กองทุนพยุงหุ้น "ThaiESGX" หุ้นกลุ่มไหนได้ประโยชน์สุด

กองทุนพยุงหุ้น "ThaiESGX"  หุ้นกลุ่มไหนได้ประโยชน์สุด

กระแสกองทุนรูปโฉมใหม่ ThaiESG Extra เข้ามาทดแทนกองทุน LTF ที่ครบกำหนดสามารถขายคืนได้ทุกอายุจนกลายเป็นอีกหนึ่งแรงขายในตลาดหุ้นไทยด้วยยอดเงินระดับ 2 แสนล้านบาท 

             เมื่อเจอปัจจัยนโยบายการค้าสหรัฐต่อประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจไทยที่ไร้มาตรการกระตุ้นที่จริงจังทำให้แนวโน้มการเติบโตบจ.ในตลาดหุ้นเผชิญแรงกดดัน และเป็นการเทขายหุ้นรายตัวสลับรีบาวนด์เข้าสู่ตลาดหมีเต็มตัว 

         "กองทุนพยุงหุ้น"ดังกล่าวมีเงื่อนไขลงทุนเปิดให้ซื้อหน่วยลงทุนได้ในเดือนพ.ค.-มิ.ย. 2568 จะเปิดรับเม็ดจาก2 ส่วน ส่วนที่1ผู้ที่ถือหน่วยลงทุน LTF เดิมยังไม่ได้ขายหากประสงค์จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต่อให้แจ้งโอนย้ายหน่วยลงทุนมาอยู่ในThai ESG X สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 500,000 บาททยอยหักปีแรกไม่เกิน 300,000 บาทที่เหลือนำมาเฉลี่ยหักใน4 ปี(แจ้งย้ายกองใน2 เดือนไม่เกินสิ้นเดือนมิ.ย. 68)

        ส่วนที่ 2 เพิ่มโอกาสลดหย่อนภาษีแบบพิเศษนอกเหนือจากวงเงินเดิมกำหนดระยะเวลาซื้อหน่วยลงทุนไม่เกิน 2 เดือนสิ้นสุดมิ.ย. 68 ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน3 แสนบาท     

       ทั้งนี้การลงทุนมีการกำหนดในสินทรัพย์เป็น ESG ไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV  แบ่งเป็นลงทุนในหุ้นยั่งยืน ESG ซึ่งได้รับจัดเรตติ้ง Set ESG Ratings โดยไม่น้อยกว่า 65%  ซึ่งปัจจุบันตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์มีทั้งหมด 242 หลักทรัพย์ แบ่งเป็นระดับ AAA  จำนวน  56 หลักทรัพย์ , ระดับ AA 80  หลักทรัพย์ ,ระดับ  A  70 หลักทรัพย์ และ BBB  21 หลักทรัพย์  และรวมหุ้น Non-Rating แต่เปิดเผยข้อมูลก๊าซเรือนกระจก อีก 14 หลักทรัพย์  

          กองทุนพยุงหุ้น \"ThaiESGX\"  หุ้นกลุ่มไหนได้ประโยชน์สุด

          กองทุนพยุงหุ้น \"ThaiESGX\"  หุ้นกลุ่มไหนได้ประโยชน์สุด

          บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)  กรุงศรี  ประเมินลดแรงขายของผู้ที่ถือกองทุน LTF เดิม(ตั้งแต่ต้นปี 2025 -ปัจจุบันมีแรงขาย LTF รวม3.5 หมื่นล้านบาท และ NAV ของกองทุน LTF ทั้งหมดล่าสุด10 มี.ค. รวมอยู่ที่1.6 แสนล้านบาท)  ขณะที่ในส่วนการเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีแบบพิเศษมองคล้ายกับกองทุน SSFX ในปี 2020 และประเมินจะเป็นเงินใหม่หรือ New Money  คาดว่ามีโอกาสเห็นเม็ดเงินกระจายเข้าสู่หุ้นที่มี Rating ESG Score (ตามรายชื่อประกาศบวกกับบจ.เปิดเผยข้อมูลก๊าซเรือนกระจก รวม 242 บริษัท ) ที่กองทุน ThaiESG เน้นให้ลงทุนเป็นหลักเพิ่มขึ้น 

