ดับอิทธิพล ‘เดลต้า’ ฉุดหุ้นไทย ตลท.งัดเกณฑ์จำกัดน้ำหนัก10%

“ดัชนีหุ้นไทย” ผวาแรงขายหุ้น “เดลต้า” ฉุดดัชนีดิ่งแรง 35 จุด “อัสสเดช” งัดเกณฑ์จำกัดน้ำหนักหุ้นรายตัวไม่เกิน 10% แก้ปัญหา “หุ้นขนาดใหญ่” ที่มีอิทธิพลมากต่อดัชนี
ความเคลื่อนไหว “ตลาดหุ้นไทย” วานนี้ (17 ก.พ.2568) ระหว่างการซื้อขายดัชนีร่วงหนักสุด 35.30 จุด มาอยู่ที่ 1,236.80 จุด ก่อนมาปิดตลาดที่ 1,256.48 จุด ลดลง 15.62 จุด หรือ 1.23% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) 56,346.06 ล้านบาท ขณะที่ พบว่าหุ้นบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ที่ลดลงดิ่งฟลอร์ หลังข่าวผลประกอบการที่ลดลงต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และการปรับลดลงของหุ้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ประเด็นต่อเนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจากกรณีกังวลการตั้งสำรองลูกหนี้ดิวตี้ฟรี รวมทั้งการปรับลดประมาณ รายได้จากส่วนแบ่งของดิวตี้ฟรีที่ลดลงในระยะยาวด้วย
ปรับเกณฑ์ลดน้ำหนักหุ้นรายตัว
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงการปรับเกณฑ์จำกัดน้ำหนักหลักทรัพย์ (Capped Weight) เพื่อแก้ปัญหาหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลมากต่อดัชนีนั้น มาจากที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยมีหุ้น 1 ตัวที่มีความเฉพาะตัว มีผลต่อดัชนีเกิดความผันผวนผิดปกติ จึงต้องมาดูให้มีความเหมาะสม
โดยจากการศึกษาการลดความผันผวนตามมาตรฐานสากลทั่วโลกว่ามีเกณฑ์อย่างไรบ้างจนออกมาเกณฑ์ซึ่งการกำหนดไว้ที่ 10% มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับเกณฑ์ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กำหนดให้กองทุนลงทุนหุ้นรายตัวไม่เกิน 10% คาดว่าจะดำเนินการปรับน้ำหนักหุ้นตามเกณฑ์ได้ภายในครึ่งแรกปี 2568
ทั้งนี้ เกณฑ์ดังกล่าวมีการเปิดเฮียริ่งระหว่าง 4 ก.พ.-17 ก.พ.2568 โดย 1. กำหนดให้หลักทรัพย์รายตัวที่เป็นองค์ประกอบในดัชนี SET50, SET50FF, SET100 และ SET100FF มีน้ำหนักไม่เกิน 10% ในแต่ละรอบการคัดเลือก 2. กำหนดให้ Rebalance น้ำหนักหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีดังกล่าวเป็นรายไตรมาส และกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างรอบคัดเลือก เช่น กรณีหลักทรัพย์ IPO ขนาดใหญ่ หรือกรณีควบรวม และซื้อกิจการ (Merger & Acquisition) โดยแนวทางการ Rebalance จะเน้นการลด Index Turnover ที่ไม่จำเป็น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้ดัชนี
ตลท. แจงดัชนีดิ่ง เหตุ “DELTA - AOT” กดดัน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า วานนี้ (17 ก.พ.2568) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ปิดตลาดวันนี้ที่ระดับ 1,256.48 จุด ลดลง 15.62 จุด หรือ 1.23% จากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีปรับฟื้นขึ้นในการซื้อขายภาคบ่าย จากราคาหลักทรัพย์ปรับสูงขึ้นกระจายหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม และกลุ่มทรัพยากร เป็นต้น
โดยหากไม่รวมการเคลื่อนไหวราคาหลักทรัพย์ DELTA และ AOT ดัชนี SET Index ปรับบวกกว่า 15 จุด ในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาค
ทั้งนี้ ช่วงเปิดตลาดภาคเช้าวันนี้ ดัชนี SET Index ปรับลดลง 2.5% หรือกว่า 35 จุด สาเหตุหลักมาจากการปรับลงของราคาหลักทรัพย์ DELTA ที่ลดลงหลังข่าวผลประกอบการที่ลดลงต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และการปรับลดลงของหลักทรัพย์ AOT เนื่องจากข่าวสัญญาสัมปทาน อย่างไรก็ตามบริษัทได้ชี้แจงเพิ่มเติมมาแล้วเช้าวันนี้
ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ผู้ลงทุนติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
