โบรกเกอร์หั่นเป้า ‘หุ้น AOT’ ปม ‘คิง เพาเวอร์’

โบรกเกอร์หั่นเป้า ‘หุ้น AOT’ ปม ‘คิง เพาเวอร์’ ขอเลื่อนจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำออกไปอีก 18 เดือน ตั้งแต่เดือนส.ค 2567 - ก.พ. 2568 หลังขาดสภาพคล่องจากโควิด-19
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา “ดัชนีหุ้นไทย” ปรับตัวลงอย่างหนัก จากผลกระทบหุ้นรายตัวที่ทยอยโดนเช็กบิล ล่าสุด AOT หรือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดนกดดันราคาร่วงลงหนัก แม้ผลงานไตรมาส 1 ปี 2568 กำไร 5.33 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 25% จากไตรมาสก่อน ทว่ายังต่ำกว่าประมาณการนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ เหตุผลหลักๆ เกิดจากความกังวลธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน การเติบโตของรายได้ช้ากว่ารายได้กิจการการบิน สะท้อนล่าสุด “คิงเพาเวอร์” ได้ขอเลื่อนจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำออกไปอีก 18 เดือน ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2567 - ก.พ. 2568 หลังขาดสภาพคล่องจากโควิด-19 ที่ผ่านมา
แต่สิ่งที่ตลาดกังวลมากกว่าคือ การเติบโตในระยะกลางถึงยาว เนื่องจากว่าในอดีตผลตอบแทนขั้นต่ำที่ AOT ได้จากคู่ค้า ที่ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท แต่สัญญาใหม่ที่ทำอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำก่อนช่วงโควิด เป็นตัวเลขที่สูงจากเดิมกว่าเท่าตัว และจากสถานการณ์โควิดจึงทำให้จำนวนหดหายไป แม้ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจะกลับมาแต่การจับจ่ายใช้สอยยังไม่ได้กลับมาอยู่ในจุดเดิม
หากเห็นภาพ AOT ไม่ต้องมาประมูลใหม่ และคิงเพาเวอร์แก้ปัญหาสภาพคล่องได้ กลับมามีรายได้ส่วนแบ่งรายได้จากสัมปทานที่มากกว่าขั้นต่ำ และหากเกิดขึ้นได้เร็วก็จะทำให้ความกังวลคลี่คลายลงไปได้ แต่ตราบใดที่ยังไม่เกิดภาพนั้น ความกังวลต่อตลาดในความเสี่ยงของปัญหาที่อาจจะต้องมีการประมูลใหม่ และทำให้รายได้มีผลกระทบก็จะเป็นตัวกดดันให้ราคาหุ้น ส่วนตัวเลขนักท่องเที่ยวปีนี้อาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก
“อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ถือเป็นปัจจัยใหม่ที่ตลาดเพิ่งรับรู้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การแก้ไขสัญญาสัมปทานใหม่หรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเฉพาะตัวที่กดดันราคาหุ้น และทำให้เกิดความไม่แน่นอนให้อนาคตว่า หลังจากนี้คิงเพาเวอร์จะสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ ถึงแม้ว่าจะมีธนาคารเข้ามาการันตีในบางส่วน แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมไปทั้งหมด ทำให้ในระยะยาวจะเกิดปัญหาตามมาหรือไม่ หรืออาจจะต้องถึงขั้นยุติสัญญาหรือไม่ถือว่าเป็นความไม่แน่นอน
ล่าสุด มีการปรับราคาเป้าหมายลงมาของ AOT ปีนี้และปีหน้าลง 12% และ 15% ตามลำดับ โดยตัดส่วนรายได้ค่าเช่าของดิวตี้ฟรี ทำให้กำไรหายไปประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้มีผลกระทบ
อย่างไรก็ตาม หากดูฐานะทางการเงินของคิง เพาเวอร์ ต้องยอมรับว่า D/E Ratio เพิ่มขึ้นมาค่อนข้างเยอะ อยู่ที่ประมาณ 10 เท่า จึงมองว่าอาจจะต้องมีการปรับแก้ไขสัญญาสัมปทานใหม่ เพราะสิ่งที่ คิงเพาเวอร์ ได้ไปอาจจะจ่ายในก่อนหน้านี้ค่อนข้างสูงเกินไปหากเทียบในปี 2019 ที่ค่อนข้างเยอะ ซึ่งอาจจะมาจากการฟื้นตัวในช่วงโควิดที่ยังช้าอยู่ และยังมีความกังวลค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพิ่มขึ้น ในสนามบินใหม่ๆ ที่จะนำเข้ามาอยู่ภายในเครือข่าย AOT ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้อาจจะไม่ค่อยดีมากนัก
“วทัญ จิตต์สมนึก” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย กล่าวว่า กำไรอยู่ที่ 5.5 พันล้านบาท เติบโต 16% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยธุรกิจของ AOT แบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกัน รายได้แรกมาจากการบิน เติบโตได้ตามจำนวนนักท่องเที่ยว ขณะที่รายได้ที่ 2 ที่ไม่ได้มาจากการบินดูน่าเป็นห่วงเพราะผลงานไตรมาส 1 ปี 2568 ที่ออกมาเติบโตได้ประมาณ 2% หรือแทบจะไม่มีการเติบโต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจริง แต่ทว่านักท่องเที่ยวไม่ค่อยมีการจับจ่ายในสนามบินสักเท่าใด
ทั้งนี้ ภาพรวมมองการท่องเที่ยวปีนี้อาจจะดูดี มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก แต่กลายเป็นนักท่องเที่ยวที่กระเป๋าไม่ได้หนัก ไม่มีการจับจ่ายใช้สอยมากเหมือนเดิม
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์