ตลท.หนุน ‘บจ.ไทย’ ซื้อหุ้นคืน ‘อัสสเดช’ ดันศักยภาพธุรกิจ

ตลท.หนุน บจ.ที่พร้อม “ซื้อหุ้นคืน” เพื่อบริหารทุนที่ไม่ได้ลงทุนมาคืนให้ผู้ถือหุ้นแทนเพิ่ม ROE และดึงมูลค่าหุ้นเพิ่ม มองมูลค่าซื้อหุ้นคืนยังน้อยเทียบมาร์เก็ตแคป พร้อมใช้โอกาสดัน Jump plus ช่วย บจ.เพิ่มการโตเพิ่มพื้นฐานแกร่ง โบรกเกอร์ คาดหุ้นแบงก์จ่อคิวซื้อหุ้นคืนตาม
สำหรับ “การซื้อหุ้นคืน” หรือ Treasury Stock ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการเงินที่บริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ใช้ในการนำเงินสดส่วนเกินไป “ซื้อหุ้นของตัวเอง” กลับคืนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
โดยหุ้นที่ถูกซื้อคืนจะถูกนำออกจากการหมุนเวียนในตลาด และเมื่อจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดลดลง มีโอกาสทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้น และอาจสามารถช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้น รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวม 13 บจ.ที่ประกาศซื้อหุ้นคืนในนับตั้งแต่ปลายปี 2567 ต่อเนื่องมาปี 2568 มูลค่ารวม 30,915 ล้านบาท จำนวน 4,290 ล้านหุ้น ประกอบด้วย
1.บริษัท โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จำกัด (มหาชน) หรือ RPH มูลค่า 200 ล้านบาท จำนวน 35 ล้านหุ้น ช่วงระยะเวลาซื้อคืน 13 ธ.ค.2567-13 มี.ค.2568
2.บริษัท เอกชัยการแพทย์ จำกัด (มหาชน) หรือ EKH มูลค่า 400 ล้านบาท จำนวน 63 ล้านหุ้น ช่วงระยะเวลาซื้อคืน 13 ม.ค.-11 ก.ค. 2568
3.บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SUSCO มูลค่า 155 ล้านบาท จำนวน 50 ล้านหุ้น ช่วงระยะเวลาซื้อคืน 10 ม.ค.-9 ก.ค. 2568
4.บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TOA มูลค่า 1,300 ล้านบาท จำนวน 60 ล้านหุ้น ช่วงระยะเวลาซื้อคืน 11 ธ.ค.2567-10 มิ.ย.2568
5.บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) หรือ PJW มูลค่า 50 ล้านบาท จำนวน 20 ล้านหุ้น ช่วงระยะเวลาซื้อคืน 16 ธ.ค.2567 - 13 มิ.ย.2568
6.บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP มูลค่า 640 ล้านบาท จำนวน 40 ล้านหุ้น ช่วงระยะเวลาซื้อหุ้นคืน 23 ธ.ค.2567 - 20 มิ.ย.2568
7.บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU มูลค่า 3,000 ล้านบาท จำนวน 200 ล้านหุ้น ช่วงระยะเวลาซื้อคืน 2 ม.ค. - 30 มิ.ย.2568
8.บริษัท ทีคิวเอ็ม อัลฟา จำกัด (มหาชน) หรือ TQM มูลค่า 700 ล้านบาท จำนวน 30 ล้านหุ้น ช่วงระยะเวลาซื้อคืน 2 ม.ค. - 30 มิ.ย.2568
9.ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB มูลค่า 21,000 ล้านบาท จำนวน 3,500 ล้านหุ้น ช่วงระยะเวลาซื้อคืน 3 ก.พ. - 1 ส.ค.2568