“ไพบูลย์” ชี้ “เดลต้า” มีผลต่อการขึ้นลงดัชนี
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า วานนี้ (17 พ.ย.) ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงค่อนข้างมากกว่า 20 จุด จากหุ้น 2 ตัว ได้แก่ DELTA และ AOT มีปัจจัยลบเฉพาะตัว ทั้งนี้ หากไม่นับรวมหุ้น 2 ตัวดังกล่าว จะพบว่า ดัชนีหุ้นไทยวานนี้ เป็นบวกได้ราว 7-8 จุด หุ้นตัวอื่นๆ ยังปรับขึ้นได้ สะท้อนว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ แนะว่านักลงทุนต้องพิจารณา หลายๆ ปัจจัยประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับตัวขึ้นลงแรง เกิดจากกรณี หุ้น DELTA คำนวณน้ำหนักของหลักทรัพย์ในดัชนี SET ค่อนข้างมาก นายไพบูลย์ มองว่า เป็นปัญหาตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องสื่อสารให้ชัดเจนมากขึ้นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับดัชนี SET เป็นอย่างไร ภาวะตลาดขณะนั้นเกิดอะไรขึ้น ต้องสื่อสารทุกวันจนกว่านักลงทุนจะเข้าใจ
รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ คงต้องมีการพัฒนา Index เพิ่มขึ้น เพื่อให้มีความหลากหลาย และเป็นตัวเลือกให้นักลงทุน นักวิเคราะห์นำไปใช้เพื่อสะท้อนภาวะตลาดได้ชัดเจนขึ้น และตลาดหลักทรัพย์ฯ คงต้องสื่อสารถึง Index ใหม่ๆ ให้เป็นที่รู้จัก และพูดถึงแพร่หลายมากขึ้น
โดยเฉพาะ 2 ดัชนีใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มใช้ปีที่ผ่านมา คือ SET50 Free Float Adjusted Market Capitalization Weighted Index (SET50FF) และ SET100 Free Float Adjusted Market Capitalization Weighted Index (SET100FF) ซึ่งคำนวณน้ำหนักของหลักทรัพย์ในดัชนีจะใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด และถ่วงน้ำหนักด้วยสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ช่วยสะท้อนสภาพตลาดมากกว่า ดัชนี SET50 และดัชนี SET100
นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้น มองว่า อาจเป็นตลาดหุ้นไทย ยังมีนักลงทุนที่ไม่มีความหลากหลายมากพอ ทำให้ราคาหุ้นสามารถที่จะซื้อขายบนปัจจัยที่นอกปัจจัยพื้นฐานได้ เป็นปัญหาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องแก้ต่อไป
ยอมรับมีหุ้นที่ไม่ได้ซื้อขายตามปัจจัยพื้นฐาน
นายไพบูลย์ กล่าวย้ำว่า ภาวะตลาดพบว่ามีปัญหาหุ้นที่ไม่ได้ซื้อขายไปตามปัจจัยพื้นฐานของฟันด์โฟลว์ ซึ่งการบิดเบือนในประเภทนี้ มองว่า นอกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้ามาติดตามหุ้นตัวนั้น และชี้แจงนักลงทุนแล้วว่า ชี้นำภาวะตลาดหรือไม่ หรือมีคนที่มีความพยายามบิดเบือนราคาหรือไม่
ดังนั้น สิ่งสำคัญ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คงต้องใช้ Index หลายตัวมาช่วยสื่อสารหรือถ่ายทอดในภาพรวมตลาดให้ชัดจนทุกคนเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง หรือสามารถพัฒนา Index ใหม่ๆ เช่น ดัชนีที่เป็นราคาอย่างเดียวไม่ต้องถ่วงด้วยน้ำหนัก ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีหลายวิธีที่ตลาดหุ้นในต่างประเทศใช้กันอยู่
“ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตลาดหุ้นไทย แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกตลาดหุ้นทั่วโลก อย่างตลาดหุ้นสหรัฐ ก็มีหุ้น 7 นางฟ้าที่มีสัดส่วนเกือบ 30% ของดัชนี S&P 500 โดยปีที่แล้วดัชนีขึ้น 25% แต่เมื่อนำหุ้น 7 ตัวออก ดัชนีขึ้นเพียง 12% แต่ตลาดหุ้นสหรัฐ จะมีการรายงานภาวะตลาดประกอบกันหลากหลายดัชนี ทั้งดัชนี S&P 500, Nasdaq และ Dow Jones จะช่วยสะท้อนภาพรวมตลาดหุ้นสหรัฐ ที่ทำให้ทุกคนสามารถแยกแยะสิ่งที่เกิดขึ้นได้ชัดเจน ทำให้ประกอบการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์