาดหวังหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เศรษฐกิจจะกลับมา “สดใส” แต่ทุกวันนี้ภาพที่เห็นคือ เศรษฐกิจไหลลงเรื่อยๆ สะท้อนภาพ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เจอภาวะ “ขาดทุน” ครั้งแรกในรอบ 23 ปี ในปี 2566 อยู่ที่ 5,207 ล้านบาท เนื่องจากราคาข้าวโพดและกากถั่วเหลืองอยู่ในระดับ จากผลกระทบสงคราม “ยูเครน-รัสเซีย” และจากการระบาดโควิดที่ผ่านมาทำให้ซัพพลายเชนเสียหาย

 แต่ในปี 2567 จำนวนผู้เลี้ยงสัตว์ลดน้อยลงทำให้ความต้องการ (ดีมานด์) ลดลงไปด้วย ส่งผลดีกับ CPF สะท้อนผ่าน “กำไร” 19,558 ล้านบาท ซึ่งเป็น “กำไรสูงสุด” อันดับ 2 ในรอบ 10 ปี พลิกจากปี 2566 ขาดทุน อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ในปี 2568 ยังมีความท้าทาย ดังนั้น นโยบายของบริษัทจะค่อนข้าง “ระมัดระวังลงทุน” 

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทวางงบลงทุนวงเงิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ในการปรับปรุงโรงงาน และสร้างโรงงานใหม่แต่ไม่ใช่ขนาดใหญ่ เพราะปีนี้ยังระมัดระวังในการลงทุนท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน

อย่างไรก็ตาม บริษัทเห็นโอกาสการเติบโตธุรกิจในฟิลิปปินส์ที่มีประชากรถึง 110 ล้านคน จึงมีแนวทางขยายการลงทุน ซึ่งจะเป็นการเช่าโรงงานชำแหละหมู-ไก่เพิ่มเติม คาดจะทำให้ยอดขายในฟิลิปปินส์ปีนี้เติบโตมากกว่า 10% จากปีก่อน มียอดขายกว่า 2 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้าจะเพิ่มยอดขายเป็น 5 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการลงทุนโดยตรงใน 14 ประเทศ ในปีนี้ยังไม่มีแผนซื้อกิจการเพิ่ม มีแต่จะเป็นร่วมลงทุน (JV) กับพันธมิตร และปัจจุบันบริษัทร่วมทุนใน 3 ประเทศ โดยรายได้หลักมาจากในประเทศไทย 31% รองมาเป็นเวียดนาม 22% จีน 5% และรายได้จากส่งออก 6% โดยเวียดนามถือว่าเติบโตได้เร็วมาก ปี 67 ยอดขายทะลุ 1.2 แสนล้านบาทแล้ว

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ปัจจัยต้องติดตามปีนี้คือ นโยบายการค้าของทรัมป์ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศ แต่ CPF คาดจะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะบริษัทมีส่งออกสินค้าไปสหรัฐเพียงรายการเดียวคือ เกี๊ยวกุ้ง มูลค่าราวปีละ 20 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ CPF มีโรงงานผลิตสินค้าในสหรัฐเพื่อจำหน่ายภายในประเทศมียอดขายประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2568 คาดดีกว่าไตรมาส 1 ปี 2567 เนื่องจากราคาสุกรในเวียดนามและกัมพูชา ที่ราคาอยู่ในระดับสูงกว่าในไทย เนื่องจากมีการระบาดโรค ASF ในเอเชียยังทำให้ราคาสุกรอยู่ระดับสูง

ขณะที่ อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้นกว่าปีก่อน โดยต้นทุนในกระบวนการผลิต และการขายโดยรวมลดลง หลังได้เดินหน้าปรับกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบด้วยเทคโนโลยี AI, IoT เข้ามาช่วยในโรงงานจากเดิม โดยได้ดำเนินการต่อเนื่อง 4-5 ปีแล้ว และยังทำต่อเนื่องไปอีก

นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุดสายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ CPF กล่าวว่า เดิมมีแผนนำ 3 บริษัทลูกใน 3 ประเทศ เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ประเทศไทยคือ บริษัท ซีพีเอฟ โกลบอลฟู้ด โซลูชั่น (CPFGS) ที่ยื่นไฟลิ่งไปตั้งแต่ปี 2566 แต่ได้ถอนออกมาแล้ว เพราะเห็นว่าตลาดหุ้นยังไม่ค่อยดี หากเข้าไปอาจจะทำให้ไม่ได้มูลค่าที่เหมาะสม

ขณะที่ บริษัท ซีพี เวียดนาม ที่มีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียดนาม ยื่นไฟลิ่งไปแล้วเช่นกันแต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ เพราะในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันหนัก และตัดลดกรมกองรวมถึงข้าราชการจำนวนมาก ทำให้ขั้นตอนของหน่วยงานต่าง ๆ หยุดชะงักไป โดยปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามเพิ่งเริ่มกลับมาเร่งเครื่องในประเทศ

ส่วนอีกบริษัทอยู่ในจีน ก็ได้ถอนเรื่องการเข้าตลาดหุ้นจีนออกมาก่อนเช่นกัน เพราะสถานการณ์ฟาร์มเลี้ยงสุกรในจีนย่ำแย่ และตลาดหุ้นจีนก็ยังไม่ฟื้น ไม่ได้เอื้อต่อการนำหุ้นเข้าตลาด จึงตัดสินใจพับแผนไปก่อน เพราะเป้าหมายของบริษัทต้องการให้บริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นในประเทศนั้นๆ มีมูลค่าที่ดีที่สุด

CPF ลั่นกำไรปีนี้โต ‘วอลุ่ม-ราคาหมู’ เพิ่ม เร่งขยาย ‘ฟิลิปปินส์’