10.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK มูลค่า 3,000 ล้านบาท จำนวน 130 ล้านหุ้น ช่วงระยะเวลาซื้อคืน 2 ธ.ค.2567 - 1 มิ.ย.2568
11.บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SMT มูลค่า 250 ล้านบาท จำนวน 80 ล้านหุ้น ช่วงระยะเวลาซื้อคืน 14 พ.ย.2567 - 13 พ.ค.2568
12.บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) หรือ SONIC มูลค่า 120 ล้านบาท จำนวน 75 ล้านหุ้น ช่วงระยะเวลาซื้อคืน 15 พ.ย.2567 - 12 พ.ค.2568
13.บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ SNP มูลค่า 100 ล้านบาท จำนวน 7 ล้านหุ้น ช่วงระยะเวลาซื้อคืน 20 พ.ย.2567 - 19 พ.ค.2568
“อัสสเดช” หนุน บจ. ซื้อหุ้นคืนบริหารเงินสด
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า กรณีที่ผ่านมาเริ่มเห็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใช้กลไกการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) จำนวนมากในช่วงนี้ ไม่ได้เพียงแต่มีผลต่อราคาหุ้นเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงศักยภาพของธุรกิจมีมูลค่าต่ำกว่าพื้นฐานที่เจ้าของ หรือผู้บริหารมองเช่นนั้น
อีกด้านยังเป็นการคืนทุนให้กับผู้ถือหุ้นตัวเองคล้ายกับการจ่ายเงินปันผล ดังนั้น หากแผนลงทุนของบริษัทนั้นเพียงพอ และยังมีเงินทุนเหลืออยู่นำมาซื้อหุ้นคืนเพื่อให้โอกาสผู้ถือหุ้นนำเงินส่วนเกินตรงนี้ไปใช้ลงทุนแสวงหาผลประโยชน์เอง
กรณีหุ้นธนาคาร (แบงก์) อย่างธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB เข้ามาซื้อหุ้นคืนระดับ 2 หมื่นล้านบาท เป็นการทยอยเป็นรอบๆ ในระยะเวลา 3 ปี มูลค่าจริงไม่ได้สูงมากเทียบมูลค่าบริษัท ซึ่งบางธุรกิจมีแผนลงทุนมีทุนเพียงพอแล้วสามารถนำเงินหรือกำไรมาคืนผู้ถือหุ้นผ่านการซื้อหุ้นคืนเป็นด้านบวกกับราคาหุ้นไปด้วย
ทั้งนี้การซื้อหุ้นคืนใช้กันในตลาดหุ้นทั่วโลก และเป็นมุมบวกในหลายด้านไม่ใช่เพียงพยุงราคาหุ้นตัวเองเท่านั้น แต่ยังเพิ่มอัตราส่วนผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) เพราะจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นแต่ผลตอบแทนเท่าเดิมดีต่อราคาหุ้น
พบ บจ.ซื้อหุ้นคืนจำนวนมาก
รวมทั้งปัจจุบันเห็นว่ามีหลาย บจ.ซื้อหุ้นคืนในตลาดหุ้นจำนวนมากแต่เทียบกับ มูลค่ามาร์เก็ตแคป 17-18 ล้านล้านบาท ยังถือว่าน้อยมากและยังสามารถซื้อหุ้นคืนในตลาดได้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ เทียบกับตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่หนุนเพิ่ม ROE ใช้ช่องทางซื้อหุ้นคืนเช่นกัน
“ภาวะราคาหุ้นที่ปรับตัวในช่วงนี้มีปัจจัยเยอะ แต่ที่สะท้อนดีคือ ราคาต่ำกว่า P/BV อย่างกลุ่มแบงก์แทบทุกแบงก์ หรือ ทั้งตลาดมีจำนวนไม่น้อยน่าจะเกิน 50 % ของตลาดหุ้นด้วยซ้ำ มาจากการไม่ได้ลงทุนเก็บส่วนทุนเอาไว้เยอะๆ มองแนวทางแก้ไขนำโปรแกรม Jump plus มาใช้”