       ส่วนหุ้นที่อยู่ในกองทุน LTF แต่ไม่มี ESG Rating อาจมีความเสี่ยงถูกลดน้ำหนักลง ทั้งนี้ เชิงกลยุทธ์แนะนำ  หุ้น Deep Value ที่อยู่ใน SETESG มีความมั่นคงระยะ 2-3ปี ข้างหน้าและอยู่ในโซนลงทุนกลาง-ยาว เช่น CPALL - BDMS - MINT - GPSC - SCGP - HMPRO - KBANK -  BBL และ  AOT

         ขณะเดียวกันทางการและสำนักงาน ก.ล.ต. เห็นชอบออก พ.ร.ก. เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับสำนักงานก.ล.ต. มากขึ้นโดยจะให้มีอำนาจในการสอบสวนและสืบสวนรวมถึงสั่งฟ้องต่อพนักงานอัยการได้เพิ่มเติมจากขอบเขตอำนาจในปัจจุบันนั้น   กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎหมายคาดว่าจะสามารถประกาศเป็นพ.ร.ก.ได้เร็วๆ นี้ประเมินน่าจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดหุ้นไทยได้

           ด้าน บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุสิทธิลดหย่อนภาษีจาก Thai ESG เดิมจะสามารถนำเงินลงทุนไป "ลดหย่อนภาษี" ได้สูงสุดถึง 900,000 บาท ในปีแรก ซึ่งถือเป็นมาตรการที่จูงใจเพราะวงเงินลดหย่อนรวมสูงกว่าทุกรอบ และเงื่อนไข Thai ESGX คล้าย LTF Version 2 คาดว่าจะเห็นการใช้สิทธิช่วงพิเศษนี้มากกว่า Thai ESG เดิมเนื่องจาก Valuation ของ SET INDEX ไม่แพง และถือเป็นนโยบายเดียวที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์เงินเดือน 

       Thai ESGX เป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด คือ  “ชะลอแรงขาย LTF”  และ “เพิ่มเงินลงทุนใหม่ให้ตลาดทุนไทย” ในคราวเดียวกันคาดหวัง Thai ESGX จะได้ผลดีเหมือน SSFX ซึ่งกระทรวงการคลังเคยใช้ได้ผลดีในช่วง COVID-19 ระบาด

        โดยการออกกองทุน SSFX เปิดขายระหว่าง เม.ย.-มิ.ย. 2020 สามารถระดมเงินลงทุนได้ราว 9,000 ล้านบาท SET INDEX ฟื้นแรง 20.5% ในช่วงดังกล่าว ตามตลาดหุ้นทั่วโลกพอดี (จาก 1,138 จุด มาอยู่ที่ 1,373 จุด จากความคาดหวังต่อพัฒนาการของวัคซีน COVID)แต่ SSFX ก็มีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในประเทศ ในแง่ของแรงซื้อใหม่ที่เข้ามาช่วยจำกัด Downside ในช่วงที่ SET INDEX ผันผวน

        ขณะที่การ กำหนดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทยมากกว่า 65% ของ NAV จะช่วยจำกัด Downside ให้กับ SET INDEX ในช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน จากนโยบายภาษีของสหรัฐและปรากฏการณ์  "Sell in May"  ที่มักเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. ได้คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะหนุนหุ้น ESG Rating สูง กลับมา Outperform ตลาดได้อีกครั้ง

       Thai ESGX ใกล้เคียงกับ LTF Version 2 กองทุน Thai ESGX ที่ตั้งขึ้นใหม่เน้นลงทุนในหุ้น ESG ในตลาดหุ้นไทย โดยต้องถือหุ้นที่มีความโดดเด่นด้าน ESG + เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก+ ยกระดับด้าน G ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 65% ของ NAV

       ส่วนที่เหลือจะเป็นตราสารหนี้หรือ Investment Token ด้าน ESG ก็ได้ รวมกันแล้วจะต้องมีสินทรัพย์ลงทุนอิง ESG ไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV ซึ่งการมีสัดส่วนหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% ของ NAV ถือเป็นเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกับ LTF เดิม แต่จะต่างจาก Thai ESG ธรรมดา ที่มีกองตราสารหนี้ให้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย ประกอบด้วย  AMATA, BEM, BCPG, CPALL, GPSC, GULF, KBANK, KTB, PTTGC, SCC, และ SJWD