ขณะที่โปรแกรม Jump plus จะผลักดันให้ บจ.ที่สะสมทุนเอาไว้จำนวนมากไปพัฒนาธุรกิจ สร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งได้เดินหน้าไปมาก และภายใน 2 เดือนจะเปิดเผยแผนผลักดัน บจ.ไทยให้เติบโต และสร้างโอกาสแบบก้าวกระโดดได้อย่างไร ด้วยการอิงพื้นฐานของธุรกิจที่จะเติบโต ซึ่งพื้นฐานที่สะท้อนความแข็งแกร่ง และความเชื่อมั่น เพราะหากไม่ดำเนินการ บจ.ไทย อาจถูกเปรียบเทียบตลาดหุ้นอื่นจนความน่าสนใจหายไป
ด้านแนวทางอื่นที่จะฟื้นความเชื่อมั่นตลาดทุนยังดำเนินการต่อเนื่อง และเข้มข้นมากขึ้น ทั้งราคาหุ้นมีการซื้อขายกระจุกตัว มีความผันผวนที่ไม่เป็นไปตามพื้นฐานต้องมีการขอให้ บจ. ชี้แจง หรือแจ้งเตือนนักลงทุนให้เพิ่มความระมัดระวัง ไม่ว่าจะผ่านเจ้าหน้าที่ ตลท. ดูแลหรือระบบเอไอ
คาด “ทีทีบี” ทุ่ม 2.1 หมื่นล้าน ดึงความเชื่อมั่น
นายภควัต พิสุทธิพันธุ์ รองหัวหน้าฝ่ายสายงานธุรกิจลูกค้ารายย่อย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หลังอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เสนอให้ บจ.ไทยที่มีระดับ P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า เข้าซื้อหุ้นคืนเพื่อฟื้นราคาหุ้นที่ตกต่ำ และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยเชื่อว่าหลังจากนี้จะเห็น บจ.ไทย ทยอยประกาศแผนซื้อหุ้นคืนตามมาอีกหลายบริษัท
ทั้งนี้ TTB เป็นบริษัทแรกที่ออกมารับลูก ซึ่งในการประชุมนักวิเคราะห์วันที่ 21 ม.ค.ผู้บริหารแจ้งว่าได้ศึกษาการซื้อหุ้นคืนมาสักระยะแล้ว ซึ่งบริษัทถือว่ามีความพร้อม มีกระแสเงินสดจำนวนมาก และมองว่าการซื้อหุ้นคืนจะสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นมากกว่าวิธีอื่นๆ
ขณะที่เม็ดเงินที่ใช้ถึง 21,000 ล้านบาท มองว่าเป็นการส่งสัญญาณเชิงสัญลักษณ์ว่ามูลค่าหุ้นต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมาก และบริษัทตั้งใจจริงที่จะเรียกความเชื่อมั่นคืนมา ซึ่งเป็นไปได้ว่าจำนวนเงินที่นำมาใช้ซื้อหุ้นคืนอาจไม่ถึงตามวงเงินที่ประกาศไว้ เช่นเดียวกับอีกหลายบริษัทก่อนหน้านี้ รวมทั้งน่าจับตาหุ้นแบงก์ตามรอย TTB จ่อคิวซื้อหุ้นคืนตามมาอีกเพราะราคาหุ้นกลุ่มแบงก์เกือบทุกตัวราคาต่ำ P/BV
“TTB ใช้เงินถึง 21,000 ล้านบาท น่าจะเป็นเชิงสัญลักษณ์ว่ามูลค่าหุ้นอันเวอร์แวลูมากจึงต้องเรียกความเชื่อมั่น สมมติกำหนดราคา 2 บาท และปีนี้ซื้อหุ้นคืน 7,000 ล้านบาท และต่อเนื่องอีก 2 ปี ถ้าวันนี้ซื้อคืน 7,000 ล้านบาท แล้วราคาหุ้นขึ้นมาเหนือ 2 บาท บริษัทไม่จำเป็นต้องใช้เงินที่เหลือทั้งหมด และยังส่งสัญญาณว่าดาวน์ไซด์ที่จะลงไปต่ำกว่ำ 2 บาทไม่มีแล้ว ทำให้โฟลว์ที่ไหลเข้าหุ้นอื่นหันมาซื้อ TTB”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์